คอลัมนิสต์

คนเมืองโวย!นโยบายพรรค "ค่ารถถูกและดี" ยังไม่โดนใจ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 



          วินาทีนี้ “ปัญหาหนักอก” ของคนกรุงหรือคนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ทั่วไทยคือ ค่าเดินทาง หรือค่าโดยสารรถสาธารณะ ซึ่งนับวันพุ่งกระฉูดจนเป็นรายจ่ายมากกว่าค่าอาหารหรือค่าข้าวแล้ว...

 

 

          พรรคการเมืองที่หวังได้คะแนนโหวตมาเป็นรัฐบาลชุดต่อไป ต้องมีนโยบายแก้ปัญหานี้ให้โดนใจคนเมืองให้ได้ ไม่ใช่ราคาถูกแต่บริการแย่สกปรก หรือราคาแพงคุณภาพดีแต่จ่ายไม่ไหว !?!


          ที่ผ่านมาระบบขนส่งสาธารณะประเทศไทย เช่น รถเมล์ รถราง รถแท็กซี่ รถไฟฟ้า มีความล้าหลังและไม่ได้รับการสนใจพัฒนาจากรัฐบาลมากนัก เช่น โครงการสั่งซื้อรถเมล์แอร์เอ็นจีวี จำนวน 489 คัน มูลค่า 4 พันกว่าล้านบาท กำหนดส่งมอบตั้งแต่ปี 2561 สุดท้ายมีปัญหาฉ้อโกงทุจริตคอร์รัปชั่น ต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด หรือการยกเลิกไม่ให้มีรถเอกชนแท็กซี่ การชะลอเพิ่มเส้นทางรถไฟฟ้าในเมือง ฯลฯ


          ปัญหาเหล่านี้ล้วนทำให้คนเมืองถูกมัดมือชก จำใจควักกระเป๋าจ่ายค่ารถไฟฟ้าบีทีเอสหรือเอ็มอาร์ที หรือรถเมล์แอร์แสนแพง ถ้าวันไหนเงินหมดต้องก้มหน้ารอขึ้นรถเมล์ร้อนๆ รอนานเป็นชั่วโมงๆ แบบไม่มีทางเลือก


          ที่ผ่านมา รัฐบาลทั้งจากพรรคการเมืองและจากค่ายทหาร ล้วนไม่ได้สนใจไยดีจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลง “ระบบขนส่งสาธารณะอย่างครบวงจร” มีแต่สนใจเข้าไปยุ่งกับงบก่อสร้างถนน งบซื้อรถไฟฟ้าเพิ่ม แล้วโยนภาระให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำโครงการประชานิยม รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ช่วยคนจน คนชรา ผู้พิการ ฯลฯ
เป็นแบบนี้มานานกว่า 10 กว่าปีแล้ว ยุคทักษิณ ต่อเนื่องมาถึง ยุคอภิสิทธิ์ ตามด้วยยุคทหารลุงตู่

 



          หลายคนสงสัยว่า คนเมืองกรุงจ่ายค่ารถสาธารณะแพงแค่ไหน ?


          ข้อมูลสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ศึกษาพบว่า คนกรุงกว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 5 ล้านคน ไม่สามารถควักเงินจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้า ตัวอย่างเช่น ผู้มีรายได้ 1-1.5 หมื่นบาท ถ้าขึ้นรถไฟฟ้าตลอดสายต้องจ่ายเที่ยวละ 42 บาท แล้วถ้าต่อ 2 สายเพิ่มเป็น 84 บาท ไป-กลับเสียวันละ 168 บาท เดือนละกว่า 3,000 บาท ยังไม่รวมค่าวินมอเตอร์ไซค์หรือต่อแท็กซี่ในบางถนนอีกวันละเกือบร้อยบาท


          ทำให้คนส่วนใหญ่ที่มีรายได้น้อย จำใจขึ้นรถไฟฟ้าเฉพาะวันที่จำเป็นจริงๆ หรือรถติดมากๆ เท่านั้น ส่วนวันธรรมดาหันไปขึ้นรถเมล์แทน


          ถ้าเจอเรื่องฉุกเฉินต้องขึ้นแท็กซี่ ก็ต้องควักแพงขึ้นไปอีก แถมเรียกยากเย็นแสนเข็ญ เปิดประตูถามหลายคันกว่าจะได้รับอนุญาตให้ขึ้นรถ อ้างรถติด เติมแก๊ส ส่งรถไม่ทัน ฯลฯ


          ทีดีอาร์ไอ ยังวิเคราะห์ไว้ว่าปัญหาคุณภาพและบริการของรถแท็กซี่ เกิดจาก “รายได้คนขับไม่เหมาะสม” หรือต่ำเกินไป บางคนหักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือติดกระเป๋ากลับบ้านแค่ 300 กว่าบาทเท่านั้น จึงเสนอให้ปรับขึ้นค่าโดยสารอีกร้อยละ 10 เพื่อให้แท็กซี่เหลือเงินกลับบ้านไม่ต่ำกว่าวันละ 400-500 บาท หากเปรียบเทียบทั่วโลก เมืองไทยคิดค่าโดยสารต่อ 5 กิโลเมตร ต่ำสุดในโลก ประมาณ 66.50 บาท จีน 154 บาท ญี่ปุ่น 255 บาท อังกฤษ 353 บาท ถูกกว่ามาเลเซียร้อยละ 30 ถูกกว่าฟิลิปปินส์ร้อยละ 10


          ส่วนค่ารถเมล์นั้น ข้อมูลจาก “โครงการศึกษาการพัฒนาความปลอดภัยและคุณภาพการให้บริการของรถโดยสารประจำทาง” กรมการขนส่งทางบกระบุว่า ค่าโดยสารรถเมล์ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทั้งค่าเชื้อเพลิง ค่าจ้างและค่าซ่อม ทำให้คุณภาพตกต่ำ จากการศึกษาต้นทุนรถเมล์แอร์ควรเพิ่มจาก 15 บาท เป็น 23 บาทต่อกิโลเมตร ส่วนรถเมล์ทั่วไป ปัจจุบันมีต้นทุนวันละ 5,000 บาท แต่มีรายรับไม่ถึงวันละ 4,000 บาท ขาดทุนสะสมทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่าพันบาท ทำให้ไม่สามารถมีงบประมาณมาพัฒนาเส้นทางหรือซื้อรถเมล์เพิ่มเติมได้


          ปัญหาข้างต้น ทำให้คนกรุงปวดใจ ไม่รู้ว่าทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาถึงเมินเฉยไม่เคยสนใจไยดี ทุกๆ วันต้องเผชิญปัญหาขึ้นรถไฟฟ้าก็แพง รถเมล์ราคาถูกแต่ไม่มีรถให้ขึ้น แท็กซี่ก็เรียกยากไม่รับผู้โดยสาร วินมอเตอร์ไซค์ก็ขูดเลือดขูดเนื้อ ฯลฯ


          เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2562 เครือข่ายภาคประชาชนได้ร่วมกันจัดงานเสวนา “ระบบขนส่งสาธารณะที่ทั่วถึง ปลอดภัยและทุกคนเข้าถึงได้” เชิญนักวิชาการ ตัวแทนผู้พิการ ตัวแทนผู้สูงอายุ ตัวแทนแรงงาน กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค มาร่วมกันคิดหาไอเดียหรือวิธีการที่จะช่วยแก้ไขการเดินทางของคนในเมืองใหญ่
เช่น ตัวแทนคนพิการ เสนอว่า การพัฒนาทางขึ้นรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ชานต่ำ ไม่ได้ทำเฉพาะให้คนพิการ แต่ผู้สูงอายุ เด็ก คนป่วย ก็สามารถใช้ได้ด้วย ส่วนตัวแทนผู้สูงอายุเล่าถึงปัญหาการเข้าห้องน้ำที่สถานีรถไฟฟ้า ที่เป็นอุปสรรคในการเดินทาง บางครั้งต้องกลับบ้านไปเข้าห้องน้ำแล้วกลับออกมาใหม่อีกครั้ง หรือป้ายรถเมล์อยู่ไกลเดินไม่ไหว ไม่มีรถโดยสารในซอยเปลี่ยว


          ผลสรุปจากงานเสวนาพบว่า คนกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทยล้วนเจอปัญหาเดียวกันคือ ระบบขนส่งสาธารณะไม่ทั่วถึง ราคาแพง หรือไม่ได้มาตรฐาน โดยมีความหวังกับรัฐบาลชุดต่อไปว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาปรับปรุงให้ราคาถูกลง เข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น


          “คม ชัด ลึก” สำรวจ “นโยบายด้านคมนาคม” ที่พรรคการเมืองนำมารณรงค์หาเสียงในช่วงนี้ พบว่า พรรคการเมืองใหญ่ๆ ยังขายฝันทั่วไป ไม่ได้กล่าวถึงนโยบายแก้ปัญหา อย่างเป็นรูปธรรมมากนัก ส่วนพรรคการเมืองเล็กๆ ก็เน้นหาเสียงไปในแนวประชานิยมของฟรีของถูก ตัวอย่างเช่น


          พรรคประชาธิปัตย์ นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวถึงปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ทำให้พรรคชูนโยบายพลังงานสะอาด หรือให้รถมีเครื่องกำจัดไอเสียดักเขม่า ด้วยมาตรการภาษีจูงใจและปรับรถโดยสารสาธารณะมาใช้ระบบไฟฟ้า โดยเปลี่ยนรถเมล์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 5,000 คัน ให้เป็นรถเมล์ไฟฟ้าภายใน 7 ปี รูปแบบ “Smart Bus” รัฐจะช่วยตรึงราคาค่าโดยสารไว้เหมือนเดิม รถเมล์ไฟฟ้าทั้งระบบ ไร้ฝุ่น มลพิษ มีเส้นทางเชื่อมต่อรถไฟฟ้าและเรือ ส่วนแท็กซี่ปรับเป็น “Smart Taxi” ทำรถส่วนตัวที่มาให้บริการจากแอพพลิเคชั่นให้ถูกกฎหมาย


          ส่วน “พรรคเพื่อไทย” ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้นำพรรคลงพื้นที่หาเสียงกับคนกรุงเทพฯ รับปากว่าจะพยายามเพิ่มระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าให้มากขึ้น รวมถึงเพิ่มรถโดยสารประจำทาง เพิ่มวินจักรยานยนต์รับจ้างและรถรับจ้างอื่นๆ


          ขณะที่ พรรคพลังประชารัฐ “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรคถึงขนาดลงทุนนั่งขับรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าหาเสียงรณรงค์ให้รถขนส่งสาธารณะเป็นรถไฟฟ้า EV ทั้งหมด เพื่อลดฝุ่นควัน และให้ทันสมัย สะดวกสบายมากขึ้น พร้อมนโยบายรถเก่าแลกรถใหม่ไฟฟ้า รับส่วนลด 1 แสนบาท นอกจากนี้ยังมี “กองทุนรถแท็กซี่” ไม่ต้องเช่าแต่เป็นเจ้าของรถเอง เพิ่มโครงการขยายเครือข่ายรถไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ สนับสนุนให้เปลี่ยนระบบขนส่งมวลชนเป็นระบบไฟฟ้าทั้งหมด เช่น รถเมล์ไฟฟ้า แท็กซี่ไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการประกาศหาเสียงด้วยนโยบายขนส่งไร้รอยต่อ โดยนำระบบคอมพิวเตอร์หุ่นยนต์เอไอมาช่วยแก้ปัญหาระบบสัญญาณไฟจราจรอัตโนมัติ และ “BANGKOK CARD” การ์ดใบเดียวใช้เดินทางได้ทั้งรถไฟฟ้า เรือ รถเมล์ พร้อมด้วยรถเมล์วิ่งตอนดึก มอเตอร์ไซค์รับจ้างปลอดภัยได้มาตรฐาน

 

          "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เสนอให้ปลี่ยนรูปแบบคมนาคมขนส่ง จากระบบถนนมาเป็นระบบรางด้วยรถไฟเป็นหลัก จะเร่งสร้างรางรถไฟครอบคลุมทั่วประเทศไทย และพัฒนาขนส่งระบบรอง เช่น รถบัส หรือ รถมินิบัส เชื่อมต่อชุมชนกับขนส่งมวลชนหลักอย่าง สถานีรถไฟและสนามบิน นอกจากนี้ยังเสนอนโยบายสร้างระบบรางขนส่งไฮเปอร์ลูป หรือระบบที่ยานพาหนะเคลื่อนที่ในอุโมงค์สุญญากาศด้วยแรงขับแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้รวดเร็วกว่ารถไฟความเร็วสูง ใช้พลังงานเพียงร้อยละ 15 ของระบบเดิม และใช้งบประมาณน้อยกว่าครึ่ง


          ส่วนพรรคเล็กที่มีนโยบายด้านนี้ชัดเจนได้แก่ พรรคประชานิยม พล.ต.อ.ยงยุทธ เทพจำนงค์ หัวหน้าพรรค เสนอวิธีแก้ปัญหารถเมล์ด้วยคำสัญญาว่าจะเพิ่มรถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี จำนวน 1 หมื่นคัน และเปลี่ยนค่าโดยสารรถปรับอากาศเหลือเพียง 10 บาทตลอดสาย และ 40 บาทตลอดวัน


          รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา หัวหน้าภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงนโยบายขนส่งมวลชนว่า เมืองใหญ่ที่ดีต้องมีพื้นที่ถนนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 เพื่อช่วยการเดินทางให้สะดวกสบาย เมืองหลวงกรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนแค่ร้อยละ 3.76 เท่านั้น วิธีการที่เสนอให้รัฐบาลใหม่ไปลองคิดทำ คือ เพิ่มพื้นที่ถนนโดยใช้ที่ดินของรัฐ เช่น พื้นที่ของหน่วยงานทหารที่มีอยู่จำนวนมาก จะช่วยให้มีพื้นที่ถนนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15


          “นโยบายทุกพรรคตอนนี้​ยังขาดทิศทางการพัฒนาประเทศ​ในด้านระบบคมนาคมขนส่งและจราจร​ ถ้าไม่มีเป้าหมายว่าประเทศจะเป็นอะไรในอนาคต​ ก็ตั้งแนวทางพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและจราจรไม่ได้​ เช่น ถ้ากำหนดว่าไทยจะเป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารของอาเซียน​ ก็มีแนวพัฒนาระบบขนส่งแตกต่างจากเป็นศูนย์กลางด้านการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลระดับโลก นโยบายตอนนี้เหมือนจับแพะชนแกะ​ พรรคประชาธิปัตย์มีนโยบายด้านนี้ละเอียดที่สุด​ แยกเป็นประเภทการคมนาคมต่างๆ​ แต่ยิ่งละเอียดก็ยิ่งเห็นชัดว่าไม่มีทิศทาง​ สะเปะสะปะ​ เอาทุกอย่างทั้งเชื่อมโยงระหว่างประเทศ​ ศูนย์กลางขนส่งสินค้า​ รถไฟทางคู่​ รถไฟฟ้าความเร็วสูง​ ท่าเรือ​ สนามบิน​ แต่ไม่มีเป้าหมายหลักชัดเจน”


          รศ.ดร.พนิต วิเคราะห์ต่อว่า ตอนนี้ทุกพรรคพูดถึงโครงสร้างขนาดใหญ่และขนาดใหญ่พิเศษ​ เช่น​ มอเตอร์เวย์ ถนนสายหลัก​ รถไฟความเร็วสูง​ รถไฟทางคู่​ ท่าเรือน้ำลึก​ สนามบินนานาชาติ​ แต่ปัญหาหลักของคนไทยคือเส้นทางสายรอง​ ทั้งถนนสายรอง​ รถไฟสายรอง​ การเดินทาง การขนส่งในลำคลองต่าง​ๆ​ หรือสนามบินภายในประเทศ​ นโยบายเหล่านี้หายไปเพราะอยากเน้นสร้างไทยให้เชื่อมกับโลก​ แต่ประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในเมืองใหญ่หรือเส้นทางสายหลักก็ยังเชื่อมโยงกับศูนย์กลางต่างๆ​ รวมถึงเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐในเมืองใหญ่ไม่ได้ตามเดิม​ สรุปคือเน้นช่วยคนรวยหรือคนมีโอกาส​อยู่แล้ว แต่คนในชนบทยังไม่มีโอกาสเช่นเดิม
สอดคล้องกับ ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผอ.การวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวยอมรับว่า พรรคการเมืองเน้นหาเสียงด้านการลงทุน เช่น รถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือระบบรถไฮเทคบางประเภท แต่ไม่ได้กล่าวถึงอัตราค่าโดยสาร


          "สิ่งที่ควรทำเร่งด่วนคือ แก้ปัญหาราคารถเมล์และคุณภาพ เพราะเป็นสิ่งที่คนเมืองต้องการ ปรับราคารถเมล์สูงขึ้นสักนิดแล้วเพิ่มบริการให้ดีขึ้น มีป้ายรถเมล์มากขึ้น ที่สำคัญคือ ควรทำตั๋วรถโดยสารแบบรวมกัน รถไฟฟ้าไม่ควรราคาเกิน 15–30 บาทตลอดสาย ส่วนค่ารถเมล์ที่เหมาะสมประมาณ 12-15 บาท ไม่ควรเกิน 20 บาทตลอดสาย"


          ขณะที่ตัวแทนคนขี่จักรยาน “วิเศษ คุณฤทธิพงศ์” มูลนิธิกองทุนไทย เล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวในการเสี่ยงอันตรายว่าสุดแสนลำบาก ขี่ในถนนซอยก็โดนรถยนต์บีบแตรไล่ ออกมานอกถนนก็โดนรถเมล์เบียด ส่วนทางจักรยานก็โดนมอเตอร์ไซค์หรือหาบเร่แผงลอยยึดเอาไป


          “ทั้งที่รัฐบาลรณรงค์ลดเลิกใช้รถยนต์ ลดโลกร้อน ลดฝุ่นพิษ แต่กลับไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอนโยบายเรื่องเส้นทางจักรยาน หรือให้ลดการไปทำงานที่ออฟฟิศ เปลี่ยนเป็นทำที่บ้านแทน”


          “รสนา โตสิตระกูล” แสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนว่า คนกรุงตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากมากมานานแล้ว จะนั่งรถไฟฟ้าก็แพง ไม่รู้จะเอารถยนต์ไปจอดที่ไหน จะขึ้นรถเมล์ก็ไม่ทันนัดหมาย ต้องเดิน 3 กิโลกว่าจะเจอป้าย ปัญหาเหล่านี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน


          “เพราะฉะนั้นคนในชุมชนต้องออกมารวมตัวช่วยกันคิดว่าจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ตัวเองอย่างไร กำหนดทิศทางด้วยตัวเอง เชื่อมโยงกับภาครัฐ พวกเรามีสิทธิ เพราะเป็นคนจ่ายเงินภาษี อย่าปล่อยให้นักการเมืองหรือรัฐมีอำนาจฝ่ายเดียว อำนาจต้องกลับมาอยู่ที่ประชาชน คนไทยไม่เคยรู้ว่าตัวเองมีอำนาจอย่างไรบ้าง ถ้าไม่รวมตัวกันก็จะไม่มีอำนาจต่อรองในการสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ”


          ความคิดเห็นข้างต้น นับเป็นการสรุปวิธีการแก้ปัญหาสะสม “ระบบการขนส่งสาธารณะ” ที่เกิดมาเนิ่นนานในเมืองหลวงหรือเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทยเป็นอย่างชัดเจน


          ห้วงเวลาไม่กี่วันข้างหน้านี้ เป็นโอกาสอันดีที่ผู้ลงคะแนนเสียงในแต่ละเขตเลือกตั้ง จะนัดรวมตัวกันเพื่อใช้ “อำนาจ” ของตัวเอง เสนอระบบขนส่ง “ค่ารถถูกและดี” ให้โดนใจ ร่วมกันออกแบบเสร็จแล้วเสนอไปยังนักการเมืองในท้องถิ่นนั้นได้ทันที ช่วยกันหาวิธีการต่อรองกับพรรคการเมือง ให้รู้ว่าคะแนนเสียงมีค่า อยากได้ต้องมีนโยบายเหล่านี้ตอบแทนกลับมา


          หากพรรครับปากแล้ว ขายนโยบายสำเร็จแล้ว สุดท้าย ชาวบ้านในเขตเลือกตั้งจะเป็นคนติดตามเองว่าได้ผลมากน้อยเพียงไร หรือเป็นเพียงนโยบายกลเม็ดหาเสียงลอยลม


          ขอให้อย่าลืมไปว่า “อำนาจ” ในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็ยังคงอยู่ในมือประชาชน 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ