คอลัมนิสต์

มะรุม มะตุ้ม ยุบแล้ว...ยุบอีก?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบจริง ตามที่คนไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ แปลว่านี่คือพรรคที่ 3 ของเครือข่ายสีแดง ที่ต้องประสบพบเจอชะตากรรมพักยาวอยู่บ้าน

          เฮ้อ...ถอนหายใจยาวๆ กับการเมืองไทยช่วงนี้ ที่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหน ก็พากัน “ใจหาย” เช้า “ใจคว่ำ” ดึก กันเป็นทิวแถวนับแต่วันศุกร์ที่ 8 ก.พ ที่ผ่านมา

          เรามาถึงจุดๆ นี้กันได้อย่างไร ยังคงเป็นคำถามของทุกฝ่าย

          แต่ฝ่ายที่อาจจะกำลังตีอกชกหัวตัวเอง กับเรื่องราวพลิกที่คว่ำคะมำหงายครั้งนี้มากที่สุด เห็นจะเป็นคนที่เรารู้ว่าใคร คนที่อยู่แดนไกลนั่นแหละ

          เพราะถ้านับนิ้วดูแล้ว หากพรรคไทยรักษาชาติถูกยุบจริงตามที่คนไทยวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ แปลว่านี่คือพรรคที่ 3 ของเครือข่ายสีแดง ที่ต้องประสบพบเจอชะตากรรมพักยาวอยู่บ้าน งดกิจกรรมทางการเมืองอีกหลายปี

          ถึงตรงนี้ เลยต้องขอย้อนรอยกลับไปยังหน้าประวัติศาสตร์ ว่าที่ผ่านมามีพรรคเครือข่ายสีแดง ต้องเจอคดียุบพรรคมาเท่าไหร่

 

ยุบหนอ ยุบพรรค

          คร่าวๆ ให้เข้าใจง่าย อย่างที่รู้กันว่า ปัจจุบันเรามี  “พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560” หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่นักกฎหมายหลายคนระบุว่าเป็นแบบ "ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย"

          โดยเฉพาะในส่วนของการยุบพรรค ปรากฏว่าการยุบพรรคการเมืองจะเกิดขึ้นเมื่อ คณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด

          สำหรับ หลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น คือ         

          (1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

         (2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

         (3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

         (4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด

          สำหรับเคสของไทยรักษาชาตินี้ บทลงโทษหากศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานข้อใดตามนี้ก็จะสั่งยุบพรรคการเมือง จะส่งผลให้ “กรรมการบริหารพรรคต้องเว้นวรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี” ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 94 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ยังไม่นับรวมถึงกรณีที่อาจมีการยื่นเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในอนาคต

 

2549 สามพรรค สามพ่าย

          ถ้าเอาบริบทการเมืองไทยช่วงสิบกว่าปีมานี้ คนไทยได้ยินและรู้จักคำว่า “ยุบพรรค” ตัดสิทธิ์ทางการเมือง นับจากช่วงปี 2549 โดยขณะนั้น เราใช้ "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541"

          เวลานั้นมีพรรคที่จ่อถูกยุบ 2 กลุ่ม รวม 5 พรรค กลุ่มแรกคือ พรรคไทยรักไทย พรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย กลุ่ม 2 คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า

          ทั้งหมดถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยในข้อกล่าวหา “เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ”

          อย่างไรก็ดี ตามที่รู้กันว่าคดีในกลุ่มที่ 2 รอดหมดครบทุกคน เหลือเพียงแต่กลุ่ม 1 ที่โดนยุบเรียบร้อยไป 3 พรรค จึงขอเล่าย่อๆ ดังนี้

          สืบเนื่องจากช่วงปี 2549 ท่ามกลางวิกฤตการณ์การเมืองไทย จนรัฐบาลไทยรักไทยโดย นายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีการยุบสภาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2549 และจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549

          ต่อมา สุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียน กกต. ว่าพรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ และปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค ขณะที่พรรคไทยรักไทยร้องเรียนกลับว่าถูกพรรคประชาธิปัตย์จ้างพรรคเล็กใส่ร้ายพรรคตน

          กกต. ขณะนั้น มีความเห็นว่าทั้ง 5 พรรค (ภายหลัง 2 พรรคในกลุ่มที่ 2 รอด) กระทำความผิดตามมาตรา 66 ของ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 2541 และได้ส่งสำนวนต่ออัยการสูงสุดเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 พรรค

          แต่ปรากฏว่า เกิดมีเหตุรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 โดย คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) จึงได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540

          ส่งผลให้คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดเก่าถูกยกเลิกไปด้วย “และได้ตั้งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่มีจำนวน 9 คน” และออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 27 กำหนดให้ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ยังคงบังคับใช้ต่อไป 

          สำหรับคำร้องให้ยุบพรรคไทยรักไทยและอีก 2 พรรคเล็ก คือ พรรคพัฒนาชาติไทย และพรรคแผ่นดินไทย นั้นสืบเนื่องจากการที่มีการกล่าวหาว่า พรรคไทยรักไทยได้จ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงเลือกตั้งเพื่อหนีเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์ และปลอมแปลงเอกสารฐานข้อมูลสมาชิกพรรค

          โดยเกณฑ์ 20 เปอร์เซ็นต์นั้นมาจากกติกาเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดว่า เขตเลือกตั้งใดที่มีผู้สมัคร ส.ส.แค่คนเดียว ผู้สมัครที่จะได้รับเลือกตั้งเป็น สส.จะต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 20

          โดยตามที่ ในการเลือกตั้ง ส.ส.เป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2549 เมื่อ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน ได้ประกาศบอยคอตการเลือกตั้ง ด้วยการไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัคร ทำให้บางเขตเลือกตั้งโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ มีผู้สมัครจากพรรคไทยรักไทยเพียงคนเดียว ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้กำหนดเงื่อนไขว่า กรณีเขตเลือกตั้งใด มีผู้สมัคร ส.ส.เพียงคนเดียว จะต้องได้คะแนนเกินร้อยละ 20 ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้น  ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงเงื่อนไขดังกล่าว พรรคไทยรักไทยจึงติดต่อว่าจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กให้ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครด้วย
          ที่สุดเรื่องราวดำเนินมาจนข้ามปี จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยสั่งยุบพรรคไทยรักไทยตามข้อกล่าวหา พร้อมๆ กับ พรรคพัฒนาชาติไทย และ พรรคแผ่นดินไทย และตัดสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค 5 ปี

          ปีนั้น จบกันที่ตัวเลขไป 3 พรรค 3 พ่าย สังเวยกฎ 20% โดยเฉพาะกรรมการบริหารพรรค 111 คนของพรรคไทยรักไทย ที่ต้องเว้นวรรคทางการเมือง จนเกิดเป็นคำเรียกว่า “บ้านเลขที่ 111”

          อย่างไรก็ดี น่าสนใจมากที่ภายหลังช่วงปี 2559 ปรากฏว่าวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2559 ศาลฎีกาได้มีคำตัดสินคดีจ้างพรรคเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง โดยสรุปเป็นข้อยุติว่าไม่มีคนของพรรคไทยรักไทยคนใดกระทำผิดกฎหมายแม้แต่คนเดียว

          แต่เรื่องนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าเป็นคนละเรื่องกัน ไม่สามารถจะพูดได้ว่าใครถูกหรือใครผิด และไม่รู้ด้วยว่า เรื่องนี้ใครถูกหรือใครผิด ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ข้อหาเดียวทำความผิดกรณีเดียวกันฟ้องได้ทั้งอาญาและแพ่ง แต่ปรากฏว่าคดีอาญาผิดแต่คดีแพ่งไม่ผิด

          ส่วนเรื่องการยุบพรรคถือว่าจบไปแล้วแม้จะเป็นกรรมเดียว วาระเดียว แต่มูลเหตุและเหตุผลที่ใช้ในการพิจารณาคนละหลักกัน

 

2551 สามแพ้ สามพรรค

 

          เวลาผ่านมาอีกเพียงปีเศษเท่านั้น ปรากฏว่าเมืองไทยเดินทางมาถึงคดียุบพรรคการเมือง พ.ศ. 2551 อีกครั้ง

          โดยเป็นคดีที่ พรรคชาติไทย, พรรคมัชฌิมาธิปไตย และ พรรคพลังประชาชน ถูกฟ้องเป็นจำเลยอันเนื่องมาจากกรณีทุจริตการเลือกตั้ง ส.ส. วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2550

          โดยคำร้องให้ยุบพรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยสรุปคือ กกต.พบการทุจริต จนมีการให้ใบแดงและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มณเฑียร สงฆ์ประชา ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองเลขาธิการพรรคชาติไทย กับ สุนทร วิลาวัลย์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งและรองหัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย

          โดยเหตุที่ยุบทั้งพรรค แม้ว่าหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคคนอื่นในทั้งสองพรรค ไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการกระทำผิดของทั้งสองคนก็ตาม

          แต่การที่ทั้งสองคนต่างก็เป็นกรรมการบริหารพรรคเสียเอง กกต.จึงพิจารณาตามกฎหมายว่า ถ้าการกระทำดังกล่าวปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคมีส่วนรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย หรือทราบแล้วไม่ได้ยับยั้งหรือแก้ไข เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

          ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการซึ่งให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

          ส่วนคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชนมีว่า กกต.ได้ให้ใบแดงและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ ยงยุทธ ติยะไพรัช รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน ส.ส.แบบสัดส่วน ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา เนื่องจากพบว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งที่จังหวัดเชียงราย ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง พิพากษายืนตามมติของ กกต. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของยยงยุทธเป็นเวลา 5 ปี

          ที่สุดวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551 คณะตุลาการรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยกรณีอัยการสูงสุดมีคำร้องให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย โดยมีคำสั่งให้ยุบพรรคทั้ง 3 พรรค รวมทั้งเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งต่อกรรมการบริหารพรรคมีกำหนด 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญคำสั่งให้ยุบพรรค

          ปีนั้น จบกันที่ตัวเลขไป 3 พรรค 3 แพ้ สังเวยคำตัดสินทุจริตเลือกตั้ง โดยคราวนี้เรียกรวมกันว่า "บ้านเลขที่ 109" ที่รวมเอาอดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน, พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่ถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตามคำวินิจฉัยในคดียุบพรรคการเมือง

          โดยตัวเลข 109 มาจาก พรรคพลังประชาชน จำนวน 37 คน, พรรคชาติไทย จำนวน 43 คน และ พรรคมัชฌิมาธิปไตย จำนวน 29 คน

          เฉพาะกับพรรคพลังประชาชน เราต่างก็รู้กันว่า พรรคนี้ก็เหมือนเป็นพรรคไทยรักไทยเดิม เพราะภายหลังคดียุบพรรคการเมืองเนื่องจากการเลือกตั้ง 2 เมษายน พ.ศ. 2549 กลุ่มไทยรักไทย (เดิมคือ พรรคไทยรักไทย) มีมติที่จะส่งอดีต ส.ส.เก่า สมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชาชน เพื่อลงรับเลือกตั้งครั้งใหม่ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

 

 2562 สองพรรค สองลุ้น

 

          คงจำกันได้ เมื่อพรรคพลังประชาชนสลายโต๋ ที่สุดนักการเมืองในพรรคก็มารวมตัวกันใหม่ในนาม “พรรคเพื่อไทย” แถมยังชนะเลือกตั้งปี 2554 ได้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง แต่ก็มีเหตุให้ต้องระเห็จไปต่างประเทศอีกคน

          กระทั่งเมื่อปี่กลองเลือกตั้งเริ่มกลับมาอีกครั้ง คนไทยก็ได้รู้จักกับกลยุทธ์แตกแบงค์พันเป็นแบงค์ร้อย เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง เราจึงได้รู้จักกับ “พรรคไทยรักษาชาติ”

          ว่ากันว่าทางหนึ่ง เป็นยุทธวิธีจัดตั้งพรรคเครือข่าย หรือพรรคสำรอง เทคนิคแก้เกมระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม

          อีกทางหนึ่งคือ “พรรคเพื่อไทย” อาจจะหวาดหวั่นว่าจะถูก “ยุบพรรค” เข้าสักวัน หลังจาก “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตั้งคณะกรรมการไต่สวนกรณี “ทักษิณ” ครอบงำพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค รวมถึงกรณี 8 แกนนำพรรคเพื่อไทย แถลงข่าว 4 ปี โจมตีการบริหารงานของ คสช.

          ดังนั้น ทางรอดหนึ่ง จึงหมายถึงการตั้งพรรคไทยรักษาชาติขึ้นมา

          แต่แล้ว!!! หลังจากการเสนอบัญชีนายกฯ ของพรรคไทยรักษาชาติ ที่ทำเอาทั่วโลกตะลึง ที่สุดหลายคนวิเคราะห์ว่า ผลคือมันจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อพรรคไทยรักษาชาติเท่านั้น แต่กำลังส่งผลไปถึงพรรคเพื่อไทยด้วย และอาจถูกยุบพรรคทั้งคู่ (อ่าน จ่อชงยุบพรรคแพ็คคู่ "ไทยรักษาชาติ - เพื่อไทย" http://www.komchadluek.net/news/politic/361958

 

มะรุม มะตุ้ม ยุบแล้ว...ยุบอีก?

 

          แต่นาทีนี้ กับพรรคไทยรักษาชาติ น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะมีระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทน ราษฎร พ.ศ.2561 อยู่แล้ว

          โดยข้อหนึ่งระบุว่าห้ามผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ยังต้องลุ้นกันว่าความผิดในเรื่องนี้ ต้องรับโทษถึงขั้นไหน (อ่าน เปิดเส้นทาง "ไทยรักษาชาติ"หลังเผชิญวิกฤติ "บิ๊กเซอร์ไพรส์" http://www.komchadluek.net/news/scoop/362031)

 

มะรุม มะตุ้ม ยุบแล้ว...ยุบอีก?

 

          เราคนไทยรอดูกันว่า กกต.ชุดใหญ่จะมีการประชุมเรื่องนี้ว่ายังไง

          แต่อย่างที่รู้ ว่านี่คืออีกพรรคที่ถูกมองว่าเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะชื่อย่อของพรรค ทษช. ถูกมองว่าสื่อถึงอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และเต็มไปด้วยสมาชิกพรรคที่มาจากพรรคเพื่อไทยจำนวนมาก

          แล้วจะไม่ให้คนบางคนถอยหายใจได้อย่างไร ก็ยุบหาย ยุบหาย ถ้าเป็นหัวสิวก็ว่าไปอย่าง แต่นี่มันหัวใจชัดๆ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ