คอลัมนิสต์

"ผู้กองจอย" ดอกไม้ใต้ไฟ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เช้ามืดของวันที่ 8 มกราคม ขณะที่หลายคนยังคงหลับใหล แต่ที่หน่วยเฉพาะกิจสงขลา ฐานของ ตชด.43 ยังคงเกิดหลักฐานว่าความรุนแรงของพื้นที่ปลายด้ามขวานยังมีอยู่เสมอ

          เพราะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา สถานการณ์ในพื้นที่เหมือนกลับมาร้อนแรงมากขึ้นอีกครั้ง

          อย่างไรก็ดี ในเคสของเช้าวันที่ 8 มกราคม ยังมีมุมดีที่วันนั้นไม่มีใครเสียชีวิต แต่มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บหลายนาย หากหนึ่งในนั้นได้รับความสนใจจากคนไทยเป็นพิเศษ คือ “ผู้กองจอย” ร.ต.อ.หญิง สินีนาถ คงพุทธ ผู้บังคับหมวดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 สังกัดหมวดแพทย์ ช่วยราชการฝ่ายการพยาบาล ฉก.สงขลา ที่ถูกสะเก็ดระเบิดบริเวณหน้าอกซ้าย ได้รับบาดเจ็บต้องส่งตัวไปรักษายัง รพ.ยะลา

 

 "ผู้กองจอย"  ดอกไม้ใต้ไฟ

 

          แน่นอนจากข่าววันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ผู้กองจอยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุขอบคุณทุกความห่วงใยที่มีให้ ซึ่งแปลว่าเธอปลอดภัยแล้ว

          แต่ลึกๆ เราต่างรู้ดีว่าสถานการณ์ที่ผู้หญิงคนนี้ต้องเผชิญ มันคงไม่จบแต่เพียงเท่านี้

          เพราะเธอเพิ่งยืนยันว่าจะกลับไปปฏิบัติหน้าที่ดังเดิม เฉกเช่นคนในพื้นที่ ซึ่งหาก "บ้านเกิด" จะหมายถึง "เรือนตาย" ก็คงต้องให้มันเป็นไปเช่นนั้น !

 

ผู้กองยอดหญิง

          ก็ต้องยอมรับกันตรงๆ ว่านอกจากความเป็นผู้หญิงในเครื่องแบบ ที่ดึงดูดความสนใจแล้ว ใบหน้าที่สะสวยของผู้กองจอย ยังทำให้คนไทยอดที่จะติดตามและอยากรู้จักเธอมากขึ้นไม่ได้

          จนกระทั่งเมื่อได้เห็นจากหน้าข่าว ยิ่งพบว่าผู้กองจอยคือผู้หญิงแกร่งคนหนึ่ง

 

 "ผู้กองจอย"  ดอกไม้ใต้ไฟ

 

          เพราะผู้กองจอยนั้นเป็นชาว จ.ปัตตานี โดยกำเนิด เรียนจบชั้นมัธยมที่โรงเรียนสายบุรี(แจ้งประชาคาร) ถ.สายบุรี ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

          จากนั้นมุ่งหน้าเรียนพยาบาลที่ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยของรัฐบาลระดับตติยภูมิขั้นสูง เป็นโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งแรกของภาคใต้ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

          โดยการมาทำงานเป็นพยาบาล ในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ก็เป็นความสมัครใจของตนเอง แรกเริ่มเธออยู่ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช อ.ทุ่งสง ที่กองกำกับการ 8 กองบังคับการฝึกพิเศษ-ค่ายศรีนครินทรา

          ชีวิตการทำงานตอนนั้น มีการออกหน่วยแพทย์พบปะเยี่ยมเยียนชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เธอจึงเกิดความรู้สึกอยากที่จะมาช่วยประชาชนในพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น และเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเช่นกัน

 

 "ผู้กองจอย"  ดอกไม้ใต้ไฟ

 

          ไม่เพียงใจที่แข็งแกร่ง บนใบหน้าที่สวยคมแล้ว ผู้กองจอยยังมีสายเลือดนักสู้อยู่ในตัวเต็มเปี่ยม เพราะเธอเป็นบุตรของ ด.ต.สถาพร คงพุทธ ผบ.หมู่ ป.สภ.สายบุรี จ.ปัตตานี 

           และที่ต้องเน้นคือ บิดาของผู้กองจอย ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ต้องสังเวยชีวิตให้แก่ไฟในพื้นที่ โดยเขาและน้องชายของผู้กองจอย หรือ ด.ช.พัชรพล คงพุทธ อายุ 14 ปี ถูกคนร้ายลอบยิงที่ปากซอยหน้าบ้าน หรือบริเวณริมถนนท่าเสด็จ ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2555 หรือเมื่อ 6 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นมีข้อมูลในเฟซบุ๊กของเธอระบุว่าช่วงปี 2556 เธอได้เริ่มงานใหม่ที่สํานักงานตํารวจแห่งชาติ

          ผู้กองจอยบอกว่า “ที่ผ่านมาก็คิดอยู่ตลอดว่าสักวันหนึ่งอาจจะเจอเหตุการณ์ด้วยตนเอง เพราะว่าเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เมื่อไรก็เกิดขึ้นได้ มันอยู่ที่สติ ถ้าเรามีสติเราก็จะควบคุมทุกอย่างได้”

 

 "ผู้กองจอย"  ดอกไม้ใต้ไฟ

 

          “เราก็ใช้อาชีพของเราซึ่งเป็นพยาบาล คุณพ่อซึ่งเป็นตำรวจ ได้ทำหน้าที่สองหน้าที่คือหน้าที่ที่เรารัก และหน้าที่ที่พ่อรัก”

          เป็นครั้งแรกที่ได้มีการส่งอาสาสมัครทหารพรานหญิง นาวิกโยธิน จำนวนกว่า 100 นาย เข้าร่วมในภารกิจรักษาความสงบและอธิปไตยของชาติในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

 

นักรบหญิงแกร่ง

          ในสมรภูมิชายแดนใต้ มิได้มีเพียง “ตำรวจหญิง” เท่านั้น หากแต่ยังมี “ทหารพรานหญิง” สังกัดกรมทหารพรานที่ 41-49 กองทัพภาคที่ 4 และทหารพรานหญิง สังกัดกรมทหารพรานจากกองทัพภาคที่ 1-3 ที่ขึ้นทางยุทธการกับกองกำลังทหารพรานจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมแล้ว 9 หมวดทหารพรานหญิง นอกจากนี้ ยังมี “ทหารพรานนาวิกโยธินหญิง” สังกัดกรมทหารพรานนาวิกโยธิน กองทัพเรือ

          ทหารพรานหญิง มีบทบาทในการทำหน้าที่ ในเนื้องานที่มีความละเอียดอ่อน การดูแลเอาใจใส่และสร้างความเข้าใจ สามารถปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในพื้นที่ให้มีความเข้าใจในภารกิจหลักของทหาร

          การฝึกอาสาสมัครทหารพรานหญิง ก็จะฝึกหลักสูตรทหารพรานเบื้องต้น เช่น การเฝ้าระวัง การประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ยังจะต้องฝึกทางยุทธวิธี เหมือนกับทหารพรานผู้ชายทุกประการ แต่อาสาสมัครทหารพรานหญิงยังจะต้อง “ฝึกหลักสูตรพิเศษ” เช่น การทำคลอด, การปฐมพยาบาลเบื้องต้น และการช่วยเหลือผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกล

 

 "ผู้กองจอย"  ดอกไม้ใต้ไฟ

 

          ทหารพรานหญิงปฏิบัติหน้าที่ได้ไม่แพ้ชายใด คุณสมบัติสำคัญของพวกเธอ คือเป็นคนในพื้นที่ สามารถพูดภาษาท้องถิ่นได้ และพูดภาษาไทยควบคู่กันไป ด้วยอัธยาศัยท่าทีที่อ่อนโยน อ่อนหวาน ละเอียดอ่อน

 

มวลบุปผาในดงแดน

        บทบาทของเจ้าหน้าที่ผู้หญิงในชายแดนใต้ ย่อมแตกต่างจากข้าราชการในภูมิภาคอื่น ทุกวินาทีคือความเป็นความตาย ดังบทความเรื่อง “ดอกไม้ใต้ไฟ” จากเฟซบุ๊กของ ถนอม ขุนเพชร์ สื่อมวลชนอิสระที่เป็นคนในพื้นที่ ได้เล่ามุมหนึ่งของเรื่องนี้ไว้น่าสนใจ

          เขาเล่าว่า ครั้งหนึ่งที่ต้องเดินทางเก็บข้อมูลสารคดีเกี่ยวกับ “มะโย่ง” ศิลปะการแสดงพื้นบ้านมลายูที่กำลังสูญหาย โดยต้องไปดูการจัดแสดงที่โรงเรียนแห่งหนึ่งแถวชายแดนสะบ้าย้อย

          แต่การเดินทางเข้าพื้นที่ไม่ปลอดภัย จึงได้ประสานความร่วมมือเจ้าหน้าที่อำเภอสะบ้าย้อยคนหนึ่งอาสาพาไป

          ทางอำเภอจึงจัดรถนำทางพร้อมกำลังอาสาสมัครจำนวนหนึ่ง พร้อมอาวุธ และแน่นอนที่เจ้าหน้าที่จะมีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย !

 

 "ผู้กองจอย"  ดอกไม้ใต้ไฟ

          “รถกระบะแบบแค็บที่ผมนั่งรวมสามคน นอกจากเจ้าหน้าที่อำเภอผู้หญิง คนขับตำรวจตระเวนชายแดนก็ผู้หญิง เธอไม่ได้แต่งเครื่องแบบ เป็นคนผิวเนียนสวยเท่ ผมนั่งหน้าข้างคนขับ ได้คุยกันจึงรู้ว่าชีวิตคนทำงานพื้นที่แขวนอยู่บนเส้นด้ายของความเสี่ยง ไว้ใจใครยาก”

          “คุ้นกันบ้างแล้วเธอจึงแนะนำว่าในรถมีปืนอยู่ทั้งหมดกี่กระบอก ทั้งปืนสั้นพก ปืนยาว ของหลวง ปืนส่วนตัว ประจำลิ้นชักหน้ารถ หลังเบาะ ซอกมุมต่างๆ มากขนาดนี้ สองสตรีต่างเย้ากันว่าจะชักออกมายิงทันหรือเปล่าก็ไม่รู้ อาจไม่ทันขยับหากโดนถล่ม หันมาทางผม ส่งสัญญาณว่าควรจะต้องช่วยเธอลั่นไกบ้างสักกระบอก พูดเป็นเล่น ผมกลัวขึ้นสมองมาจริงๆ ทำใจดีสู้เสือแอบคิดหนักจนเหงื่อตก เรียน รด. ยิงปืนมาไม่กี่นัด ยิงเป้างานวัดไม่เคยถูก ไม่ใช่เรื่องพูดเล่นแค่ขำๆ”

          จากมุมนี้ เราอ่านแล้วอาจยิ้มขัน หากทางกลับกัน ถ้าเราอยู่ตรงนั้นก็คงหัวเราะไม่ออก

          แต่สิ่งหนึ่งที่เห็นชัด คือเจ้าหน้าที่หญิงเหล่านั้น แม้จะพูดเรื่องความเป็นความตายได้อย่างรื่นรมย์ หากในความจริงพวกเธอกลับตั้งรับ และตื่นตัวตลอดเวลา

 

 "ผู้กองจอย"  ดอกไม้ใต้ไฟ

ภาพจากเฟซบุค Joy Sinee

 

          วันนั้น นักเขียนของเรา จึงได้ชื่นชมการแสดงมะโย่งคณะสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่สมใจ ท่ามกลางการอารักขาอย่างดีและปลอดภัยกลับบ้านพร้อมข้อมูลที่ตามหา

          แต่เขารู้ดีว่าความตายและอันตรายไม่เคยจบลง และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ เมื่อได้ยินข่าวเหตุโจมตีในเส้นทางที่เขาใช้ในหนนั้น มีทั้งผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต !

         ถึงตรงนี้ จะว่าไปแล้ว สถานการณ์ที่ผู้หญิงในพื้นที่ต้องแบกรับ ความเสี่ยง ความตาย นักสิทธิฯ หรือบทความงานวิจัยมีออกมามากมายไม่เคยหยุด พอๆ กับความรุนแรงที่ไม่เคยจบ

        จนเมื่อมาเกิดเหตุกับกลุ่มของ “ผู้กองจอย” เราก็ได้เวลามานั่งเขียน นั่งขบคิดกันอีก เหมือนถูกใครกดปุ่ม

         แต่การที่เราชาวกรุง เหมือนไม่ได้ตระหนกตกใจมากมายอีกแล้วนั้น เพราะเราหมดหวัง หรือเราชาชินกันแน่ ยังไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ สำหรับคนในพื้นที่ มันไม่ใช่ !

////////

ขอบคุณบทความจากเฟซบุค ถนอม ขุนเพชร์ 

ติิดตามอ่านทั้งหมดได้ที่ลิงค์นี้

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ