คอลัมนิสต์

จุดอ่อน"พรรคพปชร."กับ"นโยบายประชารัฐ"

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จุดอ่อน"พรรคพปชร."กับ"นโยบายประชารัฐ" : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย.... ​ขนิษฐา เทพจร

 

 

          กับความเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคที่หลายฝ่ายเชื่อว่าได้เปรียบมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้คือ "พลังประชารัฐ" แม้จะเป็นพรรคน้องใหม่ตั้งมาไม่กี่เดือนแต่สามารถกวาด "อดีต ส.ส." จากพรรคการเมืองใหญ่หลายพรรคเข้าสังกัด ยอดเกือบร้อยได้โดยไม่ต้องออกแรง

 

 

          และด้วย "พลังดูด" ทำให้ “อดีต ส.ส.” กลายเป็น “จิ๊กซอว์” แต้มต่อเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญออกแบบให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อประลองความเจ๋ง !! ของตัวผู้สมัครล้วนๆ


          แต่ความได้เปรียบชิ้นสำคัญ ที่ไม่ควรถูกมองผ่าน คือ การหยิบฉวยนโยบายประชารัฐ ฉบับ "บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)" มาชิงความ "นิยม" จากประชาชน โดยเฉพาะ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่เป็นถุงเงินให้แก่คนเกินครึ่งประเทศ


          ล่าสุด ในการประชุมเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจให้แก่ "ผู้ที่แสดงเจตจำนง ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ภาคกลาง" ของพรรค “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” แกนนำสายตรงคนโตในรัฐบาล คสช. ยืนยันกลางห้องประชุมในเวทีเปิดว่า "ขอให้ผู้ที่จะลงเลือกตั้ง นำนโยบายบัตรประชารัฐ ว่าด้วยสิทธิประโยชน์ที่รัฐบาลให้แก่ประชาชนหลากหลาย และที่เพิ่มขึ้นใหม่เป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทย คือ ให้ค่าน้ำ, ค่าไฟ ไปพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าด้วยนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะช่วยเพิ่มคะแนนนิยมของพรรคในพื้นที่ได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ"


          อย่างไรก็ดีในการใช้กลยุทธ์นี้ แม้จะต้องการเรียกคะแนนนิยมให้แก่ “พรรคพลังประชารัฐ” เพื่อชาวบ้านจดจำแทน “นโยบายประชานิยม” สมัยพรรคไทยรักไทย-เพื่อไทย​ แต่มุมสะท้อนหนึ่งคือ การสร้างจุดอ่อนภายในตัวเอง !!

 

 


          เนื่องจาก “นโยบายประชารัฐ” เป็นโครงการ “เฉพาะที่ เฉพาะถิ่น” อาจจะใช้ได้ผลดีโกยคะแนนนิยมได้ในภูมิภาคหนึ่ง แต่อีกภูมิภาคหนึ่งกลับถูกต่อต้าน


          อย่างเช่นในพื้นที่ภาคกลาง 26 จังหวัดนั้น แกนนำพลังประชารัฐบอกกับว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ในเวทีปิดว่า "ภาคตะวันออก บัตรสวัสดิการหรือบัตรคนจนจะใช้ไม่ได้ เพราะพวกเขามีฐานะร่ำรวย ขณะที่คนภาคกลางอาชีพส่วนใหญ่คือ ทำนา หากจะโฆษณาเฉพาะบัตรประชารัฐอย่างเดียวไม่ได้ ดังนั้นต้องมีนโยบายเสริม ซึ่งสิ่งที่เตรียมนำเสนอคือ การสร้างความมั่นใจกับชาวนาว่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จะเพิ่มราคาข้าวให้สูงขึ้นได้ จากเดิมที่ขายอยู่ที่ 6,000-7,000 บาท เพิ่มราคาขายเป็น 8,000 บาท แต่สิ่งที่ต้องทำคือ จะทำอย่างไรให้ พล.อ.ประยุทธ์รับเรื่องนี้และทำให้แนบเนียนภายในเดือนมกราคมหรือกุมภาพันธ์ปีหน้า"


          นั่นแสดงว่าหาก “พลังประชารัฐ” จะอาศัย “นโยบายประชารัฐ” จริง ต้องทำงานให้หนักกว่าเก่า​ เพราะนอกจากจะเดินหาเสียงปกติแล้ว ต้องดูทิศทางและอารมณ์คนในพื้นที่ว่าคิดเห็นอย่างไร


          หากพวกเขา ชอบบัตรสวัสดิการ​ เพราะประชาชนได้ประโยชน์อาจจะเป็นงานง่ายที่จะสื่อสาร ยกเครดิตให้ “รัฐบาล คสช.” พ่วง “คะแนนพรรค” และง่ายต่อการแข่งขันกับผู้สมัครพรรคการเมืองอื่น แต่หาก “คนพื้นที่” ไม่ชอบ รวมถึงแสดงอาการต่อต้าน เท่ากับว่า คะแนนพลังประชารัฐจะไม่เหลือ หรือแม้จะพลิกสถานการณ์ผ่านนโยบายที่คิดขึ้นใหม่ สร้างนโยบายโดดเด่นกว่าใคร ​แต่โดยลักษณะพื้นที่คนที่ไม่เอา ส่วนใหญ่เป็น “กลุ่มคนไม่รักลุงตู่” จึงอาจเป็นงานยากที่จะใช้เวลาจากนี้จนถึงวันเลือกตั้ง เปลี่ยนใจ-ความคิดคน
อย่างไรก็ตามในแง่ทฤษฎีการเมืองคงไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ หากวางแผนและแก้เกมเป็น


          ​ดังนั้นสิ่งที่ “พลังประชารัฐ” วางแผนไว้เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง โดยมีเป้าหมายล่าสุด ทำงานเพื่อได้ ส.ส.เข้าสภา เกิน 150 เสียง คือ การใช้ความเชี่ยวชาญงานพื้นที่ของอดีต ส.ส. ผสมเข้ากับการสื่อสารการเมืองยุคใหม่


          สิ่งแรกที่แกนนำพรรควางแผนให้ “ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.” ภาคกลาง ทำหลังจากนี้ฟังคำชี้แจงกติกาหาเสียง คืออย่าหยุดหาเสียง และวางเป้าหมายให้ในเขตเลือกตั้งที่คะแนนนิยมสูง เกิน 3.5 หมื่นเสียง ต้องทำเพิ่มให้ทะลุยอด 50,000 เสียง เพื่อใช้เป็นคะแนนช่วยผู้สมัคร ส.ส. พื้นที่อื่นที่ยังสู้ฐานการเมืองเก่าไม่ได้


          ขณะเดียวกันพยายามเพิ่มคะแนนนิยมให้แก่พรรคพลังประชารัฐ โดยตัวเลขล่าสุดที่ “ทีมยุทธศาสตร์ของพรรค” ประเมินคือ ความนิยมของพรรคทั่วประเทศอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อแยกรายภาค พบว่า ภาคอีสานมีอันดับนิยมสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่พื้นที่ที่คะแนนต่ำสุดคือ “กรุงเทพฯ” ซึ่งได้ค่าความนิยมเพียง 12 เปอร์เซ็นต์


          ส่วนภาคกลาง 26 จังหวัดที่กลุ่ม “สามมิตร” ช่วยดูแล มีค่านิยมที่คิดเป็นตัวเลขกลมๆ ได้ 3.1 ล้านคะแนน ดังนั้นเป้าหมายสำคัญจากนี้ คือการเพิ่มคะแนน และทำให้ถึงเป้าที่จะกวาดคะแนนนิยมพรรคให้ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ 25 เก้าอี้


          สำหรับเป้าหมายที่วางไว้แบบนั้น สำหรับ “พลังประชารัฐ” ที่มีแต้มต่อจากการใช้ชื่อที่สอดคล้องกับ “นโยบายและโครงการประชารัฐ” อาจจะเป็นงานง่ายและขั้วการเมือง ยังอิงกับผู้มีอำนาจทุน-อำนาจรัฐ ในปัจจุบัน


          แต่มีสิ่งที่เป็นอุปสรรค ตามที่ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภาคกลางของพลังประชารัฐ สะท้อน คือ การเข้าไม่ถึงข้อมูล โดยเฉพาะรายละเอียดโครงการประชารัฐของรัฐบาล ที่จะใช้ไปบอกต่อประชาชน รวมถึง พฤติกรรมขวานผ่าซาก-พูดแรง- ทะเลาะกับนักข่าว ของ “พล.อ.ประยุทธ์” จะกลายเป็นสิ่งที่เป้าหมายนั้นผิดพลาด​


          ดังนั้นการจะใช้กลยุทธ์เดียวกับ “ไทยรักไทย” ที่นโยบายรัฐบาลคือ นโยบายพรรค อาจต้องคิดให้หนักและรอบคอบ เพราะของที่เขาเคยใช้ แล้วเอากลับมาใช้ใหม่แม้จะเป็น “คนคิดคนเดียวกัน” อาจไม่ใช่เรื่องง่าย และดีไม่ดีอาจกลายเป็นหลุมดักทางที่พาเสียแต้มได้ง่าย

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ