คอลัมนิสต์

'บิ๊กโจ๊ก'จัดให้..'ศปอส.ตร.'มอนิเตอร์โพสต์หาเสียง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  สายตรวจเลือกตั้ง  โดย...  มณเฑียร  อินทะเกตุ 


 

          “โซเชียลมีเดีย” กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตในสังคมมนุษย์ยุคนี้ไปโดยปริยาย การติดต่อสื่อสารทำง่ายแค่ปลายนิ้ว อาจเรียกได้ว่าเป็นปัจจัยที่ 5 ของการดำรงชีวิตก็ไม่แปลก เพราะเข้าถึงได้ทุกเพศวัย โดยเฉพาะ เฟซบุ๊ก ยูทูบ อินสตาแกรม แอพพลิเคชั่นไลน์ ทวิตเตอร์ ฯลฯ เป็นสื่อ “อิเล็กทรอนิกส์” ยอดนิยม ยิ่งแล้วเฟซบุ๊ก ที่คนไทยใช้และเข้าถึงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศเวลานี้ 

 

 

          แน่นอนว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 24 มีนาคม 2562 แวดวงการเมืองก็คงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะใช้ช่องทางนี้ “หาเสียง” เพื่อประชาสัมพันธ์นโยบายพรรค แจ้งสรรพคุณผู้สมัคร ส.ส. ของแต่ละพื้นที่ ถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะเจ้าภาพหลัก และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ในฐานะเจ้าพนักงานผู้ปฏิบัติ ต้องเข้ามากำกับดูแลไม่ให้ทำผิดกฎหมาย ​


          ก่อนหน้าจะมีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เคยบอกเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่าขอบเขตการหาเสียงของพรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. หรือผู้ใดทางอิเล็กทรอนิกส์ ดำเนินการในลักษณะใด จะต้องแจ้งต่อกกต.ล่วงหน้า และต้องรับผิดชอบเนื้อหาไม่ให้เป็นการใส่ร้าย เพราะจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมายซึ่งมีโทษค่อนข้างรุนแรง โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะควบคุมการให้ข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย โดยนำข้อเท็จจริงมาเผยแพร่เพื่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ เว้นแต่จะเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายสามารถร้องเรียนมายัง กกต.ได้ จากนั้น กกต.จะแจ้งเจ้าของข้อความให้ลบภายใน 1 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม กกต.ก็จะลบข้อความเอง

 

 

          ถึงกระนั้นแม้จะมีการลบข้อความไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าความผิดจะหายไปด้วย เพราะถือว่าความผิดสำเร็จ ต้องรับผิดทางอาญา และหากมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต จนการเลือกตั้งในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งต้องเสียไป ก็ต้องรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นด้วย โดยจะมีการตั้งวอร์รูมพิเศษ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากกระทรวงดิจิทัล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งตัวแทนมาคอยมอนิเตอร์ เหตุการณ์ต่างๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้

          สอดรับกับ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ที่มี “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ในฐานะรองผอ.ศปอส.ตร. เสมือนหนึ่งเป็นแม่ทัพหลักขับเคลื่อนงานของหน่วยนี้ ที่ทีมงานต้องเข้ามามอนิเตอร์การโพสต์หาเสียงในช่วงเลือกตั้งเช่นกัน เพราะมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย รวมทั้งบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เรียกได้ว่ามีทั้ง “ทีมรับ” และ “ทีมรุก”   


          พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ บอกว่า ศปอส.ตร. มีหน้าที่การตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทางเทคโนโลยีอยู่แล้ว ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมือง ผู้สมัคร ส.ส. แกนนำ กองเชียร์ กลุ่มหนุน กลุ่มต้าน ก็มีสิทธิเสรีภาพการโพสต์ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย สามารถทำได้ แต่ขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ยึดตามกติกา ไม่สร้างบัญชีเฟซบุ๊กปลอมเพื่อหลอกลวง หรือใช้ในการใส่ร้ายป้ายสี นำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ไม่ใช้ถ้อยคำรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย หรือปลุกระดม ไม่นำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการหาเสียง เพราะหากเป็นผู้สมัครส.ส. หรือพรรคการเมือง นอกจากจะมีความผิดตามกฎหมายเลือกตั้งก็ยังจะมีความผิดอาญาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งมีโทษสูง ทั้งโทษปรับและจำคุก


          “ถ้าเพียงแค่ใช้โซเชียลมีเดียในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ประกาศนโยบายของพรรค แนะนำผู้สมัคร ไม่มีการบิดเบือนข้อมูล หรือใส่ร้ายป้ายสีใคร ก็สามารถทำได้ โดย ศปอส.ตร.มีทั้งเจ้าหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์ และทีมงานที่คอยดูมอนิเตอร์ว่าการโพสต์ต่างๆ เข้าข่ายผิดกฎหมายข้อใดหรือไม่ อยากให้ทุกกลุ่ม ทุกพรรค ทุกคนระมัดระวังในการโพสต์ หรือคอมเมนต์ รวมทั้งแชร์ต่อ ให้เคารพกติกา อยู่ในกรอบของกฎหมาย เราไม่ได้จับจ้องใคร พรรคไหนเป็นพิเศษ แต่ดูภาพรวมทั้งหมดแบบเท่าเทียมกัน” พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ ระบุ   


          จะว่าไปแล้วก็เหมือนกระต่ายตื่นตูม เพราะทันทีที่มีประกาศ พ.ร.ฎ.การเลือกตั้ง และกกต.ก็กำหนดวันเลือกตั้งในวันเดียวกัน ทำให้ผู้สมัครส.ส.และบรรดาพรรคการเมืองหลายพรรคเป็นกังวลในความไม่ชัดเจนของการหาเสียงออนไลน์ กลัวว่าจะพลั้งเผลอทำผิดกฎหมาายจนสร้างความเสียหาย หลายคนยุติการโพสต์เฟซบุ๊กชั่วคราว หลายพรรคระงับเพจเฟซบุ๊กไปก่อน แต่ยังมีแกนนำพรรคใหญ่หลายคนยังยืนยันที่จะใช้เพซบุ๊กแชร์ข้อมูลทำความเข้าใจ เสนอข้อเท็จจริงต่อประชาชน 
อย่างไรก็ตาม กกต.ออกมายืนยันแล้วว่าการหาเสียงออนไลน์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่ผู้คนให้ความนิยมและเข้าถึงสามารถทำได้ แต่ต้องแจ้ง กกต.ล่วงหน้า ซึ่งการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ประกอบด้วย เว็บไซต์, โซเชียลมีเดีย, ยูทูบ, แอพพลิเคชั่น, อีเมล, เอสเอ็มเอส และสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่น และผู้สมัครต้องแจ้งวิธีการ รายละเอียดและระยะเวลากับกกต.ประจำจังหวัดก่อนหาเสียง ส่วนกรณีของพรรคการเมือง ต้องแจ้งกับเลขาธิการ กกต. ทั้งนี้ กกต.อาจจะกำหนดวิธีการหาเสียงเพิ่มเติมได้ ส่วนกรณีผู้สนับสนุนของพรรคใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ มีค่าใช้จ่ายเกิน 1 หมื่นบาท ต้องแจ้งพรรคและจะถูกนับรวมเป็นค่าใช้จ่ายของพรรคด้วย ทั้งนี้พรรคการเมืองมีสิทธิ์คัดค้านได้ สำหรับกรณีการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถูกต้อง แม้แก้ไข หรือลบข้อมูลแล้ว ไม่ถือเป็นการลบล้างความผิดที่ได้กระทำสำเร็จแล้ว


           การเลือกตั้งในยุคที่มีความทันสมัยของเทคโนโลยี ไม่แปลกที่จะมีการหาเสียงออนไลน์ ถ้ายึดกติกา มั่นใจว่าไม่ผิด ก็ลุยโลด..!!
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ