คอลัมนิสต์

เชื่อมระบบสาธารณสุขสู่ "ร้านยา"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

 

          เรื่องการกำหนดให้ร้านขายยาเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริการสุขภาพ เป็นประเด็นที่มีการพูดคุยกันในสังคมไทยมาโดยตลอด ล่าสุด กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) จะประชุมกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นี้ เพื่อหารือปรับแก้ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ปี 2561 โดยจะมีหลักเกณฑ์ใหม่อนุญาตให้ผู้ป่วยสามารถนำใบสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อยาที่ร้านขายยานอกโรงพยาบาลได้เพื่อแก้ปัญหาค่ายา

 

 

          ผศ.ภญ.ดร.รุ่งเพ็ชร สกุลบำรุงศิลป์ คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การนำไปสั่งยาจากแพทย์ไปซื้อยาที่ร้านขายยานอกโรงพยาบาล มีข้อดีหลายประการ คนไข้มีอิสระที่จะตัดสินใจซื้อยาจากร้านขายยา หรือจากห้องยาโรงพยาบาลขึ้นกับความสะดวกและราคาที่ผู้ป่วยยินดีจ่าย ในกรณีโรงพยาบาลของรัฐ ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาการแออัดในโรงพยาบาลที่ทำให้คนไข้ต้องรอคิวนาน การให้คนไข้ไปซื้อยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน คนไข้จะมีเวลาพูดคุยและรับคำแนะนำจากเภสัชกรที่ให้บริการที่ร้านขายยาจนแน่ใจว่าใช้ยาได้ถูกต้อง นอกจากนี้ ระหว่างการใช้ยาถ้ามีปัญหาที่ต้องการคำปรึกษา คนไข้ก็สามารถแวะมาขอคำปรึกษาเภสัชกรได้ตลอดเวลา

 


          อาจารย์รุ่งเพ็ชรชี้ว่า ปัญหาที่ผ่านมาของการจ่ายยาคือ คนไข้มาซื้อยาใช้ด้วยตนเองไม่ได้ผ่านคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน หรือเบาหวาน มักซื้อยาชนิดเดิมซ้ำๆ โดยไม่ไปพบแพทย์ ขณะที่เภสัชกรเองก็ไม่มีข้อมูลผู้ป่วยว่าใช้ยาชนิดนี้มานานเท่าไร และสมควรใช้ซ้ำ ใช้เพิ่ม หรือต้องมีการปรับปริมาณยาหรือไม่ การนำใบสั่งมาซื้อที่ร้านขายยาจะช่วยให้เภสัชกรมีข้อมูลที่จะให้คำแนะนำได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากผู้ที่มีอาการป่วยโรคเรื้อรังสมควรได้รับการติดตามดูแลเป็นระยะ และต้องมีการดูแลร่วมกันระหว่างเภสัชกรและแพทย์ผู้ให้การรักษา ผู้ป่วยจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด




          “ในต่างประเทศคนไข้โรคเรื้อรังที่สามารถควบคุมอาการตัวเองได้ไม่มีความจำเป็นต้องไปหาหมอทุกเดือน แต่หมอจะออกใบสั่งยาให้สามารถซื้อยาได้เอง 3 เดือน 6 เดือน แล้วแต่หมอเห็นควร แต่บ้านเราคนไข้จะได้รับยาจากแพทย์หรือโรงพยาบาล ครั้งละ 2-3 เดือน ซึ่งการที่คนไข้ได้ยาไปเก็บไว้ที่บ้านเป็นจำนวนมาก การเก็บรักษาก็ต้องการสถานที่และสภาพการเก็บยา หลายกรณีก็พบว่าไม่เหมาะสม ซึ่งอาจจะทำให้ยาเสื่อมสภาพไม่เหมาะที่จะใช้”


          “ถ้าคนไข้สามารถนำใบสั่งยามาซื้อที่ร้านขายยาใกล้บ้าน เภสัชกรก็จะสามารถทำประวัติและให้คนไข้ซื้อครั้งละ 1 เดือน หรือในจำนวนที่เหมาะสม และมาซื้อเพิ่มในเดือน/ครั้งถัดไปเมื่อยาหมดแล้ว และเมื่อถึงกำหนดเภสัชกรก็สามารถแนะนำหรือเตือนให้คนไข้ไปรับการตรวจจากหมอตามกำหนดนัด ในกรณีที่หมอควรทราบข้อมูลการใช้ยาของคนไข้ที่ผ่านมา ก่อนการจ่ายยาครั้งต่อไป เภสัชกรก็สามารถส่งต่อข้อมูลการดูแลการใช้ยาที่ผ่านมาให้หมอได้รับทราบ จะช่วยให้การรักษาผู้ป่วยมีความต่อเนื่องและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย”


          ขณะนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติให้ ร้านขายยาเป็นหน่วยร่วมบริการและองค์การอาหารและยาได้กำหนดให้ร้านยาต้องปฏิบัติตาม “วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนที่ดี” (Good Pharmacy Practice, GPP) ดังนั้น มาตรฐานและความน่าเชื่อถือของร้านขายยาได้ถูกยกระดับให้สูงขึ้นกว่าเดิมมาก และร้านขายยาต้องมีเภสัชกรประจำร้านเพื่อให้บริการแก่คนไข้


          ขณะที่ประกาศของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่มีเป้าหมายเพื่อต้องการลดค่ายาที่ผูกในค่ารักษาพยาบาล ก็สามารถแก้ไขได้เช่นกันด้วยการให้ผู้ป่วยสามารถไปซื้อยานอกโรงพยาบาล ผู้ป่วยเองก็จะได้ลดค่าใช้จ่ายของตนเองด้วยเช่นกัน เป็นการแก้ปัญหายาในโรงพยาบาลแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น

 

          ขณะนี้ คณะเภสัชจุฬาฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ วิจัยพัฒนาระบบเชื่อมต่อข้อมูลการดูแลการใช้ยาของผู้ป่วยระหว่างร้านขายยากับสถานพยาบาล ในอนาคตจะสามารถรองรับการส่งผ่านข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลกับร้านขายยาได้อย่างไม่มีข้อจำกัด


          “เรากำลังพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่จะช่วยให้คนไข้สามารถตรวจสอบรายชื่อร้านยา พร้อมบริการของร้านขายยาที่มี เช่น การให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยา การคัดกรองโรคเรื้อรัง บริการเลิกบุหรี่ ฯลฯ และคนไข้สามารถเลือกและนัดเวลาเพื่อรับบริการที่ร้านขายยาได้ตามสะดวก


          ระบบบริการที่สามารถให้ผู้ป่วยซื้อยานอกโรงพยาบาล เมื่อมีระบบเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลและร้านขายยารองรับ จะเป็นประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วย ไม่เฉพาะข้อมูลการสั่งใช้ยาที่คนไข้ได้รับจากสถานพยาบาลที่สามารถส่งต่อมาให้ร้านขายยา แต่ข้อมูลประวัติการซื้อยาที่ผู้ป่วยซื้อใช้เองจากร้านขายยา ก็จะสามารถส่งต่อให้แพทย์หรือสถานพยาบาลได้รับทราบด้วยเช่นกัน


          กระนั้น ผู้ป่วยเองก็ต้องมีความกระตือรือร้นและความเข้าใจในสุขภาพตนเองเช่นเดียวกัน แม้ว่าจะมีระบบข้อมูลที่ทำให้เชื่อมต่อประวัติการรักษาผู้ป่วยของคนไข้ แต่ประชาชนคนไทยก็ต้องหมั่นใส่ใจสุขภาพตนเองด้วยเช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ