คอลัมนิสต์

คนไม่เชื่อมั่น เลือกตั้งครั้งนี้"สุจริต เที่ยงธรรม"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... กระดานความคิด  โดย... ร่มเย็น 

    


          
          ไม่น่าเชื่อว่า...ย่างเข้าปี 2562 แล้ว ยังไม่แน่ชัดว่าจะเลือกตั้งกันเมื่อไร ทั้งที่น่าจะชัดเจนไปตั้งนานแล้ว


          ตอนนี้มีประเด็นใหม่ขึ้นมาเกี่ยวกับมาตรา 268  ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส.ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน  นับแต่วันที่ พ.ร.ป.เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ มีผลบังคับใช้ ซึ่งก็คือภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ 

 

 

          แต่ปัญหาเกิดจากตีความที่ต่างกัน ว่าอะไรคือการเลือกตั้ง ส.ส.แล้วเสร็จ แค่วันหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง หรือรวมไปถึงการประกาศผลรับรองการเลือกตั้งด้วย


          “วิษณุ เครืองาม” มือกฎหมายของรัฐบาลจึงแนะนำว่า เพื่อความปลอดภัย กกต.ก็ดำเนินการทุกอย่าง คือ ทั้งการลงคะแนนเลือกตั้ง และประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ก็แล้วกัน แค่นี้ก็จบไม่มีปัญหาตามมา


          ฟังดูเหมือนง่าย แต่ในทางปฏิบัติอาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ กกต. และตอนนี้มีพรรคการเมืองมองข้ามช็อตหวั่นเกรงว่า หากเกิดกรณี กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งไม่ทันภายในวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ จะมีการไปยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ซึ่งจะทำให้ “รัฐบาล คสช.” อยู่ยาวต่อไปอีก และมีคนมอง(ในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่า)ว่าอาจเป็นแผนของรัฐบาลตั้งแต่ต้น ที่ต้องการทำให้การเลือกตั้งเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น นำไปสู่การเป็นโมฆะ


          และเมื่อไม่กี่วันมานี้ มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแถลงผลการสำรวจครั้งที่ 2 ของสถาบันพระปกเกล้า เกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาว่า ประชาชนเกินครึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.5 ยังไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่ “สุจริตและเที่ยงธรรม” แต่ในขณะเดียวกัน ประชาชนส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 86.8 ตั้งใจจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้


          ดูผิวเผินเหมือนจะขัดกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น และผลสำรวจที่ออกมาน่าจะใกล้เคียงกับความเป็นจริง




          เรามาดูประเด็นแรกกันว่า ทำไมประชาชนเกินครึ่งยังไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะเป็นการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม หาก “วิเคราะห์” สาเหตุหนึ่งก็มาจากการเลื่อนไทม์ไลน์เลือกตั้งอยู่เรื่อย เลื่อนแล้วเลื่อนอีกและไม่ชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งเสียที ทำให้คนคิดไปได้ว่า มีเงื่อนงำอะไรซ่อนอยู่หรือ 


          รวมทั้งวิธีการเลือกตั้งครั้งนี้ แปลกแตกต่างออกไปจากเดิมที่มีบัตรให้ลงคะแนนเลือกตั้งเพียงใบเดียว โดยเลือกได้เพียง ส.ส.เขต แต่กลับมีผลถึงจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อด้วย ทำให้มองว่ามีการอำพรางและสามารถทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยถูกต้องอย่างตรงไปตรงมา 

 

          อีกทั้งมีคนมองว่าเป็นการจัดการเลือกตั้งของ คสช. และ คสช.คุม กกต. ทำให้มีความไม่เชื่อมั่นในความอิสระของ กกต.ในการจัดการเลือกตั้ง และความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นกับคนทุกระดับ รากหญ้าก็พูดกัน วงการเมือง ระดับคนทั่วไปก็พูดกัน และมีการมองไปถึงการใช้กลไกอำนาจรัฐของหน่วยงานต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทำให้มองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่โปร่งใส


          สรุปก็คืิอ ตั้งแต่ตัวรัฐธรรมนูญ, กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง, วิธีการเลือกตั้ง, การเลื่อนเลือกตั้ง เลื่อนไป-เลื่อนมา และการใช้อำนาจรัฐ ทั้งหมดนี้ ทำให้คนไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะบริสุทธิ์ยุติธรรม


          แล้วทำอย่างไร...คนส่วนใหญ่ถึงจะยอมรับได้ในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ 


          ผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าที่เปิดเผยออกมา ระบุว่า ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนส่วนใหญ่ยอมรับได้ในผลการเลือกตั้งครั้งนี้้ คือ ร้อยละ 35.6 บอกว่า การจัดการเลือกตั้งของ กกต.ที่สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความยุติธรรม, ร้อยละ 11.6 บอกว่า ผลการเลือกตั้งตรงตามที่ประชาชนเลือก สะท้อนความต้องการของเสียงส่วนใหญ่, ร้อยละ 10.6 บอกว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนมากและการมีส่วนร่วมของประชาชน, ร้อยละ 6.1 ตอบว่า ความเป็นกลางของรัฐบาล, ร้อยละ  4.3 ตอบว่า ได้คนดี รัฐบาลดี นโยบายดี 


          ส่วนสิ่งสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับในผลการเลือกตั้งครั้งนี้ จากผลการสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า ร้อยละ 31 ตอบว่า การทุจริต มีการโกงเลือกตั้ง, ร้อยละ 18.1 ตอบว่า การซื้อสิทธิขายเสียง แจกเงินหรือสิ่งจูงใจเพื่อชนะเลือกตั้ง, ร้อยละ 5.5 ตอบว่า การใช้อำนาจหรืออิทธิพลแทรกแซงการเลือกตั้ง, ร้อยละ 4.2 ตอบว่า พรรคการเมืองแข่งขันกันแบบเอารัดเอาเปรียบ


          ประเด็นที่สอง... แล้วทำไมคนอยากไปเลือกตั้งครั้งนี้ทั้งที่ไม่เชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งจะสุจริต เที่ยงธรรม  


          ประเด็นนี้ “วิเคราะห์” ได้ว่า สาเหตุอาจเนื่องมาจากถูกครอบงำมานานจากระบบที่มีมาตรา 44 ครอบอยู่ และประชาชนเกิดความเบืิ่อที่อยู่ในระบบที่ไม่ได้เลือกมานาน (เลือกตั้งครั้งสุดท้ายปี 2554 ไม่นับการเลือกตั้งในปี 2557 ที่เป็นโมฆะ) จึงอยากให้มีการเลือกตั้งจะได้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ดังนั้นการที่คนอยากออกไปเลือกตั้งกันมาก ก็คงมาจากการที่ต้องการได้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็จะมีผลดีในการที่จะเข้าสู่ระบบปกติ พูดได้ วิจารณ์ได้ อยากเห็นได้ ไม่ต้องมีอำนาจพิเศษมาตรา 44 คอยบังคับอยู่


          และจากการเปิดเผยผลสำรวจของสถาบันพระปกเกล้า ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้สมัครโดยพิจารณาจากนโยบายพรรค


          ตรงนี้น่าชื่นใจ... การที่ประชาชนเลือก ส.ส. จากนโยบายของพรรคการเมืองมากกว่าตัวบุคคล เพราะว่าโดยหลักการของประชาธิปไตย ก็คือให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง โดยดูจากนโยบายของพรรคการเมือง ไม่ใช่เลือกตัวบุคคลเพื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้คะแนนเลือกตั้งมากๆ จะได้เข้ามาบริหารประเทศตามนโยบายของพรรคการเมืองนั้นได้ ถ้าบริหารประเทศไม่ดี ประชาชนก็ไม่เลือกพรรคการเมืองนั้นอีก 


          แต่ทว่ารัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก รวมทั้งวิธีการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันกลับไม่ต้องการให้พรรคการเมืองใดได้คะแนนมากโดยเด็ดขาด โดยทำให้พรรคการเมืองได้คะแนนกระจัดกระจาย นำไปสู่การจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” คำถามคือ เป็นการสวนทางความต้องการของประชาชนหรือไม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ