คอลัมนิสต์

จ้วดจ้าด!"บัตรพ่อใหญ่ตู่"สิฮักบ่น้อ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จ้วดจ้าด!"บัตรพ่อใหญ่ตู่"สิฮักบ่น้อ?

 

 

          เริ่มแล้ว! สงครามเลือกตั้ง 2562 ทันทีที่ปลดล็อกก็ออกรบ แม่ทัพนายกองโผล่หน้าสลอน “พ่อใหญ่ตู่” สวมเกราะนักการเมืองลุยสมรภูมิ บ่ยั่นข้าศึกจะพุ่งปลายหอกปลายแหลมเข้าใส่ ลึกๆ หวังได้พลังใจจากอภินิหารบัตรคนฐานราก   

 

 

          พลันที่ “สุวิทย์ เมษินทรีย์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัมภาษณ์ว่า “เมื่อมีการปลดล็อกการเมืองแล้ว คิดว่าก็น่าจะถึงเวลาที่จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ ได้แล้ว” ก็หมายถึงความชัดเจนทางการเมืองอีกระดับหนึ่ง


          หลังจากมีข่าวออกมาก่อนหน้านี้เป็นระยะๆ ว่าชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะอยู่ในบัญชีผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ 


          ประจวบกับระหว่าง 12-13 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่ จ.หนองคาย และจ.บึงกาฬ โดยช่วงหนึ่งได้กล่าวปราศรัยกับประชาชนที่มาต้อนรับว่า


          “ผมมาวันนี้ ถ้าเป็นนักการเมืองเต็มตัว ผมจะบอกว่า ไม่ใช่ก็ไม่ได้ วันนี้เพราะผมบริหารประเทศ ถ้าเป็นนักการเมืองก็ดีใจ คนรักเยอะ ลุงตู่ๆ แต่รู้ไหมว่าผมเป็นทุกข์ แต่ผมยอมเป็นทุกข์ยอมตายจากตรงนี้”

 

          ปรากฏการณ์บัตรคนจน?
          ตลอดสัปดาห์ที่แล้วภาพข่าวประชาชนจำนวนมากถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เข้าแถวกดเงินที่หน้าตู้เอทีเอ็มธนาคารกรุงไทย จนกลายเป็นเรื่องที่โจษจันกันไปทั้งประเทศ

          คำพูดข้างต้นย่อมยืนยันความเป็นนักการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ และได้ถูกประทับตราโดยเจ้าตัวเองเรียบร้อยแล้ว และถ้าย้อนไปชมภาพการพบปะประชาชนของ “บิ๊กตู่” ในช่วงการเดินทางไปประชุมครม.สัญจร แต่ละครั้ง บอกได้คำเดียวว่า ลีลาปราศรัยไม่แพ้นักการเมืองอาชีพ

 

 


          ปฏิกิริยาต่อมาตรการของรัฐบาลที่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปีให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 500 บาทต่อคน มีทั้งบวกและลบ นักการเมืองฝ่ายที่ไม่เอาคสช. ดาหน้าวิจารณ์การแจกเงินชาวบ้านอย่างรุนแรง บ้างว่าผลาญเงินภาษีรัฐ บ้างว่าหาเสียงล่วงหน้า


          วาทกรรม “บัตรคนจน” กลายเป็นเรื่องการเมืองและจะเป็นประเด็นหาเสียงของนักการเมือง โดยจับเอาประเด็น “แจกเงิน 500” มาพูดถึงมุมเดียว


          พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อธิบายเรื่องแจกเงิน 500 บาท ระหว่างการจัดรายการผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียง 909 งานพัฒนาภาค 2 สำนักงานพัฒนาภาค 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนาว่า รัฐบาลดูแลผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท และ 3 หมื่นบาทต่อปีเท่านั้น ไม่ได้ช่วยคนทั้งประเทศโดยไม่มีการจำแนกแยกแยะ


          “ผมไม่ได้เอาเงินไปแจก แต่รัฐบาลมีหลายมาตรการออกมาบรรเทาความเดือดร้อนให้ผู้มีรายได้น้อยซึ่งได้ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนการให้เงินก็เป็นการช่วยเหลืออย่างหนึ่ง เป็นมาตรการระยะสั้น”


          อันที่จริงนโยบายช่วยเหลือผู้ยากไร้ของรัฐบาลประยุทธ์นั้น ได้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ผ่านแนวคิด “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ซึ่งเป็นบัตรที่รัฐบาลมอบสิทธิให้ประชาชนคนไทยผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือแบ่งเบาค่าครองชีพ จำพวกสินค้าและบริการต่างๆ ในชีวิตประจำวัน


          ปี 2560 รัฐบาลเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยมาลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ และผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ มีผู้อยู่ในข่ายได้รับการช่วยเหลือ 11.4 ล้านราย โดยสวัสดิการที่รัฐบาลให้คือ เงินรูดซื้อสินค้าอุปโภคบริโภครายเดือน 200-300 บาท และค่าเดินทาง 


          ที่ตกเป็นข่าวฮือฮา เมื่อ ครม.ได้เห็นชอบ 4 มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติมผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในช่วงปลายปี ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 500 บาทต่อคน 


          ตามมาด้วยช่วยเหลือค่าเดินทางไปรับการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายอื่นเกี่ยวกับสุขภาพ สำหรับผู้มีสิทธิที่มีอายุครบ 65 ปีขึ้นไป 1,000 บาทต่อคน พ่วงด้วยค่าเช่าบ้านจำนวน 400 บาทต่อคนต่อเดือน สำหรับผู้สูงอายุ


          กลยุทธ์กลบยุทธศาสตร์
          ปรากฏการณ์ “500 บาท” กลายเป็นกระแสสังคม ชาวบ้านร้านตลาดพูดจากันมากมาย แต่หลายคนลืมมองว่า กว่าจะมาถึงวันที่รัฐโอนเงิน 500 บาทให้ชาวบ้านนั้น ได้มีกระบวนการบริหารจัดการมาอย่างไรบ้าง?


          รัฐบาลประยุทธ์ เริ่มยุทธศาสตร์ประชารัฐใน ด้วยการวางกลไก มีกระบวนการที่แตกต่างจากประชานิยม นับเป็นยุทธศาสตร์ในการวางเศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นทางการ ซึ่งจะเป็นการรวมพลังจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชน เพื่อผลักดันให้เกิดพลังไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากด้วยกัน


          “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นคีย์แมนคนสำคัญในทีมเศรษฐกิจของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ช่วยขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล 


          การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 11.4 ล้านคน ผ่านการดำเนินโครงการร้านค้าธงฟ้าประชารัฐและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อลดภาระค่าครองชีพ สร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายหมื่นล้านบาท ทั้งชาวบ้าน ร้านค้าปลีกรายย่อยในท้องถิ่น กลับฟื้นคืนชีพได้อีกครั้ง


          ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้จัดหาร้านค้าธงฟ้าประชารัฐจำนวน 28,705 ร้านค้าทั่วประเทศ สร้างอาชีพและยอดขายแล้วประมาณ 30,000 ล้านบาท มีร้านธงฟ้าประชารัฐที่ติดตั้งเครื่องอีดีซีไปแล้ว 40,000 ร้านค้า ครอบคลุม 7,500 ตำบลทั่วประเทศ


          กลไกไม่เชื่อมโยงประชาชน
          ประเด็นบัตรคนจนถูกเชื่อมโยงมาถึงความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาปากท้องของชาวบ้าน เมื่อพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มชูนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเป็นธงนำ อีกอย่างหนึ่งพืชผลการเกษตรตกต่ำทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นยางพารา ปาล์ม มะพร้าว และข้าว


          นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมองตรงกันว่า ปัญหาปากท้องประชาชนยังไม่ถือว่าได้รับการแก้ไขในทางโครงสร้างเท่าไหร่นัก แม้ช่วงหลังรัฐบาลประยุทธ์จะเข้ามาช่วยในเรื่องของโครงการประชารัฐและไทยนิยมยั่งยืน แต่ก็ยังไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง


          การมอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนจึงเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า การแจกเงินให้ผู้มีรายได้น้อยสามารถทำได้เเละผลที่ได้ดีกว่าการให้เเบบจำกัดการใช้เงิน ซึ่งประเด็นหลักที่อยากจะช่วยคือ ลดความเลื่อมล้ำ ต้องยอมรับว่าทั่วโลกก็ทำ เเต่ต้องถูกฝาถูกตัว จึงจะมีส่วนช่วยลดเหลื่อมล้ำได้


          จะอย่างไรก็ตามนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ประเมินว่านโยบายที่จะลด แลก แจก แถมนั้น ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะเป็นที่นิยมของประชาชนและจะส่งผลต่อการหาเสียงของพรรคการเมือง เนื่องจากการตัดสินใจลงคะแนนเสียงนั้น มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง


          บทเรียนของหลายพรรคการเมืองก็มีให้เห็นแล้ว สิบกว่าปีมานี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งใช้นโยบายประชานิยมด้วยทั้งสิ้น แต่วันหย่อนบัตรเลือกตั้งชาวบ้านเป็นผู้ตัดสินเองว่าจะเลือกประชานิยมของพรรคใด


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ