คอลัมนิสต์

เปิดระเบียบเลือกตั้ง ส.ส.ค่าใช้จ่ายไม่เกินคนละ 1.5 ล.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดรายละเอียดเกี่ยวกับระเบียบเลือกตั้ง ส.ส. ค่าใช้จ่ายในส่วน ส.ส.แต่ละคนไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ในส่วนของพรรคการเมือง ไม่เกิน 35 ล้านบาท

     จากกรณีเว็ปไซด์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งส.ส.  เมื่อวันที่ 11มกราคมที่ผ่านมา เมื่อเปิดดูในเนื้อหาของแต่ละฉบับ พบว่ามีรายละเอียดดังนี้  

       ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง "กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2561"

     ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่าประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

    ข้อ 2  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

    ข้อ 3  ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายหลังวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561 ใช้บังคับระยะเวลาในการคำนวณค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผลใช้บังคับจนถึงวันเลือกตั้ง

     ข้อ  4  ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท (หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน)

     ข้อ 5 พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 35,000,000 บาท (สามสิบห้าล้านบาทถ้วน)

     ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นการหาเสียงของพรรคการเมืองตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

      ข้อ 6 ในกรณีที่มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใด ก่อนประกาศผลการเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งใหม่ ดังนี้

      ( 1)  ในเขตเลือกตั้งใดที่ต้องดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่  ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคน ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 750,000 บาท (เจ็ดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) 

      (2)  ในเขตเลือกตั้งใดที่ไม่ต้องดำเนินการรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายไม่เกิน 500,000 บาท ( ห้าแสนบาทถ้วน )

      ข้อ 7  ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงมากกว่าคะแนนเสียงที่ไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเขตเลือกตั้งนั้น และต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ตามมาตรา 126 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2561 ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 750,000  บาท (เจ็ดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)  

        ข้อ 8 ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วและมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่คนละต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท ( หนึ่งล้านห้าแสนบาทถ้วน ) 

       ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้งเรื่องประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561

     ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561"

     ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

     ข้อ 3  ตัวอย่างประเภทค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ได้แก่

        (1) ค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ค่าสมัครรับเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายอื่นๆ  ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น 

          (2) ค่าจ้างแรงงาน เช่น ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง ค่าจ้างในการติดป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าจ้างแจกใบปลิวแผ่นพับรวมทั้งค่าจ้างแรงงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อไปในการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้น

         (3) ค่าจ้างทำของ เช่น ค่าจ้างทำเสื้อแจ็คเก็ต หมวก และเสื้อยืด หรืออื่นๆสำหรับผู้ช่วยหาเสียงเป็นต้น 

          (4) ค่าโฆษณาในสื่อต่างๆ เช่น ถ้าสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆถ้าผลิตสื่อเพื่อการออกอากาศรวมถึงค่าโฆษณาอื่นที่เป็นการกระทำเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น 

         (5) ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียง 

         (6) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูบ อินสตราแกรม กูเกิล แอพพลิเคชั่น เป็นต้น 

         (7) ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุและอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

         (8) ค่าเช่าสถานที่ และค่าตกแต่งสถานที่ เช่น ค่าเช่าสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์รวมลงหาเสียงเลือกตั้ง ค่าเช่าสถานที่เพื่อปราศรัยหาเสียง เป็นต้น

        (9) ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าจ้างเหมารถยนต์ เรือยนต์ หรือยานพาหนะอื่นๆ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง ค่าเช่าที่พัก เป็นต้น 

        (10) ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการทางไปรษณีย์ ค่าถ่ายเอกสาร เป็นต้น 

        (11) ค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ช่วยหาเสียง

        (12) ค่าอบรมผู้สมัครหรือผู้ช่วยหาเสียง

         (13) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือเป็นเหตุให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

 


 

         ประกาศคณะกรรมการเลือกตั้งเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธี การจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ. ศ. 2561

      ข้อ 1 ประกาศนี้เรียกว่า  "ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ. ศ. 2561"

       ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

        ข้อ 3 ในประกาศนี้ "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง

       "พรรคการเมือง" หมายความว่า พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

       "ผู้สมัคร" หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

         "ประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง" หมายความว่า ประกาศของผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีลักษณะเป็นกระดาษหรือวัสดุอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันที่มีข้อความหรือรูปที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง

         "แผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง" หมายความว่า แผ่นป้ายของผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมือง ที่มีลักษณะเป็นกระดาษ กระดาน หรือวัสดุอื่นใดที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันและมีความแข็งแรง ที่มีข้อความหรือรูปที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง

        "สาธารณสถาน" หมายความว่า ที่ดิน ทางน้ำ ทางหลวงหรือสถานที่สาธารณะที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐ

        " การเลือกตั้ง" หมายความว่า การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการเลือกตั้งทั่วไป

         "สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด" หมายความรวมถึง สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครด้วย

       "ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด" หมายความรวมถึง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครด้วย

       "หัวหน้าหน่วยงาน" หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการเขต ผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องที่ รวมถึงหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่น 

        ข้อ 4 ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามประกาศนี้ ในกรณีที่มีเหตุจำเป็น คณะกรรมการอาจกำหนด ยกเว้น หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในประกาศนี้ได้

       ข้อ 5 ให้ผู้สมัครที่ประสงค์ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งดำเนินการดังนี้

        (1) จัดทำประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีจำนวนรวมกันแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น โดยกำหนดเป็นแนวตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และมีขนาดความสูงไม่เกิน  42 เซนติเมตร  (กระดาษขนาดเอ 3 ) พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน แล้ววันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

      (2) ให้ผู้สมัครปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามสถานที่ที่กำหนดตามหัวข้อ 6 ได้ สถานที่ละ 1 แผ่น

     (3) วิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด ทั้งนี้ จะต้องไม่ปิดทับซ้อนกับประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครอื่นหรือปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งนอกบริเวณที่กำหนด 

      ข้อ 6 การกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้ดำเนินการ ดังนี้ 

     (1) ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้แก่ผู้สมัครที่ประสงค์จะปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งในเขตจังหวัดนั้น ณ ศาลากลางจังหวัด ให้นายอำเภอกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครทุกคน ในเขตเลือกตั้งนั้น ณ ที่ว่าการอำเภอ 

    (2) ให้ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครทุกคนในเขตเลือกตั้งนั้น ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต แขวง หมู่บ้าน หรือชุมชน 

    (3) ให้หัวหน้าหน่วยงานอาจกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้แก่ผู้สมัครทุกเขตในเขตเลือกตั้งนั้น ณ ที่ตั้งของหน่วยงานตามความเหมาะสม

      ให้ผู้ดำรงตำแหน่งตาม (1) (2)  และ (3) ออกประกาศกำหนดสถานที่ หลักเกณฑ์ และวิธีการปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เมื่อออกประกาศแล้วให้นำส่งประกาศให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทราบโดยเร็ว และให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดแจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยทั่วกัน

     ทั้งนี้ การกำหนดสถานที่และจัดสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่งต้องจัดให้ผู้สมัครทุกคนให้พอเพียงและเท่าเทียมกันให้ผู้สมัครที่ประสงค์จะปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ได้จัดไว้ แจ้งความประสงค์ขอปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งกับหัวหน้าหน่วยงานตามวรรคสอง

     ข้อ 7 กรณีผู้สมัครปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ถูกต้องตามประกาศนี้ ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่ง ผู้สมัครให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการแก้ไขภายในกำหนดเวลาดังกล่าว คณะกรรมการมีอำนาจรื้อถอน หรือปลดออก หรือสั่งให้หน่วยงานอื่นดำเนินการโดยให้คิดค่าใช้จ่ายกับผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้น และคณะกรรมการอาจนำมาเป็นเหตุ ในการสืบสวนหรือไต่สวนตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการสืบสวน การไต่สวน  และการวินิจฉัยชี้ขาดได้

       ข้อ 8 ให้ผู้สมัครจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น และให้พรรคการเมืองจัดทำแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จำนวนไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และมีขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร พร้อมระบุ ชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน แล้ววันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 

      ทั้งนี้ผู้สมัครและพรรคการเมืองจะต้องไม่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทับซ้อนหรือปิดบังแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของผู้สมัครอื่นหรือพรรคการเมืองอื่นหรือติดแผ่นป้ายนอกบริเวณที่กำหนดตามข้อ 9

      ข้อ 9 ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยก่อนประกาศกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประสานหรือหารือกับหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อออกประกาศดังกล่าวแล้วให้แจ้งให้ผู้สมัครและพรรคการเมือง ทราบโดยทั่วกัน

     โดยสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งจะต้องเป็นบริเวณพื้นที่อันเป็นสาธารณะสถาน เช่น บริเวณถนนสาธารณะ ที่สาธารณะ หรือสาธารณสถานอื่นของรัฐที่เห็นสมควร เพื่อติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองในเขตเลือกตั้งนั้นให้พอเพียงและเท่าเทียมกัน โดยคำนึงถึงความเหมาะสม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความสะอาด ความปลอดภัย ความมั่นคงแข็งแรง มีทัศนียภาพและทัศนวิสัยที่ดีไม่เกิดอันตรายแก่ประชาชนหรือต่อยานพาหนะ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของทางราชการ หรือประชาชน แล้วจะต้องไม่เป็นการกีดขวางทางสัญจรและการจราจร 

      ข้อ 10 ผู้สมัครและพรรคการเมืองอาจติดตั้งแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งได้ ณ ที่ทำการพรรคการเมืองหรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดหรือศูนย์อำนวยการเลือกตั้งได้เขตเลือกตั้งละ หนึ่งแห่ง

     แผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามวรรคหนึ่ง ให้มีขนาดกว้างไม่เกิน 400 เซนติเมตรและขนาดความยาวไม่เกิน 750 เซนติเมตร ติดได้สถานที่ละ 1 แผ่น

       ข้อ 11 กรณีผู้สมัครหรือพรรคการเมืองติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ถูกต้องหรือเกินขอบเขตที่กำหนด ให้นำความในข้อ 7 ของประกาศนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

           ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561

     ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ. ศ. 2561"

     ข้อ 2 ระเบียบฉบับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

      ข้อ 3 ในระเบียบฉบับนี้

      "ผู้สมัคร" หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

     "พรรคการเมือง" หมายความว่า พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ 

    "เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ" หมายความว่า เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

     "คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง  

     "สำนักงาน" หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

    "เลขาธิการ" หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

    "ผู้อำนวยการ" หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร 

     ข้อ 4 เมื่อได้มีประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการ มีคำสั่งแต่งตั้งผู้แทนของส่วนราชการ ที่มีความรู้ทางด้านการเงินและบัญชี หรือผู้ที่มีความรู้ทางด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นคณะกรรมการประจำศูนย์ประสานงานการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังต่อไปนี้

 (1) กระทรวงมหาดไทย

  (2) กระทรวงพาณิชย์

  (3) กรมบัญชีกลาง

  (4) กรมสรรพากร

   (5) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

  (6) สำนักงบประมาณ

  (7) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

  (8) ธนาคารแห่งประเทศไทย

   (9) ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้ที่มีความรู้ทางด้านอื่นจำนวนไม่เกิน 4 คน 

    ให้เลขาธิการเป็นผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งแต่งตั้งผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบบัญชีการเงินและทรัพย์สินเป็นกรรมการและเลขานุการ รวมทั้งแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานจำนวนสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการประจำศูนย์ประสานงานการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้คณะกรรมการประจำศูนย์ประสานงานการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิ์ได้รับเบี้ยประชุมตามอัตราที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 1 ท้ายระเบียบนี้

      ศูนย์ประสานงานการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีหน้าที่อำนวยการและติดตามกำกับการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองเพื่อให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามข้อ 8

     ข้อ 5 เมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้หัวหน้าส่วนราชการตามข้อ 4 เสนอชื่อผู้แทนของส่วนราชการให้แก่คณะกรรมการเพื่อแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบบัญชีรายชื่อ และเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบแบ่งเขตเลือกตั้งเฉพาะกรุงเทพมหานคร 

      สำหรับจังหวัดอื่น ให้ผู้อำนวยการประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดในการเสนอรายชื่อผู้แทนของส่วนราชการภายในจังหวัดนั้น เพื่อแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบแบ่งเขตเลือกตั้งประจำศูนย์ปฏิบัติงานการตรวจสอบ 

     ข้อ 6 ให้คณะกรรมการแต่งตั้งบุคคลตามข้อ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบบัญชีรายชื่อประจำศูนย์ปฏิบัติงานการตรวจสอบ ให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งบุคคลตามข้อ 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบแบบแบ่งเขตเลือกตั้งประจำศูนย์ปฏิบัติงานการตรวจสอบ 

      ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบประจำศูนย์ปฏิบัติงานการตรวจสอบตามวรรคหนึ่งและวรรคสองประชุมเลือกกันเอง ให้คนหนึ่งเป็นประธานแล้วแจ้งผลให้คณะกรรมการหรือผู้อำนวยการแต่งตั้งรวมทั้งแต่งตั้งพนักงานของสำนักงานเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการด้วย แล้วแต่กรณีเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเข้าใจบทบาทหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง สำนักงานอาจจัดให้มีการฝึกอบรม เจ้าหน้าที่ดังกล่าวด้วยก็ได้ 

       ข้อ 7 ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตามข้อ 5 กำหนดการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายของผู้สมัครและพรรคการเมืองในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้

        (1) การตรวจสอบบัญชี เป็นการตรวจสอบความถูกต้องโดยทั่วไปของการจัดทำบัญชี การบันทึกบัญชีว่าเป็นไปโดยถูกต้อง และเอกสารหลักฐาน ประกอบการลงบัญชีมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ และสอดคล้องกันหรือไม่ รวมทั้งการตรวจสอบโดยใช้เทคนิคการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์ ความถูกต้องของที่มาของเอกสารหลักฐานและการบันทึกบัญชีหรือไม่ 

        (2) ตรวจสอบเรื่องเฉพาะ ซึ่งอาจใช้รายงานการตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งของสำนักงานหรือองค์กรเอกชนหรือบุคคลใด ( ถ้ามี )

       (3) ตรวจสอบอย่างอื่นตามที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหรือคณะกรรมการเห็นสมควรในการดำเนินการตรวจสอบ ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบมีอำนาจในการเรียกให้ผู้สมัคร หัวหน้าพรรคการเมือง หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงหรือจัดส่งเอกสารเพิ่มเติมได้ ทั้งนี้หากบุคคลดังกล่าวไม่ดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง หรือไม่จัดส่งเอกสารเพิ่มเติม ให้ดำเนินการตรวจสอบตามหลักฐานที่มี และเสนอต่อผู้อำนวยการหรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาต่อไป

       ข้อ 8 ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันนับแต่วันที่ ผู้อำนวยการหรือคณะกรรมการแล้วแต่กรณีรับรายงานการรับจ่ายเงินและบัญชีรายรับราย และรายจ่ายจากผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง 

         ในกรณีที่ดำเนินการตรวจสอบเกิน 30 วันให้ขอขยายระยะเวลาการตรวจสอบได้อีกไม่เกิน 15 วันพร้อมทั้งแสดงเหตุผลแห่งการล่าช้าด้วย อัตราค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ให้เป็นไปตามที่อัตราที่กำหนดไว้ตามบัญชีหมายเลข 2 ท้ายระเบียบนี้

       ข้อ 9 ให้ผู้อำนวยการหรือคณะกรรมการแล้วแต่กรณีจัดทำประกาศผลการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ ตรวจสอบตามข้อ 8 พร้อมทั้งประกาศผลการตรวจสอบของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป

        ในการนี้การประกาศหรือเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ให้ประกาศ หรือเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือระบบหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวก

       ข้อ 10 ให้ผู้อำนวยการรายงานผลการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครต่อคณะกรรมการทราบภายในสิบห้าวันนับจากประกาศผลการตรวจสอบ 

         ข้อ 11 การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กรณีแทนตำแหน่งที่ว่างให้ผู้อำนวยการดำเนินการตามระเบียบนี้ 

      ข้อ 12  ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามระเบียบนี้ กรณีที่มีเหตุจำเป็นคณะกรรมการอาจกำหนดยกเว้นหรือผ่อนผันการปฏิบัติตามความในระเบียบนี้ได้

        บัญชีหมายเลข 1 อัตราเบี้ยประชุมแนบท้ายระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบราย การค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.  2561

     1. ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานการตรวจสอบ 3,000 บาท/ครั้ง

     2. กรรมการ 2,500 บาท/ครั้ง

    3. เลขานุการ 1,250 บาท/ครั้ง 

    4. ผู้ช่วยเลขานุการ 1,250 บาท/ครั้ง

    บัญชีหมายเลข 2 อัตราค่าตอบแทน แนบท้ายระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561

    1. เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ 500 บาท/วัน

   

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ