คอลัมนิสต์

'วินจยย.'..อาชีพสุจริตแฝงธุรกิจ(มาเฟีย)

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจระวังภัย  โดย...  กิตติพงษ์ มณีฤทธิ์


 

          การปราบปรามวินรถจักรยานยนต์รับจ้างเถื่อนมีอย่างต่อเนื่อง แต่จนแล้วจนรอดก็ยังมีการลักลอบหาผลประโยชน์จากอาชีพสุจริตที่แฝงไปด้วยเรื่อง “ธุรกิจของมาเฟีย” อาทิ ตั้งวินเถื่อน ขายเสื้อวินเถื่อน และล่าสุดมีการปราบปรามเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อช่วงเช้าวันที่ 24 มกราคม ที่ผ่านมา ในย่านถนนพระราม 4 หลายเสียงวิจารณ์ว่าเจ้าหน้าที่มากวดขันกับคนทำงานสุจริต คนขายยาเสพติด กับโจรใต้ทำไมไม่ไปจับกุม

 


          เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.จิรกฤต จารุนภัทร์ ผกก.ดส.บช.น. เปิดเผยถึงที่มาที่ไปของการจับกุมวินจักรยานยนต์รับจ้างต้องสงสัยผิดกฎหมาย ว่าได้รับคำสั่งจาก พล.ต.ท.สุทธิพงษ์ วงษ์ปิ่น ผบช.น. โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นห่วงประชาชนจึงให้มาดูแลเรื่องดังกล่าว ซึ่งมีประชาชนเข้ามาร้องเรียน ตลอดจนร้องเรียนผ่านทางโลกออนไลน์ว่าจะมาขับวินจักรยานยนต์รับจ้างก็ขับไม่ได้ ค่อนข้างยาก ต้องมีการใช้เงินซื้อเสื้อวิน ซึ่งแต่ละตัวมีราคาแพง ตัวละ 200,000-300,000 บาท โดยช่วงแรก ผบช.น.ได้สั่งการให้ตำรวจ กก.ดส.บช.น. ลงพื้นที่สำรวจ สืบสวนวินจักรยานยนต์รับจ้างในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งไม่สามารถสำรวจให้ครบทุกวินได้ จึงสุ่มสำรวจตามพื้นที่ทำเลทอง ที่มีประชากรหนาแน่น น่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำให้มีรายได้ดี เช่น ย่านธุรกิจ ย่านสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ก่อนนำผลการสำรวจมาวิเคราะห์ว่าวินดังกล่าวมีทั้งหมดกี่คน ได้เสื้อวินมาอย่างไร ต้องมีการไปจ่ายค่าเช่า หรือซื้อจากผู้ใดหรือไม่ เท่าใดบ้าง และนำเสนอผู้บังคับบัญชา


          “ต้องอธิบายก่อนว่าการที่จะออกเสื้อวินจักรยานยนต์รับจ้างได้นั้น ไม่ใช่ตำรวจจะเป็นผู้ออกได้ฝ่ายเดียว ต้องผ่านอนุกรรมการ โดยจะต้องมีตำรวจพื้นที่ ทหารพื้นที่ เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งพื้นที่ และเจ้าหน้าที่เทศกิจ กรุงเทพมหานคร พื้นที่นั้นๆ ตั้งเป็นอนุกรรมการการพิจารณา ซึ่งในแต่ละวินจะต้องระบุจำนวนสมาชิกมีกี่คนอย่างชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น วินเอ มีสมาชิกอยู่ 50 คน ต้องออกเสื้อวินให้ตั้งแต่หมายเลข 1 จนถึง 50 หากมีหมายเลขเกินจากนี้อย่างหมายเลขที่ 51 ถือว่าไม่ใช่เป็นวินเถื่อนทันที ซึ่งปัญหาเหล่านี้เรามีการหารือกัน นำบัญชีรายชื่อมาเปรียบเทียบกัน จะทราบทันทีว่าวินนี้เป็นวินเถื่อน ส่วนเสื้อวินมีการซื้อขายที่มีราคาแพงสูงถึงหลักแสนนั้น สาเหตุแรกเป็นเพราะการตกลงราคากันส่วนตัว ระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สาเหตุที่สองเป็นบุคคลที่มีเสื้อมาอย่างถูกต้อง แต่ปรากฏว่าไม่อยากขับด้วยตนเอง จึงปล่อยให้เช่าเป็นรายวัน และสาเหตุสุดท้ายมีบุคคลที่ตั้งตัวเป็นหัวหน้าวินนั้นๆ ได้ออกเสื้อวินผิดกฎหมายเกินกว่าจำนวนที่อนุกรรมการอนุญาตออกเสื้อให้” พ.ต.อ.จิรกฤต อธิบาย


          สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารย์ว่า ตำรวจมาไล่จับคนทำอาชีพสุจริต ไม่ได้ไปทำสิ่งผิดกฎหมาย หรือจะให้เขาเหล่านี้ไปค้ายาเสพติด พ.ต.อ.จิรกฤต บอกว่า ก่อนที่จะออกเสื้อวินได้แต่ละตัว ต้องผ่านกระบวนการในการตรวจสอบ เช่น มีใบขับขี่รถสาธารณะหรือไม่ ผ่านการตรวจทะเบียนประวัติอาชญากรหรือไม่ และอยู่ในบัญชีของอนุกรรมการหรือไม่ หากเกิดเหตุร้ายขึ้นมาจะตรวจสอบได้ทันที อย่างน้อยผู้ที่ลงทะเบียนอย่างถูกต้องก็จะไม่กล้าจะกระทำความผิด หากเป็นบุคคลที่ไม่อยู่ในทะเบียนทางตำรวจก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ หนำซ้ำบางรายวินจักรยานยนต์รับจ้าง ใช้รถจักรยานต์ติดแผ่นป้ายทะเบียนสีขาว ซึ่งตามปกติรถรับจ้างสาธารณะต้องติดแผ่นป้ายทะเบียนสีเหลือง


          เรื่องนี้เป็นบ่อเกิดของปัญหาอาชญากรรม โดยเมื่อ 2 ปี ก่อน ขณะที่ พ.ต.อ.จิรกฤต ยังดำรงตำแหน่งรอง ผกก.สส.สน.ทองหล่อ เคยจับกุมคนร้ายสวมบทเป็นวินจักรยานยนต์รับจ้างตระเวนก่อเหตุกระชากกระเป๋าตามถนนทางเปลี่ยว โดยมีพฤติการณ์จะเลือกเหยื่อเป็นต่างชาติ หากพบเหยื่อจะถอดเสื้อวินแล้วลงมือก่อเหตุ ก่อนนำเสื้อวินมาสวมใส่แล้วหลบหนี จึงเป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงภัยร้ายใกล้ตัว ซึ่งล่าสุดทางกรมการขนส่งทางบกเปิดให้วินจักรยานยนต์ลงทะเบียนเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา แต่ด้วยที่พวกวินจักรยานยนต์ที่ไม่มีใบขับขี่รถสาธารณะ หรือต้องโทษคดีทางอาญา จนเป็นสาเหตุที่ไม่ไปลงทะเบียนกัน
อาชีพวินจักรยานยนต์รับจ้าง ถือเป็นผู้ให้บริการสาธารณะ คุณต้องรับผิดชอบชีวิตชาวบ้าน ซึ่งเขาเหล่านั้นฝากชีวิตไว้กับคุณ อย่าอ้างแค่ทำอาชีพสุจริต แต่ถ้าเริ่มด้วยการทุจริตจากของ “เถื่อน” ปัญหาอาชญากรรมก็จะตามมาเป็นเงาตามตัว..!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ