คอลัมนิสต์

ระบบตำรวจไม่ทำงาน...ทำอันธพาลครองเมือง?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  ล่าความจริง..พิกัดข่าว  โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร


 


          เหตุการณ์ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์มาแรงแซงทุกกระแส สังคมตั้งคำถามว่าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เมืองไทยกลับสู่ยุคอันธพาลครองเมืองกันอีกแล้วหรือ ถือเป็นประเด็นที่น่าถอดบทเรียน

 

 

          เริ่มจากมุมมองการใช้ความรุนแรงของวัยรุ่นและเยาวชนกันก่อน อาจารย์สืบพงษ์ ม่วงชู รองอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารอุเทนถวาย บอกว่า กว่า 80% ของปัญหาความรุนแรงในรั้วโรงเรียนมาจากสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวเด็กและเยาวชน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาเลยก็ว่าได้ เด็กบางคนมีครอบครัวอาศัยอยู่ในชุมชนแออัด หรือแหล่งเสื่อมโทรม ทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมต่างๆ เข้ามาโดยไม่รู้ตัว


          อาจารย์สืบพงษ์ บอกว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาบางแห่งมีปัญหาความรุนแรงมากกว่าช่างกลด้วยซ้ำไป ขณะที่วัยรุ่นในชุมชนต่างๆ ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ก็มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงเยอะมาก อายุของผู้กระทำผิดก็น้อยลงเรื่อยๆ เรื่องสภาพแวดล้อมของเยาวชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถชักจูงให้กระทำรุนแรงรูปแบบต่างๆ ได้ง่ายมาก


          ขณะที่มุมมองของนักอาชญาวิทยาอย่าง ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ บอกว่า คดีความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงหลังๆ อายุของผู้ที่ก่อเหตุอยู่ในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้นด้วยซ้ำไป ซึ่งอาจมาจากพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ และแสวงหาการยอมรับจากเพื่อนในกลุ่มหรือเพื่อนรุ่นพี่ เช่น หากอยู่ในกลุ่มรถซิ่ง ก็อยากจะขับรถให้เก่ง หากอยู่กลุ่มที่ชอบมีเรื่องทะเลาะวิวาท ก็จะมีพฤติกรรมเป็นหัวโจกในการหาเรื่อง เพื่อให้ได้การยอมรับจากกลุ่มเพื่อนๆ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “พวกมากลากไป”

 



          อาจารย์จอมเดช ยังมองในแง่ของการบังคับใช้กฎหมายว่า จริงๆ ความผิดที่คนเหล่านี้ก่อ มีข้อกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ทั้งการห้ามดื่มสุราในวัด ในโรงเรียน แต่สถานที่เหล่านี้ตรวจสอบได้ยาก เพราะจะให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทุกแห่งก็คงจะเป็นไปได้ยาก จึงทำให้ยังมีการฝ่าฝืนข้อกฎหมายอยู่ โดยสิ่งสำคัญที่ควรจะแก้ไขก็คือจิตสำนึกของแต่ละบุคคลในการเคารพกฎหมายมากกว่า


          แม้อาจารย์จอมเดช จะออกตัวว่า การลักลอบกระทำผิดกฎหมายในบางสถานที่ แม้จะทำผิดอย่างโจ๋งครึ่ม แต่ก็ยากที่ตำรวจจะเข้าไปตรวจสอบได้ทุกเหตุการณ์ แต่อดีตตำรวจนักปฏิรูปอย่าง พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร บอกว่า เหตุการณ์ที่โรงเรียนมัธยมวัดสิงห์ สะท้อนปัญหาของระบบตำรวจไทยอย่างชัดเจน
“นี่คือภาพสะท้อนว่าระบบงานรักษากฎหมายของประเทศไทยมีปัญหาร้ายแรงที่ต้องเร่งปฏิรูปโดยด่วน” พ.ต.อ.วิรุตม์ กล่าว พร้อมแจกแจงปัญหาเป็นข้อๆ ให้เห็นกันชัดๆ 


          1.การใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่ทำไมโรงเรียนจึงไม่สามารถแจ้งให้ตำรวจมาจัดการดำเนินคดีได้ ทำให้ต้องไปเตือนเอง ก่อให้เกิดปัญหาการกระทบกระทั่งกัน และนำไปสู่การทำร้ายร่างกายในที่สุด


          2.ปัญหาลักษณะนี้มีเกิดขึ้นมากมายทั่วประเทศ ประชาชนเดือดร้อนแสนสาหัส รถเร่ขายสินค้าใช้เครื่องขยายเสียงโฆษณาตามถนนหลวงและตรอกซอกซอยต่างๆ เต็มไปหมด ประชาชนต้องอยู่กันด้วยความอดทน เพราะไม่รู้ว่าจะแจ้งให้ใครมาจัดการได้ หรือแจ้งแล้วแต่ไม่มีใครมาจัดการ


          3.ทางแก้คือต้องทำให้ กทม.และเมืองใหญ่ๆ มีตำรวจของตนเอง เพื่อทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในความรับผิดชอบ ทั้งสอบสวนและดำเนินคดีได้ด้วย ไม่ต้องไปพึ่งตำรวจแห่งชาติดังเช่นปัจจุบัน หรือไม่ก็โอนตำรวจนครบาลไปสังกัด กทม. เหมือนประเทศที่เจริญทั่วโลกที่งานตำรวจอยู่ในความรับผิดชอบของเมืองใหญ่ทั้งสิ้น ตามหลักกระจายอำนาจและเข้าใจพื้นที่


          พ.ต.อ.วิรุตม์ ยังบอกด้วยว่า ปัญหาทั้งปวงเกิดจากระบบสอบสวนเละเทะล้มเหลว “ไม่ตาย ไม่เป็นข่าว - ไม่มีเงิน ไม่สอบสวน” ทำให้กลุ่มอันธพาลนอกกฎหมายไม่กลัวตำรวจ ส่วนคนสุจริต คนดี ตกเป็นเหยื่อถาวร


          จากการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหานี้ เป็นเพราะระบบงานตำรวจของบ้านเราเป็นระบบ “รอรับแจ้งความ” ซึ่งเป็นระบบงานตำรวจแบบเก่า ตำรวจจะนั่งรอที่โรงพัก เพื่อให้ประชาชนเข้าแจ้งความร้องทุกข์ ถือเป็นการปฏิบัติงาน “เชิงรับ” แม้จะมีฝ่ายสืบสวนและสายตรวจออกพื้นที่บ้าง แต่ก็เป็นการทำงานตามวงรอบ และวางแผนแบบรวมศูนย์ ไม่ได้วางแผนร่วมกับประชาชนเพื่อป้องกันอาชญากรรมอย่างแท้จริง


          แต่ระบบตำรวจแบบใหม่ที่ทั่วโลกใช้กันกว่า 80% แล้ว คือระบบที่เรียกว่า community policing แปลเป็นไทยว่า “ตำรวจผู้รับใช้ชุมชน” คือการส่งตำรวจไปอยู่ ไปทำงานในชุมชน ไม่ใช่นั่งรอที่โรงพัก เพื่อให้รู้ถึงปัญหาในชุมชน และวางแผนป้องกันตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ เช่น ปัญหาเด็กแว้น รถซิ่ง ปัญหาอันธพาลที่สร้างความเดือดร้อนในชุมชน แต่ปัจจุบันตำรวจไทยยังนั่งรอแจ้งความที่โรงพัก ทำให้กลุ่มอันธพาลและผู้มีอิทธิพลอยู่สบาย แถมยังขยายอิทธิพลจนไม่กลัวใคร เมื่อตำรวจรับเรื่องร้องทุกข์ กว่าจะเข้าไปแก้ไข ก็ไม่ทันแล้ว


          การบริหารงานตำรวจแบบใหม่ เริ่มมีนายตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาบางคนนำมาใช้ เช่น โครงการปักกลด ที่ให้ตำรวจทำตัวเหมือนพระธุดงค์ ไปปักหลักอยู่ในชุมชนเพื่อรับทราบปัญหา และทำแผนแก้ไขปัญหาอาชญากรรม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ