คอลัมนิสต์

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ทำไมเรื่อง "บัตรเลือกตั้ง" กลายเป็นประเด็นร้อน และพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และการทำหน้าที่ของ กกต.??

 

               มีผลบังคับใช้แล้วในวันนี้ (11 ธ.ค.) สำหรับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แต่ที่กำลังชุลมุนวุ่นวายกันอยู่คือ “บัตรเลือกตั้ง” ที่เดิม กกต.มีแผนจะพิมพ์บัตรแบบที่เรียกว่า “บัตรโหล” ออกมาใช้ในการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562

               “บัตรโหล” ก็คือ บัตรเลือกตั้งที่มีแต่หมายเลขผู้สมัครเท่านั้น ไม่มีชื่อพรรคและโลโก้พรรค

 

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

 

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

               เรื่องนี้ “แดงออกมา” เมื่อวันที่ คสช.เรียก กกต. และพรรคการเมืองมาประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ที่ผ่านมา เมื่อมีการสอบถามถึงเรื่องบัตรเลือกตั้งในที่ประชุมว่าควรจะมีชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้งด้วยหรือไม่

               ในวันนั้น นอกจาก กกต.ชี้แจงเหตุผลที่ไม่มีชื่อและโลโก้พรรคในบัตรเลือกตั้ง โดยยกเหตุผลความยุ่งยากกรณีการส่งบัตรเลือกตั้งไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯและหัวหน้า คสช. ที่นั่งเป็นประธานการประชุมก็ได้แสดงความคิดเห็นด้วย

               “ถ้าจะเลือกใคร ทุกคนก็ต้องจำให้ได้” คือใจความสำคัญของคำพูดนายกฯ ที่ทำให้มีการไปตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ สนับสนุนให้ไม่ใส่รายละเอียดต่างๆในบัตรเลือกตั้ง และกลายเป็นกระแสบานปลายออกไปว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนเสนอไอเดียนี้

               ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน รองอธิบการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นอีกคนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นให้เหตุผลว่าทำไมบัตรเลือกตั้งต้องมีชื่อพรรค

 

               "การเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การเลือกผู้แทนหรือเลือกตัวคน แต่ประชาชนจะต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบายของประเทศด้วย เพราะเมื่อพรรคการเมืองใดได้เป็นรัฐบาล พรรคการเมืองนั้นก็มีหน้าที่ต้องนำนโยบายที่หาเสียงไว้ไปเป็นนโยบายประเทศ ประชาชนจึงกำหนดนโยบายประเทศได้โดยการเลือกพรรคการเมืองในวันเลือกตั้ง

               ดังนั้น ในบัตรเลือกตั้งนอกจากจะต้องมีชื่อผู้สมัคร และหมายเลขของผู้สมัครแล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครนั้นสังกัดเพื่อให้ประชาชนที่จะเลือกเป็นพรรค หรือเลือกจากนโยบายพรรค จะได้ทราบว่าพรรคที่อยากจะเลือกนั้นมีหมายเลขใด เพื่อที่จะไม่สับสนสงสัยตอนอยู่ในคูหา และสามารถกากบาทได้ถูกประเทศไหนๆ จึงล้วนแต่ให้ในบัตรเลือกตั้งมีชื่อพรรคการเมืองที่ผู้สมัครสังกัดทั้งนั้น

               การที่ กกต. จะกำหนดให้บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อพรรคการเมือง จึงเป็นเรื่องประหลาดและขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เหตุผลเรื่องจะแก้ปัญหาผู้มีสิทธิเลือกตั้งในต่างประเทศ มีวิธีจะแก้ปัญหาได้ตั้งมากมายหลายวิธี ที่ไม่ใช่การเอาชื่อพรรคการเมืองออกไปอย่างนี้”

               ดร.ปริญญา มองว่า ที่ตอนนี้ประชาชนเหลือแค่เลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตแบบเดียวแล้วเอาคะแนนไปคิดจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วย ประชาชนก็ตัดสินใจยากอยู่แล้วในกรณีจะเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตกับผู้สมัครเป็นคนละพรรค แล้วในเขตต่างๆ ผู้สมัครพรรคเดียวกันยังเป็นคนละเบอร์กันอีก ซึ่งก็ลดทอนความสำคัญของพรรคการเมืองและสร้างความยุ่งยากให้แก่ประชาชนมากพออยู่แล้ว

               “ถ้าบัตรเลือกตั้งจะไม่มีชื่อพรรคการเมืองของผู้สมัครอีก จะยิ่งไปกันใหญ่ ไปกันใหญ่ทั้งสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชนที่จะเลือกเป็นพรรค แล้วก็จะไปกันใหญ่ในเรื่องความสงสัยที่ผู้คนเริ่มตั้งคำถามหรือสงสัยเรื่องความเป็นตัวของตัวเองของ กกต. โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคนในรัฐบาล คสช. ลงมาตั้งพรรคแล้วเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทรโอชาเป็นนายกรัฐมนตรีเช่นนี้ เรื่องนี้ถ้า กกต. ไม่ถอย ก็จะลามเป็นความสงสัยไปถึงการเลือกตั้งทั้งหมดได้ ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแต่ประการใด” ความเห็นของ ดร.ปริญญา 

 

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

 

               หลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อยู่สองสามวัน “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” โฆษกรัฐบาล ต้องออกมาชี้แจงเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ว่า นายกฯไม่ได้เป็นผู้เสนอแนวคิดบัตรเลือกตั้งแบบนี้ และเล่าถึงเหตุการณ์ในที่ประชุม ว่ามีตัวแทนพรรคการเมือง สอบถาม กกต. “นายกฯ เพียงแต่ระบุว่า ถ้าจะเลือกใคร ทุกคนก็ต้องจำให้ได้ ยืนยัน รัฐบาลและ นายกฯ ไม่ได้เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ กกต.”

 

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

(อ่านต่อ..."นายกฯ" ไม่ได้ชงตัด "โลโก้ - ชื่อพรรค")

 

               ขณะเดียวกัน “ณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล” รองเลขาธิการ กกต. ได้ออกมาแก้สถานการณ์โดยบอกว่า ทางสำนักงาน กกต. ได้เตรียมเสนอรูปแบบบัตรเลือกตั้ง 2 แบบให้ กกต.เคาะ แบบแรกจะมีข้อมูลทุกอย่างครบถ้วนทั้งเบอร์ ชื่อและโลโก้พรรคการเมือง และอีกแบบจะมีแต่เบอร์เท่านั้น ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปต้นสัปดาห์หน้า

               ชัดเจนว่าท่าทีดังกล่าวของ กกต.เป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปหลังจากทั้ง กกต. และ พล.อ.ประยุทธ์ โดนกระแสสังคมกระหน่ำใส่

 

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

(อ่านต่อ...กกต.พลิก! ชงบัตรเลือกตั้งมีทั้งเบอร์-ชื่อ-โลโก้พรรค)

 

               ล่าสุดวันนี้ (11 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยตัวเอง

               “ผมไม่ได้สั่ง เป็นเรื่อง กกต. วันนั้นเขาถามผม (บัตรเลือกตั้งไม่มีชื่อ/โลโก้พรรค) ผมก็ตอบไม่น่าจะจำไม่ได้ ก็แค่นั้นเอง แต่จะมีชื่อไม่มีชื่อก็เรื่องของกกต. ไม่เกี่ยวกับผม ผมไม่เกี่ยวกับเรื่องกลไกการเลือกตั้งอะไรสักอย่าง วันนั้นผมไปร่วมประชุมในฐานะหัวหน้าคสช. ซึ่งจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพของประเทศให้สงบเรียบร้อย แล้วผมจะพูดอะไรไม่ได้เลยหรือ”

 

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

(อ่านต่อ..."นายกฯ"เสี่ยงแข็งไม่ได้สั่งกกต.ออกบัตรเลือกตั้งไร้โลโก้)

 

               ต้องยอมรับว่าช่วงนี้กระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่แสดงความสงสัยต่อการทำหน้าที่ของ กกต. รวมไปถึงการเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงการทำงานของ กกต.จากผู้มีอำนาจ เป็นประเด็นที่ “จุดติดเร็ว” เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายครั้งที่ทำให้เกิดความสงสัยเช่นนี้

               ล่าสุดคือกรณีการแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต. ที่ถูกวิจารณ์ว่าแบ่งเขต “แบบพิสดาร”

               ทั้งนี้ ถ้าย้อนกลับไปดูต้นเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องบัตรเลือกตั้ง อาจจะยิ่งทำให้เกิดความระแวงสงสัยถึงการวางกฎกติกาในการเลือกตั้งมากขึ้น

 

"บัตรเลือกตั้ง" เจ้าปัญหา !!

               ปัจจัยแรก รัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มี ส.ส. 2 ระบบเหมือนเดิม คือ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ แต่กลับมีการ “คิดสูตร” การเลือกตั้งออกมาใหม่เป็นครั้งแรกในโลก คือ การเลือกตั้งแบบที่คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญชุด “มีชัย ฤชุพันธุ์” เรียกว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” คือ ให้มีบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว คือ บัตรเลือก ส.ส.เขต แต่นำผลการลงคะแนนนั้นมาคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อด้วย โดยให้เหตุผลว่า “คะแนนไม่ตกน้ำ” ทุกคะแนนมีความหมาย

               จากที่เคยมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ บัตรเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะมีหมายเลข ชื่อและโลโก้พรรค ส่วนบัตรเลือก ส.ส.เขต ก็จะมีเฉพาะหมายเลข ซึ่งผู้สมัครพรรคเดียวกันก็จะมีหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ

               ครั้งนี้เหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว และบัตรเลือกตั้งที่ กกต.ออกแบบไว้คือมีเฉพาะหมายเลข ซึ่งจะทำให้สามารถส่งไปใช้ที่เขตไหนก็ได้ทั่วประเทศ และอีกเหตุผลสำคัญของ กกต. คือกรณีส่งไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรก็จะไม่มีปัญหา

               แต่บัตรเลือกตั้งที่ไม่มีทั้งชื่อผู้สมัคร และชื่อพรรครวมทั้งโลโก้พรรค ย่อมทำให้เกิดความยุ่งยากกับผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งมากกว่าบัตรที่มีรายละเอียดพร้อมแน่นอน

               อีกปัจจัยของความยุ่งยากคือ การไม่ให้ ส.ส.พรรคเดียวกันใช้เบอร์เดียวกัน

               กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ส.แต่ละเขตได้รับหมายเลขเรียงตามการสมัครหรือการจับสลาก นั่นหมายถึงว่าผู้สมัครแต่ละพรรคแต่ละเขตก็จะมีหมายเลขของใครของมัน 

               นี่ยิ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง หากเป็นแบบเดิมที่ผู้สมัครพรรคเดียวกันมีหมายเลขเดียวกันทั่วประเทศ จะง่ายต่อการจัดการมากกว่า

               เหล่านี้ล้วนเป็นเหตุที่ยิ่งทำให้ผู้คนเกิดอาการ “คาใจ” 

 

====================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 

ดูคลิป

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ