คอลัมนิสต์

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

  
          คนไทยเกือบ 10 ล้านคน ที่ต้องตื่นเช้าไปตอกบัตรเข้าทำงานในออฟฟิศหรือโรงงาน ร้านค้า ร้านอาหาร สถานประกอบการต่างๆ ล้วนอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน หรือเรียกกันว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน” เป็นฉบับที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2541 หรือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว...

 

 

          แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า สิทธิต่างๆ ของลูกจ้างกำลังจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติมจากการแก้ไขกฎหมายและจะประกาศใช้ในช่วงต้นปี 2562...


          ย้อนกลับไปเกือบสิบปีที่แล้ว เครือข่ายตัวแทนแรงงานได้พยายามต่อสู้เจรจาเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเพิ่มสิทธิต่างๆ ให้แก่คนทำงานหรือแรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2555 สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนผู้ใช้แรงงานหลายร้อยคนได้เดินทางมาที่หน้ารัฐสภาเพื่อ ยื่นรายชื่อประชาชนและผู้ใช้แรงงานจำนวน 10,300 รายชื่อ ผลักดันให้แก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อย่างเร่งด่วน ทั้งเรื่องเงินเกษียณอายุ วันหยุดลาคลอด ค่าชดเชยพิเศษ ฯลฯ

 

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562

 


          ข้อเรียกร้องเหล่านี้ส่งผ่านมาหลายรัฐบาลแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองที่ดีนัก


          จนกระทั่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2561 “พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ออกมาแถลงข่าวแสดงความยินดีว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเป็นเอกฉันท์รับหลักการร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฉบับแก้ไขเรียบร้อยแล้ว และจะส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาให้เสร็จสิ้น ก่อนนำมาเข้าที่ประชุม สนช.ใหม่อีกครั้งในวาระที่ 2


          จากนั้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา สนช.ลงมติผ่านวาระที่ 2-3 เรียบร้อยแล้ว รอเพียงดำเนินการตามขั้นตอนการประกาศใช้กฎหมาย คาดว่าลูกจ้างเกือบ 10 ล้านคน จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานใหม่ประมาณต้นปี 2562

 

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562 พด

 


          มนัส โกศล รองโฆษกกรรมาธิการวิสามัญฯ ให้ข้อมูลแก่ “คม ชัด ลึก” ว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีจำนวนทั้งหมด 25 มาตรา เป็นการแก้ไขปรับปรุงยกระดับการคุ้มครองลูกจ้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลมากขึ้น รวมถึงเพิ่มสิทธิต่างๆ ให้ลูกจ้างเกิดความมั่นคงในการทำงานและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย โดยสรุปสาระสำคัญของสิทธิที่แรงงานหรือคนทำงานได้เพิ่มขึ้น 8 ประการ ดังนี้


          1. “เพิ่มเงินชดเชยเลิกจ้าง” กรณีลูกจ้างเกษียณอายุหรือถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินค่าชดเชยเพิ่มขึ้น จากเดิมมีอยู่เพียง 5 อัตรา ได้แก่ ลูกจ้างทำงานต่อเนื่องครบ 120 วัน ได้รับค่าชดเชย 30 วัน ทำงานครบ 1 ปี ได้รับ 90 วัน ทำงานครบ 6 ปี ได้รับ 180 วัน ทำงานต่อเนื่อง 6-9 ปี ได้รับ 240 วัน และทำงานครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชย 300 วัน แต่กฎหมายฉบับใหม่ได้เพิ่มอัตราที่ 6 เมื่อลูกจ้างทำงานต่อเนื่องหรือมีอายุงานเกิน 20 ปี จะได้รับค่าชดเชย 400 วัน 

 

 

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562

 


          2. “การเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างต้องให้ลูกจ้างยินยอม” ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการเปลี่ยนแปลง โอน ควบกับนิติบุคคลใด และมีผลให้ลูกจ้างต้องไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การเปลี่ยนแปลงเจ้าของใหม่ต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างก่อน และให้นายจ้างใหม่ต้องรับทั้งสิทธิและหน้าที่ที่ลูกจ้างมีอยู่เดิมนั้นตามไปด้วยทุกประการ


          3. “ต้องจ่ายเงินลูกจ้างกรณีเลิกสัญญาจ้างโดยไม่บอกล่วงหน้า” ในกรณีที่นายจ้างบอกเลิกสัญญาโดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นายจ้างต้องจ่ายเงินให้ลูกจ้างเท่ากับค่าจ้างที่ลูกจ้างต้องได้รับ นับตั้งแต่วันที่ให้ลูกจ้างออกจากงานจนถึงวันที่การเลิกสัญญาจ้างมีผล ปกติจะหมายถึงเงินเดือนประมาณ 1 เดือน หรือ 1 รอบของการจ่ายค่าจ้างตามปกติ

 

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562

 


          4. “ต้องจ่ายเงินค่าชดเชยพิเศษ เมื่อย้ายสถานประกอบกิจการ” กรณีนายจ้างย้ายสถานที่ทำงานหรือโรงงานไปที่ใหม่ ต้องปิดประกาศแจ้งให้ลูกจ้างรับรู้ล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนถึงวันย้าย และต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้ลูกจ้างคนที่ไม่อยากย้ายไปสถานที่ทำงานใหม่ด้วย หมายความว่าหากลูกจ้างคนไหนรู้สึกว่าการย้ายสถานที่ทำงานหรือโรงงานของนายจ้างมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติของลูกจ้างหรือครอบครัว แล้วไม่อยากย้ายตามไปทำงานในสถานที่ใหม่ ต้องแจ้งให้นายจ้างทราบเป็นหนังสือภายใน 30 วันนับแต่วันที่นายจ้างปิดประกาศ เพื่อรับเงินค่าชดเชยพิเศษ


          5. "นายจ้างเสียดอกเบี้ยผิดนัดลูกจ้าง 15% ต่อปี" กรณีที่นายจ้างค้างเงินค่าจ้าง เงินค่าชดเชย ค่าโอทีหรือค่าล่วงเวลา ค่าหยุดกิจการ หรือเงินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กฎหมายใหม่กำหนดให้นายจ้างต้องเสียดอกเบี้ยให้ลูกจ้างในระหว่างผิดนัดร้อยละ 15 ต่อปี

 

 

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562

 


          6. “ลูกจ้างมีสิทธิลากิจไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี”  โดยวันลากิจนั้นลูกจ้างยังคงได้รับค่าจ้างเท่าวันทำงานปกติเพราะถือเป็นวันลาไปทำกิจธุระจำเป็น ให้สิทธิปีละไม่เกิน 3 วันทำงาน ซึ่งกฎหมายเดิมไม่มีกำหนดไว้


          7. "หญิงมีครรภ์มีสิทธิลาตรวจครรภ์ก่อนคลอดบุตรและลาคลอดได้ไม่เกิน 98 วัน" โดยให้ถือเป็นวันลาเพื่อคลอดบุตร ทั้งนี้กฎหมายใหม่กำหนดให้คลอดบุตรลาได้ไม่เกิน 98 วัน และได้รับค่าจ้างเท่ากับวันทำงานปกติ แต่ไม่เกิน 45 วัน และไม่นับรวมวันหยุดที่มีในระหว่างวันลา หมายถึงการได้วันลาคลอดเพิ่มมาอีก 8 วัน และถ้าลางานไปโรงพยาบาลหรือไปหาแพทย์เพื่อตรวจฝากครรภ์ ก็ได้รับค่าจ้างด้วย

 

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562

 


          8. ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ฯลฯ จ่ายอัตราเท่ากัน “ชายและหญิง” ลูกจ้างไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต้องได้รับค่าจ้างเท่าเทียมกัน รวมถึง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุดด้วย หากทำงานเหมือนกัน มีลักษณะคุณภาพและปริมาณเท่ากัน หรืองานที่เทียบแล้วมีค่าเท่าเทียมกัน


          “มนัส” กล่าวแสดงความเห็นต่อว่าร่างแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับนี้ หรือที่เรียกกันว่าเป็นฉบับที่ 7 ถือเป็นสิทธิที่ได้มาจากการต่อสู้เจรจาของเครือข่ายแรงงานกับฝ่ายนายจ้างและฝ่ายตัวแทนรัฐมายาวนานหลายสิบปี มีความคุ้มค่ามากเพราะเป็นกฎหมายสำคัญช่วยให้แรงงาน ลูกจ้างหรือคนทำงานรับเงินเดือนทุกคนได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายที่ยุติธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะคนที่ทำงานด้วยความจงรักภักดีทุ่มเทให้แก่บริษัทหรือโรงงานอย่างต่อเนื่องเป็นสิบหรือยี่สิบปี พวกเขาควรได้รับเงินตอบแทนหรือค่าชดเชยเมื่อเกษียณอายุหรือออกจากงานมากขึ้น จากที่เคยกำหนดให้สูงสุดแค่ 10 ปี 300 วัน ได้มีการใส่อัตราเพิ่มเป็น 20 ปี 400 วัน และการเปลี่ยนแปลงสถานที่ทำงานหรือย้ายที่ทำงานย้ายโรงงานต้องได้รับความยินยอมจากลูกจ้างด้วยว่าจะย้ายตามหรือไม่ ถ้าใครไม่ย้ายตามก็ได้รับค่าชดเชย

 

 

 

"ก.ม.แรงงาน"วิ่งฉลุย!ลูกจ้าง10ล้านคน...รับสิทธิเพิ่ม2562

 


          "นอกจากนี้ตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงต้องได้รับค่าแรง ค่าโอทีเท่าเทียมกัน แต่ในประเทศไทยไม่เคยมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน แล้วแต่นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกัน การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดี เพราะหากเนื้อหางานเหมือนกันชายหรือหญิงก็ควรได้รับเงินค่าจ้างเท่ากัน และให้สิทธิลูกจ้างหญิงที่ตั้งท้องถ้าลางานไปหาหมอตรวจหรือฝากครรภ์ ก็ได้สิทธิในการลาและได้รับค่าจ้างตามปกติด้วย ไม่ใช่แค่ได้ตอนลาคลอดอย่างเดียว ส่วนจำนวนวันที่ลาคลอดของเดิม 90 วัน พวกเราเจรจาได้เพิ่มเป็น 98 วัน" 


          ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” ได้รับการยืนยันมาจากฝ่ายยกร่างกฎหมายว่าน่าจะประกาศใช้กฎหมายใหม่นี้ไม่เกินเดือนมกราคม 2562
หากร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ประกาศใช้เมื่อไร รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงแรงงานควรต้องเร่งให้ความรู้เกี่ยวกับสิทธิที่เพิ่มขึ้นของลูกจ้าง 10 ล้านคนทั่วประเทศไทย


          รวมถึงการให้ความรู้ด้วยว่า หากนายจ้างคนใดไม่สนใจปฏิบัติตาม ยังละเลยสิทธิต่างๆ ของลูกจ้าง กฎหมายใหม่ได้กำหนดบทลงโทษต่างๆ ไว้อย่างชัดเจนด้วย เช่น โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
 

 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ