คอลัมนิสต์

"ถีบมิตรพิชิตชัย" ปชป.ไม่เคยเปลี่ยน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา บางปะกง


 

          ประวัติศาสตร์การเมืองไทยในรอบ 40 ปีมานี้ คอการเมืองรุ่นเก่าจำนวนหนึ่งไม่นิยม “พรรคประชาธิปัตย์” เพราะไม่ชอบวิธีเล่นเกมเลือกตั้งแบบว่า “เอาตัวรอดเป็นยอดดี”

 

 

          หลายคนเลยไม่แปลกใจ กรณี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ เพราะเป็นการสืบทอดอำนาจคือความขัดแย้ง และขัดกับอุดมการณ์ของพรรค คือประชาชนเป็นใหญ่


          ในอดีต ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรค ปชป. ไม่เอาทหาร แต่ยอมนั่งนายกรัฐมนตรีชั่วคราว หลังไปเจรจากับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในค่ายทหารที่ลพบุรี 

 

          ปลายปี 2551 กลุ่มขุนศึกบูรพาหนุน “อภิสิทธิ์” เป็นนายกฯ หลังเหตุยุบพรรคพลังประชาชน ก็มีการพบปะหารือของแกนนำพรรคการเมือง 4 พรรค ภายในค่ายทหาร 

 

          หลังเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535 “ชวน หลีกภัย” ปล่อยหมัดเด็ดโค้งสุดท้ายเลือกตั้ง 2535/2 “ยึดมั่นในระบบรัฐสภา คัดค้านอนาธิปไตย” และคำว่า “อนาธิปไตย” นั้น มีนัยถึงพรรคพันธมิตรในเครือข่าย “พรรคเทพ” 


          กว่าจะถึงจุดแตกหัก 17 พฤษภาคม 2535 ได้มีความเคลื่อนไหวจุดประกายไฟการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารในนาม “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (รสช.) มานานกว่า 7 เดือนก่อนหน้านั้น


          ปลายปี 2534 คณะกรรมการร่างธรรมนูญของฝ่าย รสช. กำลังยกร่างเข้าสู่ขั้นที่สอง นักการเมืองบางพรรคได้เรียกร้องให้ภาคประชาชนจัดตั้ง “สหพันธ์ประชาธิปไตย” เพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ รสช.


          ถัดมา นพ.ประเวศ วะสี ลุกขึ้นมาประกาศจัดตั้ง “สมัชชาประชาธิปไตย” เพื่อรณรงค์เรียกร้องให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับทีี่เป็นประชาธิปไตย

 



          ปฐมบทการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต้าน รสช.ครั้งแรก หรือที่เรียกว่า “มติทุ่งพระเมรุ” นั้น จึงเกิดขึ้นเมื่อ 19 พฤศจิกายน 2534

 

          วันนั้น มีการชุมนุมมวลชนครั้งใหญ่ที่ท้องสนามหลวง จัดโดยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ร่วมกับ 7 พรรคการเมือง


          ใครที่เกิดไม่ทันยุคนั้น อาจคิดไม่ถึงว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ, พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, สมัคร สุนทรเวช, ชวน หลีกภัย และบุญชู โรจนเสถียร จะขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่เวทีเดียวกัน ท่ามกลางมวลชนกว่า 5 หมื่นคน


          มีเพียงพรรคการเมือง 3 พรรค ที่ไม่ถูกรับเชิญขึ้นเวทีทุ่งพระเมรุ คือ พรรคสามัคคีธรรม, พรรคกิจสังคม และพรรคชาติไทย เพราะส่งสัญญาณชัดว่า อยู่ข้างขั้วทหาร รสช.

 


          นับเป็นการแยกขั้วแยกค่ายกันในกลุ่มพรรคการเมือง ระหว่าง “ฝ่ายประชาธิปไตย” กับ “ฝ่ายเผด็จการ” ซึ่งกลายเป็น “พรรคเทพ” กับ “พรรคมาร” หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ


          ใกล้เลือกตั้ง โพลล์หลายสำนักพุ่งเป้าไปที่ “พล.ต.จำลอง ศรีเมือง” กับ “ชวน หลีกภัย” โดยทั้งคู่เป็นผู้นำพรรคในเครือข่ายพรรคเทพ แม้ พล.ต.จำลอง มีชื่อเสียงโดดเด่นจากสมรภูมิราชดำเนินในฐานะผู้นำมวลชนต้านเผด็จการทหาร แต่ก็เจอสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคประชากรไทยสมัยนั้นออกมาแฉยุทธการ “พาคนไปตาย” ทำเอามหาจำลองต้องออกแรงชี้แจงพัลวัน

 


          ก่อนถึงวันหย่อนบัตร 1 สัปดาห์ ปชป.ออกแคมเปญชูภาพชวน หลีกภัย ผู้นำพรรคที่ “ยึดมั่นในระบบรัฐสภา คัดค้านอนาธิปไตย” เป็นการพลิกเกมโยนระเบิด “อนาธิปไตย” ไปใส่พรรคพลังธรรม 


          ผลปรากฏว่า ปชป.ชนะเลือกตั้งได้ 79 ที่นั่ง เฉือนชนะพรรคชาติไทยที่ได้ 76 ที่นั่งไปเพียง 3 คน ส่งผลให้ “ชวน หลีกภัย” เป็นนายกฯ ส่วนพลังธรรมได้ที่นั่งผิดเป้าหมายไปเยอะ

 


          นี่คือยอดนักกลยุทธ์ ปชป. ที่ไม่เคยทำให้กองเชียร์ของตัวเองผิดหวัง เพราะนาทีท้ายๆ มักมีกลเกมชิงคะแนนมาให้ผู้ใช้สิทธิ์ได้ตัดสินใจก่อนเข้าคูหาอยู่เสมอ 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ