คอลัมนิสต์

หักหัวคิวพนักงานมหาวิทยาลัย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

 คอลัมน์...  ล่าความจริงพิกัดข่าว  โดย...  ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          ปัญหาธรรมาภิบาลในรั้วอุดมศึกษาไม่ได้มีแค่เรื่องนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัวยกำลังจะรอดยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. หลัง คสช.ออก ม.44 มาอุ้มเอาไว้แบบหวุดหวิดเท่านั้น

 

 

          เพราะยังมีปัญหาที่ยืดเยื้อมานานเกือบ 20 ปี คือ “พนักงานมหาวิทยาลัย” หรือที่เรียกย่อๆ ว่า “พ.ม.” ถูกมหาวิทยาลัยหักเงินเดือนมาตลอด ไม่ได้รับค่าตอบแทนเต็มจำนวนตามมติ ครม.ที่ออกมาตั้งแต่ปี 2542


          ล่าสุดเมื่อวานเหล่าคณาจารย์จากหลากหลายสถาบันได้ออกมารวมตัวกันเดินสายยื่นข้อเรียกร้องไปที่นายกฯ ลุงตู่ คสช. และสำนักงบประมาณ ให้เร่งสะสางปัญหานี้เสียที


          ก่อนอื่นต้องขอย้อนความกันสักเล็กน้อย เรื่องนี้เริ่มต้นจากนโยบายของรัฐบาลในอดีตที่ไม่มีการเพิ่มอัตรา “ข้าราชการ” ให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย ฉะนั้นเวลาที่มีการบรรจุอาจารย์ผู้สอนหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ก็จะใช้ตำแหน่ง “พนักงานมหาวิทยาลัย” หรือ “พ.ม.” แทน ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ถือเป็น “ข้าราชการ” ทั้งๆ ที่บรรจุในมหาวิทยาลัยของรัฐ จึงไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญ และสิทธิ์รักษาพยาบาลฟรีเหมือนข้าราชการทั่วไป

 

 

 

หักหัวคิวพนักงานมหาวิทยาลัย

 


          รัฐบาลก็เล็งเห็นปัญหานี้ จึงมีมติ ครม.มาตั้งแต่ปี 2542 ให้เพิ่มอัตราเงินเดือนให้พนักงานมหาวิทยาลัย โดยในสายวิชาการ หรือ “สายผู้สอน” ก็คือพวกอาจารย์ทั้งหลาย ให้มีอัตราเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.7 เท่า ส่วนสายสนับสนุนก็คือพวกเจ้าหน้าที่ต่างๆ จะมีอัตราเงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.5 เท่า เพื่อชดเชยสิทธิประโยชน์ที่ขาดหายไปจากการที่ไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการ


          แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาผู้บริหารมหาวิทยาลัยมักไม่จ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนให้บุคลากรของตน แต่หักไว้ส่วนหนึ่ง อ้างว่าเป็นค่าสวัสดิการบ้าง เป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบ้าง หรือบางมหาวิทยาลัยก็กันเงินเอาไว้ใช้จ่ายอย่างอื่น ซึ่งถือว่าขัดกับมติครม. ทำให้มีอาจารย์หรือพนักงานมหาวิทยาลัยบางคนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองและชนะมาหลายคดีแล้ว แต่ฝั่งผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็ยังเฉย




          เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย หรือ ทปสท. ร่วมกับตัวแทนพนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ได้จัดเสวนาหัวข้อ “20 ปีเหลียวหลังแลหน้า เงินเดือนและสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัย” ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ จ.ฉะเชิงเทรา เพื่อแสดงพลังและส่งสัญญาณไปยังผู้มีอำนาจให้ตระหนักถึงปัญหานี้


          ในเวทีเสวนา ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ประธานกลุ่มส่งเสริมธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย ได้เปิดข้อมูลเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับมูลค่าความเสียหายที่มหาวิทยาลัยหักเงินเดือน หรือที่เรียกว่า “หักหัวคิว” ค่าตอบแทนของกลุ่มพนักงานมหาวิทยาลัย เริ่มจากตัวเลขพนักงานมหาวิทยาลัยล่าสุด ณ ภาคการศึกษาที่ 1/2560 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) พบว่ามีพนักงานมหาวิทยาลัยจากทุกสถาบันทั่วประเทศ รวมถึง 103,569 คน แยกเป็นสายผู้สอน จำนวน 46,172 คน และสายสนับสนุน 57,397 คน


          พนักงานมหาวิทยาลัยแต่ละคนถูกมหาวิทยาลัยของตนเองหักเงินเดือนเอาไว้เฉลี่ยคนละ 4,000 บาทต่อเดือน ด้วยข้ออ้างต่างๆ กัน คิดเป็นตัวเลขเม็ดเงินที่พนักงานมหาวิทยาลัยทั่วประเทศถูกหักเอาไว้สูงถึงกว่าเดือนละ 414 ล้านบาท หรือปีละเกือบ 5 พันล้านบาท และหากประเมินแบบคาดการณ์ง่ายๆ ย้อนหลังไป 19 ปีที่มีการหักมาตั้งแต่เดือนแรก ก็เท่ากับมีเงินหายไปจากกระเป๋าพนักงานมหาวิทยาลัยร่วมแสนล้านแล้ว แต่ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขประมาณการเท่านั้น เพราะอัตราพนักงานมหาวิทยาลัยปรับเปลี่ยนอยู่ตลอด ทว่าความเสียหายต้องอยู่ในหลักหมื่นล้านอย่างแน่นอน

 

 

หักหัวคิวพนักงานมหาวิทยาลัย

 


          มติจากวงเสวนาก็คือ ทปสท.และองค์กรเครือข่ายจะเคลื่อนไหวยื่นข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ให้สั่งการสำนักงบประมาณปรับเปลี่ยนการกำหนดงบเงินเดือนของพนักงานมหาวิทยาลัย จากเดิมที่อยู่ใน “หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป” ให้ย้ายมาเป็นหมวดเงินเดือน (เหมือนกับข้าราชการ) และโอนจ่ายเงินเดือนตรงเข้าบัญชีของพนักงานมหาวิทยาลัยตามอัตราที่รัฐบาลกำหนด ส่วนสวัสดิการต่างๆ ของพนักงานมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่แต่ละมหาวิทยาลัยจะดำเนินการจากเงินรายได้ของมหาวิทยาลัยเอง ไม่ใช่มาหักเอากับตัวพนักงานมหาวิทยาลัย


          ที่ประชุมยังเห็นว่าการดำเนินนโยบายจ่ายตรง “เงินเดือน” ให้พนักงานมหาวิทยาลัยทุกคน รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินเพิ่มแม้แต่บาทเดียว เพราะรัฐบาลให้งบประมาณในส่วนนี้มาหมดแล้วแต่มหาวิทยาลัยไปหักหัวคิวกันเอง


          คณาจารย์ออกมาเคลื่อนไหวด้วยข้อมูลแน่นๆ แบบนี้ ก็ต้องรอดูรัฐบาลจะว่าอย่างไร ยิ่งมาจับจังหวะตีปี๊บกันช่วงใกล้เลือกตั้งเสียด้วย!!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ