คอลัมนิสต์

พันธกิจพรรคการเมืองใหญ่ วาระขับเคลื่อนเศรษฐกิจ4.0

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  เกศินี แตงเขียว สำนักข่าวเนชั่น 

 

 


          ที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วันที่ 13 มีนาคม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เชิญตัวแทน 6 พรรคการเมืองใหญ่ ประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.), พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.), พรรคเพื่อไทย (พท.), พรรคภูมิใจไทย (ภท.), พรรคชาติพัฒนา (ชพน.), พรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ร่วมดีเบตแสดงวิสัยทัศน์ การตอบข้อซักถาม ภายใต้หัวข้อการขับเคลื่อนเรื่องที่ประชาชนและเอกชนให้ความสนใจ ซึ่งการดีเบต ได้ให้ผู้แทน 6 พรรคการเมืองแสดงวิสัยทัศน์ ตอบคำถามที่แต่ละคนจับสลากได้ โดยคำถามแต่ละคนนั้นไม่ซ้ำกัน และลำดับพรรคในการตอบคำถามก็จะจับสลากก่อน-หลังในแต่ละรอบ

 

 

          โดยคำถามเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจนั้น พรรคอนาคตใหม่ ที่วันนี้มี วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร ที่ปรึกษาทีมเศรษฐกิจเป็นผู้แทนพรรคได้ตอบเป็นคนแรก 

 

          คำถามมีว่า พรรคจะดำเนินการปกป้องและดูแลผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยอย่างไรภายใต้ยุคการค้าเสรี ท่ามกลางบรรยากาศที่เริ่มกีดกันทางการค้า และสงครามการค้ากำลังเกิดขึ้น 


          วีระยุทธ : ในส่วนของการค้าเสรี พรรคอนาคตใหม่ได้ศึกษาวิจัยแล้วพบว่า อย่างไรก็ยืนยันที่จะอยู่บนเวทีพหุภาคี ไม่ว่าจะเป็น AEC, WTO ซึ่งไทยก็เป็นประเทศกำลังพัฒนา การที่จะต่อรองกับประเทศใหญ่ต้องอยู่บนเวทีพหุภาคีที่จะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถต่อรองร่วมกันได้ ส่วนการเซ็นสัญญาทวิภาคีก็ยังมีความจำเป็นต่อเนื่อง แต่ทวิภาคีโดยตัวของมันเองนั้นมีความเสี่ยงสูง ดังนั้นก็จะต้องทำด้วยความรอบคอบกว่าปกติ


          การพัฒนาเศรษฐกิจ พรรคมองว่าโจทย์หลักทางเศรษฐกิจของไทยมี 3 ข้อ 1.จะทำอย่างไรที่จะผลักดันหรือกระตุ้นให้ทุนใหญ่ ยักษ์ใหญ่ที่อยู่ในประเทศสามารถที่จะออกไปเติบโตเพื่อเปิดโอกาสให้กิจการขนาดกลางและขนาดเล็กสามารถเติบโตขึ้นมาโดยพัฒนาและเรียนรู้ด้วยตนเองได้ 2.จะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายการผลิตข้ามชาติได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ 3.จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นของตัวเองได้ พรรคเห็นว่าโจทย์ทั้ง 3 ข้อนี้เป็นจุดสำคัญที่จะทำให้อีก 5-10 ปีประเทศไทยสามารถทะยาน เดินหน้าต่อไปได้และยั่งยืน


 

 


        ซึ่งนโยบายของพรรคอนาคตใหม่ที่จะตอบโจทย์ 3 ข้อนี้ก็คือ เสนอให้มีการจัดการทุนผูกขาดอย่างจริงจังและชัดเจน โดยการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าฯ อย่างจริงจัง ซึ่งจะต้องมีการตีความ เพราะที่ผ่านมาปัญหาของกฎหมายดังกล่าวคือ คำว่า “อำนาจเหนือตลาด” นั้นแคบเกินไปซึ่งจะต้องมีการปรับตัวใหม่ ให้เหมาะกับธุรกิจประเภทใหม่ๆ หรือธุรกิจอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการสื่อสารสารสนเทศ ที่จะทำให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมีพื้นที่หายใจและสามารถเติบโตได้ นอกจากนี้ยังมีนโยบายการขนส่งสาธารณะด้วย

          อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้ตอบคำถามเรื่อง พรรคมีแนวทางการปฏิบัติให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างไรในการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว รวมทั้งการจัดการแรงงานให้มีความพอเพียงกับความต้องการของประเทศจากขยายตัวในอนาคตที่จะปรับตัวสูงขึ้น


          “คน” คือเรื่องที่สำคัญที่สุด เรื่องเทคโนโลยีเราหาได้มีเงินทุนก็ซื้อได้แต่เรื่อง “คน” ต้องใช้เวลาพัฒนา ขณะที่การพัฒนาคนนั้นต้องตอบโจทย์ให้ตรงจุดด้วยว่าประเทศไทยที่จะปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจนั้นต้องการบุคลากรอย่างไร แรงงานในกลุ่มต่างๆ ของอุตสาหกรรม ของภาคบริการ และภาคการเกษตร ควรมีคุณสมบัติ มีทักษะอย่างไร ดังนั้นแนวทางพรรคพลังประชารัฐจึงมุ่งเน้นการพัฒนาแรงงานให้ตอบโจทย์ภาคเศรษฐกิจที่กำลังปรับตัว ซึ่งเศรษฐกิจที่กำลังปรับเปลี่ยนต้องขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยขีดความสามารถที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มสูงได้ ประเทศไทยถึงจะแข่งขันได้ในเวทีโลกแล้วสามารถเติบโตได้อย่างไม่กระท่อนกระแท่น เช่น แรงงาน

 

          วันนี้ที่เราขาดมากคือ “แรงงานอาชีวะ” ในระดับของสายอาชีพ ตรงนี้ พรรคพลังประชารัฐเสนอว่า เราจะต่อยอดสร้างเครือข่ายของมหาวิทยาลัย และของภาคเอกชนเพื่อพัฒนาอาชีวะให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรม ภาคบริการ ภาคเกษตร เป้าหมายของประเทศ เรียกว่า “อาชีวะที่มีความหวังเห็นอนาคต” โดยมาร่วมกันทำหลักสูตร ไม่ใช่มหาวิทยาลัยเขียนอย่างเดียว ดังนั้นเมื่อวันแรกอาชีวะ หรือนักศึกษาเดินเข้ามาต้องตอบโจทย์ได้เลยว่าอนาคตอยู่ตรงไหน ความต้องการของประเทศไทยเป็นอย่างไร เมื่อจบมาทำงานมีรายได้และตรงความต้องการของประเทศ ขณะที่ภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยตั้งโจทย์ และภาครัฐสนับสนุนการเข้าถึงไม่วาจะเป็นเงินทุน หรือเทคโนโลยี นอกจากนี้ในส่วนของแรงงานในโรงงานก็ต้องปรับทักษะด้วย


          ในอนาคตจะมีระบบโรโบติกส์ ระบบอัตโนมัติเข้ามา ซึ่งไม่ใช่เรื่องต้องน่าตกใจแต่ประเทศไทยต้องพร้อมที่จะเอาเทคโนโลยีใหม่เหล่านี้เข้ามาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องเสริม-ปรับเปลี่ยนทักษะของแรงงานที่มีอยู่ให้ตรงตามโจทย์นั้นด้วย เพราะสิ่งที่จะดึงดูดให้ต่างประเทศเข้ามาร่วมเป็นหุ้นส่วน ลงทุนในประเทศได้ สิ่งที่เขาสนใจมากที่สุดคือประเทศไทยมีแรงงานรองรับในระยะยาวหรือไม่


          อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบคำถามเรื่อง การแก้ปัญหากฎหมายไทยที่มีความซ้ำซ้อน และความไม่เป็นสากลอยู่มาก เนื่องจากแต่ละหน่วยงานมีกฎหมายที่ตัวเองถือไว้โดยไม่พิจารณาแบบบูรณาการรอบด้าน และขาดการมีส่วนร่วมภาคเอกชนในการมองกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอย่างไร
แนวคิดและภารกิจของพรรคภูมิใจไทยในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งคือ “ทลายทุกข้อจำกัด ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน เพื่อปากท้องพี่น้องประชาชน” ซึ่งทุกวันนี้ที่ภาคเอกชนทั่วไป และประชาชนทั่วไป มีอุปสรรคใหญ่ๆ ในการทำมาหากินและสร้างรายได้ คือติดข้อจำกัดข้อกฎหมาย เช่นภาคเอกชนจะขอสร้างอะไรสักอย่างต้องไปยื่นใบขออนุญาต 7-10 หน่วยงาน จะลงทุน รับออเดอร์ผลิตของส่งออกก็ติดเรื่องมาตรฐานอุตสาหกรรม ซึ่งเคยประสบมาสมัยที่อยู่ภาคเอกชน รับออเดอร์เข้ามานึกว่าจะช่วยบ้านเมืองเอาเงินต่างชาติเข้าประเทศ แต่ปรากฏว่าคนในประเทศเราเอง ระบบราชการประเทศเราเองไม่ตอบโจทย์ ไม่สนับสนุน แทนที่จะได้เงินกลับผลิตไม่ได้ ใบอนุญาตไม่ออก สุดท้ายต้องเสียค่าปรับให้เขา (ต่างประเทศ) 


          นี่คือตัวอย่างความถดถอยและความไม่พยายามที่สร้างภาครัฐให้สนับสนุนประชาชนในทุกรูปแบบตราบใดที่เขายังหาหรือสร้างรายได้ หรือทำธุรกิจลงทุนให้แก่ประเทศไทยต้องติดข้อกฎหมายข้อจำกัด กฎหมายทุกฉบับในประเทศไทยบอกว่าให้รัฐมนตรีใช้ดุลพินิจเป็นผู้รักษากฎหมาย นี่คือต้นเหตุของการคอร์รัปชั่น ทุกอย่างพัวพันอยู่ตรงนี้ บางทีเรื่องกรณีเดียวกันคนหนึ่งตัดสินอย่างหนึ่ง อีกรายตัดสินอีกอย่างหนึ่ง แล้วต่างชาติที่ไหนจะกล้ามาลงทุน เช่นเซ็นสัญญาภาครัฐไปแล้ววันหนึ่งก็ยกเลิก หรือจะทำอะไรสักอย่างแล้วต้องไปขออนุญาตแต่ไม่มีข้อกำหนดเวลาว่าจะอนุมัติได้ภายในวันใด ดังนั้นหาก พรรคภูมิใจไทยเข้ามาก็จะแก้ปัญหาด้วยการเช็กลิสต์ เราจะไล่ดูว่าสิ่งที่จะทำมีทุนพอหรือไม่ มีการออกแบบที่ดีหรือไม่ มีกำลังการผลิตที่ถูกต้องหรือไม่ จะบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างไร จ้างคนงานอย่างไร จ้างคนไทยแค่ไหน ซึ่งเราจะถือว่าคนที่เข้ามาลงทุนประกอบกิจการ ต้องมีเจตนาที่ดี แต่ถ้าทำผิดจากการเช็กลิสต์ไม่ต้องพูดกัน สิ่งที่พรรคเข้ามาแล้วตั้งใจจะทำที่สุด คือเข้ามาเที่ยวนี้ไม่มีวาระอื่น ไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีการแสวงหาอำนาจใดๆ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ เราจะทำอย่างเดียวคือ ทลายข้อจำกัดของกฎหมายทุกอย่างเพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถทำมาหากินได้สะดวก


          พรรคภูมิใจไทยเสนออยู่อย่างเดียว เข้ามาทลายทุกข้อจำกัด มีข้อจำกัด กฎหมายตรงไหน มาร่วมกันทำ ซึ่งคำถามก็บอกอยู่แล้วว่าขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ ต้องเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญเขียนมาขาดการมีส่วนร่วมของการเมือง ก็เป็นอย่างนี้แหละครับ เหมือนกับครับ คนที่มีอำนาจต้องการถืออำนาจไว้ในมือให้มากที่สุด เพื่อจะได้ใช้ดุลพินิจ เพื่อจะบอกว่าอันนี้จะให้ อันนี้จะไม่ให้ แล้วคนที่เดือดร้อนก็คือเอกชน โดยที่ไม่ทราบว่าคนที่เดือดร้อนที่สุดคือประชาชนที่เลือกพวกเราเข้ามา


          สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ได้ตอบคำถาม เรื่องการพัฒนาทำให้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของไทย (ICT) ทั้งหมด มีคุณภาพทัดเทียมประเทศคู่แข่งสำคัญอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม เพื่อดึงดูดความสามารถในการแข่งขันจากต่างชาติมาสู่ไทยเพื่อให้ไทยมีโอกาสก้าวสู่เวทีโลก

 

          เรามีความจำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน Information Technology วันนี้ประทศไทยก็ตื่นตัวและปรับตัวมาก ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนก็เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นโครงสร้างหลัก เช่น การลงทุนต้องมีสนามบิน มีมอเตอร์เวย์ มีท่าเรือ แต่เรื่อง Information Technology หรือเรื่อง IT ที่สำคัญซึ่งทุกประเทศทั่วโลกเขาไปสู่จุดนี้แล้วก็คือการพัฒนาโครงข่าย 5G เพราะระบบนี้จะเป็นการพัฒนาพื้นฐานเทคโนโลยีสมัยใหม่ในทุกๆ ด้าน เช่นคนต่างจังหวัดที่ต้องเดินทางไกลไปรับการรักษาพยาบาล แล้วโรงพยาบาลต่างจังหวัดอาจขาดแคลนหมอ เป็นช่องว่างระหว่างคนจนกับความรวย แต่ถ้ามีเทคโนโลยี 5G เราจะสามารถรับการรักษาทางไกลได้ ดังนั้นจากนี้ไป 2 ปีเราจะส่งเสริมให้มีการพัฒนาโครงการ 5G ให้นำมาใช้ นอกจากนี้ในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนต่างๆ ในเทคโนโลยี คิดว่าเรายังให้ความสำคัญ เชิญมาลงทุนในรูปแบบของการประมูล ให้ผลตอบแทนรัฐเท่าใด รัฐยังเอาตัวเงินเป็นตัวตัดสินใจแทนที่จะมองในเรื่องว่าเมื่อได้โครงข่าย ได้คลื่นอย่างนี้ไปแล้ว จะพัฒนาอย่างไรให้เกิดประโยชน์อย่างไรต่อการลดช่องว่างระหว่างคนจน-คนรวย ให้เกิดประโยชน์ต่อการศึกษา การสาธารณสุข

       ถ้าคิดในมุมนี้ประเทศจะได้อะไรมากกว่า ที่บอกว่าคุณเสนอมาหมื่นล้าน สองหมื่นล้านแล้วเอาเกณฑ์นี้เป็นการตัดสินใจ ซึ่งเกณฑ์แบบนี้ได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าที่ผ่านมาเราก็ไม่ประสบผลสำเร็จแล้วก็ต้องมาเจรจากับผู้รับสัมปทานหรือผู้ลงทุน ดังนั้นวันนี้เมื่อจะไป 5G แล้ว ผมคิดว่าทางรัฐน่าจะมีวิธีคิดเน้น “Indirect Benefits” มีกรอบที่ก่อให้เกิดการพัฒนาประเทศจริงๆ แบบรัฐได้ประโยชน์ สังคมได้ประโยชน์ เศรษฐกิจธุรกิจได้ประโยชน์มากกว่าที่จะเห็นตัวเงิน รวมทั้งการดูเรื่องสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีที่เกี่ยวข้องจากการนำเทคโนโลยีมาใช้ด้วย


          อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบคำถาม เรื่องการพัฒนาพื้นที่ EEC, SEC ยังเป็นปัจจัยสำคัญหรือไม่ของพรรคประชาธิปัตย์ ในการใช้เป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ


          เรื่องขีดความสามารถหากถามว่าเราต้องทำอะไรบ้าง เรื่องหลักๆ จะต้องประกอบด้วย 1.การเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่หมายถึงการรื้อกฎหมายและระบบกฎหมายให้เกิดความคล่องตัวยิ่งขึ้น ซึ่งจะเสริมให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเชื่อมโยงกับโลกและมีความสำคัญในเวทีโลกได้ 


          2.เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของเวทีโลก การดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการค้าในเชิงรุก การพิจารณาถึงข้อตกลงความร่วมมือต่างๆ ที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประโยชน์รวมไปถึงการทำยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของประเทศไทยที่จะไปเชื่อมโยงแต่ละภูมิภาคที่มีความแตกต่างกันทั้งภูมิภาคอาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป หรือการเชื่อมโยงกับตลาดใหม่ๆ อย่างแอฟริกา
 

          3.การพัฒนา “คน” เป็นหัวใจสำคัญที่จะรองรับเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 4.เราจำเป็นต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโครงสร้างประเทศเราไม่ว่าจะเป็นสังคมสูงวัย ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างมากในระบบเศรษฐกิจไทย

       "ขณะที่ปีนี้ประเทศไทย จะเป็นประธานอาเซียน บทบาทของการเป็นประธานอาเซียนต้องเร่งผลักดันวาระซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เริ่มต้นไว้ที่เรียกว่า Connectivity เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้อย่างแท้จริงไม่ว่าจะเป็นระบบคมนาคม ระบบถนน ระบบราง ระบบการเชื่อมโยงด้านพลังงาน ระบบโทรคมนาคม ซึ่งการผลักดันเรื่องนี้ควรที่จะไปเจรจากับทางจีน ซึ่งมีแนวคิด หนึ่งแถมหนึ่งเส้นทาง ที่ผ่านมาอาเซียนไม่เคยไปต่อรองกับจีนในฐานะอาเซียนที่จะทำให้การเชื่อมโยง 2 เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันแล้วตอบสนองเป้าหมายของอาเซียนซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลาง"

         สำหรับตลาดเดิมของเรา ไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป หรือสหรัฐฯ เราต้องตระหนักว่าขณะนี้ธุรกิจที่จะต้องส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวต้องมีการปรับมาตรฐานหลายอย่างให้เป็นไปตามาตรฐานสากล ดังนั้นธุรกิจใดก็ตามซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ก็จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในการที่จะให้ปรับตัวเข้าสู่มาตรการต่างๆ ได้ โดยเรามีบทเรียนมาแล้วจากธุรกิจการบิน ธุรกิจประมง ที่สุดท้ายทำให้เราเป็นฝ่ายตั้งรับ ส่วนตลาดใหม่ๆ ช่องทางที่จะส่งเสริมให้ประเทศไทยมีความโดดเด่น ก็จะต้องทำงานค่อนข้างละเอียดเป็นการเฉพาะ เช่น เมื่อสมัย พรรค ปชป. เป็นรัฐบาล เราผลักดันเรื่องธุรกิจก่อสร้างให้เข้าไปในตลาดใหม่อย่างอินเดีย ตะวันออกกลางได้ หรือหากประเทศตะวันออกกลาง มีความต้องการเรื่องของความมั่นคงทางอาหารเราก็สามารถเจาะตลาดเหล่านั้นโดยการนำจุดแข็งของไทยที่มีแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ได้ ส่วนคำถามเรื่อง EEC , SEC นั้น ประเทศไทยไม่ได้มีแต่ EEC แต่เราต้องวางเป้าหมายให้ชัดว่า พื้นที่ EEC ควรเป็นพื้นที่ที่ดึงธุรกิจใหม่ๆ ให้สอดคล้องกับโลกอนาคต ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อิงกับเทคโนโลยีในอนาคต ธุรกิจพลังงานสะอาด เป็นต้น ขณะที่ในส่วนของ พรรค ปชป. เห็นว่าต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบราง ถนน ทางเรือ ด้วยเพื่อที่จะต้องดูว่าจะเปิดพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ๆ ได้อย่างไร และจะจัดตั้ง 12 มหานครทั่วประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางการตอบโจทย์ เช่น ขอนแก่น จะเป็นศูนย์กลางรองรับการทำธุรกิจด้านตะวันออก หรืออย่างพม่าเปิดพื้นที่มา แต่สุดท้ายแล้วเป้าหมายคือ ประโยชน์ใดที่ประชาชนและธุรกิจจะได้รับ มากกว่าการที่มองว่าการลงทุนขนาดใหญ่มีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น

           สุดท้าย "นายโภคิน พลกุล" แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ตอบคำถาม เรื่องแนวทางการปฏิบัติช่วง 3-5 ปีข้างหน้าต่อการวางแผนด้านผังเมืองพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนว่า เรื่องผังเมืองเป็นปัญหามาโดยตลอด ขณะที่ปัจจุบันเรามีเขตเศรษฐกิจชายแดน มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น EEC และเรามีเมืองหลัก มีเมืองรอง เราก็ต้องสร้างเมืองหลักๆ ในแต่ละภาคให้โดดเด่นขึ้นแล้วเชื่อมกับเมืองรองต่างๆ ดังนั้นการวางผังเมืองทั้งหมดต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านั้นด้วย ตัวอย่างการจัดผังเมืองใหม่ในพื้นที่ EEC ที่ต้องผ่านสิ่งแวดล้อมเยอะแยะสุดท้ายก็ไปใช้ ม.44 (อำนาจตามรธน.ชั่วคราว) ขณะที่เราสามารถที่จะดูภาพรวมแล้วมองเรื่องการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมลงไปในชุมชนได้ เช่น ชุมชนที่ปลูกข้าวก็ให้คนมาลองดำน้ำ ทำที่พักเป็นโฮมสเตย์ได้ ขณะที่การปรับผังเมืองเราควรต้องคำนึงถึงคนตัวเล็กให้มากที่สุดเพราะคือเศรษฐกิจฐานราก แต่ทุกวันนี้คนตัวใหญ่ปรับผังเมืองง่าย ตรงนี้เขียวอยู่ก็เอาตรงนี้ไปลงแล้วขอเป็นสีม่วง ประเภทนี้ระบบอำนาจนิยมทำให้คนที่เป็นทุนใหญ่ ทุนเส้นสายทำอะไรก็ได้หมด แต่คนตัวเล็กแถมไม่มีเสียงใดๆ เลย

       "ถ้าจะทำให้การแข่งขันดีขึ้น ปัจจัยต่างๆ มีดังนี้คือ 1.ผลิตภาพ เราจะยกระดับได้อย่างไร คนตัวใหญ่ที่มีศักยภาพไปถึงต่างประเทศได้ ไม่ต้องห่วง แต่คนตัวเล็กๆ จะลำบาก เราควรดูแลเรื่องจัดงบประมาณใหม่ งบที่ไม่จำเป็นทั้งหลายอย่างซื้อรถถัง ซื้อเรือดำน้ำ วันนี้ยังไม่จำเป็น เอาสิ่งนี้มาสร้างการแข่งขันให้แข็งแรง 2.ปรับการศึกษาปรับทักษะคนในระบบแรงงาน เรียนรู้สิ่งใหม่ที่จะนำไปทำงาน โดยระบบที่ยังเป็นอุปสรรคที่พูดกันอยู่คือระบบกฎหมาย ระบบราชการ ไม่เอื้อให้คนทำงานได้อย่างรวดเร็วสะดวก ประหยัด สิ่งแรกที่ต้องทำ คือกีโยตินกฎหมาย จากกฎหมายที่มีเกี่ยวกับเรื่องใบอนุญาตอยู่มาก 1,500-1,600 ใบ ก็ปรับเหลืออยู่ 200-300 ใบที่จำเป็นจริงๆ การแข่งขันจะสู้ไม่ได้ถ้าคิดแล้วยื่นวันนี้แล้วอีก 8 เดือนถึงจะได้ใบอนุญาต ดังนั้นข้อมูลข่าวสารราชการจำเป็นต้องเปิดเผยให้ถึงกัน ถ้าข้อมูลไม่ถึงคนทำธุรกิจก็ลำบาก และระบบราชการเองก็เอาตัวเองเป็นเซ็นเตอร์ ไม่ใช่ประชาชนเป็นเซ็นเตอร์ และไม่มีความเป็นมืออาชีพ เช่น 6 เดือนย้าย 1 ปีย้ายก็จะช่วยประชาชน-ภาคเศรษฐกิจไม่ได้ นี่ผมพูดจากแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีที่เขียนอยู่นี้ สิ่งเหล่านี้เราต้องร่วมกันแก้ไขแล้วเดินไปข้างหน้าด้วยกัน"

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ