คอลัมนิสต์

หาเสียงดุเดือด..แต่ไม่รุนแรง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจเลือกตั้ง โดย... มณเฑียร อินทะเกตุ


 


          แม้ก่อนหน้านี้บรรดาพรรคการเมืองทั้งพรรคหน้าเก่า พรรคกำเนิดใหม่ พรรคใหญ่ พรรคเล็ก ได้ขยับตัวลงพื้นที่ชูนโยบายเรียกคะแนนนิยม เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. สู้ศึกเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม ถ้านับถอยหลังก็เหลือเวลาอีก 47 วัน ก็จะได้เข้าคูหากาเบอร์ที่ใช่ เลือกพรรคที่ชอบ เข้ามาบริหารประเทศตามระบอบประชาธิปไตย ที่ใครต่อใครทวงถามมานานหลายปี โดยกิจกรรมของพรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพียง “น้ำจิ้ม” ของการเลือกตั้งครั้งนี้

 


          ดีย์เดย์รับสมัครส.ส.อย่างเป็นทางการไปแล้วในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ บรรยากาศคึกคัก ครื้นเครงทั่วประเทศ เสมือนหนึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าการหาเสียงนับจากนี้จะเข้มข้นและดุเดือด ท่ามกลางกฎเหล็กต่างๆ ที่ทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดไว้ ในฐานะ “เจ้าภาพใหญ่” ที่จะขับเคลื่อนการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย โดยมี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เป็น “กองหนุน”


          ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ “บิ๊กแป๊ะ” พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการไปยังทุกหน่วยให้ตรวจสอบ สืบสวนหาข่าวในพื้นที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับภารกิจการรับสมัครส.ส. และเตรียมความพร้อมการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม โดยเน้นย้ำให้บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งโดยเคร่งครัด พร้อมทั้งระดมกวาดล้างอาชญากรรม อาทิ อาวุธปืน อาวุธสงคราม ยาเสพติด กฎหมายที่เกี่ยวกับการเข้าเมือง และให้ติดตามเรื่องการคมนาคมในพื้นที่ที่อาจมีผลกระทบกับการเลือกตั้ง ให้ผู้บังคับบัญชาตรวจสอบกำชับดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด อย่าให้เกิดข้อบกพร่องได้ ในส่วนของการร้องขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาความปลอดภัยบุคคล ให้ถือปฏิบัติตามระเบียบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกกรณี


          ฉะนั้นภารกิจของตำรวจทุกหน่วยในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งจะต้องเข้มข้นขึ้น กำลังพลของแต่ละหน่วยต้องดูแลการปราศรัยของหัวหน้าพรรคหรือผู้สมัครส.ส.ของพรรคการเมือง โดยให้ตรวจสอบข้อมูลการลงพื้นที่ว่าจะไปสถานที่ใด พร้อมทั้งจัดทำแผนเผชิญเหตุ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีขัดขวางการเลือกตั้ง ความรุนแรง หรือการทำร้ายกัน หากพบการกระทำความผิดสามารถจับกุมได้ทันที มีการเฝ้าฟังความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง


          กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ต้องมีภารกิจรักษาความปลอดภัยช่วงเลือกตั้ง แม้จะเป็น “ตำรวจป่า” ก็จำเป็นต้องประสานงาน บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยเฉพาะเรื่องของความมั่นคง เพราะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งยังมีกฎหมายปกติอีกมากที่จะดูแลความสงบเรียบร้อย โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ “บิ๊กอู๊ด” พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผบช.ตชด. มอบหมาย “รองต๊ะ” พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.ตชด. เป็นผู้ควบคุมดูแลแจกงานให้กำลังพลไปดำเนินการตามนโยบาย


          หลายฝ่ายเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแข่งขันกันสูง การหาเสียงจะเข้มข้นดุเดือด ซึ่ง “รองต๊ะ” ในฐานะแม่งานใหญ่ในภารกิจรักษาความปลอดภัยเลือกตั้งของ ตชด. ก็เห็นพ้องต้องกัน แต่มั่นใจว่าจะไม่มีความรุนแรง โดยบอกว่าจะดุเดือดในแง่ของการลงพื้นที่หาเสียง และนโยบายที่จะมาขับเคลื่อนประเทศ ไม่ถึงกับ “รบราฆ่าฟัน” เนื่องจากทุกคนล้วนอยากเดินหน้าสู่แนวทางประชาธิปไตย และกฎหมายเลือกตั้งก็เขียนเอาไว้ชัด ถ้าใครฝ่าฝืนกระทำผิดจะมีโทษสูง ซึ่งเป็นทั้งโทษทางอาญาและการลงทันฑ์ทางการเมือง


          “ภารกิจของตชด.เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนเป็นกำลังเสริม จัดกำลังเตรียมพร้อมในที่ตั้ง พร้อมสนับสนุนตำรวจพื้นที่เมื่อมีการร้องขอ ไม่ว่าจะเป็นนครบาล หรือภูธรแต่ละจังหวัด โดยเฉพาะการรักษาความปลอดภัยหน่วยเลือกตั้ง การคุ้มครองการขนย้ายหีบเลือกตั้ง ส่วนการจัดชุดเฉพาะกิจสืบสวนหาข่าว หรือหน่วยข่าวกรองก็มีเหมือนกัน ทุกกองบัญชาการ ทุกกองบังคับการต้องมีข่าวกรองเป็นของตัวเอง เพื่อเอามาเทียบเคียงยืนยันข้อมูลว่าตรงกันหรือไม่ วิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง สำหรับนำมาวางแผนป้องกันเหตุ เผชิญเหตุ ส่วนเรื่องของความมั่นคงยังประสานงานกับ กอ.รมน. รวมถึง สมช. และทุกหน่วยใน ตร. แม้ก่อนหน้านี้จะมีเหตุรุนแรงในจังหวัดภาคใต้ และตชด.สูญเสียกำลังพลจากเหตุซุ่มยิง ขวัญกำลังใจยังดี และมีการปรับแผนให้รัดกุม ระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะในห้วงของการหาเสียง ตลอดจนวันเลือกตั้ง และหลังปิดหีบเลือกตั้ง” พล.ต.ต.ปิยะ ระบุ


          นอกจากนี้ภารกิจของตชด.ยังสอดรับกับคำสั่งผบ.ตร. เพราะพื้นที่แนวชายแดน โดย พล.ต.ต.ปิยะ ย้ำว่า กำลังพลของตชด. ยังสอดส่องดูแล ป้องกันการกระทำผิดกฎหมายที่อาจมาสร้างสถานการณ์ หรือฉวยโอกาสก่อเหตุทั้งช่วงปกติและช่วงของการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบขนยาเสพติด อาวุธปืน หรืออาวุธสงคราม รวมถึงการลักลอบตัดไม้ทำลายป่าที่อาจเป็นฝีมือของคนต่างด้าว หรือคนไทย หรือร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย 


          กฎหมายเลือกตั้งที่ห้ามหาเสียงด้วยการโจมตีใส่ร้ายคู่แข่งด้วยความเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ส่วนกฎหมายพรรคการเมือง ที่ระบุว่าผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคผู้ใดสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ก็มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี พ่วงด้วยการยุบพรรค แถมยังถูกเพิกถอนสิทธิการเมืองอีกหลายปี ประหนึ่งว่าลืมหน้ากันไปข้าง จึงทำให้ตำรวจมองว่าไม่มีใครกล้าเสี่ยงกับโทษหนัก แม้การหาเสียงจะดุเดือด แต่จะไม่รุนแรง
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ