คอลัมนิสต์

โศกนาฏกรรม"เรือฟีนิกซ์"ล่มสะเทือนท่องเที่ยวไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รายงาน.....

 

 

          นับเป็นโศกนาฏกรรมด้านการท่องเที่ยวทางทะเลของไทยในรอบปี 2561 และถือเป็นเหตุการณ์เรือล่มครั้งร้ายแรงในประวัติศาสตร์ด้วย จากเหตุการณ์ “เรือฟีนิกซ์” ได้ล่มจมลงบริเวณเกาะเฮ จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 จากคลื่นลมมรสุมแรง มีผู้โดยสารบนเรือจำนวน 97 คน ทั้งหมดเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน และเสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ถึง 47 คน โดยมีเรือประมงที่อยู่ใกล้บริเวณจุดเกิดเหตุได้เข้าช่วยเหลือผู้โดยสารจำนวนหนึ่งขึ้นจากทะเลได้ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐได้เปิดศูนย์ช่วยเหลือขึ้นที่ภูเก็ต ระดมสรรพกำลังทั้งเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เครื่องมือรวมทั้งทีมนักประดาน้ำเพื่อค้นหานักท่องเที่ยวที่สูญหาย ทั้งการส่งเรือจากกองทัพและกู้ภัยโดยเฮลิคอปเตอร์รวมทั้งภารกิิจเก็บกู้ศพผู้เสียชีวิต ซึ่งรายสุดท้ายสามารถเก็บกู้ได้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2561

 

 

โศกนาฏกรรม"เรือฟีนิกซ์"ล่มสะเทือนท่องเที่ยวไทย

 

 

          จากเหตุดังกล่าว นายหลู่ เจี้ยน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจําประเทศไทย ได้เดินทางไปติดตามให้กำลังใจนักท่องเที่ยวชาวจีนที่ประสบภัยจากเหตุการณ์เรือล่ม และยังมาติดตามความคืบหน้าของฝ่ายไทยในการค้นหาผู้สูญหาย พร้อมระบุว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายหลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีนได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและรัฐบาลจีนชื่นชมท่าทีของรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญกับการกู้ชีพกู้ภัยและช่วยเหลือผู้ประสบภัย 


          ขณะเดียวกันมีนักดำน้ำชาวจีนที่เคยไปทางเหนือของประเทศไทยเพื่อช่วยเหลือในปฏิบัติการค้นหาและกู้ภัยถ้ำหลวงก็เดินทางไปภูเก็ตเพื่อค้นหาผู้รอดชีวิตจากเหตุเรือล่มเช่นกัน กระทั่งสามารถเก็บกู้ร่างผู้เสียชีวิตได้ทั้งหมด โดยหน่วยงานภาครัฐและบริษัทประกันภัยได้จ่ายเยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนกว่า 63 ล้านบาท 

 

 

 

โศกนาฏกรรม"เรือฟีนิกซ์"ล่มสะเทือนท่องเที่ยวไทย

 


          เจ้าหน้าที่ได้กู้ซากเรือฟีนิกซ์เป็นผลสำเร็จเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งถือเป็นวัตถุพยานสำคัญในคดีขึ้นมาจากใต้ทะเล ที่ระดับความลึกประมาณ 45 เมตร และนำมาไว้ที่รัตนชัยคานเรือ ต.รัษฎา อ.เมืองภูเก็ต เพื่อตรวจสอบและเก็บรายละเอียดของตัวเรือหาสาเหตุการเกิดอับปางโดยมีผู้เชี่ยวชาญเรือจากประเทศเยอรมนีมาร่วมตรวจสอบคู่ขนานไปกับทางการจีนซึ่งส่งผู้เชี่ยวชาญมาร่วมด้วย




          ผลการตรวจวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อเรือระบุว่าเรือลำดังกล่าวไม่ได้มาตรฐานจึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เรืออับปางและยังมีสาเหตุอื่นประกอบกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเรือที่ต่อไม่ได้มาตรฐาน ประตูผนึกน้ำซึ่งปกติเรือลำขนาดนี้จะต้องมี 4 ประตู แต่เรือฟีนิกซ์มีเพียง 1 ประตูเท่านั้น กระจกรอบตัวเรือซึ่งไม่ได้ใช้กระจกมารีน ซึ่งสังเกตว่ามีผู้เสียชีวิตติดอยู่ในตัวเรือเป็นจำนวนมาก เพราะไม่สามารถทะลุกระจกออกมาได้ ส่วนของเครื่องยนต์เรือก็เช่นกันแทนที่จะใช้เครื่องยนต์มารีนแต่กลับไปใช้เครื่องยนต์รถสิบล้อแทนและสิ่งสำคัญคือมีการใช้ปูนมาถ่วงความสมดุลเพราะเป็นการต่อเรือที่ไม่ได้มาตรฐานโดยผลการวิเคราะห์ของผู้เชี่ยวชาญตรงกับพิมพ์เขียวเรือและผลการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

 

 

โศกนาฏกรรม"เรือฟีนิกซ์"ล่มสะเทือนท่องเที่ยวไทย

 

 

          อย่างไรก็ตามปฏิบัติการกู้เรือดังกล่าว มีผู้สังเวยชีวิต โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2561 นายนิพัฒน์ กลัดนาค อายุ 37 ปี นักประดาน้ำของบริษัทเอกชนเสียชีวิตลงที่โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ภายหลังปฏิบัติหน้าที่กู้เรือจนได้รับบาดเจ็บเข้าโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2561


          ส่วนของการดำเนินคดีในเบื้องต้นมีจำนวน 3 ราย ได้แก่ 1.นายสมจริง บุญธรรม กัปตันเรือ 2.นายอ่อนจันทร์ กัณหาโยธี ช่างเครื่องประจำเรือ และ 3.น.ส.วรลักษณ์ ฤกษ์ชัยกาล อายุ 26 ปี กรรมการผู้จัดการบริษัท ที ซี บลู ดรีม จำกัด เจ้าของเรือฟีนิกซ์ โดยสอบสวนพบว่า น.ส.วรลักษณ์ มีแฟนหนุ่มเป็นชาวจีน และทำธุรกิจด้านไดวิ่งก่อนจะร่วมกันทำธุรกิจเรือด้วยกัน เจ้าหน้าที่จึงได้สอบขยายผลว่าเข้าข่ายลักษณะนอมินีและมีความเกี่ยวข้องกับทัวร์ศูนย์เหรียญ นอกจากนี้ยังแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าหน้าที่รัฐ คือเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ไปแล้ว 1 ราย ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งแจ้งข้อกล่าวหาเจ้าของอู่ต่อเรือเนื่องจากไม่ใช่อู่ต่อเรือจริงเป็นแค่โรงกลึง ทั้งนี้จากพยานหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมได้เชื่อว่าจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีตำแหน่งที่สูงกว่านี้ได้ด้วย

 

 

โศกนาฏกรรม"เรือฟีนิกซ์"ล่มสะเทือนท่องเที่ยวไทย

 


          จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยวของไทย โดยวันที่ 9 กรกฎาคม หลังเกิดเหตุดังกล่าวไม่กี่วัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ภูเก็ตและตรวจเยี่ยมผู้บาดเจ็บตลอดจนตรวจดูการกู้ภัยช่วยเหลือนักท่องเที่ยวที่ประสบภัย รวมทั้งสั่งการให้ยกเครื่องเรื่องระบบต่างๆ เนื่องจากปัจจุบันการท่องเที่ยวมีการเติบโตสูงมาก ดังนั้นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงและมีการนำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาพยายามเพิ่มในส่วนของบุคลากรและอุปกรณ์ต่างๆ ให้มากขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอโดยเฉพาะกรณีที่เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ซึ่งจะมีการหารือกันต่อไปว่าจะต้องปรับปรุงอย่างไร รวมถึงความร่วมมือระหว่างประเทศด้วย

 

          สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมมือกันของผู้ประกอบการกิจการท่องเที่ยว เจ้าของเรือหรือเจ้าของบริษัทนำเที่ยว ซึ่งต้องเกี่ยวพันเชื่อมโยงกับข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงข้อกฎหมายและดูแลการประกอบการให้ถูกต้องทุกประการ เพื่อให้เกิดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น เมื่อการท่องเที่ยวเติบโตมากขึ้น และคนยิ่งเข้ามามากความเสี่ยงก็จะยิ่งมากตามไปด้วย หากไม่ลงทุนหรือไม่มีการซักซ้อมหรือตรวจสอบที่รัดกุม ความสูญเสียก็จะเกิดขึ้นมากตามไปด้วย สิ่งเหล่านี้จะต้องมีการทบทวน


          ขณะที่เหตุครั้งนี้ยังมีผลพวงที่กระทบการท่องเที่ยวของประเทศซ้ำไปอีก จากการที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์ตอนหนึ่งเกี่ยวกับเหตุเรือฟีนิกซ์ล่มว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนจีนทำนักท่องเที่ยวจีนเอง สร้างเรือเอง ไม่ทำตามกฎของเรา แล้วจะให้เราเรียกอะไร ก็มันเป็นเรื่องของเขา” ภายหลังการให้สัมภาษณ์ปรากฏว่าชาวจีนจำนวนมากแสดงความไม่พอใจต่อการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว กระทั่ง พล.อ.ประวิตร ได้ออกมาขอโทษพร้อมระบุว่าได้รับรายงานมาเช่นนั้น

 

 

 

โศกนาฏกรรม"เรือฟีนิกซ์"ล่มสะเทือนท่องเที่ยวไทย

 


          ทั้งนี้หลังเกิดเหตุการณ์เรือล่มปรากฏว่านักท่องเที่ยวชาวจีนได้ลดลงเป็นจำนวนมาก รวมทั้งคนไทยและคนจีนต่างวิจารณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าวถึงปัญหาการดูแลและระบบตรวจสอบ รวมถึงการกู้ภัยที่ขาดความรวดเร็วและเห็นว่าควรเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้น ขณะที่รัฐบาลต้องใช้มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพื่อเพิ่มนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว พร้อมส่งรัฐมนตรีและหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าชี้แจงเหตุโศกนาฏกรรมตลอดจนการเยียวยาและมาตรการต่างๆ ที่ปรับปรุงประสิทธิภาพระบบดูแลความปลอดภัยนักท่องเที่ยวกับทางการจีน เพื่อให้ความเชื่อมั่นของการท่องเที่ยวไทยกลับคืนมา


          จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนี้ส่งผลให้รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต้องกลับมาทบทวนมาตรการด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวซึ่งจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยตลอดจนการบูรณาการของหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทั้งการตรวจสอบมาตรฐานยานพาหนะหรือเรือ ระบบติดต่อติดตาม ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคเอกชนต้องโปร่งใสไม่หลบเลี่ยงกฎหมาย และเจ้าหน้าที่รัฐต้องไม่แสวงผลประโยชน์ในทางที่ผิด นอกจากนี้ในเรื่องการกู้ภัยก็จำเป็นเช่นกันต้องยกระดับให้ทันสมัยรวดเร็วฉับไวทันเหตุการณ์เพื่อไม่ให้เกิดเหตุสลดซ้ำขึ้นอีก ซึ่งจะมีผลพวงกระเทือนถึงภาพรวมและความเชื่อมั่นการท่องเที่ยวไทยไปด้วย 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ