คอลัมนิสต์

ผู้สมัคร ส.ว. พึงสังวร ไม่แม่นกติกา "คุก"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คมชัดลึก... ตะลุยเลือกตั้ง โดย... โอภาส บุญล้อม



 

          ปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) จาก 10 กลุ่มอาชีพ ทั้งสมัครด้วยตนเองและได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรวิชาชีพไปเรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้สมัครจากทั่วประเทศกว่า 7 พันคน และได้มีการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอไปเมื่อ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมาและจะเลือก ส.ว.ระดับจังหวัดในวันที่ 22  ธันวาคม และ เลือก ส.ว.ระดับประเทศ 27 ธันวาคมนี้ เพื่อให้ได้จำนวน 200  คน แล้วเสนอบัญชีรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือจำนวน 50 คน นำไปรวมกับ ส.ว. ที่มาจากคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่แต่งตั้งโดย คสช. ที่สรรหาผู้ควรเป็น ส.ว. ไม่เกินจำนวน 400 คน แล้วให้ คสช.เลือกเหลือจำนวน 194 คน และยังมี ส.ว.โดยตำแหน่งจำนวน 6 คน ดังนั้น ส.ว.จะมีจำนวนทั้งสิ้น 250 คน  โดย ส.ว.ในวาระเริ่มแรกจะมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี  ทั้งนี้ ส.ว.ทั้ง 250 เสียง จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในทางการเมืองที่จะคอยค้ำจุนเสถียรภาพรัฐบาล  

 

 

          อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้สมัครที่เป็น ส.ว. ควรตระหนักว่ามีกฎหมายที่จะเอาผิดและมีโทษถึงจำคุก หากผู้สมัคร ส.ว.ทำการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมีความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

 

 

ผู้สมัคร ส.ว. พึงสังวร ไม่แม่นกติกา "คุก"

 


          ห้ามสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์กับใคร
          - อันแรกเลย หากผู้สมัคร ส.ว.ไปสัญญาว่าจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ อย่างนั้นอย่างนี้กับใคร มีความผิดตามกฎหมายทันที เนื่องจากมาตรา 77 วรรคหนึ่ง (1) เขียนว่า ผู้สมัครหรือผู้ใด จัดทำ ให้  เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น มีกำหนด 20 ปี   

 


          มีความผิดตามกฎหมาย ปปง.ด้วย
          - ผู้สมัคร ส.ว. ที่กระทำการดังกล่าวข้างต้น  ให้ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  และให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีอำนาจส่งเรื่องให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ดำเนินการได้

 


          ห้ามจัดมหรสพหรืองานรื่นเริงต่างๆ
          - ห้ามผู้สมัคร ส.ว. โฆษณาหาเสียงหรือแนะนำตัวด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
          - เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงให้แก่ใครไม่ได้ 
          - หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ ใช้อิทธิพลคุกคาม  ใส่ร้ายด้วยความเท็จ  หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัคร หรือเข้าใจผิดในคุณสมบัติ ความรู้ความสามารถ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณของผู้สมัคร
          ทั้งหมดนี้มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
          - ผู้สมัคร ส.ว. ที่เข้ารับเลือกมากกว่าหนึ่งกลุ่มหรือมากกว่าหนึ่งอำเภอ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี
          - ผู้สมัคร ส.ว.ที่ยินยอมให้บุคคลในพรรคการเมืองช่วยเหลือเพื่อให้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 
          - ผู้สมัคร ส.ว. แนะนำตัวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี 
          - ผู้สมัคร ส.ว. ที่นำอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ที่อาจใช้เพื่อติดต่อสื่อสารหรือเพื่อบันทึกภาพหรือเสียง เข้าไปในสถานที่เลือกมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อย่างไรก็ตามมีการยกเว้นให้กับผู้สมัครซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพและมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อประโยชน์ในการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเลือกหรือการลงคะแนน
          - ผู้มีสิทธิเลือก ใช้บัตรอื่นที่ไม่ใช่บัตรลงคะแนนเลือก ส.ว. มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี และหากนำบัตรเลือกตั้งออกไปจากที่เลือกตั้ง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
          - ผู้มีสิทธิเลือกคนใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพื่อเลือกหรืองดเว้นไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ว. มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี
          - ผู้สมัคร ส.ว. ที่เล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆ เกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง มีโทษจำคุก 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000- 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
          - คนที่รู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. ไม่ว่าเพราะเหตุใด แต่ยังสมัครรับเลือกเป็น ส.ว. มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 20 ปี และหากได้รับเลือกเป็น ส.ว. ให้ศาลสั่งให้ผู้นั้นคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง ส.ว.

 


          นอกจากเอาผิดกับผู้สมัคร ส.ว. แล้ว ยังเอาผิดกับบุคคลอื่นๆ ด้วย 
          - กรรมการบริหารพรรคการเมือง, ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่กระทำการใดๆ ให้ผู้สมัครคนใดได้รับเลือกหรือไม่ได้รับเลือกเป็น ส.ว.
          - คนที่ช่วยเหลือผู้สมัคร ส.ว. ให้แนะนำตัวไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่ กกต.กำหนด มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี
          - คนที่รับรองหรือเป็นพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ประกอบการสมัคร ส.ว.เป็นเท็จ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 5 ปี 
          - บุคคลที่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครรับเลือก ส.ว. หรือไม่ลงสมัครรับเลือก ส.ว. เพื่อประโยชน์แก่ผู้สมัคร ส.ว.คนใด มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด  20 ปี
          - ห้ามไม่ให้ผู้ใดนำบัตรลงคะแนนใส่ลงในหีบบัตรลงคะแนนโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทำการใดในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเพื่อแสดงว่ามีผู้มาแสดงตนเพื่อเลือกโดยผิดไปจากความจริง หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้มีบัตรลงคะแนนเพิ่มขึ้นจากความจริง มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนด 10 ปี

 

 

          ทำโพลล์ให้ระวัง
          - ผู้ใดสำรวจความคิดเห็นของประชาชนโดยมีเจตนาไม่สุจริตมีลักษณะเป็นการชี้นำหรือมีผลต่อการตัดสินใจในการลงคะแนนเลือกหรือลงคะแนนไม่เลือกผู้สมัครหรือเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนน ในระหว่างเวลา 7 วันก่อนวันเลือกจนถึงเวลาปิดการเลือก มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
          - ผู้ใดเล่นหรือจัดให้มีการเล่นการพนันขันต่อใดๆเกี่ยวกับผลของการเลือกตั้ง  มีโทษจำคุกตั้งแต่ 1-5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้เล่นมีกำหนด 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้จัดให้มีการเล่น


          ทั้งหมดนี้ คือ กติกาที่ผู้สมัคร ส.ว. และคนทั่วไปควรรู้ และปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เพราะหากฝ่าฝืน ต้องรับโทษหนัก ทั้งจำคุก ปรับ เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลายาวนานเลยทีเดียว
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ