คอลัมนิสต์

แก้ ป.วิอาญาเจตนาสกัดคนแดนไกล?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แก้ ป.วิอาญาเจตนาสกัดคนแดนไกล? : คอลัมน์... ล่าความจริงพิกัดข่าว  โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร 


 


          การแก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หรือ ป.วิอาญา เที่ยวล่าสุดที่เพิ่งผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 3 สาระสำคัญที่มีการแก้ไข และตกเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางก็คือ การห้ามคนที่หนีคดีอาญาไปใช้สิทธิ์ยื่นฟ้องคดีอาญาคดีอื่นอีก เพราะถือว่ามีเจตนาไม่เคารพศาล ไม่เชื่อถือในกระบวนการยุติธรรม

 

 

          พอข่าวออกมาว่า สนช.ผ่านร่างแก้ไข ป.วิอาญา ในประเด็นนี้ หลายคนก็นึกถึง “คนแดนไกล” ขึ้นมาทันที เพราะเป็นนักโทษหนีคดี ก่นด่ากระบวนการยุติธรรมมาตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็ส่งทนายยื่นฟ้องคดีอื่นอยู่บ่อยๆ ฟ้องหมิ่นประมาทบ้าง ฟ้องอย่างอื่นบ้าง หลายคนก็เลยเชื่อว่า สนช.ออกกฎหมายมาเพื่อเล่นงาน “คนแดนไกล”
 

          แม้แต่เพจ “กรุงเทพ กรุงเทพ” ซึ่งเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของทักษิณ และยิ่งลักษณ์ สองพี่น้องอดีตนายกฯ จากตระกูลชินวัตร อย่างต่อเนื่อง ก็ยังเขียนโจมตีการแก้ไข ป.วิอาญา ครั้งนี้ว่า ต้องการกลั่นแกล้งและรังแกคนในตระกูลชินวัตร


          จากการตรวจสอบร่างแก้ไข ป.วิอาญา ฉบับที่เพิ่งผ่านสนช.พบว่าจริงๆ แล้วมีการแก้ไขใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ


          ประเด็นที่ 1 ปรับเพดานโทษสำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องการขอปล่อยตัวชั่วคราว หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ขอประกันตัว” ซึ่งต้องมีหลักประกัน (เป็นเงิน หรือที่ดิน) วางไว้ที่ศาล จากปัจจุบันกำหนดให้อัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 5 ปีขึ้นไป หากจะขอปล่อยชั่วคราว ต้องมีหลักประกันร่างแก้ไข ป.วิอาญาฉบับใหม่แก้เป็นอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกิน 10 ปีขึ้นไป เพื่อให้คดีที่มีอัตราโทษไม่สูง พวกความผิดเล็กๆ น้อยๆ จำคุกไม่ถึง 10 ปี ผู้ต้องหาและจำเลยไม่ต้องยื่นหลักทรัพย์ในการขอประกันตัว
 



          การแก้ไข ป.วิอาญา ในส่วนนี้ก็เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ศาลยังไม่ตัดสินว่าผิด ต้องถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ประกอบกับยังส่งผลถึงการลดความแออัดในเรือนจำ เนื่องจากประเทศไทยมีผู้ต้องขังมากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 6 ของโลก
 

          ประเด็นที่ 2 เพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 161 เป็นมาตรา 161/1 ระบุว่า ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หมายถึงประชาชนอย่างเราๆ ยื่นฟ้องเอง หากศาลรู้หรือมีพยานหลักฐานว่าเป็นการฟ้องคดีไม่สุจริต บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก
 

          มาตรา 161/1 ฟังเผินๆ ก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่จุดพีคที่นำมาสู่เสียงวิจารณ์อยู่ตรงที่มีการเขียนเพิ่มเติมว่า “การฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ให้หมายความรวมถึงการที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้ว โดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย” ตรงนี้เองที่มีการวิจารณ์ว่าจงใจเล่นงานทักษิณกับยิ่งลักษณ์ เพราะเป็นนักโทษหนีคดี แต่ยังใช้สิทธิ์ฟ้องอาญาคดีอื่นอยู่บ่อยๆ
 

          มหรรณพ เดชวิทักษ์ กรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาร่างแก้ ป.วิอาญา อธิบายว่า การแก้ไขในส่วนนี้เพราะถือว่าเมื่อคุณไม่เคารพกระบวนการยุติธรรม ก็ไม่ควรได้รับการคุ้มครอง/เจตนารมณ์ของกฎหมายไม่ได้ต้องการแก้เกมหรือกลั่นแกล้งใคร แต่ต้องการให้ความยุติธรรม ไม่ให้มีการฟ้องแก้เกี้ยวเพื่อกลั่นแกล้งกัน
 

          จากการสอบถามความเห็นของนักกฎหมายหลายๆ คน ได้รับคำยืนยันว่า บทบัญญัติที่แก้ไขในส่วนแรกคือป้องกันการฟ้องคดีที่ไม่สุจริตนั้น ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะที่ผ่านมามีการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้ง หรือฟ้องเพื่อปิดปาก ที่เรียกว่า “สแลป” เป็นจำนวนมาก เช่น มูลเหตุเดียวกันแต่ไปยื่นฟ้องศาลในจังหวัดชายแดน เพื่อให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยเดินทางลำบาก หรือยื่นฟ้องพร้อมกันหลายๆ ศาลทั่วประเทศ อย่างนี้เป็นต้น


          แต่ในส่วนของการห้ามคนที่หนีคำพิพากษาคดีหนึ่ง ไม่ให้ฟ้องคดีอาญาคดีอื่นๆ กับบุคคลอื่นนั้น ตรงนี้นักกฎหมายมองว่าน่าจะเป็นการละเมิดสิทธิ์โดยไม่เป็นธรรม เพราะคนที่หลบหนีคำพิพากษาถือว่าเป็น “ภาคจำเลย” โดยหลักแล้วก็ถือว่าต้องประสบกับความยากลำบากในการดำเนินชีวิต กลับบ้านไม่ได้ อยู่บ้านไม่ได้ ต้องหนีอยู่นานจนกว่าคดีจะขาดอายุความ ซึ่งก็ถือว่าโดนจำกัดสิทธิ์บางอย่างอยู่แล้ว

 

          แต่การห้ามคนเหล่านี้ไปฟ้องอาญาคดีอื่น ถือเป็นสิทธิ์ของ “ภาคโจทก์” ไม่เกี่ยวกับความเป็นจำเลย สมมุติว่า พ่อของคนที่หนีคดีไปต่างประเทศถูกฆ่าตาย กฎหมายกำหนดให้ทายาทเป็นโจทก์ฟ้องคนที่ฆ่าพ่อ แบบนี้จะไปจำกัดสิทธิ์คนที่หนีคดีไปต่างประเทศไม่ให้ฟ้องในฐานะทายาทของคนตายคงไม่ได้ ถือเป็นประเด็นที่ต้องระวังเรื่องการตีความเป็นอย่างมาก เพราะกรณีที่เป็นการฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งคนอื่นจริงๆ กฎหมายก็เปิดช่องให้ศาลยกฟ้องได้อยู่แล้ว
 

          ฉะนั้นก็ต้องรอดูว่าหลังจากนี้จะมีการดึงร่างแก้ไข ป.วิอาญา ไปตรวจสอบ หรือส่งศาลรัฐธรรมนูญก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ หรือไม่ หากไม่มีการทบทวนแก้ไขก็ต้องรอดูว่าเมื่อกฎหมายออกมาบังคับใช้จริง ศาลจะวางหลักอย่างไร
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ