คอลัมนิสต์

'วราวุธ ศิลปอาชา' จุดยืน ชทพ.คือพรรคเราไม่เสียสัจจะ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...  ทีมข่าวการเมือง เครือเนชั่น


 

          คณิตศาสตร์การเมืองตามกติกาใหม่ของประเทศนั้นระบุแล้วว่า “ไม่มีพรรคใดมีเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่จะเป็นรัฐบาลพรรคเดียว”

 

          ฉะนั้น “พรรคขนาดกลาง” คือตัวแปรที่จะบ่งชี้ว่าพรรคใดจะเข้าวินได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และต้องดูว่าจุดยืนของพรรคขนาดกลางบนเวทีการเมืองไทยยามนี้จะเลือกมุมใดระหว่าง “มุมหนุนลุงตู่กับมุมหนุนประชาธิปไตย”

 


          ที่ผ่านมาเคยมีคำกล่าวไว้ว่า “ชาติไทยพัฒนา" (ชาติไทยในอดีต) คือพรรคที่พร้อมจับมือกับพรรคใดก็ได้เพื่อร่วมตั้งรัฐบาล จนได้รับฉายาพรรคจอมเสียบ และพรรคปลาไหล ในตำนานข่าวการเมืองไทย 


          ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่หนึ่ง “วราวุธ ศิลปอาชา” ทายาทของ “เติ้งเสี่ยวหาร” ผู้ล่วงลับ วันนี้ลูกท็อปสวมบท ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา จะให้คำตอบเหล่านี้กับเครือเนชั่น...


          "หากถามว่า พรรคจะอยู่ในฐานะจอมเสียบหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าพรรครอตัวเลขหลังการเลือกตั้งเป็นตัวกำหนด หากฝ่ายใดรวมกันเกินครึ่งหนึ่งและทาบทามพวกเรา พรรคจะดูว่าจะบรรจุนโยบายของพรรคไปอยู่ในนโยบายรัฐบาลหรือไม่ เพราะเราเป็นพรรคขนาดกลางและเล็ก พรรคหวังมี 30 ส.ส.บวกและลบ วันนั้นพรรคจะแต่งตัวรอ หากไม่มีพรรคใดเชิญ ก็ไปอยู่ฝ่ายค้าน


          สมัยที่คุณพ่อ(บรรหาร ศิลปอาชา)ยังมีชีวิตอยู่ เอกลักษณ์ที่คุณพ่อทำไว้คือมีสัจจะ รับปากร่วมงานกับใครไม่เคยทิ้งเรือ พรรคที่เลือกพวกเราให้ร่วมรัฐบาลเพราะมองว่าพวกเราไม่แทงใครข้างหลังและทิ้งกันกลางทาง จะเห็นว่ายามที่พรรคใดตั้งรัฐบาลจะติดต่อคุณพ่อก่อนคนอื่น เพราะพรรคต้องการทำงาน คุณพ่อไม่เคยเสียสัจจะ วันนี้พรรคยึดแนวทางนี้

 

          คำว่าพรรคปลาไหลนั้น คือวาทกรรมที่คนเสียประโยชน์นำมาใช้กับพรรค ผมไม่ยอมรับนะ เพราะบางคนพูดเพื่อสะใจ ถามว่าที่ผ่านมาทำไมพรรคที่ตั้งรัฐบาลเลือกพวกเราก่อนคนอื่น หากพวกเราปลิ้นปล้อน จะเลือกพวกเราร่วมงานหรือ วันนี้ไม่มีคำนี้แล้ว เพราะตอนลงพื้นที่หาเสียง ชาวบ้านพูดถึงพรรคชาติไทยพัฒนาว่า “พรรคนายบรรหาร”




          หากถามว่าจุดเด่นที่เราร่วมงานกับพรรคใดก็ได้นั้น ย้ำว่าเป็นเพราะพรรคของเราจริงใจ ไม่แทงข้างหลัง ไม่เลื่อยขาเก้าอี้ ไม่ใส่ร้ายป้ายสี ทุกรัฐบาลมีข้อดีและข้อเสีย แม้แต่ตอนที่คุณพ่อเป็นนายกฯ เช่นกัน เหมือนเหรียญสองด้าน สังคมไทยวันนี้หากนำข้อเสียมาประจาน มันง่าย หากใครพูดในข้อดีก็โดนคำถามว่า เข้าข้างกัน ย้ำว่ายามที่พรรคไปร่วมรัฐบาล เราไม่ละเลยการตรวจสอบ จะเตือนกัน แต่ให้เกียรติกัน หากใครทำเสียหายคนนั้นต้องรับผิดชอบ เราไม่สาวไส้ให้กากินเพื่อให้รัฐบาลเสียเสถียรภาพ แม้บางครั้งจะรู้และบางครั้งก็ไม่รู้กับเรื่องผิดปกติ เพราะเราไม่ไปยุ่ง ถือว่าแบ่งหน้าที่กันแล้ว เพราะหน้าที่ตั้ง ครม. พรรคใหญ่จะแบ่งหน้าที่และไม่ก้าวก่ายกัน ฉะนั้นเราทำหน้าที่บนเวทีการเมืองมาทุกอย่างแล้ว(ฝ่ายค้านและรัฐบาล) หลังเลือกตั้งครั้งนี้พรรคอยู่จุดใดก็ได้"


          ส่วนความขัดแย้งในพรรคที่มีกระแสข่าวออกมาว่า “รุ่นใหญ่” มาไล่บี้ “รุ่นใหม่” ไม่ให้นำพาพรรคเพราะ “อ่อนชั่วโมงบิน” นั้น ทายาทของ "มังกรเมืองสุพรรณ” ซึ่งเป็น ส.ส.ครั้งแรกอายุ 27 ปี เป็น รมช.คมนาคม อายุ 35 ปี คนนี้กล่าวถึงบทบาทและจุดยืนของพรรคในช่วงจากนี้ไปว่า


          "เหตุที่ผมไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคนั้น ผมบอกเสมอว่าพรรคนี้คือบ้านของผม ดังนั้นผมอยู่หน้าที่ใดก็ได้ในบ้านของผม ตอนแรกนั้นกระแสการนำคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานที่นี่คือสิ่งที่ผมคิด แต่เมื่อทำงานมาระยะหนึ่งผมมีมุมมองว่าพรรคนี้มีรากจากพรรคชาติไทย การที่จะใช้คนประสบการณ์น้อยนั่งหัวโต๊ะ มันคงไม่ใช่ แม้วันนี้คือเวลาคนรุ่นใหม่ก็ตาม แต่พรรคนี้คือพรรคที่มีประวัติศาสตร์ ควรให้รุ่นใหญ่ทำงานด้วย วันนี้พรรคผสมคนสองรุ่นทำงานและไม่มีพรรคใดทำแบบพวกผม เพราะในวันนี้ผมยังต้องฟังคนทั้งสองรุ่นที่รวมกันที่นี่


          หากถามว่าเหตุที่ผมพลาดตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพราะผมไม่มีสายสัมพันธ์แบบที่คนรุ่นใหญ่ (ประภัตร โพธสุธน เลขาธิการพรรค) มีสายสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตนายกฯ ที่อยู่ต่างประเทศ รวมทั้งหัวหน้าพรรค (กัญจนา ศิลปอาชา) นั้นมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับแกนนำ คสช. การทำแบบนี้บางคนมองว่าพรรคทำงานเสมือน “แทงกั๊ก” นั้น ขอบอกว่า เลขาธิการพรรคคนนี้อยู่พรรคนี้ก่อนคุณพ่อมาที่พรรคชาติไทยเสียอีก วันนี้ เมื่อไม่มีคุณพ่อ เราต้องให้เกียรติความอาวุโสมาดูแลพรรค รวมทั้งพี่สาวของผมที่บางคนบอกว่าอาจสนิทกับใครบางคนนั้น ขอเรียนว่าความสัมพันธ์ที่ผู้ใหญ่ในพรรคสนิทกับใครนั้นไม่ใช่ความลับและคงบังคับไม่ได้


          วันที่ตัดสินใจเปลี่ยนคือ มอบให้คนอาวุโสรับไม้ดูแลพรรคนี้แทน ขอเรียนว่าทุกเรื่องในเมืองไทย ยังยึดระบบอาวุโส จะเอาเด็กมาข้ามหัวผู้ใหญ่เลยไม่ได้ พรรคนี้มีระบบ และอบอุ่น แม้บางคนมองว่าเหตุที่นำเลขาธิการพรรคคนนี้เข้ามาแล้วทำให้หลายคนในพรรคย้ายออก เพราะไม่พอใจ ยืนยันว่าไม่ใช่ คนแรกที่แสดงความยินดีกับเลขาธิการพรรคที่มารับหน้าที่คือ "จองชัย เที่ยงธรรม” แม้วันนี้ทั้งสองคนนี้อาจไม่เผาผีกัน เพราะผู้อาวุโสสองคนนี้อาจมีแนวคิดไม่ตรงกันบ้างตั้งแต่ก่อนที่ผมเกิดด้วยซ้ำ และวันที่คุณพ่อยังทำหน้าที่อยู่ยังเอาน้ำเย็นลูบด้วยบารมี แต่วันนี้บารมีผมและบารมีพี่สาวเอาไม่อยู่ ของแบบนี้ไม่เหนือการคาดหมาย มันคือวัฏจักรการเมืองที่วันนี้แยกย้าย วันข้างหน้าอาจมาร่วมงานกันใหม่ วันนี้พรรคอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ที่ผมเคารพทั้งคู่ ผมเคารพการตัดสินใจ คนในครอบครัวผมนั้น ยืนยันว่าหารือทั้งสองฝ่ายแล้ว เคารพสิทธิของทุกฝ่าย และขอไม่พูดเรื่องนี้อีก


          ส่วนกรณี "สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ไม่ขอพูดเพราะ “สมศักดิ์” ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเนื่องจากโดนตัดสิทธิทางการเมือง แต่เสียดายที่ "สองพี่น้องปริศนานันทกุล” ตัดสินใจเปลี่ยนแนวการทำงานทางการเมือง เพราะเรามีความฝันด้วยกันในการทำงานบริหารพรรค และควรไปสอบถามทั้งสองคนว่าเปลี่ยนใจเพราะอะไร ผมเสียดายสองคนนี้นะ ส่วน "สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” นั้น ผมเข้าใจ เพราะอาจรู้สึกผิดหวังหลายอย่าง


          ย้ำว่าเหตุที่หลายคนย้ายพรรคไม่ใช่เพราะการแย่งชิงตำแหน่งในพรรค ไม่ใช่การหักเหลี่ยม ความจริงผมไปขอร้องพี่สาวมารับหน้าที่นี้ (หัวหน้าพรรค) หากใครรู้จักพี่สาวของผมจะทราบว่า พี่สาวมาทำงานการเมืองนั้นเพราะคุณพ่อและวันนี้มาทำเพื่อน้อง ย้ำว่าหากวันนี้ไม่มีผู้ใหญ่นั่งหัวโต๊ะมันลำบาก"


          ส่วนจุดขายของพรรคนี้ที่จะเสนอต่อสังคมนั้น “วราวุธ” บอกว่า "จังหวะของพรรคและนโยบายที่จะหาเสียง พรรคพร้อมแก้ปัญหาปากท้องให้เกษตรกร เราจะควบคุมปัจจัยการผลิตได้ แต่ต้องขายของเป็น วันนี้มีช่องทางการขายทางโลกออนไลน์ที่มีมากและต้องทำให้ผลผลิตดี เพราะเราคุมราคาสินค้าเกษตรโลกที่ผันผวนไม่ได้ พรรคจะดูแลผู้สูงอายุด้วยกองทุนมรดกเงินล้าน จ่ายกี่เดือนจะได้เงินตอบแทนเท่าที่จ่ายเท่ากับจำนวนเดือนที่ชำระ แตกต่างจากการจ่ายเงินประกันชีวิต และขยายอายุเกษียณราชการเป็น 65 ปี และนำความรู้ของคนเกษียณมาช่วยงานเพราะมีศักยภาพ


          พรรคจะดูแลการศึกษาเพราะช่วงที่ “โทนี่ แบลร์” อดีตนายกฯ อังกฤษเคยหาเสียงนโยบายเร่งด่วนเรื่องการศึกษาไว้ก่อนรับหน้าที่นายกฯ เมื่อได้ตำแหน่งผู้นำอังกฤษก็ทำเรื่องนี้ทันที ดังนั้นพรรคจะตั้ง “สภาการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ” ที่เชิญทุกฝ่ายมาร่วมอยู่ในนี้ โดยกระทรวงศึกษาธิการต้องทำตามแผนนี้ และให้กระทรวงนี้หลุดจากการครอบงำของวงการเมือง พรรคหวังอยากทำหน้าที่นี้


          หากถามใช้งบจากไหน ตอบว่าทุกกระทรวงมีงบประมาณอยู่ เพียงดึงมาใช้ประโยชน์ให้ถูกจุด ไม่เก็บภาษีชนชั้นกลางเพิ่มและอยากรื้อระบบการเก็บภาษี หากองค์กรใดใช้ระบบไอทีและเอไอแทนการจ้างคนที่ประหยัดงบองค์กรนั้นๆ ไปแล้ว ก็ควรนำภาษีขององค์กรเหล่านี้มาดูแลสิ่งที่ผมบอกไว้ในข้างต้น วันนี้หมดเวลาแจกเงิน ใครทำงานจะได้รับสิ่งที่แลกไว้”


          ส่วนมุมมองที่มีต่อการเมือง การยึดอำนาจและจุดยืนของพรรคว่าจะเลือกขั้วใดหลังการหย่อนบัตรนั้น “วราวุธ” บอกว่า "สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ ต้องเดินหน้าเลือกตั้ง หลังเลือกตั้งแล้วก็ไม่มีเผด็จการ มีแต่ประชาธิปไตย แม้วันนี้มีการพูดว่าเลือกฝ่ายใดระหว่างสองฝ่ายคือหนุนและไม่หนุนเผด็จการ ผมไม่ขออยู่ทั้งสองฝ่าย วันนี้เข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกคนมีพรรคในใจแล้ว คนไทยจะไปลงคะแนน สิ่งที่เกิดในสภาคือคำตอบ วันข้างหน้าจะไม่มีเผด็จการแล้ว


          การยึดอำนาจครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น ผมมองสองด้าน มันพอกันทั้งคู่ เหตุการณ์นั้นนักการเมืองผิดส่วนหนึ่งเพราะไม่ยอมกันจนทหารต้องเข้ามา วันนั้นทุกคนให้ดอกไม้กับทหาร จากนี้ไปอย่าสร้างเงื่อนไขขัดแย้งให้ทหารเข้ามาอีก 


          ผมพูดเสมอว่าการเมืองไทยเหมือนละครที่ต้องดูยาวๆ ผู้ร้ายกลายเป็นพระเอก พระเอกกลายเป็นผู้ร้าย แต่สุดท้ายจะกลับสู่ครรลอง วันนี้ผมไม่อยากพูดเรื่องความขัดแย้งของกีฬาสีแล้ว”


          ส่วนการร่วมรัฐบาลหรือไม่นั้นพรรคจะดูว่าพรรคแกนนำตั้งรัฐบาลนำนโยบายพรรคไปบรรจุในนโยบายรัฐบาลหรือไม่ และรอคำตอบจากตัวเลข ส.ส.ว่าพรรคใดจะได้เสียงข้างมาก จากนั้นค่อยมาดูว่าพรรคชาติไทยพัฒนาจะอยู่ฝ่ายใด ตอนนี้ยังไม่เลือกว่าพรรคจะอยู่ฝ่ายใด อย่าลืมว่าการเมืองไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ย้อนไปดูช่วงที่พรรคไทยรักไทยสมัยที่สองชนะเลือกตั้ง พรรคชาติไทยในวันนั้นเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาลกับพรรคไทยรักไทย เมื่อผลเลือกตั้งครั้งนั้นออกมา พรรคชาติไทยประกาศไม่ร่วมรัฐบาล เพราะพรรคนั้นมีเสียงข้างมากอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีพรรคชาติไทย พวกเราจึงขอไปทำหน้าที่ตรวจสอบ


          ส่วนคดีความของคนการเมืองนั้น พรรคไม่ก้าวล่วงกระบวนการยุติธรรมในคดีที่อยู่ในชั้นศาล ส่วนกฎหมายนิรโทษกรรมที่บางฝ่ายอาจเสนอขึ้นมาอีกนั้น ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป เรื่องนี้ควรหารือในสภาแล้วไปทำประชามติดีกว่า แต่วันนี้สิ่งที่จำเป็นที่สุดคือร่างกฎหมายแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน เรื่องของนักการเมืองควรมาทีหลังปัญหาชาวบ้าน


          ส่วนกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่ คสช.วางไว้ มันแบ่งเป็นช่วงละ 5 ปี มองมุมร้ายก็เหมือนว่าโดนควบคุมยาว แต่มองมุมดีนั้นเมืองไทยไม่มีการวางแนวคิดในระยะยาวแบบนี้ แต่องค์ประกอบและแนวทางของกรรมการชุดนี้ควรเสริมด้วยคนหลากวัยโดยเฉพาะเยาวชนควรมีส่วนด้วย เพราะพวกเขาจะเติบโตในอนาคต ไม่ควรทำงานไปแก้ไปแบบลูบหน้าปะจมูก


          ขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อดีและข้อเสีย ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์แบบรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่โดนฉีกไป หลายคนบอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ตอนนั้น(ก่อนการยึดอำนาจของคมช.) พรรคเคยบอกว่า อย่าฉีก เพราะรัฐธรรมนูญเหมือนบ้านของคนไทย อะไรชำรุดควรแก้ไข ไม่ใช่ทุบบ้านทิ้ง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ