คอลัมนิสต์

กรรมเก่าโกโก้ 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กรรมเก่าโกโก้  : บทความพิเศษ

 

 

          ชะตากรรมที่ชาวสวนยางพารากำลังประสบอยู่ในขณะนี้ แทบไม่แตกต่างจากวิบากกรรมซ้ำซ้อนของชาวสวนมะพร้าวเมื่อ 30 ปีก่อน

 

          มีข่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรสวนยางปลูกโกโก้ทดแทนต้นยางพาราที่ราคาตกต่ำต่อเนื่อง นัยว่าเป็นแนวทางแก้ปัญหาที่ยั่งยืน หลังจากที่รัฐบาลได้คลอดมาตรการช่วยเหลือแบบเฉพาะหน้าไปแล้ว

 

 

          เมื่อไม่กี่วันก่อน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราในวงเงิน 18,604 ล้านบาท โดยจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรสวนยางไร่ละ 1,800 บาทไม่เกินรายละ 15 ไร่ ในพื้นที่ไร่หนึ่งแบ่งให้เจ้าของสวน 1,100 บาท คนกรีดยาง 700 บาท


          ด้านคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธานเสนอโครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ทำถนนลาดยางมะตอยผสมยางพารา 75,032 กิโลเมตร วงเงิน 92,327 ล้านบาท


          ทั้งสองแนวทางข้างต้นนี้ ถูกวิเคราะห์วิจารณ์แจกแจงกันพอสมควรว่า เป็นการแก้ปัญหาแบบเอาตัวรอดเฉพาะหน้า เพื่อไม่ให้เกิด “ม็อบ” สวนยางพาราในช่วงเวลาที่รัฐบาลกำลังต้องเข้าไต้เข้าไฟเรียกเก็บคะแนนนิยม อีกทั้ง ถนนลาดยางพาราก็ได้พิสูจน์มาแล้วว่า ที่ผ่านมาคล้ายเหลวเหมือนน้ำยาง ทำกันไปไม่กี่กิโลเมตร แล้วก็หยุดด้วยสารพัดเงื่อนไขอุปสรรค


          กลับมาว่ากันด้วย แผนการช่วยเหลือชาวสวนยางอีกหนึ่งมาตรการ พูดอีกอย่างก็คือ จะให้ชาวสวนยางแปลงร่างไปเป็นชาวสวนอย่างอื่น เช่น ชาวสวนผลไม้ (แว่วๆ ว่าจะให้เป็นชาวสวนกัญชาด้วยซ้ำ) และที่มีข่าวออกมาล่าสุดคือ ชาวสวนโกโก้

 

          โดยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ ได้มีหนังสือขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาผลดีผลเสียของการสนับสนุนปลูกโกโก้เอาไว้คือ
          1.ศึกษาข้อมูลด้านการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศของพืชโกโก้ว่ามีความแนวโน้มต้องการมากน้อยเพียงใด


 


          2.ศึกษาสภาพพื้นที่ที่จะใช้ทำการเพาะปลูกโกโก้ตามคุณภาพดิน (Zoning by Agri-Map) ว่าพื้นที่ภูมิภาคใดของประเทศไทยที่มีความเหมาะสมกับการปลูกพืชดังกล่าวและจะสามารถสนับสนุนให้ปลูกในพื้นที่สวนยางทดแทนยางเก่าหรือปลูกแซมในสวนยางได้หรือไม่อย่างไร


          3.ประมาณการต้นทุนและความยากง่ายเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าในการเพาะปลูก/การบำรุงรักษาระหว่างเพาะปลูกและการแปรรูปโกโก้ออกเป็นผลผลิตสู่ตลาดตามห่วงโซ่การผลิตโกโก้ว่าเป็นอย่างไร


          4.หากผลการศึกษาปรากฏว่าพื้นที่ประเทศไทยมีความเหมาะสมในการปลูกและผลิตโกโก้ รวมทั้งให้ผลตอบแทนคุ้มทุนในเชิงเศรษฐศาสตร์ด้วยแล้วให้เร่งรัดจัดทำแผนการผลิต (Agriculture Production Plan) โกโก้ ทั้งนี้อาจใช้โครงการสานพลังประชารัฐเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังนา มาใช้เป็นต้นแบบในการวางแผนการผลิตโกโก้ในครั้งนี้ก็ได้


          ไม่ว่าผลการศึกษาจะออกมาอย่างไรก็ตาม แต่ที่ต้องคำนึงถึงก็คือ การบริหารงานภายใต้ “รัฐราชการ” อย่างความล้มเหลวในอดีต อันเป็นบทเรียนแสนขมขื่นของชาวสวนและทุกฝ่ายต้องคำนึงถึงให้มาก


          เป็นความขมขื่นของชาวสวนมะพร้าวหลายจังหวัดไล่ตั้งแต่สุราษฎร์ธานี ชุมพร ขึ้นมาถึงประจวบคีรีขันธ์ และภาคกลางตอนล่างเมื่อ 30 ปีก่อน  


          เพราะต้นไม้ต่างถิ่นที่ชื่อโกโก้ ชนิดเดียวกับที่ปรากฏเป็นข่าวว่าจะมาเป็นพันธุ์เทพ ทดแทนพืชยางพาราอยู่ในขณะนี้


          แม้จะได้รับการพัฒนาพันธุ์ออกมาเป็น “ชุมพร 1” ที่อ้างว่ามีความเหมาะสมกับพื้นที่ก็ตาม


          แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า เมื่อครั้งกระโน้น ก็มีแรงสนับสนุนให้ชาวสวนมะพร้าวปลูกโกโก้ ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกันนี้


          ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำ อยู่ในวงรอบเดียวกันกับ วิธีการแก้ปัญหาแบบวนกลับ


          ราคามะพร้าวตกต่ำแบบสุดกู่ในขณะนี้ ก็เหมือนเมื่อเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีก่อน


          ราคามะพร้าวมีความคล้ายกับยางพาราคือ บางช่วงราคาดี แต่บางปีราคาตกเอามากสุดกู่ จนชาวสวนต้องขายรถ จำนองที่ดินทำกินแลกเงินมาใช้จ่ายกันก็มี


          ไม่น่าเป็นไปได้เลยว่า ราคามะพร้าวใหญ่ซึ่งเคยมีราคาสูงผลละ 20-25 บาท จะตกต่ำลงไปเหลือลูกละหกสลึงสองบาท


          (เก็บเกี่ยวเดือนละครั้งก็เจ๊งทุกเดือน เพราะลำพังค่าจ้างก็เข้าเนืิ้อไปแล้วเกือบเท่าตัวของราคาผลผลิต)


          ไม่น่าเป็นไปได้เลยว่า ราคายางกิโลกรัมละ 180-200 บาท จะตกต่ำลงไปเหลิือ 3 กิโล 100 


          แต่มันก็เป็นไปแล้ว และก็เป็นมายาวนานเท่าที่ชาวสวนเจนเนอเรชั่นหนึ่งจะเก็บจำ นำมาเล่าสู่กันชั่วลูกหลาน เหมือนสาหัสนิทานอันไม่รู้จบ วนเวียนเป็นวงจรวิปโยคโศกสลด


          วิธีการแก้ปัญหาของรัฐบาลก็เหมือนกันทุกยุคสมัยไม่พัฒนาไปไหน


          สนับสนุนให้ปลูกโน่นนี่นั่น เสร็จแล้วก็ตัวใครตัวมันถือว่า สำเร็จตามนโยบาย


          สวนโกโก้ที่ปลูกแซมลงไปในพื้นที่ว่างระหว่างต้นมะพร้าวเขียวขจีดารดาษ ทั่วบางสะพานน้อย บางสะพานใหญ่ ชุมพร สุราษฎร์ฯ เมื่อช่วงเริ่ม ประมาณปี 2530 แต่จากนั้นไม่นาน ชาวสวนต้องน้ำตาตกใน เพราะผลโกโก้ที่ออกสะพรั่งเต็มต้น เหมือนพืชต่างถิ่น สร้างความเสียหายไปในพริบตา เพราะเอาเข้าจริง ไม่มีพ่อค้าโผล่หน้ามารับซื้อดังเช่นที่วาดฝันกันมา


          เช่นกันกับส่วนราชการที่ควรลงมาดูแลใกล้ชิด ติดตามผลผลิต และการตลาด ก็หายเข้ากลีบเมฆ ทิ้งให้ชาวสวนตัดฟันถอนทิ้งโกโก้กันเพียงลำพัง


          แต่ชาวสวนมะพร้าวยุคนั้นยังไม่เคราะห์ร้ายจนเกินไปนัก เพราะธรรมชาติของโกโก้ งอกงามภายใต้แสงรำไรชายทางมะพร้าวได้ ชาวสวนจึงไม่จำเป็นต้องด่วนได้ใจเร็วตัดต้นมะพร้าวทิ้งไปก่อนหน้า


          ไม่เช่นนั้นก็คงจะเสียหายเกินเยียวยาเป็นแน่


          ส่วนสวนยางพารา มีสภาพที่แตกต่างกันไป เพราะใบยางอันหนาทึบเกินไปอาจไม่เอื้อให้โกโก้เจริญงอกงามได้ แนวโน้มจึงทำให้ชาวสวน(ซึ่งปลูกพืชตามกระแส) จะพากันตัดต้นยางเปิดพื้นที่ (แม้ต้นยางอายุยังไม่ถึง 25 ปีก็ตาม) เพื่อแซมโกโก้ แม้ตามธรรมชาติมันเป็นพืชชอบแสงรำไรก็ตาม


          น่าเป็นห่วงเหลือเกินว่า เกษตรกรสวนยางจะกลายเป็นหนูทดลองยา เหมือนเช่นที่ชาวสวนมะพร้าวเคยเป็นมาก่อน
หน่วยงานของรัฐจะคิดเองเออเองอีกไม่ได้ 


          บทเรียนความล้มเหลวจากการสนับสนุนปลูกโกโก้ในสวนมะพร้าว ถือเป็นกรรมเก่าที่ไม่ควรจะลืมเลือน


          กรรมเก่าที่ย้ำเตือนว่า รัฐราชการ จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น หลังจากได้ทำตามนโยบายไปแล้ว ทั้งเรื่ืองราคา การหาตลาด และหลักประกันอื่นๆ อย่างเช่น แรงงานและเวลาที่เสียไป ที่ต้องนับเป็นต้นทุนด้วยต่างหาก


          ต้องรับผิดชอบกันยาวๆ ไม่ใช่ละเลยอย่างที่เคยเป็นมา
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ