คอลัมนิสต์

อำลาดุสิตธานี..ปิดตำนาน "ดุสิต 99"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์...  กระดานความคิด   โดย...  บางนา บางปะกง

 


          5 มกราคม 2562 จะเป็นวันสุดท้ายของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ซึ่งเปิดให้บริการมานานกว่า 48 ปี จะมีการปิดปรับปรุงเพื่อสร้างเป็นดุสิต เซ็นทรัล ปาร์ค เป็นโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบประสมขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 23 ไร่

 


          เดิมทีโรงแรมดุสิตธานี เป็นบ้านศาลาแดง ของเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) โดย “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ได้ดำเนินการขอเช่าพื้นที่จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินผืนดังกล่าว เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงแรมระดับห้าดาวที่หรูหราที่มีความสูง 23 ชั้น แห่งแรกในกรุงเทพฯ 


          “ท่านผู้หญิงชนัตถ์” ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิตธานี ได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็นบุคคลเกียรติยศผู้ประสบความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวและโรงแรมโลก


          อีกบทบาทหนึ่งของท่านผู้หญิงชนัตถ์คือการเป็นนักการเมืองหญิงที่มีบารมีคนหนึ่งในยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน


          หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 “สมัชชาแห่งชาติ” ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชประสงค์ที่จะให้ประชาชนได้มีส่วนในการวางรากฐานการปกครองแผ่นดิน โดยสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,347 คน ประชุมร่วมกันเพื่อคัดเลือกสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 299 คน


          สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีที่มาที่หลากหลายทั้งอาชีพและการศึกษา และมีนักการเมืองในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่ถึงกระนั้นก็มีการรวมตัวในลักษณะกลุ่มผลประโยชน์เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ต่างมีสถานะทางชนชั้นที่ชัดเจน


          ที่น่าจับตาเมื่อ 40 กว่าปีที่แล้วคือ “กลุ่มดุสิต 99” ประกอบด้วย ข้าราชการระดับปลัดกระทรวง ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ข้าราชการชั้นพิเศษ นักวิชาการ นายธนาคารและนักธุรกิจ


          เหตุที่ชื่อ “ดุสิต 99” เพราะใช้สถานที่โรงแรมดุสิตธานีของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย เป็นที่นัดพบปะพูดคุย ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2517


          อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิช ได้บันทึกเรื่องราวของกลุ่มดุสิต 99 ไว้หนังสือ “ชีวิตที่เลือกได้” ตอนหนึ่งว่า “สมาชิกสภานิติบัญญัติฯ ชุดนั้นมี 299 คน มีการรวมกลุ่มกันตั้งเป็นกลุ่ม 99 ประกอบด้วยข้าราชการและนักธุรกิจคนสำคัญ มีการประชุมกันที่โรงแรมดุสิตธานี จึงมีชื่อเรียกว่ากลุ่มดุสิต 99 นับเป็นกลุ่มใหญ่มีบทบาทมากในการผ่านร่างพระราชบัญญัติ”


          แกนนำกลุ่มดุสิต 99 เป็นอีลิทหรือคนชั้นนำของสังคมไทย อาทิ เกษม จาติกวณิช, น.ต.กำธน สินธวานนท์, แถมสิน รัตนพันธ์, ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย, ม.ร.ว.นิติวัฒน์ เกษมศรี, สนอง ตู้จินดา, จรูญ เรืองวิเศษ, เกษม สุวรรณกุล, คุณหญิงเสริมศรี เจริญรัชต์ภาคย์ และนิสสัย เวชชาชีวะ


          นอกจากนี้กลุ่มดุสิต 99 ยังมีสมาชิกที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน เช่น ไพโรจน์ ชัยนาม, อมร จันทรสมบูรณ์, พล.อ.เสริม ณ นคร, พล.อ.เทียนชัย ศิริสัมพันธ์, อำนวย วีรวรรณ, บัญชา ล่ำซำ, บรรหาร ศิลปอาชา, เกียรติรัตน์ ศรีวิศาลวาจา, ประกายเพ็ชร อินทุโสภณ ฯลฯ


          เวลานั้นจึงมีเสียงวิจารณ์ว่ากลุ่มดุสิต 99 เป็นเสมือนรัฐบาลที่สองของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ (ชุดที่ 1) ได้กราบถวายบังคมลาออก และอาจารย์สัญญากลับมารับตำแหน่งอีกครั้งก็มีตัวแทนของกลุ่มดุสิต 99 ได้เป็นรัฐมนตรีถึง 9 คน


          เหนืออื่นใด นิสสัย เวชชาชีวะ แกนนำกลุ่มดุสิต 99 ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกฯ สมัยนั้น ถือเป็นคนใกล้ชิดอาจารย์สัญญา มีส่วนสำคัญในการสรรหารัฐมนตรีในรัฐบาลสัญญา 2 และไม่น่าแปลกใจที่สมาชิกกลุ่มดุสิต 99 จะได้เป็นรัฐมนตรีกันหลายคน


          หนังสือพิมพ์ประชาชาติ รายสัปดาห์ ฉบับ 13 มิถุนายน 2517 ได้วาดการ์ตูน “คณะรัฐมนตรีฉุกเฉินของสัญญา” ขึ้นเป็นปก โดยสื่อสารถึงคนอ่านว่า กลุ่มดุสิต 99 มีบารมีมากแค่ไหน


          ขอบันทึกตำนาน “กลุ่มดุสิต 99” ไว้ในบรรยากาศแห่งการอำลาโรงแรมหรูระยับแห่งแรกของบางกอก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ