คอลัมนิสต์

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...   ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 



          ปัญหาฝุ่นพิษจิ๋วมรณะ พีเอ็ม 2.5 กำลังสร้างความปั่นป่วนให้ชาวกรุงและจังหวัดใกล้เคียง สภาพที่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันไม่ได้อยู่เพียงชั่วคราว แต่อาจอยู่หลายเดือนและมาเป็นขาประจำทุกปี !?!

 

 

          ชาวบ้าน กลุ่มคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม ภาคประชาชน ฯลฯ เริ่มช่วยกันหามาตรการแก้ไขปัญหาระยะยาวแบบยั่งยืน ไม่ใช่แค่เอาน้ำไปพ่นในอากาศ เนื่องจากคำเตือนจากองค์การอนามัยโลกบอกว่า มลพิษทางอากาศรวมถึง "ฝุ่นพิษจิ๋ว พีเอ็ม2.5" ส่งผลร้ายต่อระบบทางเดินหายใจ ปอด หัวใจ ระบบประสาท รวมถึงมะเร็งทำให้มนุษย์โลกเสียชีวิตไม่ต่ำกว่าปีละ 7 ล้านคน และที่สำคัญคือ 9 ใน 10 คนของประชากรโลก กำลังสูดอากาศที่เป็นมลพิษเข้าสู่ร่างกาย

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 


          หมายความว่าพวกเราแทบไม่มีใครได้สูดอากาศบริสุทธิ์อย่างแท้จริง นอกจากคนที่อาศัยอยู่ในป่าหรือธรรมชาติรอบตัว ไม่มีรถ ไม่มีโรงงาน ไม่มีแหล่งผลิตปล่อยของเสียเน่าเหม็น


          ดังนั้น องค์การอนามัยโลกจึงประกาศให้ “มลพิษทางอากาศ และภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง” เป็นภัยร้ายต่อมนุษยชาติอันดับ 1


          ที่ผ่านมาคนไทยไม่ค่อยมีใครพูดถึง ฝุ่นจิ๋วพีเอ็ม 2.5 เนื่องจากหน่วยงานรัฐยังไม่มีเครื่องตรวจวัดที่ได้มาตรฐาน มีเพียงเครื่องตรวจควันพิษขนาดพีเอ็ม 10 จนกระทั่งปี 2553 จึงเริ่มมีโครงการสั่งซื้อเครื่องตรวจและกำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดพีเอ็ม 2.5 กว่าจะได้ใช้ตรวจจริง รายงานจริงก็ประมาณปี 2559
ทำให้พวกเรารู้ว่าระดับปริมาณฝุ่นพิษขนาดเล็กหรือสารมลพิษทางอากาศของกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงเกินมาตรฐาน 2-3 เท่า โดยเฉพาะช่วงต้นปีที่เป็นหน้าหนาว เนื่องจากไม่มีลมทะเลมาช่วยพัดพาไป

 

 

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 


          ดังนั้น หัวข้อฮิตในการพูดคุยของกลุ่มคนไทยและกลุ่มสังคมออนไลน์ช่วงนี้หนีไม่พ้นเรื่องการดูแลแก้ไขฝุ่นละอองพิษ หรือนโยบายป้องกันและขจัดมลพิษทางอากาศ เครือข่ายสิ่งแวดล้อมเริ่มจับกลุ่มเสนอให้พรรคการเมืองไปคิดหาหนทางแก้ปัญหาและชูเป็นนโยบายหาเสียงให้คนไทยได้ตัดสินใจ เพราะ “ฝุ่นพิษจิ๋ว” จะแก้ได้ด้วยรัฐบาล และคนไทยกำลังจะไปตัดสินเลือกรัฐบาลด้วยบัตร “เลือกตั้ง”


          ตัวแทน คสช. และพรรคการเมืองใหญ่เริ่มออกมากล่าวถึงนโยบายลดมลพิษทางอากาศของพรรคตน แม้ว่าจะไม่ค่อยเห็นเป็นรูปธรรมมากนักก็ตาม

 

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 

 

          ตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่ผ่านมา ช่วงคนกรุงเทพฯ กำลังตื่นเต้นตกใจกับฝุ่นควันที่ปกคลุมท้องฟ้า “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี รีบนำหัวข้อนี้ไปกล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยยอมรับว่าฝุ่นจิ๋วยังมีอยู่มาก ไม่ผ่านเกณฑ์ปกติ รัฐบาลกำลังบูรณาการเร่งสำรวจ และหาทางแก้ไขด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งมาตรการระยะเร่งด่วน พร้อมขอร้องพี่น้องประชาชนให้ร่วมมือกันลดฝุ่นละอองจากการใช้รถ ใช้ถนน พื้นที่ก่อสร้าง โรงงาน รวมถึงการเผาพืชผลทางการเกษตร และขอให้ช่วยกันระมัดระวังกลุ่มคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ


          สื่อมวลชนทุกแขนงช่วยกันรายงานว่า สารมลพิษทางอากาศเหล่านี้มาจากแหล่งกำเนิดต่างๆ เช่น การคมนาคม การก่อสร้าง การปรับปรุงถนนและผิวจราจร ตลอดจนโรงงานอุตสาหกรรมและสถานประกอบการขนาดเล็กใหญ่

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 


          ผ่านไปไม่กี่วัน “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี จัดรายการ Good Monday ผ่านทาง www.thaksinofficial.com เมื่อวันที่ 21 มกราคม มีการพูดถึงหัวข้อ “แก้วิกฤติฝุ่น ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง” โดยบอกว่าเมืองไทยมีปัญหาน่าตกใจเรื่องฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ซึ่งอันตรายทะลุทะลวงเข้าไปในหลอดเลือดต่างๆ ทำให้เกิดความเสียหาย 2 ส่วนคือ สุขภาพเสียหายและความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากทำให้ภาพลักษณ์การท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ


          อดีตนายกฯ เสนอวิธีแก้ปัญหาโดยยกตัวอย่างกรุงปักกิ่งที่สั่งย้ายโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่รอบเมืองปักกิ่ง รวมถึงสั่งเพิ่มการใช้พลังงานสะอาดทดแทน รวมถึงสั่งให้เปลี่ยนรถซึ่งวิ่งในปักกิ่งต้องเป็นรถไฟฟ้าเท่านั้น พร้อมเสนอนโยบายให้ประเทศไทยยกเลิกการใช้รถดีเซล รถที่ไม่ได้มาตรฐาน รถเก่า รถหมดสภาพที่มาวิ่งทำให้ควันเยอะ รวมถึงเสนอนโยบายลดการเผาชีวมวล รณรงค์ให้เกษตรกรเข้าใจ และที่สำคัญคือต้อง ขยันปลูกต้นไม้ รักษาต้นไม้หรือเพิ่มต้นไม้ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ เพื่อขจัดมลพิษเหมือนเกาะฮ่องกง

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 

 


          สอดคล้องกับ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” พร้อมแกนนำพรรคเพื่อไทย เสนอว่าจะจัดทำนโยบายรักษาสิ่งแวดล้อม เช่น ขจัดรถที่อายุเกิน 10 ปี ลดจำนวนเครื่องยนต์ดีเซล และสนับสนุนรถไฮบริดหรือรถไฟฟ้า พร้อมทั้งมีการตรวจสอบกระบวนการบรรเทาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ “ไออีเอ” อย่างเคร่งครัด
ส่วนนโยบายหาเสียงของพรรคประชาธิปัตย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ได้เน้นนโยบายเปลี่ยนมาใช้โรงไฟฟ้าแอลเอ็นจี เพราะต้นทุนต่ำกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินถึงร้อยละ 50 ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงให้แก่โรงไฟฟ้าและถือเป็นพลังงานจากธรรมชาติ


          นโยบายข้างต้นเสมือนการพูดหาเสียงของนักการเมือง แต่ในส่วนของมุมมองภาคประชาชนแล้ว สิ่งที่พวกเขาอยากได้คือ คำสั่งหรือโครงการที่เป็นรูปธรรมมากกว่านี้

 

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 


          เนื่องจากเป็นที่รู้กันว่า ปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ นั้น ส่วนใหญ่มาจากการปลดปล่อยควันพิษจากท่อไอเสียของยานพาหนะ ทั้งรถยนต์ รถเมล์ รถบรรทุก รวมถึงจักรยานยนต์


          "ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์" กรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงความเห็นว่า เมื่อปัญหาควันพิษจากรถยนต์เป็นเรื่องใหญ่ นโยบายที่พรรคการเมืองควรมีเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถทำได้ทันที คือ การสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ด้วยการสร้างแรงจูงใจทางบวก ที่ผ่านมายังไม่เห็นรัฐบาลหรือพรรคการเมืองใด มีความชัดเจนในเรื่องนี้


          “ในต่างประเทศรัฐบาลจริงจังในการมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์หรือจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เช่น นโยบายลดภาษีการนำเข้า นโยบายลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าให้เหลือน้อยมาก หรือการให้เงินกู้ยืมเป็นพิเศษสำหรับหน่วยงานที่ต้องการเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า ส่วนที่กรุงปักกิ่งของจีนสั่งห้ามรถมีควันพิษเข้าไปขับในบางพื้นที่อย่างเด็ดขาด การลดรถยนต์เหล่านี้จะส่งผลทางตรงให้ลดโลกร้อนได้ด้วย เพราะไม่ต้องใช้เชื้อเพลิงที่เป็นตัวปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อมลพิษในอากาศ อยากเห็นนโยบายที่ชัดเจนแบบนี้ในการหาเสียงของพรรคการเมืองไทย” ดร.บัณฑูร กล่าว

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 

 


          นอกจากปัญหามลพิษจากรถยนต์แล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดฝุ่นละอองพิษรวมถึงพีเอ็ม 2.5 ได้แก่ ควันเสียที่ปล่อยทิ้งออกมาจากโรงงานทั่วไปและโรงงานในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมจากข้อมูล “สถิติสะสมจำนวนโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ” ตาม พ.ร.บ.โรงงาน ระหว่างปี 2535–2560 ของศูนย์ข้อมูลธุรกิจอุตสาหกรรม กรมโรงงานอุตสาหกรรม ระบุว่า ขณะนี้มีโรงงานทั่วประเทศไทย 1.4 แสนแห่ง และเป็น “โรงงานจำพวกที่ 3” หรือโรงงานใช้เครื่องจักรเกิน 50 แรงม้า ซึ่งเป็นกลุ่มโรงงานที่อาจก่อให้เกิดปัญหามลพิษหรือเหตุเดือดร้อนรำคาญ หรือเหตุอันตราย อยู่จำนวน 7.8 หมื่นแห่ง เฉพาะที่กรุงเทพฯ มีจำนวน 8,400 แห่ง โรงงานเหล่านี้มีกฎหมายบังคับให้ควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานผลิตกระดาษ โรงงานผลิตสุรา โรงงานน้ำตาล ฯลฯ เพราะเกรงว่าฝุ่นควันพิษจากโรงงานเหล่านี้บางส่วนมีสารปรอทผสมอยู่ด้วย ทำให้ไปตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอยู่ในห่วงโซ่อาหารที่เป็นภัยต่อชีวิตผู้บริโภค

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 

 


          "เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง" ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนที่ติดตามปัญหามลพิษจากพื้นที่อุตสาหกรรม เสนอความคิดว่า พรรคการเมืองที่จะมาเป็นรัฐบาลชุดใหม่ ต้องหามาตรการลดและกำจัดฝุ่นละอองพิษเพื่อสุขภาพของคนไทย โดยเฉพาะการใช้มาตรการตรวจสอบโรงงานที่ปล่อยมลภาวะอย่างเข้มข้น มีการเอาผิดผู้ผลิตและปล่อยควันพิษเหล่านี้อย่างจริงจัง


          “ตอนนี้ประเทศไทยมีกฎหมายส่วนหนึ่งแล้ว ที่บังคับให้โรงงานต้องกำจัดมลพิษต่างๆ ไม่ให้ปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม แต่ในทางปฏิบัตินั้น มีโรงงานขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะที่มาบตาพุด ฝุ่นควันพิษจากโรงงานใหญ่ๆ ไม่มีการตรวจสอบอย่างจริงจังและไม่ได้มีการทำประจำ ตามกฎหมายบังคับให้ตรวจทุกปี มีกำหนดรายละเอียดเกณฑ์และวิธีกการตรวจ แต่ถ้ารัฐบาลปล่อยปละละเลย ไม่ได้ไปตรวจหรือตรวจแบบไม่จริงจัง มีรายงานอีไอเอแต่ก็ไม่ได้มาตรฐาน นโยบายที่อยากเห็นคือการบังคับให้แสดงผลตรวจโรงงาน ผู้กำหนดนโยบายประเทศต้องเข้าใจเรื่องมลพิษ ไม่เช่นนั้นการทวงคืนอากาศบริสุทธิ์อาจไม่สำเร็จ”
นอกจากนี้ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนยังเสนอให้พรรคการเมืองมีนโยบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความรับผิดชอบของภาคธุรกิจหรือนายทุนเจ้าของโรงงานให้รับภาระการปล่อยมลพิษของเสียต่างๆ ออกมาสู่สิ่งแวดล้อมด้วย หากโรงงานหรือสถานประกอบการใดปล่อยมากก็ต้องเสียภาษีมากขึ้น ในต่างประเทศมีกฎหมายแบบนี้บังคับใช้ ซึ่งได้ผลในการจูงใจให้โรงงานต่างๆ พยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการกำจัดของเสีย หรือที่เรียกว่า มาตรการการคลังเพื่อสิ่งแวดล้อม

 

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 


          ที่ผ่านมาประเทศไทยประกาศยุทธศาสตร์เรื่องป้องกันฝุ่นควันพิษหลายมาตรการด้วยกัน เช่น แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการควบคุมการเผาในที่โล่ง แผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า การเผาในที่โล่ง และมลพิษหมอกควัน ขณะที่เครือข่ายภาคประชาชนยื่นข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ ให้พิจารณาร่างกฎหมายที่สำคัญ 5 ฉบับ ได้แก่ 1.ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 2.ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนกับการร่วมจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติ 3.ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะ 4.ร่าง พ.ร.บ. องค์การอิสระสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ 5.ร่าง พ.ร.บ.เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์เพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม


          แต่ดูเหมือนจะไม่มีพรรคการเมืองใดสนใจนำไปต่อยอดมาเป็นนโยบายพรรคอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก


          อรยา สูตะบุตร ตัวแทนเครือข่ายต้นไม้ในเมืองกล่าวถึงปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ว่าสามารถแก้ได้หลายระดับ และในระดับที่ง่ายสุดคือ การอาศัยต้นไม้ใหญ่มาช่วยดูดซับหรือกักฝุ่นละออง ดังนั้นนโยบายพรรคการเมืองต้องเอาจริงเอาจังกับการสั่งให้มีระเบียบปฏิบัติในการไม่ตัดแต่งต้นไม้ใหญ่อย่างผิดวิธี ด้วยการตัดกิ่งและใบออกเกือบหมด เพราะนั่นคือการทำลายตัวช่วยในการดูดซับฝุ่น เช่น ฝุ่นละอองพีเอ็ม 2.5

 

 

 

"ฝุ่นพิษจิ๋ว"คนไทยตัดสินได้ด้วยบัตร "เลือกตั้ง"

 


          "กรุงเทพฯ มีต้นไม้ใหญ่เหลืออยู่ค่อนข้างน้อย แล้วยังถูกตัดจนเป็นต้นโกร๋น เพราะกลัวปัญหาสายไฟฟ้า เช่น ต้นจามจุรี ต้นตะขบ ซึ่งต้นไม้เหล่านี้มีใบเยอะในการช่วยดักฝุ่นในอากาศ และที่สำคัญคือต้องมีนโยบายเพิ่มต้นไม้ใหญ่ให้มากขึ้น ตอนนี้มีพื้นที่ว่างอยู่ในส่วนของหน่วยงานราชการ วัด หรือโรงเรียน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือพื้นที่โรงงานยาสูบตั้งอยู่ใจกลางเมือง หรือที่ดินสวนมักกะสันต้องทำเป็นสวนสาธารณะปลูกต้นไม้ใหญ่เพิ่ม ไม่ใช่ไปเน้นสร้างห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุมสัมมนา หรืออาคารสำนักงาน ที่ผ่านมาเคยทำสำเร็จแล้ว มีการย้ายกรมอุตุฯ แล้วเปลี่ยนเป็นสวนเบญจสิริ หรือปรับสนามกอล์ฟการรถไฟ ให้เป็นสวนรถไฟ"
ตัวแทนเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ยกตัวอย่างนโยบายที่อยากให้พรรคการเมืองเอาไปเป็นนโยบายเพื่อสัญญากับประชาชนอย่างน้อย 3 ข้อ คือ 1.โครงการดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ที่มีอยู่ในเมืองให้ดีที่สุด มีการตัดแต่งอย่างถูกวิธีโดยบุคลากรที่ได้รับการฝึกทักษะที่เหมาะสม เพื่อให้ต้นไม้ยังมีใบไว้ดักจับฝุ่นละออง และเพื่อให้ต้นไม้แข็งแรง ปลอดภัย ช่วยฟอกอากาศ 2.นโยบายให้ทุกหน่วยงานมีมาตรการดูแลการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากสุด โดยเฉพาะภาครัฐ เช่น กรมธนารักษ์ ควรนำที่ดินราชพัสดุหรือหน่วยงานราชการที่ไม่จำเป็น ขอให้ย้ายออกไปนอกเมืองแล้วเปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะ 3.สั่งแก้กฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการทำลายต้นไม้ใหญ่หรือพื้นที่สีเขียว เช่นปรับปรุงเงื่อนไขทีโออาร์หรือขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR) ที่มารับจ้างเหมาบริการจัดตัดแต่งต้นไม้ตามแนวสายไฟ ถนน ทางหลวง เพื่อหยุดการตัดต้นไม้แบบผิดวิธี


          คนไทยโดยเฉพาะชาวกรุงที่กำลังได้รับผลกระทบจาก “หมอกควันพิษ” ควรเริ่มตั้งคำถามกับผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตของตนว่า จะมีโครงการหรือนโยบายควบคุม และจำกัดจำนวนแหล่งมลพิษทางอากาศอย่างไร ถ้านักการเมืองคนไหนตอบไม่ได้ หรือฟังแล้วไม่น่าจะทำได้ ก็ต้องหันไปพิจารณาเลือกพรรคอื่นแทน !?!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ