คอลัมนิสต์

นโยบายในฝันพรรคการเมือง..."จับมือ"พลิกห้องเรียน"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นโยบายในฝันพรรคการเมือง..."จับมือ"พลิกห้องเรียน" : รายงาน  โดย.... ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

 

          ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการมากถึง 21 คน หมายความว่า แต่ละคนดำรงตำแหน่งประมาณไม่เกิน 1 ปี ทำให้นโยบายการศึกษาของประเทศไทยตะกุกตะกัก เปลี่ยนแปลงพลิ้วไหวไปตามสายลมของท่านผู้นำกระทรวง...

 

 

          ที่ผ่านมาทุกพรรคการเมืองจะพูดหาเสียงในด้านการศึกษาที่ไม่ค่อยแตกต่างกันนัก คำพูดซ้ำๆ ที่ได้ยินผ่านสื่อต่างๆ ช่วงหาเสียงเลือกตั้งในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ถ้าจำกันได้ก็จะประมาณว่า ขอสัญญาว่าจะรีบพัฒนาการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพราะคือหัวใจในการพัฒนาประชาชนไทย หรือ การศึกษาคือวิธีแก้ปัญหาประเทศ พัฒนาระบบการศึกษาคือพัฒนาอนาคตของไทย รากฐานการศึกษาคือโครงสร้างพื้นฐานสังคมไทย หรือคำสัญญาว่าจะเน้นพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา ทั้งครูและนักเรียนให้ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ ฯลฯ


          แต่จนถึงวันนี้มาตรฐานระบบการศึกษาไทยถ้าเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่เท่าเทียมกัน ดูเหมือนจะอยู่ห่างชั้นอยู่หลายช่อง

 

 

นโยบายในฝันพรรคการเมือง..."จับมือ"พลิกห้องเรียน"

 


          ตัวอย่างชัดเจนคือ ผลสอบของโครงการประเมินผลการศึกษาของประเทศสมาชิกหรือ PISA (Programme for International Student Assessment) ที่มีจุดประสงค์ในการสำรวจระบบการศึกษาของนานาประเทศ ว่านักเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้ชีวิต และการมีส่วนร่วมในสังคมในอนาคตเพียงพอหรือไม่ เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนที่จะใช้ความรู้และทักษะเพื่อเผชิญกับโลกในชีวิตจริงมากกว่าผลการสอบตามหลักสูตรในโรงเรียน โดยมีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 70 ประเทศในทุกๆ 3 ปี

 

          ปรากฏว่าผลจัดอันดับปี 2558 พบไทยมีคะแนนต่ำกว่าเวียดนาม และนักเรียนไทยจำนวนมากไม่สามารถอ่านจับใจความ และไม่สามารถนำหรือประยุกต์ความรู้คณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบคะแนนทักษะการอ่าน ทักษะด้านวิทยาศาสตร์และทักษะด้านคณิตศาสตร์ของประเทศไทย มีคะแนนลดลงจากการสอบเมื่อปี 2555 โดยทักษะการอ่าน 409 คะแนนจาก 441 คะแนน ทักษะด้านวิทยาศาสตร์ ได้ 421 คะแนนจาก 444 คะแนน ทักษะด้านคณิตศาสตร์ 415 คะแนน จากที่ได้ 427 คะแนน

 

 


นโยบายในฝันพรรคการเมือง..."จับมือ"พลิกห้องเรียน"

 


          แทบไม่น่าเชื่อว่าทุกรัฐบาลของไทย จัดสรรงบลงทุนเพื่อการศึกษาจำนวนมหาศาลมากที่สุดมาตลอด เช่น ปี 2561 กระทรวงศึกษาธิการก็ได้งบประมาณสูงสุดอันดับ 5.1 แสนล้านบาท ประมาณร้อยละ 18 ของงบทั้งหมด


          แต่ปรากฎว่าผลสอบของไทยเป็นรองเวียดนาม นักเรียนมัธยมปลายเกินครึ่งไม่รู้ว่าตัวเองอยากเรียนต่อสาขาใด หรืออยากไปทำงานเกี่ยวกับอะไร ส่วนนักเรียนจบอาชีวศึกษาก็ไม่มีทักษะตรงกับนายจ้างต้องการ


          ตอกย้ำด้วยผลสำรวจของ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบเด็กอายุ 15-17 ปี ไม่ต่ำกว่า 2.4 แสนคน เรียนถึงแค่ภาคบังคับเพราะไม่มีเงินไปเรียนต่อ


          ทำให้เกิดความสงสัยว่าคำสัญญาของพรรคการเมืองที่พูดซ้ำๆ มาตลอดเป็นการโกหกคนไทยหรือไม่ เคยเอาไปเป็นนโยบายทำงานตอนเป็นรัฐบาลจริงหรือไม่ เพราะทุกครั้งที่ใครถามถึงปัญหาระบบการศึกษาไทยที่ล้มเหลว มักโยนบาปกันไปมาระหว่าง ความผิดของ 3 ฝ่ายคือ “ระบบล้าหลัง ข้าราชการเชื่องช้าไม่ฉลาด และนักการเมืองโกงกิน”


          ในวันนี้...หากฟ้าเปิดมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ พรรคการเมืองไทยยุค 4.0 จะมีนโยบายการศึกษาในการหาเสียงอย่างไร

 

นโยบายในฝันพรรคการเมือง..."จับมือ"พลิกห้องเรียน"

 


          เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561 ภาคีเพื่อการศึกษาไทย(TEP)ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) จัดเวทีชวนตัวแทนพรรคการเมืองมาร่วมเสวนาในหัวข้อ “ชวนพรรคร่วมคิด พลิกห้องเรียน เปลี่ยนไทยทันโลก” เพื่อช่วยกันร่วมคิดแก้โจทย์ปัญหาระบบการศึกษาไทย โดยมีตัวแทนพรรคการเมือง 7 พรรคเข้าร่วม ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา


          ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า 20 ปีที่ผ่านมามีความพยายามปฏิรูปการศึกษามาตลอด แต่ยังไม่สามารถเอาชนะ “3 ปัญหาเรื้อรัง” ได้ นั่นคือ 1.คุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนตกต่ำ 2.ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูง และ 3.ประสิทธิภาพการบริหารทรัพยากรต่ำ นอกจากแก้ปัญหาเรื้อรัง 3 ข้อเดิมไม่ผ่านแล้ว สังคมไทยกำลังก้าวสู่ยุคใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะต้องเจอโจทย์ท้าทายใหม่อีก 2 ประการ อันได้แก่ สภาวะสังคมสูงวัยและยุคแห่งความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี(Technology Disruption)


          “จำนวนแรงงานที่ลดลงเพราะการก้าวเข้าสู่งสังคมผู้สูงวัย โครงสร้างประชากรผลักดันให้ระบบการศึกษาต้องเร่งสร้างแรงงานทักษะสูง ความเสี่ยงจากการถูกทดแทนโดยหุ่นยนต์ และพวกเอไอ หรือปัญญาประดิษฐ์ ทำให้ห้องเรียนไทยควรหันไปให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะ 3H ซึ่งประกอบด้วย ความละเอียดประสาทสัมผัสและมือ(Hand) ความคิดสร้างสรรค์(Head) และความฉลาดทางสังคม(Heart)” ดร.สมเกียรติกล่าว

 

 

นโยบายในฝันพรรคการเมือง..."จับมือ"พลิกห้องเรียน"

 


          สำหรับช่วงเวทีสนทนานั้น ตัวแทนพรรคการเมืองจาก 7 พรรคได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นต่อข้อเสนอของภาคีเพื่อการศึกษาไทย รวมถึงตอบคำถามจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ที่มาร่วมในเวที เยาวชนคนรุ่นใหม่ พ่อแม่ นักธุรกิจ ฯลฯ โดยทีดีอาร์ไอได้สรุปแนวคิดการปฏิรูประบบการศึกษาของตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองดังนี้


          ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย มองว่าความรู้เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาและองค์กรที่ทำงานด้านการศึกษามีอยู่มากมาย เหลือแต่การลงมือทำ โดยคัดเลือกคนที่ดีที่สุดเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาฯ และดึงองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมมือ


          คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย เห็นว่าการพัฒนาคนควรเป็นวาระแห่งชาติและเน้นจัดการศึกษาโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง เช่น จัดสรรเงินแก่นักเรียนเพื่อเลือกเรียนหลักสูตรต่างๆ ทั้งในมหาวิทยาลัยและออนไลน์


          กรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต้องการเพิ่มงบประมาณอาหารกลางวันให้นักเรียนชั้นประถมและมัธยมและสร้างแพลตฟอร์มเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมและได้รับบริการได้อย่างทั่วถึง


          กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคพรรคชาติไทยพัฒนา เสนอให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นกระทรวงปลอดการเมืองโดยมีรัฐมนตรีคนกลาง ไม่เปลี่ยนคนตามความผกผันทางการเมือง และให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับปฐมวัยซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนามนุษย์


          กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มองว่าระยะสั้น จะลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียนผ่านเมกะโปรเจกต์ด้านการศึกษาและเพิ่มอุปกรณ์ในระดับอาชีวะให้ทันสมัย ระยะกลาง เปลี่ยนการบริหารจัดการภายในกระทรวงศึกษาฯ ให้มีประสิทธิภาพและสร้างความมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ในระยะยาว ควรเพิ่มศักยภาพครูและนักเรียนผ่านการพัฒนาหลักสูตรและเพิ่มคุณภาพการอบรมครู


          ดร.พะโยม ชิณวงศ์ คณะทำงานยุทธศาสตร์พรรคภูมิใจไทย อยากสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม และสนับสนุนเอกชนในการจัดอาชีวะทวิภาคีเพื่อให้นักเรียนอาชีวะได้มีประสบการณ์ทำงานจริง


          ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มุ่งสู่การศึกษาเชิงพื้นที่ เสริมแรงชุมชน และกิจการเพื่อสังคม(social enterprise)ผ่านโมเดล “บวร” บ้าน วัด โรงเรียน และใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้สรุปได้ว่าตัวแทนทุกพรรคการเมือง มีความเห็นร่วมกันว่าต้องกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา ให้ลงไปถึงระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่น ระดับโรงเรียน ควรสร้างระบบที่ทุกภาคส่วนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในทุกระดับ โดยเฉพาะพ่อแม่และชุมชน เพื่อสร้างนักเรียนให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต


          “พงศ์ทัศ วนิชานันท์” นักวิจัยนโยบายด้านการปฏิรูปการศึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย แสดงความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเวทีการศึกษาไทยที่พรรคการเมืองมาร่วมกันสร้างสัญญาประชาคมว่า แต่ละพรรคมีแนวคิดอยากปรับปรุงหรือพัฒนาระบบการศึกษาของไทยแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ทุกพรรคมีความเห็นสอดคล้องกันคือเรื่องการกระจายอำนาจ อยากให้ท้องถิ่นมีบทบาทเพิ่มเติมในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดการงบประมาณและบุคลากรในโรงเรียน เพื่อให้เหมาะสมกับพื้นที่แต่ละแห่ง


          “ปัญหาที่ผ่านมาคือการรวมอำนาจที่ศูนย์กลางเช่น กระทรวงศึกษาธิการ ดูแลหลักสูตรจัดหาครูส่งไปให้ ส่วนกระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องงบอาหารกลางวัน วันละ 23 บาทต่อหัว ตอนนี้โรงเรียนทั่วประเทศไทยที่เป็นของรัฐมีประมาณ 3 หมื่นโรงเรียน ของเอกชนประมาณ 3,000-4,000 โรงเรียน จะกระจายอำนาจอย่างไรให้เกิดพัฒนาระบบการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอน และระบบอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับนักเรียนมากขึ้น เพื่อไปรองรับยุทธศาสตร์ของประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ส่วนตัวผมเชื่อว่าพรรคการเมืองคงมีรายละเอียดเป็นนโยบายพรรคที่ชัดเจนออกมาหลังจากนี้ ตอนนี้เหมือนเราไม่ได้อยากให้มาบอกว่าแต่ละพรรคแตกต่างกันอย่างไร เราแค่มีความหวังให้ทุกพรรคมาจับมือกัน ช่วยกันคิดว่านโยบายการศึกษาของไทยในอนาคตควรเป็นอย่างไร”


          สำหรับประเด็นที่ยังไม่ค่อยมีการกล่าวถึงในเวทีนี้มากนักคือ เรื่องของ “ครู” หรือผู้สอนที่เป็นหัวใจของระบบการศึกษาไทย


          นักวิชาการข้างต้นยอมรับว่า พรรคการเมืองไม่ได้กล่าวถึงครูเลย ซึ่งก็ไม่ทราบว่าทำไม แต่หากพิจารณาจากสถิติของผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงจะพบว่า ครูมีจำนวนมากถึง 1 ใน 4 ของข้าราชการทั่วประเทศไทย พร้อมกล่าวแสดงความเห็นเพิ่มเติมทิ้งท้ายว่า


          “ระยะนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่ดีหากจะมีการพัฒนาหรือปรับปรุงเกี่ยวกับครู เพราะมีครูจำนวนมากกำลังจะเกษียณในตอนนี้ เปิดช่องให้มีการรับครูรุ่นใหม่เข้ามาได้มากขึ้น ครูรุ่นใหม่มักมีพลังและไฟแรงในการสอนหนังสือ หรืออยากให้นักเรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่ถ้าครูเข้าใหม่เหล่านี้ถูกหลอมรวมเข้าไปอยู่ในระบบเก่าๆ ที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้พวกเขา อีกไม่นานก็จะท้อแท้ หมดไฟลง ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก ผมมีโอกาสลงไปดูงานในหลายพื้นที่ พบครูรุ่นใหม่ที่อยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันเร่งปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นเพื่อช่วยครูด้วย”


          แทบไม่น่าเชื่อว่า นโยบายการการศึกษาเป็นตัวแปรสำคัญในการหาเสียงของพรรคการเมืองมาทุกยุคสมัย แต่กลับไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังในการยกระดับนักเรียนไทยให้มีคุณภาพทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ


          คนไทยมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือมีความเฉลียวฉลาดในทุกเรื่อง แต่ทำไมระบบการศึกษาของไทยจึงล้มเหลวมาตลอด ?


          พรรคการเมือง 4.0 ควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วนำ “นโยบายการศึกษา” มาหาเสียงอย่างจริงจัง ถ้าถูกใจคนไทยก็คงได้รับเลือกตั้งอย่างแน่นอน...


          ในทางกลับกันโลกโซเชียลมีเดียที่เปิดกว้างทุกคนเข้าถึงได้ในวันนี้ อาจกลายเป็นดาบลงทัณฑ์ให้พรรคการเมืองที่ผิดสัญญาได้ง่ายกว่าในอดีตที่ผ่านมา...
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ