คอลัมนิสต์

บทเรียนจากสึนามิที่อินโดนีเซีย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  รู้ลึกจุฬาฯ

 

 

          เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มชายฝั่งบริเวณช่องแคบซุนตา เกาะสุมาตราตอนใต้ของประเทศอินโดนีเซียในวันที่ 23 ธันวาคม ที่ผ่านมา สร้างผลกระทบกว้างขวางทั้งต่อชาวอินโดนีเซียและประชาชนในภูมิภาคอาเซียนที่อาศัยอยู่ในแถบมหาสมุทรเดียวกัน

 


          ตัวเลขรายงานของทางการอินโดนีเซีย ระบุว่า ผู้อพยพที่ได้รับผลกระทบต้องย้ายถิ่นฐานมีมากกว่า 40,000 คน บาดเจ็บราว 7,000 คน และเสียชีวิตมากกว่า 400 คน มีรายงานว่าประชาชนไม่ได้รับการเตือนภัยล่วงหน้า นำไปสู่คำถามเดิมๆ ว่า การป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างสึนามินั้นสามารถจะทำได้จริงและมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด


          รศ.ดร.จักรพันธ์ สุทธิรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ตามปกติสึนามิเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์แผ่นดินไหว หรือการขยับของแผ่นเปลือกโลก 2 แผ่นเลื่อนตัว สำหรับอินโดนีเซียซึ่งมักจะเกิดแผ่นดินไหวบ่อย เนื่องจากเป็นประเทศที่ตั้งอยู่บนวงแหวนแห่งไฟ หรือ Ring of Fire ที่มีรอยเลื่อนขนาดใหญ่ชนกัน ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง


          แต่สาเหตุของการเกิดสึนามิในอินโดนีเซียครั้งนี้เกิดจากการปะทุของภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว ภูเขาไฟลูกนี้เป็นภูเขาไฟอายุน้อย เพิ่งเกิดใหม่เมื่อปี 2470 หลังจากการระเบิดของภูเขาไฟลูกก่อนหน้าที่ชื่อว่า กรากะตัว คำว่าอะนัก กรากาตัว มีความหมายว่าบุตรแห่งกรากาตัว

 

 

บทเรียนจากสึนามิที่อินโดนีเซีย


          ปัจจุบันภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว ยังคงปะทุอยู่ต่อเนื่อง สาเหตุของการเกิดสึนามิในครั้งนี้เกิดจากกาถล่มของดิน โคลน เถ้าภูเขาไฟที่จมลงในน้ำ ส่งผลให้เกิดคลื่นยักษ์รุนแรงตามมา แต่ไม่ได้ขยายวงกว้างขวางจึงไม่กระทบต่อประเทศไทย


          “เหมือนเวลาเราโยนหินลงไปในน้ำแล้วน้ำมีการกระเพื่อมเกิดคลื่น กรณีนี้ก็เหมือนกัน โดยดิน โคลนจากภูเขาไฟที่เกิดขึ้นจากการปะทุของภูเขาไฟตกลงไปใต้น้ำ เกิดการกระเพื่อมของน้ำอย่างรุนแรงเกิดเป็นสึนามิ วิ่งเข้าหาชายฝั่งที่เรียกว่า Local Tsunami (สึนามิระดับท้องถิ่น)”


          อย่างไรก็ดีภูเขาไฟที่ปะทุนี้ไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาก๊าซเรือนกระจก หรือปัญหาโลกร้อน โดยอาจารย์จักรพันธ์อธิบายว่า ปรากฏการณ์โลกร้อนเป็นปรากฏการณ์ด้านภูมิอากาศภายนอกไม่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก หรือการขยับตัวของสสารภายใต้พื้นผิวโลก


          “ไม่เกี่ยวข้องกันเพราะความร้อนภายในผิวโลกสูงมากและไม่ได้อยู่ต่อเนื่องกับความร้อนภายนอกโลก ความร้อนภายในโลกยังขึ้นไปนอกพื้นผิวยาก ความร้อนภายนอกก็ลงไปใต้ผิวโลกยากเช่นกันเพราะไม่มีตัวต่อเนื่อง”


          อาจารย์จักรพันธ์กล่าวอีกว่า แม้ว่ากรณีของสึนามิในอินโดนีเซียคราวนี้ไม่กระทบต่อไทย ก็ไม่ควรประมาท เพราะอินโดนีเซียแม้ว่าจะมีระบบแจ้งเตือนแต่ขาดการบำรุงรักษาต่อเนื่องทำให้เมื่อเวลาเกิดเหตุ ไม่สามารถส่งสัญญาณแจ้งเตือนแก่ประชาชนจนเกิดเหตุเศร้าสลด ขณะเดียวกันไทยก็มีบทเรียนเมื่อปี 2547 ในเหตุการณ์สึนามิที่ภาคใต้ของไทย


          “บทเรียนของไทยเรามีการวางระบบมอนิเตอร์ ตรวจสอบติดตามหลังจากเกิดเหตุเมื่อปี 47 ไว้ ก่อนหน้านี้เราไม่เคยสนใจและไม่เคยตระหนักว่าไทยจะมีสึนามิเกิดขึ้นจนกระทั่งปี 47 แต่พอมีขึ้นมาก็เริ่มมีการศึกษาและเริ่มตระหนักมากขึ้น”


          กระนั้นหลังจากเหตุการณ์เมื่อ 14 ปีก่อนสิ้นสุด และมีหน่วยงานรัฐ เอกชนหลายแห่งเริ่มมีการถอดบทเรียน และจัดทำเป็นหลักสูตรต่างๆ เผื่อรับมือภัยพิบัติสึนามิ มีการจัดทำเครื่องมือเตือนภัยอย่างเพียบพร้อม ก็เริ่มน้อยลงเรื่อยๆ ตามจำนวนปีที่พ้นผ่าน


          “พอ 10 ปีผ่านมาเราก็เริ่มห่าง เริ่มถอยเพราะเราเริ่มไม่สนใจอีกแล้ว สัญลักษณ์ต่างๆ เช่น สัญลักษณ์อพยพเวลาน้ำมาก็เริ่มเลือนหาย ส่วนหนึ่งเพราะเราไม่เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในช่วงอายุคน บางทีก็ไม่ได้มีการบันทึกไว้ไม่มีคนรู้ ของเราเกิดขึ้นน้อยครั้งมาก เอาเข้าจริงเราก็ควรเตรียมตัวไว้บ้างก็ดี อย่างน้อยก็ควรมีความตระหนักในระดับหนึ่งเผื่อรับมือ”


          อาจารย์จักรพันธ์กล่าวอีกว่า เราควรสร้างความตระหนักให้คนไทย โดยที่ไม่ตระหนก ไม่ควรประมาทกับภัยพิบัติที่ยังไม่เคยเกิดเพราะไม่คิดว่าจะเกิดในประเทศไทย


          ขณะนี้ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเริ่มมีการใช้โมเดลทางคณิตศาสตร์มาตรวจสอบผลสถิติเพื่อหาการเกิดขึ้นของแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม อาจารย์จักรพันธ์ชี้ว่ายังไม่มีวิธีใดที่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในขณะนี้ ดังนั้นควรเตรียมการเตือนภัยและรับมืออย่างเตรียมพร้อมจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ