คอลัมนิสต์

ไม่คุ้ม- "บิ๊กตู่" ช่วยหาเสียง พปชร.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  ร่มเย็น


 
    
          ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)  ก็ออกมาบอกแล้วว่า “ไม่ได้ช่วยหาเสียงอะไรกับใคร” 


              และยังมีการอ้างถึง “แหล่งข่าวใกล้ชิด” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า  ในวันที่ 10 มีนาคมนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ไปร่วมปราศรัยหาเสียงช่วยพรรคพลังประชารัฐที่ จ.นครราชสีมา ตามที่พรรคกำหนด และในสัปดาห์นี้จะยังไม่มีการลงพื้นที่หาเสียงนอกเวลาราชการในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่วนโค้งสุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ จะช่วยพรรคพลังประชารัฐหาเสียงหรือไม่ก็ต้องพิจารณาอีกครั้งตามความเหมาะสม

 


   

          เมื่อนักข่าวเอาเรื่องนี้ไปถามนายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)  นายอุตตม บอกว่า เป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นผู้พิจารณาเองและพรรคจะเคารพการตัดสินใจของท่านและยืนยันว่าพรรคจะเดินหน้าหาเสียงต่อไป เพราะพรรคมีการวางแผนในส่วนของพรรคไว้แล้ว
   

          มันจึงสอดคล้องกับก่อนหน้านี้ที่มีรายงานข่าวว่า “พปชร.” ได้ล้มแผนดัน “บิ๊กตู่” ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พปชร. ขึ้นปราศรัย 4 ภาค เนื่องจากแกนนำของพรรคได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 4 มีนาคม ที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบทุกประเด็น จึงได้ข้อสรุปกันว่านอกจากเงื่อนไขบางประการในข้อกฎหมายแล้ว หากพล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นปราศรัย สิ่งที่ตามมาจะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะจะเจอการถูกรุมโจมตีจากฝ่ายต่างๆ รวมถึงประเด็นการตอบโต้ที่จะมีตามมาของผู้เกี่ยวข้องในพรรค จะส่งผลกระทบต่อสิ่งที่พรรคได้นำเสนอแก่ประชาชนให้หันไปสนใจประเด็นขัดแย้งมากกว่านโยบายของพรรคในด้านต่างๆ ที่อุตส่าห์หาเสียงมาโดยตลอด ดังนั้น พปชร.จึงจะใช้ช่วงโค้งสุดท้ายในการหาเสียงเลือกตั้งมุ่งนำเสนอนโยบายจะเป็นผลดีต่อพรรคมากกว่า

 

          การที่พรรคพลังประชารัฐนึกขึ้นได้และหันกลับมาใช้แนวทางชูนโยบายของพรรคมากกว่า “ตัวบุคคล” ที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ช่วยหาเสียงนั้น น่าจะถูกต้องแล้ว

 

          เพราะแม้ว่าก่อนหน้านี้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ตอบข้อซักถามของพรรคพลังประชารัฐว่า พล.อ.ประยุทธ์ สามารถช่วยหาเสียง ร่วมกิจกรรม และขึ้นเวทีปราศรัยได้ ไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ก็ใช่ว่าพรรคพลังประชารัฐและพล.อ.ประยุทธ์ จะปลอดภัย  เพราะหนังสือที่ กกต. ตอบกลับมามีข้อความด้วยว่า "แต่ต้องไม่เป็นการใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด"


  

          สรุปก็คือทำได้แต่ต้องอยู่ภายใต้มีเงื่อนไข ซึ่งจะมีปัญหาตามมาในเงื่อนแง่กฎหมาย  เช่น การไปช่วยหาเสียงต้องดำเนินการนอกเวลาราชการเท่านั้น การไปช่วยหาเสียงไม่สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น ไม่สามารถใช้รถยนต์ประจำตำแหน่ง ไม่สามารถใช้เจ้าพนักงานของรัฐติดตามอำนวยความสะดวก การเดินทางไปต่างจังหวัดโดยเครื่องบินไม่สามารถใช้เครื่องบินของราชการแม้ว่ามีภารกิจงานราชการในช่วงกลางวันแต่มีการหาเสียงตอนเย็น  เหล่านี้อาจนำไปสู่การที่พล.อ.ประยุทธ์ ถูกกล่าวหาว่าเป็นการแอบแฝงใช้ทรัพยากรของรัฐเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองได้ทั้งสิ้น
   

          นั่นเป็นเพียงในเรื่องปัญหาข้อกฎหมาย แต่ยังอาจมีปัญหาในเรื่องข้อเท็จจริงที่ถูกมองว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นนายกฯ และหัวหน้าคสช. ไปช่วยหาเสียงให้พรรคพลังประชารัฐเป็นการเอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น  ไหนจะเรื่องบุคลิกที่พูดจาโผงผางของพล.อ.ประยุทธ์ ที่อาจเป็น “พิษ” ส่งผลด้านลบต่อพรรคพลังประชารัฐได้ตลอดเวลา  ไม่ได้มีแต่ด้านบวกอย่างเดียวเสียเมื่อไหร่
  

          และหากมองย้อนไปก่อนหน้าได้มี “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” หรืออาจารย์แหม่ม กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในมันสมองคนสำคัญที่ร่วมผลักดันนโยบายของพรรคมองว่า หาก พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ช่วยหาเสียงให้พรรคก็คงไม่ถือเป็นจุดที่จะทำให้พรรคเสียเปรียบ เนื่องจากพรรคยังมีวิธีอื่นๆ ที่สามารถดำเนินการได้ และเชื่อว่าคะแนนเสียงจากประชาชนที่จะมีให้พรรคนั้นมาจาก 3 ส่วน คือ 1.ผู้นำ 2.นโยบาย และ 3.ผู้สมัคร โดยบริบทในบางพื้นที่นั้นภาพผู้นำของพรรคไม่ได้สำคัญไปกว่าตัวผู้สมัครที่ใกล้ชิดประชาชนในพื้นที่ หรือบางพื้นที่ ประชาชนจะมองที่นโยบายของพรรคว่าสามารถแก้ไขปัญหาให้เขาได้หรือไม่เป็นหลัก

 

          และ “อาจารย์แหม่ม” ยังเปิดเผยด้วยว่านับตั้งแต่ “พล.อ.ประยุทธ์” ตอบรับเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค มันส่งผลทั้งในด้าน “บวก” และ “ลบ” ในเวลาเดียวกัน 
 

 

          แต่ “นโยบายของพรรค” ที่มีความเป็นไปได้มากกว่าอีกหลายพรรคที่มุ่งแต่หวังผลทางการเมือง และเกิดขึ้นจากเสียงเรียกร้องของประชาชน มีระดมสมองช่วยกันคิดจากคนในพรรค เพื่อตอบโจทย์ให้ประชาชน รวมถึงได้หยิบยกผลงานวิจัยต่างๆ ที่มีอยู่แล้วขึ้นมาปลุกปั้น  ดูตามสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไปในแบบภาพรวมตามความจำเป็น ดำเนินงานตามแผนและยุทธศาสตร์ที่มีกำกับไว้ เพื่อให้บรรลุผลได้จริง  ดังนั้นนโยบายของพรรคต่างหากที่สำคัญที่สุด


          ดังนั้นคงจะพูดได้ไม่ผิดว่าการที่ “พรรคพลังประชารัฐ” กลับมาใช้วิธีเดินหน้าหาเสียงด้วยนโยบายในช่วงโค้งสุดท้ายนำหน้า การชูตัว “ผู้นำ” จึงมาถูกทิศถูกทางแล้ว

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ