คอลัมนิสต์

อัพเดท "ปฏิทินการเมือง" เลือกตั้ง 24 ก.พ.62

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อัพเดทปฏิทินการเมืองสู่การเลือกตั้ง 24 ก.พ. จับตา "เกมชิงอำนาจ" ทุกช่วงจังหวะเวลาจากนี้

 

                 เหลืออีก 5 วัน กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้ แต่ก่อนจะไปถึงวันนั้น วันศุกร์นี้ (7 ธ.ค.) คสช.ได้นัด กกต.และพรรคการเมืองมารับฟังแผนและขั้นตอนไปสู่การเลือกตั้ง

 

 

                 ครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองที่คสช.นัดพรรคการเมืองมาหารือเกี่ยวกับการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แต่เป็นครั้งแรกที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกฯ และหัวหน้า คสช.จะมาเป็นประธานการประชุมเอง ครั้งแรกเมื่อ 25 มิถุนายน ที่ผ่านมา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ มานั่งหัวโต๊ะ

 

อัพเดท "ปฏิทินการเมือง" เลือกตั้ง 24 ก.พ.62

                 มีหลายพรรคประกาศว่าจะไม่มาร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือพรรคเดิม เช่น พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ ที่แจ้งว่าไม่ต้องการมาร่วมการประชุมที่คสช.เป็นผู้ดำเนินการ เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของ คสช. แต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่าจะไม่มาร่วมหารือด้วย 

                 โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ให้เหตุผลว่าเพราะเป็นเพียงการให้ไปรับทราบแผนและขั้นตอนดำเนินการเลือกตั้งเท่านั้น ไม่ใช่เชิญไปร่วมจัดทำแผน และเวลาการประชุมก็กำหนดไว้เพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น

                 อีกเหตุผลของพรรคประชาธิปัตย์ คือ เพราะครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มาเป็นประธาน

                 “คสช.มีพฤติกรรมหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นกลายเป็นพรรคการเมืองเพื่อจะลงสนามเลือกตั้งโดยมีรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง อีกทั้งยังใช้คำสั่ง คสช.เข้าแทรกแซงการจัดการเลือกตั้ง ทำให้เห็นได้ชัดว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อยุติความขัดแย้งหรือขจัดทุจริตคอรร์รัปชั่น อีกทั้งสถานะของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็มีหลายสถานะ ทั้งหัวหน้า คสช. นายกฯ และว่าที่ผู้ที่จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐ จึงขอตั้งคำถามว่าจากหลายสถานะของพล.อ.ประยุทธ์ จะเหมาะสมเป็นประธานการประชุมดังกล่าวหรือไม่...หาก พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจไม่นั่งเป็นประธาน ทางพรรคจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเข้าร่วมหรือไม่” นี่คือส่วนหนึ่งของถ้อยคำที่นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์แถลงออกมา

                 ถือเป็นท่าทีที่น่าสนใจยิ่งของพรรคประชาธิปัตย์ ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.ประวิตร พยายามต่อสายไปยังแกนนำพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเจรจาให้มาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ อีกครั้งหลังเลือกตั้ง

                 นี่คือส่วนหนึ่งของความเข้มข้นทางการเมืองที่จะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ไป

 

อัพเดท "ปฏิทินการเมือง" เลือกตั้ง 24 ก.พ.62

  

                 7 ธันวาคม วางปฏิทิน–ปลดล็อกการเมือง

                 สำหรับปฏิทินการเมืองที่น่าสนใจจากนี้ไปจะเริ่มที่การประชุมของ คสช.กับกกต.และพรรคการเมืองในวันที่ 7 ธันวาคม สาระสำคัญคือการวางปฏิทินขั้นตอนจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งและการกำหนดช่วงเวลาที่จะปลดล็อกการเมือง

                 เรื่องปลดล็อกทางการเมืองนั้น หัวใจอยู่ที่ 2 คำสั่ง คือ ประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/2557 ห้ามพรรคการเมืองประชุม หรือดําเนินกิจการใดๆ ในทางการเมือง ที่ออกมาตั้งแต่ 7 มิถุนายน 2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่ออกมาเมื่อ 1 เมษายน 2558

                 หากปลดคำสั่งทั้งคู่จะทำให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเสรี

                 แต่คำถามคือ จะมีการปลดล็อกเมื่อไร?

                 ตอนนี้มีความเป็นไปได้ 2 ช่วงเวลา คือ หนึ่ง อาจจะปลดล็อกหลังจากกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้วันที่ 11 ธันวาคมนี้เลย หรือไปปลดล็อกหลังจากมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ส.ส.ออกมา ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงปลายเดือนนี้

                 หากไปปลดล็อกหลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง อาจจะทำให้ คสช.คุมสถานการณ์การเมืองต่อไปได้อีกหน่อย แต่ผลเสียคือ พรรคพลังประชารัฐของฝ่าย คสช.ก็จะถูกคุมไว้ด้วย นั่นคือสิ่งที่ คสช.ต้องนำมาบวกลบคูณหารก่อนตัดสินใจ

  

                 หาเสียงอย่างมีเงื่อนไข?

                 อีกปมที่อาจจะเกี่ยวข้องกับการปลดล็อกการเมือง คือ เรื่องการหาเสียง

                 มีกระแสข่าวออกมาว่าการหาเสียงครั้งนี้อาจมีเงื่อนไขมากขึ้น ไม่เหมือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ ซึ่งหากย้อนไปดูสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยพูดไว้ก่อนหน้านี้ ก็ถือว่าสอดคล้องกัน

                 “การหาเสียงจะต้องอยู่ในกรอบที่กำหนด โดยต้องขออนุญาตเป็นครั้งๆ ไป แต่บางอย่างอาจไม่ต้องขอ การปลดล็อกมันต้องเป็นแบบนั้น บางอย่างต้องขอ บางอย่างไม่ต้องขอ ซึ่งต้องหาวิธีในการกำหนดให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่ใช่ก่อนจะไปถึงประชาธิปไตยตีกันเละ” คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ที่ผ่านมา

 

อัพเดท "ปฏิทินการเมือง" เลือกตั้ง 24 ก.พ.62

(อ่านต่อ...บิ๊กตู่ ลั่น"หาเสียง"ต้องอยู่ในกรอบขออนุญาตเป็นครั้งๆ)

 

                 แน่นอนหากมีการปลดล็อกและเปิดให้หาเสียงได้อย่างอิสระเหมือนเดิม “บิ๊กตู่” และพรรคพลังประชารัฐ จะเป็น “ตำบลกระสุนตก” ในสนามแข่งขันครั้งนี้อย่างแน่นอน

  

                 เปิดชื่อนายกฯ ไฮไลท์ก่อนเลือกตั้ง

                 หลังปลดล็อกการเมืองแล้วช่วงที่จะเป็นไฮไลท์สำคัญก่อนจะถึงวันเลือกตั้ง คือช่วงเปิดรับสมัครส.ส. เพราะช่วงนั้นแต่ละพรรคที่จะเสนอบัญชีนายกฯ ต้องเปิดออกมา โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า พรรคต้องแจ้งบัญชีนายกฯ ต่อ กกต.ก่อนปิดรับสมัคร ส.ส.

                 ตามปฏิทินล่าสุดกำหนดช่วงเปิดรับสมัครส.ส.ไว้ประมาณวันที่ 14-18 มกราคม

                 แน่นอนที่เป็นไฮไลท์มากที่สุดก็น่าจะเป็นส่วนของพล.อ.ประยุทธ์ ว่าจะอยู่ในบัญชีของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่

 

อัพเดท "ปฏิทินการเมือง" เลือกตั้ง 24 ก.พ.62

                 ถึงแม้ว่าเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (4 ธ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จะบอกว่า หลังปลดล็อกการเมืองจะให้ความชัดเจนเรื่องนี้ แต่เอาเข้าจริงคาดว่าจะชัดเจนก็ช่วงที่พรรคต้องเปิดชื่อออกมาในช่วงกลางเดือนมกราคม

                 นอกจากพล.อ.ประยุทธ์ จะอยู่ในบัญชีนายกฯ ของพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ยังต้องรอดูด้วยว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียวหรือไม่ หรือจะเสนอครบ 3 รายชื่อ

  

                 จับตา “สมคิด” โผล่บัญชีนายกฯ พรรคพลังประชารัฐ

                 ตอนนี้มีข่าว 2 กระแส กระแสหนึ่งบอกว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพียงคนเดียว ขณะที่อีกกระแสบอกว่าจะเสนอ 3 รายชื่อตามที่รัฐธรรมนูญให้สิทธิ โดยมีข่าวว่ารายชื่ออันดับ 2-3 คือ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์”รองนายกฯ และ “อุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 

                 แหล่งข่าวจากพรรคพลังประชารัฐ บอกว่า สูตรเสนอชื่อนายกฯ 3 รายชื่อนี้มีมาตั้งแต่แรก ตั้งแต่ช่วงเริ่มพูดคุยเพื่อตั้งพรรคแล้วจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้รับแจ้งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

                 ในส่วนรายชื่อนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยก็น่าสนใจ ถึงแม้ตอนนี้จะค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จะเป็นหนึ่งในสามชื่อนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยแน่นอน แต่ยังต้องรอดูอีก 2 ชื่อว่าจะเป็นใคร จะมีการ “เปลี่ยนใจ” กันวินาทีสุดท้าย ส่งสายตรงตระกูลชินวัตรลงด้วยหรือไม่

                 ส่วนพรรคไทยรักษาชาติ ตัวเต็งน่าจะเป็น “จาตุรนต์ ฉายแสง” แต่ด้วยยุทธศาสตร์ที่วางให้ “ไทยรักษาชาติ” เล็กกว่า “เพื่อไทย” ฉะนั้นถ้าไม่มีสายตรงชินวัตร “คุณหญิงหน่อย” ก็น่าจะมีโอกาสมากกว่า “จาตุรนต์” ยกเว้นคุณหญิงหน่อยเจอ “อุบัติเหตุ” ระหว่างทาง

 

อัพเดท "ปฏิทินการเมือง" เลือกตั้ง 24 ก.พ.62

(อ่านต่อ...ลงตัวแล้ว !! 'สุดารัตน์ - จาตุรนต์' ตัวชิงนายกฯ)

 

                 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ ไม่น่ามีอะไรตื่นเต้นเพราะต้องเป็น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ส่วน “ชวน หลีกภัย” ที่มองกันว่าอาจจะเป็นตัวที่ทำให้เกมพลิกคงไม่มาอยู่ในเกมชิงอำนาจในครั้งนี้

  

                 60 วัน หลังเลือกตั้ง ช่วงชุลมุน

                 กติกาการเลือกตั้งครั้งนี้กำหนดให้ว่าการประกาศผลการเลือกตั้งของ กกต.ต้องประกาศไม่น้อยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ ภายใน 60 วัน ฉะนั้นจะประกาศเพียงครั้งเดียวไม่ใช่ประกาศแบบกะปริดกะปรอยหลายครั้งอย่างที่ผ่านมา ซึ่ง กกต.ก็วางแผนไว้ว่าคงใช้เวลาเต็มแม็กซ์ 60 วัน

                 ดังนั้นช่วงระหว่างรอ กกต.ประกาศรับรองผลเลือกตั้งจะเป็นช่วงเวลาที่ต้องจับตา

                 ด้านหนึ่งคือ ผู้ชนะการเลือกตั้งคนไหน พรรคไหน จะผ่านการรับรอง คนไหนจะโดนจับว่าทุจริต โดนไล่ออกจากสนามและจัดการเลือกตั้งใหม่ รวมไปถึงจะมีพรรคไหนที่โดนยุบพรรคเพราะเหตุแห่งการทุจริตเลือกตั้งหรือไม่ด้วย

                 อีกด้านหนึ่ง เนื่องจากหลังวันเลือกตั้งก็จะได้เห็นตัวเลขผู้ชนะของแต่ละพรรคแล้ว นั่นหมายถึงระหว่างรอการประกาศของกกต. ก็จะเป็นช่วงของการเจรจาต่อรองเพื่อจัดตั้งรัฐบาลด้วย มุมนี้ยิ่งต้องจับตาห้ามกะพริบ เพราะมีการคาดการณ์กันว่าอาจจะได้เห็นการต่อรอง “แบบพิสดาร” เหมือนตอนแบ่งเขตเลือกตั้งเกิดขึ้น

                 ไม่ต้องรอเปิดประชุมรัฐสภาก็คงจะรู้แล้วว่าใครจะได้เป็นนายกฯ

  

                 ส.ว. 250 คน ในมือ คสช.

                 ในระหว่างกระบวนการเลือกตั้งส.ส. อีกด้านก็จะมีการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ว. 250 คน ที่จะมาร่วมเลือกนายกฯ หลังการเลือกตั้งด้วย

                 ส.ว.250 คนนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วน 50 คนแรกจะมาจากกระบวนการเลือกกันเองใน 10 กลุ่มอาชีพที่สมัครกันเข้ามา 7,210 คน หลังมีการเลือกกันเองในระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศแล้ว จะเหลือ 200 คนให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน

                 อีก 200 คน กลุ่มใหญ่ 194 คนจะมาจากการสรรหาของคณะกรรมการที่คสช.ตั้งและสุดท้ายให้ คสช.เลือก ส่วนที่เหลืออีก 6 คนมาจากปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และผู้นำเหล่าทัพ บก-เรือ-อากาศ-ตำรวจ

 

อัพเดท "ปฏิทินการเมือง" เลือกตั้ง 24 ก.พ.62

(อ่านต่อ...เอกซเรย์ที่มา-อำนาจ 250 ส.ว. ค้ำบัลลังก์ "บิ๊กตู่")

 

                 จับตา “เกมชิงอำนาจ” ทุกช่วงเวลาจากนี้ไป...

===================

โดย สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ