คอลัมนิสต์

ประกาศ กกต. ปิดช่อง "ปฏิรูปการเมือง"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  ร่มเย็น

 

 

           เมื่อวาน (16 ม.ค.)  พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ส.ส.และประกาศของกกต. จำนวน 9 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการเลือกตั้ง โดยระเบียบดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ 
   

 

 

          ทั้งนี้การออกระเบียบดังกล่าว  กกต.บอกว่า คำนึงถึงเรื่องการที่กฎหมายกำหนดให้การหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งกฎหมายยังกำหนดให้รัฐสนับสนุนการหาเสียงให้พรรคการเมือง
  

          แต่เมื่อมาพลิกดูประกาศฉบับหนึ่งของ กกต.ในจำนวน 9 ฉบับ คือประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง “กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561” 
  

          ในข้อ 4 บัญญัติว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกินจำนวน 1,500,000 บาท 
   

          และข้อ 5 บัญญัติว่า  พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกินจำนวน 35,000,000 ล้านบาท
    

           มองยังไง..ก็ไม่เห็นว่าประกาศฉบับนี้จะมีอะไรใหม่   การหาเสียงก็ยังเป็นแบบเดิม คือ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา”  
  

          เพราะว่าแค่เปิดให้คนสมัครเข้าสู่การดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังเปิดให้ใช้เงินได้มากถึง 1.5 ล้านบาท ซึ่งก็ถือว่าเป็น “การลงทุน” ซึ่งถ้าเขาได้รับเลือกตั้งไป คนคนนั้นก็มีต้นทุนถึง 1.5 ล้านบาท ก็ทำให้ “กลุ่มทุน” เข้ามามีบทบาทเหมือนเดิม แทนที่รัฐจะเป็นคนจัดการเรื่องโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ เพื่อที่ว่าคนดีๆ ที่เขาไม่ได้หวังพึ่งพา “นายทุนพรรค”  จะได้เสนอตัวมาลงสมัครได้ 
    

          เพราะปกติคนที่สมัครส.ส. ต้องถูกเก็บค่าสมัครอยู่แล้วจำนวน 10,000 บาท  นอกจากนั้นรัฐก็ควรออกค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหาเสียงให้ หรืออย่างมากก็แค่ให้ผู้สมัครส.ส.ออกเงินแบบเหมาจ่ายประมาณ 50,000-100,000 บาท เพื่อให้รัฐไปดำเนินการเรื่องโฆษณาหาเสียงให้เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม  ซึ่งคนทั่วไปที่ไปสมัครส.ส.แล้วต้องจ่ายเงินจำนวน 100,000 บาท ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าตนเองจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ก็ถือว่าเป็นเรื่องพอสมควรแล้วที่เหลือรัฐก็ควรออกค่าใช้จ่ายให้   เพราะดูจากระเบียบของกกต. ยังไม่เห็นว่ามีการทำอะไรที่แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งหลังสุด
    


          ส่วนอีกประเด็น กรณีที่ให้พรรคการเมืองใช้ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงได้ถึงจำนวน 35 ล้านบาทบาทนั้น ก็พอสมควรจากเดิมที่เคยให้ใช้ค่าใช้จ่ายได้ถึง 70 ล้านบาท ลดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองลง ซึ่งถ้ามองค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทั้งระบบ คือ ผู้สมัคร ส.ส.คนหนึ่งสามารถใช้จ่ายได้ 1.5 ล้านบาทต่อเขต ทั้งหมดมี 350 เขตเลือกตั้ง รวมแล้วจำนวน 525 ล้านบาท นำมาบวกกับค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองในการหาเสียงอีก 35 ล้านบาท  ตัวเลขทั้งหมดตกอยู่ที่จำนวน 560 ล้านบาท 
  

          นั่นหมายความว่าทำให้พรรคการเมืองสามารถใช้จ่ายเงินในการหาเสียงเลือกตั้งในส่วนของพรรคการเมืองและส่งเงินไปช่วยเหลือผู้สมัครในการดำเนินการหาเสียงได้ รวมเงินทั้งหมดมากถึงเกือบ 600 ล้านบาท  อย่างกรณีพรรคการเมืองจัดโต๊ะระดมทุน ได้เงินมาหลายร้อยล้านบาท ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองจะสามารถใช้เงินได้แค่ 35 ล้านบาทเท่านั้น แต่สามารถส่งเงินที่ระดมทุนได้นั้นไปให้ผู้สมัครแต่ละเขตใช้ในการหาเสียงได้ด้วย แล้วอย่างนี้จะเกิดการปฏิรูปการเมืองได้อย่างไร เป็นการสร้าง “ธุรกิจการเมือง”  เหมือนเดิม
  

          ถ้าจะปฏิรูปการเมืองต้องไม่ให้ทุนเข้ามามีอิทธิพลใหญ่ในการเสนอตัวเข้าทำงานทางการเมือง ถ้ากลไกของรัฐเปิดโอกาสให้โฆษณาชวนเชื่อกันขนาดนี้ กลายเป็นความล้มเหลว ไม่เกิดประโยชน์อะไร ย้อนยุคเหมือนเดิม
 

          อีกกรณีหนึ่ง คือระเบียบ กกต.ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561  หมวด 4   ลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้ง
   

          ในข้อ 18   ระบุว่า ห้ามผู้สมัครพรรคการเมืองหรือผู้ใดหาเสียงเลือกตั้งในลักษณะ ดังต่อไปนี้
       

          (4) ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ให้แก่ผู้ใด ตามประเพณีต่างๆ
     

          แต่ในขณะเดียวกันปรากฏว่าในระเบียบ กกต.ว่าด้วยจำนวนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการให้ตามประเพณีหรือเมื่อมีเหตุอันสมควรและการยื่นคัดค้านเกี่ยวกับการบันทึกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งต่อไป พ.ศ. 2561 ในข้อ 6  ระบุว่าการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ ในกรณีดังต่อไปนี้


          ถือเป็นการให้ ปกติประเพณี หรือมีเหตุอันสมควร
          (1) การให้ในแต่ละโอกาสตามปกติประเพณี โดยมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสามพันบาท
          (2) การให้ในแต่ละโอกาสเมื่อมีเหตุอันสมควรและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยพิบัติโดยมีราคาหรือมูลค่าที่พรรคการเมืองให้ได้ไม่เกินสามล้านบาท
    

          (3) การให้ในแต่ละโอกาสเมื่อมีเหตุอันสมควรและเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยพิบัติโดยมีราคาหรือมูลค่าที่ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง สมาชิกพรรคการเมืองซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้ได้ไม่เกิน  3 แสนบาท
    

          และระเบียบฉบับนี้ได้ให้นิยามคำว่า “การให้ตามปกติประเพณี” หมายความว่า การให้ที่นิยมถือประพฤติปฏิบัติสืบต่อกันมาจนเป็นแบบแผน ขนบธรรมเนียมหรือจารีตประเพณี เช่น งานวันเกิด งานบวช งานโกนจุก งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ งานบุญ งานเทศกาล งานขึ้นปีใหม่ งานศพ
     

          ทั้งสองระเบียบของกกต. ดูเหมือนขัดกันเอง ระเบียบแรก ระบุห้ามผู้สมัคร ช่วยเหลือเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้ใดตามประเพณีต่างๆ แต่อีกระเบียบหนึ่งกลับยกเว้นให้ทำได้โดยถือเป็นการให้ปกติประเพณี และนิยามคำว่า การให้ตามปกติประเพณี ครอบคลุมไปหมดทั้งงานวันเกิด  งานบวช งานโกนจุก งานศพ งานแต่งงาน งานขึ้นบ้านใหม่ แล้วนี้จะมีอะไรที่ไม่เป็นการให้ตามปกติประเพณีอีก   สุดท้ายก็เท่ากับไม่ได้ห้าม

         
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ