คอลัมนิสต์

"คลื่นมวลชนแม้ว" ยังรักแต่ไม่เร่าร้อน

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...   กระดานความคิด   โดย...  บางนา บางปะกง


 

          สรุปแล้ว ทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคไทยรักษาชาติ ก็คิดอะไรใหม่ไม่เป็น จึงเน้น “ต่อยอด” นโยบายประชานิยมเป็นหลัก


          ยุทธศาสตร์ “ขายแม้ว ขายปู” มอบให้เป็นหน้าที่ของ “แนวร่วมคนเสื้อแดง” แจกปฏิทิน แจกข่าวความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ในต่างแดนของเครือข่ายนายใหญ่ ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ และทวิตเตอร์

 

 

 

 

"คลื่นมวลชนแม้ว" ยังรักแต่ไม่เร่าร้อน

 


          ล่าสุด “ทักษิณ ชินวัตร” พยายามสร้างภาพจัดรายการวิทยุออนไลน์ “Good Monday” ทางแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “พอดคาสต์” เป็นแอพที่ติดตั้งมาพร้อมกับไอโฟน ไอแพด ซึ่งคนไทยยังไม่รู้จักกันแพร่หลายเท่าไรนัก


          ในแง่ฟังก์ชั่น ถ้ามองในมุมของคนจัดพอดคาสต์ หรือที่เรียกว่า “podcaster” มันคือช่องทางที่เราจะสามารถบอกเล่าพูดคุยเรื่องราวต่างๆ ได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต โดยอาจจัดเป็นรายการขึ้นมา


          ส่วนในมุมคนฟังพอดคาสต์ก็เหมือนรายการวิทยุที่เราคนไทยเคยฟังเป็นประจำในยุคสมัยหนึ่ง หากพอดคาสต์ มีเสน่ห์ตรงที่จะหยิบขึ้นมาฟังเมื่อไรก็ได้ หรือดาวน์โหลดเก็บไว้ฟังภายหลังแบบออฟไลน์


          ผลสำรวจของ Edison Research สหรัฐอเมริกา ที่ว่าผู้ฟังพ็อดคาสท์ในสหรัฐ เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีการศึกษาและมีรายได้สูง เมื่อเทียบกับกลุ่มคนทั่วไป

 

          พูดตรงๆ เจ้ารายการวิทยุใหม่ของทักษิณ ไม่ส่งผลสะเทือนต่อพลังมวลชนมากนักหรอก แค่เป็นลูกเล่นทางการตลาด ตอกย้ำแบรนด์ “ผู้นำแห่งอนาคต” 


          อันที่จริง อาวุธที่ทรงพลังของทักษิณ ยังเป็น “พลังมวลชนคนเสื้อแดง” ที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่การเลือกตั้งปี 2550 โดยเวลานั้น ใช้ชื่อ “คนรักทักษิณ” พร้อมกับการแจกแผ่นวีซีดีคำปราศรัยของคนไกลบ้านนับล้านแผ่น


          ปี 2552 ทักษิณใช้ “สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม” เป็นเครื่องมือปลุกระดมและจัดตั้งมวลชน ซึ่งได้ก่อให้เกิด “นปก.” และแปลงร่างเป็น “นปช.” จนเกิดยุทธการแดงทั้งแผ่นดิน 2 ปีซ้อน


          นอกจากนั้น “สถานีวิทยุชุมชน” ที่รัฐบาลทักษิณ ปล่อยผีให้มีการทดลองจัดตั้งวิทยุชุมชน ก็ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของเครือข่ายคนแดนไกล

 


          ขณะเดียวกัน ทักษิณได้ใช้แอพ “สไกป์” (รูปแบบวิดีโอคอล) สื่อสารสบตากับประชาชนที่ยังรอคอยเขาอยู่เสมอ จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังใช้เมื่อถึงโอกาส


          สำหรับวันนี้ “คนเสื้อแดง” ยังมีพลังอยู่เหมือนเดิมหรือไม่? คำตอบคือ ความเร่าร้อนนั้นลดลงเยอะ แต่ความรักในตัวทักษิณยังมีอยู่ ซึ่งพลังเสื้อแดงถูกลดทอนโดยหลายปัจจัย
          1.พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคเพื่อชาติ กลายเป็นตัวแปรแชร์พลังเสื้อแดงให้กระจายไปตามกลุ่มว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคดังกล่าว

 

          2.ความสับสนระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักษาชาติ ยังมีอยู่ในหมู่คนรักชินวัตร
          3.ฝ่ายความมั่นคงเกาะติด “แกนนำแดง” ทุกกลุ่ม จนกระดิกตัวยาก ขนาด “อานนท์ แสนน่าน” พยายามจะปลุกกระแสหมู่บ้านเสื้อแดงอีกรอบ ก็ยังทำได้แค่ผ่านทางเฟซบุ๊ก

 

          4.แกนนำเสื้อแดงในต่างจังหวัด แปรพักตร์ไปอยู่พรรคการเมืองฝ่ายหนุน คสช. ส่งผลให้มวลชนระส่ำระสายพอควร

 

          ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มวลชนคนรักชินวัตร แปรเปลี่ยนเป็น “คลื่นมหาชน” อันร้อนแรงไม่ได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ