คอลัมนิสต์

อดีตสองนายพลสีกากีวิพากษ์การเมืองกับตำรวจ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวการเมือง เครือเนชั่น

 

 

          การเมืองกับตำรวจนั้น แทบจะแยกกันไม่ออก เพราะสังคมมองว่าคนการเมืองกับผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มักจะโดนกล่าวถึงในเชิงลบเสมอและมีอิทธิพลร่วมกันจนมีการเรียกร้องให้มีการ "ปฏิรูปตำรวจ” เป็นระยะ

 

 

          เครือเนชั่นได้สัมภาษณ์ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้สมัคร ส.ส.กทม.เขตหลักสี่และจตุจักร พรรคประชาธิปัตย์ กับ พล.ต.ต.สุพิศาล ภักดีนฤนาถ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ในประเด็นการเมืองกับตำรวจไว้อย่างน่าสนใจ

 


          ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่มาก จะแก้ไขแบบจริงจังอย่างไร
          พล.ต.ต.วิชัย : พรรคประชาธิปัตย์ยกเรื่องนี้เป็น 1 ใน 10 นโยบายของพรรค ยาเสพติดถือเป็นปัญหาของชาติ สร้างปัญหามาก คดีทุกวันนี้ 80% เกิดจากยาเสพติด คนติดยาเสพติดทั่วประเทศมีประมาณ 3 ล้านคน งบประมาณที่เอามาดูแลเรื่องยาเสพติดก็เสียไปมหาศาล เงินในส่วนนั้นสามารถเอาไปทำอย่างอื่นได้ ในแต่ละปีเพราะฉะนั้นเราต้องทำให้ปัญหานี้น้อยลง


          พล.ต.ต.สุพิศาล : ผมดูแลเรื่องยาเสพติดตั้งแต่เป็น ร.ต.อ. อยากให้สังคมรู้ว่าทำไมยาเสพติดยังอยู่ในเมืองไทย ขอเรียนว่าสามเหลี่ยมทองคำเป็นต้นตอของยาเสพติดที่เข้ามาในประเทศ เป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางทหารของประเทศหนึ่ง เป็น Army Trade เมื่อเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นสินค้าที่ทำให้ประเทศไทยเกิดความไม่มั่นคงคือยาเสพติด

 

          สิ่งที่เราควรทำลายคือสารตั้งต้นของยาเสพติดที่มาจากประเทศมหาอำนาจหรือนำสารเหล่านี้ผ่านประเทศเรา และต้องสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นเจ้าของดินแดนนั้น ยาเสพติดในบ้านเรา คนไทยเป็นเหยื่อของยาเสพติดมาตลอด คนผลิตมียาเสพติดเป็นโรงงาน อย่างไรก็กำไร คนเสพโดนจับก็ไม่รู้เรื่อง

 



          แนวของปะฉะดะที่พรรคประชาธิปัตย์หาเสียงจะทำเช่นใด และแนวทางของพรรคอนาคตใหม่จะแก้ไขเรื่องนี้แบบใด
          พล.ต.ต.วิชัย : ต้องยอมรับว่ายาเสพติด ทำให้เกิดความร่ำรวยให้บางคน แต่ฆ่าคนทั้งประเทศ นโยบายพรรคประชาธิปัตย์เป็นนโยบายที่จับต้องได้ ทำได้เลย ปะฉะดะ ปะ คือ พบ ฉะ คือ ทำผิดคือลงโทษ ดะ คือไม่เลือกหน้า ตอนนี้ต้องยอมรับว่าการสืบสวนเป็นอำนาจของตำรวจ ถ้าเราให้ ป.ป.ส.มีอำนาจในการสอบสวนมากขึ้น เป็นการคานอำนาจและแบ่งเบางานตำรวจ เพราะในทางสอบสวน ป.ป.ส.มีข่าวสารยาเสพติดมากกว่าตำรวจอีก ป.ป.ส.ทำสำนวนจับกุมและส่งอัยการและฟ้องศาลได้โดยไม่ต้องผ่านตำรวจ


          พรรคประชาธิปัตย์จะเพิ่มโทษให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและสอบวินัยผู้บังคับบัญชา ส่วนผู้เสพถือเป็นผู้ป่วย หากจับมาแล้วควรทำการบำบัดรักษา แต่สังคมก็ไม่ยอมรับพวกเขา แต่ถ้าบำบัดหลายรอบแล้วยังไม่เลิก ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม


          พล.ต.ต.สุพิศาล : แนวทางแก้เรื่องนี้ของพรรคคือปลดล็อก ปรับโครงสร้าง เปิดโอกาส วันนี้ยาบ้าเป็นยาเสพติดที่ต้นทุนต่ำ แต่ขายได้ราคาสูง ดังนั้นกฎหมายต้องเปลี่ยนด้วยการแทรกแซงตลาด การรีดิวซ์ราคายาเสพติดให้ลดลงเป็นหัวใจสำคัญ ต้องมองถึงโครงสร้างของกระบวนการ งานป้องกันเป็นหัวใจ ผู้ต้องหาจำนวนมากเกิดจากยาเสพติด ถ้าคนพวกนี้คือเหยื่อของอาชญากรรม เราคิดว่าพวกเขาคือผู้ป่วย พวกเขาหลงผิดกับมูลค่าของเงิน ถูกหลอกเพื่อขาย ซึ่งต้นทางสามารถคัตเอาท์ได้เลย

 


          เป้าหมายจริงๆ คืออะไรในการแก้ปัญหาเรื่องนี้
          พล.ต.ต.วิชัย : วันนี้ผู้เสพในเรือนจำแทบจะไม่มี เพราะมีการคัดกรองนำไปบำบัดเพื่อส่งกลับสู่สังคม แต่สิ่งที่เราจะทำคือเน้นปฏิบัติการ ผมปราบปรามยาเสพติดมาตั้งแต่ปี 2544 จนกทม. ฝั่งธนบุรี แทบไม่มียาเสพติดในตอนนั้น กฎหมายระบุว่ายาเสพติดมีโทษถึงประหารชีวิต ตัวอย่าง ถ้าศาลตัดสินแล้วควรนำไปประหารชีวิตเลย ยาเสพติดจะเบาบางลงทันที มาตรการในการปราบปรามมันเป็นความจำเป็น


          มาตรการแรกคือการให้ความรู้ พ่อแม่ต้องดูแลลูก โรงเรียน สังคม ทหาร ต้องดูแลตรงนี้ ถ้าทำทั้งหมดอาจสอดคล้องหรือและมีผลดีต่อตำรวจที่หลายฝ่ายช่วยทำตรงนี้ เพราะการล่อซื้อบางทีล่อซื้อเทียมให้พวกเขาส่งมาหลายล้านเม็ด แต่มันไม่ได้ผล เราก็จับได้แค่ตัวปลอมที่มาส่ง ตัวจริงก็ผลิตต่อไป ก็ถอนลำบาก เราต้องทำให้ผู้เสพน้อยลง ถ้าจะมัวแต่ป้องกันก็ไม่ได้เพราะเด็กยังเสพอยู่ ดังนั้นเราต้องทำให้คนมีความรู้ก่อน สถานบำบัดต้องมีเยอะเข้าไว้ ต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ที่คอยบำบัด


          พล.ต.ต.สุพิศาล : สิ่งสำคัญคือการทำจริงคือ 1.ต้องตัดเส้นทางสารตั้งต้นให้ได้ 2.ลดแรงจูงใจของผู้ค้า ให้ความรู้แก่ผู้ค้า 3.หน่วยงานที่ต้องแข็งแรง คือตำรวจ D.A.R.E ของสหรัฐ (Drug Abuse Resistance Education โครงการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน เพื่อให้เด็กนักเรียนเข้าใจการต่อต้านการใช้ยาเสพติดและการหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง) พวกเขาใช้ตำรวจ D.A.R.E ไปฟูมฟักให้ความรู้แก่เด็ก เพราะเด็กคือเหยื่อ ดังนั้นตำรวจ D.A.R.E ต้องถูกสร้าง และให้กองทุนมากขึ้น เพื่อไปปรับปรุงฟื้นฟูเด็กให้เตรียมรับแรงกระแทกจากปัญหายาเสพติด ถ้าเด็กป้องกันตัวเองได้นั่นคือขั้นแรกของนโยบาย คือ ชุมชน เปิดโอกาสให้ชุนชนมีส่วนร่วมมากที่สุด โดยเฉพาะการกระจายอำนาจจากรัฐบาลในเรื่องเม็ดเงิน ให้ชุมชนสามารถใช้เงินโดยความคิดของพวกเขาเอง แบบที่ต้องทำเอง ตำรวจมีหน้าที่เข้าไปดูแล และมีตำรวจ D.A.R.E เข้าไปให้ความรู้ จัดสถานที่ของชุมชนให้แข็งแรง หาทิศทางหรืองานให้เด็กที่ติดยาเพื่อระบายกิจกรรมที่พวกเขาอยากเล่นอีกเส้นทางหนึ่ง เรียกว่าชุมชนบำบัด ซึ่งเป็นหัวใจหลักและเสริมตำรวจ D.A.R.E ให้มากที่สุด เพื่อให้พวกเขาสร้างองค์ความรู้ในรากฐาน


          ส่วนกฎหมายหรือผู้ที่ต้องขังยาเสพติด โดยเฉพาะผู้ที่ค้า เราอย่าคิดว่าพวกเขาเป็นผู้กระทำผิด ถ้าเราเปลี่ยนยาเสพติดให้เหมือนกัญชาที่เราจะเอามาขาย ถ้ายาเสพติดราคาถูก โดยตัดราคา และเปลี่ยนทิศทางของการลงโทษ เพราะการประหารชีวิตไม่ได้ผล รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย ทิศทางของการปราบปรามไม่มีการสิ้นสุด


          การสิ้นสุดของเรื่องนี้คือ 1.ตัดต้นทางของสารตั้งต้น 2.สร้างรากฐานชุมชน ช่วยกันบำบัดตรงกลาง ต้องปลดปล่อยคนที่เป็นเหยื่อทั้งหมดออกไป และสุดท้ายคนไทย คือการเปิดโอกาสให้คนในสังคมร่วมบูรณาการทั้งหมด ตั้งแต่ระดับครอบครัว และต้องเอาใจใส่คนในสังคม ให้ความรู้ เจ้าหน้าที่รัฐทุกภาคส่วนต้องลงมาบูรณาการอย่างชัดเจน ไม่ใช่ปล่อยตัวใครตัวมัน ส่วนเรื่องการปราบปรามต้องเด็ดหัวผู้ที่อยู่เบื้องหลังให้ได้ อย่ามัวเด็ดปลายแถวเพื่อสร้างผลงาน


          พล.ต.ต.วิชัย : เรื่องสารตั้งต้นนั้นรัฐบาลทำอยู่แล้ว เราต้องยอมรับว่า ประเทศรอบบ้านนั้นเดิมอาจจะมีประเทศเดียว แต่ตอนนี้ บางประเทศมองว่าเป็นรายได้ที่ดี หลายประเทศเริ่มทำตรงนี้ ถ้าเราจะไปพูดในการเมือง ให้พวกเขาหยุดในเรื่องสารตั้งต้น พวกเขาก็รับปาก แต่ตรงนี้คือรายได้ของประเทศเหล่านี้ และพวกเขาอาจจะอยู่เบื้องหลังด้วย ดังนั้นมันค่อนข้างยากที่จะไปบังคับพวกเขา เพราะเป็นรายได้และเป็นเรื่องการเมืองของพวกเขา มันยุ่งยากพอสมควร ฉะนั้นเราต้องแก้ไขภายในประเทศเราให้ได้


          ตอนที่ผมอยู่กับผู้ว่าฯ กทม. เราดูแลชุมชน บำบัดนักศึกษา โรงเรียนต่างๆ แต่ต้องยอมรับว่าสังคมเรา ยาเสพติดนั้นคนติดยามาจากคนรากหญ้า คนจน พ่อแม่ที่ไม่มีเวลาให้ลูกและไปเสพยาเสพติด อันนี้เป็นต้นตอของปัญหา ดังนั้นหน่วยงานรัฐต้องเข้าไปดูแล อย่างเช่น ถ้าเอาทุกมหาวิทยาลัยมาลงช่วยด้านการศึกษากับชุมชน มันจะช่วยได้เยอะมาก


          พล.ต.ต.สุพิศาล : เราต้องเข้าใจว่า ปัญหานี้กระทบกับชุมชนข้างล่าง ดังนั้นเกราะที่สำคัญคือคนข้างๆ เด็ก นั่นคือต้องเอาใจใส่ ส่วนภาครัฐนั้นขาดการและประมวลผล เคยติดตามผู้ที่เข้ารับการเยียวยาและปลดล็อกออกจากผู้เสพแล้วกลับไปบ้าน เราจะติดตามพวกเขาด้วยเทคโนโลยี เราต้องเข้าถึงเรื่องความรู้ ที่อยู่อาศัย ผลลัพธ์ที่บอกว่าพวกเขาหาย จากการเสพยานั้น เรื่องแบบนี้มันจะกลับมาอีกหรือไม่

 


          ส่วนการปฏิรูปตำรวจนั้น “ผู้การแมว” และ “ผู้การแต้ม” แสดงมุมมองเรื่องนี้ว่า
          พล.ต.ต.สุพิศาล : คนที่จะมาประกอบอาชีพตำรวจนั้น จากนี้ไม่ต้องเรียนจบจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และโรงเรียนเตรียมทหาร พาตำรวจกลับบ้าน กลับสู่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วกระจายอำนาจ หากทำแบบนี้จะทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีงบประมาณมากมาย


          ส่วนการแต่งตั้งนั้น นายกรัฐมนตรีไม่ควรยุ่งกับการแต่งตั้งระดับล่างลงไป ยกเว้นตำแหน่ง ผบ.ตร.เพียงคนเดียว โดยการแต่งตั้งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติขึ้นอยู่กับบอร์ดก.ต.ช. โดยจะถูกออกแบบจากตำรวจเท่านั้น อาจจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านกระบวนการคัดสรรมาจากภาคประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาร่วมด้วย โดยมีการเลือกรายชื่อว่าที่ ผบ.ตร. และลงคะแนนจาก ผกก.ทุกสถานี โดยว่าที่ ผบ.ตร. 2 คน นำคุณสมบัติเข้าบอร์ดก.ต.ช. และเป็นสิทธิของนายกฯ ที่จะเลือก ผบ.ตร.คนใหม่ ตรงนี้คือโครงสร้างที่จะถูกตัดเรื่องของการกระจายอำนาจทางการคลัง จะต้องลงไปที่ อปท. หน่วยงานที่จะเป็นแม่งานให้แก่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อทำสิ่งที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่มี ปัจจุบันตำรวจยังต้องหิ้วสมบัติส่วนตัวไปที่สถานีตำรวจ ตรงนี้คือส่วนหน้าของงานทั้งหมด


          นโยบายใหม่จะต้องถูกออกแบบโดยรื้อโครงสร้าง และนำเทคโนโลยีเข้ามา การทำงานส่วนหน้า จะต้องมี co-space เพื่อให้ประชาชนเข้ามาใช้ ห้องคุมขังจะไม่มี ต้องฝากขังที่ศาล ห้องควบคุมจะเป็น co-space เป็นที่ให้ความรู้ เชื่อมความสัมพันธ์ ตกลงคดีความที่ไม่อยากขึ้นศาล คดีที่ขึ้นศาลจะต้องเป็นคดีที่สำคัญ ความยุติธรรมชุมชนจะเกิดที่นี่ ยุติธรรมสมานฉันท์อาจจะเกิดที่อัยการ


          เราจะสร้าง justech คือ justice+technology ตั้งแต่การเอาตัวจนถึงปล่อยตัว เรื่องของการควบคุมอาชญากรรม จากเครื่องมือเทคโนโลยีที่มี คือเรื่อง inside outside คือตำรวจที่ต้องรับใช้ชุมชนเป็นหัวใจสำคัญ จาก 5 ทฤษฎีกับ 1 หลักการ 1 หลักการสุดท้ายคือหลักการแก้ไขปัญหาผันไปตามความต้องการของประชาชน


          พล.ต.ต.วิชัย : ตำรวจมีทั้งดีและไม่ดี ประชาชนสนใจแค่ตำรวจไม่ดี ดังนั้นต้องมีการปฏิรูป ระบบของเราแทบจะเหมือนกับญี่ปุ่น แต่ของญี่ปุ่นไม่มีปัญหา ดังนั้นมันอยู่ที่คน เราต้องแก้ที่คน เราต้องมีวิธีการปฏิรูป นายกฯไม่มีสิทธิ์แต่งตั้ง ผบ.ตร. ไม่อย่างนั้นตำรวจอยู่ข้างการเมือง เพราะนายกฯเป็นคนแต่งตั้งตำรวจ โครงสร้างเสีย ตำรวจที่ทำงานดีๆ เลยเสียไปเลย ผบ.ตร.ต้องมาจาก ก.ตร. เพราะคนที่รู้ดีว่าใครดีและไม่ดี คือตำรวจ เพราะฉะนั้นนเราต้องคัดผบ.ตร.จาก ก.ตร. ถ้าผบ.ตร.ไม่ดี นายกฯ หรือสังคมสั่งปลดได้


          ทำไมงานสอบสวนสมัยก่อนไม่เสียหาย มาเสียหายในบางช่วง เพราะเราไม่เคยแก้ให้พวกเขา คนที่ได้ทำงานสอบสวนก็ท้อ เพราะงานหนัก ความเจริญก้าวหน้าก็ไม่มี ทำไมเราไม่แก้ตรงนี้ ทุกวันนี้ที่บอกว่าสังคมต่อว่ามากที่สุดคือ เรื่องสอบสวน ความยุติธรรมกับประชาชน เราต้องไปดูแลเรื่องการบริการ ความรวดเร็ว ความเป็นธรรม และตำรวจต้องทำเรื่องสืบสวนและเรื่องการป้องกันเท่านั้น อันไหนที่ไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมาย มอบให้คนที่ทำหน้าที่นั้นๆ ทำงาน ไม่ต้องให้ตำรวจทำ”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ