คอลัมนิสต์

แชร์ข่าวมั่ว..คะนองโพสต์เอาฮาระวังคุก!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย   โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม


 

          เป็นที่ฮือฮาสนั่นโลกออนไลน์ ไม่แพ้อุณหภูมิเดือดเรื่องการเมืองในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นจะไม่พ้นเรื่องเสี่ยล้งทุเรียนประกาศหาคู่ให้ลูกสาวผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว จนสื่อกระแสหลักต้องนำมาเล่นข่าวขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ และยังออกข่าวโทรทัศน์ทุกสำนัก แต่เพื่อไม่ให้เกิดการลุกลามบานปลายจนกลายเป็นทำผิด กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ก็อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องออกมาเตือนการโพสต์แนวสีสันบนโลกโซเชียลมีเดียว่า สิ่งที่โพสต์ต้องเป็นเรื่องจริง ถ้าไม่จริงอาจถูกดำเนินคดี อย่านึกสนุก และคึกคะนองโพสต์เพียงอย่างเดียว

 

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผบก.ปอท. ในฐานะโฆษก บก.ปอท. ได้อธิบายถึงกรณีที่ นายอานนท์ รถทอง เสี่ยล้งทุเรียนชาวชุมพร ได้ประกาศหาคู่ให้ น.ส.กาญจน์สิตา รถทอง ลูกสาวคนสุดท้องผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวชื่อ “อานนท์ รถทอง” ว่า โดยส่วนตัวแล้วมองเรื่องนี้เป็นสีสันบนโลกโซเชียลมีเดีย เมื่อมีการประกาศหาคู่พร้อมธุรกิจทุเรียนและเงินทุนอีก 10 ล้านบาท จึงทำให้ชายไทยบางกลุ่มเกิดความหวังที่จะพบรักกับหญิงสาว ที่มีเงินมีทอง และยังมีพ่อตาเป็นฝ่ายอุปถัมภ์ให้ แต่อยากจะฝากเตือนไว้ว่า ถ้ามีคนที่คิดอยากจะโพสต์ในลักษณะแบบนี้อีก ถ้าการโพสต์ออกมาแล้วเกิดเป็นเท็จ หรือมีเจตนาบิดเบือน ส่งผลทำให้ประชาชนเกิดความเสียหาย ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงกับการถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ได้

 

แชร์ข่าวมั่ว..คะนองโพสต์เอาฮาระวังคุก!

 


          “ถ้าใครจะสร้างสีสันก็ขอให้พิจารณาคดีก่อนว่า เป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าเป็นเรื่องไม่จริง นึกสนุกคึกคะนองโพสต์ออกมาแล้วเกิดความเสียหายกับประชาชน จะถูกดำเนินคดีแน่นอน ซึ่งจะมาบอกทีหลังว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ไม่ได้ โดยอัตราโทษค่อนข้างหนักคือ ม.14(1) ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 อัตราโทษจำคุกไม่เกิด 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ กล่าวย้ำ

 

          อีกสาเหตุหนึ่งที่ตำรวจต้องออกมาเตือนประชาชนถี่ๆ เกี่ยวกับการโพสต์หรือแชร์เรื่องราวต่างๆ บนโลกโซเชียลมีเดียทุกวันนี้ ก็เพราะมีการนำเรื่องเท็จ ข่าวปลอม มาปล่อยเผยแพร่ตามช่องทางของสื่อโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้เกิดความสับสนวุ่นวายต่อบ้านเมือง ภาพลักษณ์ของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง



 

          เช่นเดียวกับเพจเฟซบุ๊กของกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) ก็ได้โพสต์เรื่องราวเตือนประชาชนเช่นเดียวกัน ว่า อย่าหลงเชื่อข่าวมั่ว ข่าวปลอม ที่ถูกแชร์ในโลกออนไลน์ โดยระบุว่า ระวัง การนำข้อมูลปลอม ข่าวปลอม ไม่ว่าจะเป็นการปลอมทั้งหมด หรือแค่บางส่วน หรือข้อมูลอันเป็นเท็จ เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่การแชร์ หรือส่งต่อข้อมูลอันเป็นเท็จเหล่านั้น ล้วนมีความผิด ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นความผิดที่ไม่สามารถยอมความได้ พร้อมยกตัวอย่างของการกระทำที่เข้าข่ายความผิดในมาตรา 14 พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ได้แก่ 1.โพสต์ข้อมูลปลอม ทุจริต หลอกลวง เช่น ข่าวปลอม โฆษณาธุรกิจลูกโซ่ที่หลอกลวงเอาเงินลูกค้า และไม่มีการส่งมอบของให้จริง เป็นต้น มีความผิดตามมาตรา 14(1) 2.โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงปลอดภัย มีความผิดตามมาตรา 14(2) 3.โพสต์ข้อมูลความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ก่อการร้าย มีความผิดตามมาตรา 14(3) 4.โพสต์ข้อมูลลามก ที่ประชาชนเข้าถึงได้ มีความผิดตามมาตรา 14(4) และ 5.เผยแพร่ ส่งต่อข้อมูล ที่รู้แล้วว่าผิด เช่น กดแชร์ข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณีนี้ก็ถือว่ามีความผิด จะมีความผิดตามมาตรา 14(5)

 

 

แชร์ข่าวมั่ว..คะนองโพสต์เอาฮาระวังคุก!

พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ

 


          การกระทำในลักษณะดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากส่งผลต่อบุคลใดบุคคลหนึ่ง ในลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท กรณีนี้ไม่ถือว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่จะเป็นความผิดฐาน "หมิ่นประมาท” หรือ “หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 แทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในกรณีอย่างหลังนี้สามารถยอมความกันได้ ฉะนั้นตั้งสติก่อนแชร์ พิจารณาก่อนโพสต์ ฮาแต่จะเสี่ยงคุกก็ไม่ไหวนะจะบอกให้..!!​

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ