คอลัมนิสต์

นำร่องกองทัพภาคละ1หน่วย หาคำตอบ เลิกเกณฑ์ทหาร??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นำร่องกองทัพภาคละ1หน่วย หาคำตอบ เลิกเกณฑ์ทหาร?? : คมชัดลึก...ตะลุยเลือกตั้ง   โดย...  สไนเปอร์



 
          แม้กองทัพจะเชื่อมั่นว่า การชูนโยบาย ยกเลิกเกณฑ์ทหาร ของพรรคการเมือง จะไม่ส่งผลกระทบต่อการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการทหารกองประจำการประจำปี 2562 ในห้วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สอดคล้องกับการจัดการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคการเมืองที่เสนอนโยบายดังกล่าว จะได้สร้างคะแนนเสียงจากประชาชนที่ไม่อยากเป็นทหาร

 

 

          ข้อเรียกร้องให้กองทัพยกเลิกการเกณฑ์ทหาร ถูกจุดประกายโดย นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังครบอายุต้องเกณฑ์ทหารครั้งแรกในปี 2560 เนื่องจากมองว่าไม่ได้อยู่ในสภาวะสงครามและเป็นสิ่งล้าสมัย ที่สำคัญยังเป็นปัจจัยค้ำจุนระบอบเผด็จการจนทำให้เกิดรัฐประหาร


          ที่น่าสนใจในระหว่างยื่นเอกสารขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหาร ครั้งที่สอง เมื่อเมษายน 2561 กลุ่มเพื่อนเนติวิทย์ ได้แจกแบบสอบถามแก่ผู้มารอเกณฑ์ทหารและผู้สังเกตการณ์ โดยมีข้อความว่า “เราควรเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารจาก ระบบบังคับ เป็นระบบสมัครใจ” และ “กองทัพควรรับรองว่า พลทหารจะไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างเกณฑ์ทหาร 100%” จำนวน 169 ใบ พบว่ามีผู้เห็นด้วยกับข้อความแรก 144 คน และเห็นด้วยกับข้อความที่สอง 25 คน

 

 

 

นำร่องกองทัพภาคละ1หน่วย หาคำตอบ เลิกเกณฑ์ทหาร??

 


          แนวคิดดังกล่าวถูกพูดถึงในวงกว้างของ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ‘คนรุ่นใหม่’ ที่กระจายสังกัดพรรคการเมือง เช่น อนาคตใหม่ เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ โดยมีนักการเมือง ‘รุ่นเก๋า’ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายวัฒนา เมืองสุข หรือแม้แต่อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส นักเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 8 หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมารับลูก เตรียมผลักดันให้เป็นรูปธรรม หากชนะการเลือกตั้งในปีหน้านี้


          นี่คือนโยบายหาเสียง ที่ทำทหารนั่ง ‘หน้านิ่วคิ้วขมวด’ เนื่องจากหากพิจารณาสภาพความเป็นจริงพบว่า ในแต่ละปีกองทัพต้องการทหารกองประจำการ ปีละ 90,000-100,000 คน โดยจัดสรรให้กองบัญชาการกองทัพไทย 1,900 นาย กองทัพบก 70,000 นาย กองทัพอากาศ 13,000 นาย กองทัพเรือ 6,000 นาย ส่วนที่เหลือให้แก่ กระทรวงกลาโหม เพื่อใช้ปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคง และรักษาอธิปไตยรอบประเทศ รวมถึงช่วยเหลือบรรเทาสาธารณภัย

 



          จากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบชายไทยสมัครใจเข้ารับใช้ชาติมีระดับตัวเลขสูงขึ้นเรื่อยๆ ปี 2557 จำนวน 35% ปี 2558 จำนวน 44% ปี 2559 จำนวน 47% และสูงสุดในปี 2560 จำนวน 49% แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2561 ตัวเลขชายไทยที่สมัครใจเป็นทหารลดลง เหลือ 45% คาดว่าน่าจะเกิดจากการกระทำรุนแรงกับพลทหาร รวมถึงการเผยแพร่คลิปเก่าที่เป็นการกระทำเกินเหตุในค่ายทหารซ้ำไปซ้ำมา


          “พวกผมก็เครียดกันว่า การหาเสียงสักแต่จะพูด โดยไม่มีข้อมูลมารองรับ ถามว่าหากยกเลิกเกณฑ์ทหาร แล้วเปิดให้สมัครใจทั้งระบบ แล้วเขาไม่มาสมัคร จะทำอย่างไร งานด้านความมั่นคงทั้งในและต่างประเทศกระทบหมด น้ำท่วม ฝนแล้ง ใครจะช่วยเหลือประชาชน นักการเมืองไม่ใช่ข้าราชการ พูดอะไรออกมาก็ไม่ต้องรับผิดชอบ มาแล้วก็ไป แต่ข้าราชการจะทำอะไรต้องคิดให้รอบคอบ เพราะทำไปแล้ว ภายหลังผิดกฎหมาย หรือ เสนอหลักการไป แต่ทำไม่ได้ ก็ต้องรับผิดชอบ” แหล่งข่าวจากกองทัพบก กล่าว


          ทั้งนี้ กองทัพ ไม่ได้ต่อต้านแนวคิดดังกล่าว หากทำให้คนมาสมัครใจเป็นทหารได้ครบตามจำนวนที่ต้องการ เช่น คนมาสมัคร 150% ในขณะที่กองทัพต้องการ 100% ก็ไม่จำเป็นต้องเกณฑ์ทหาร เพราะฉะนั้น รัฐบาลจะต้องสร้างแรงจูงใจ เช่น เพิ่มเงินเดือนต่อรายหัว สวัสดิการ ค่าครองชีพ หรือการเพิ่มเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ ทดแทนกำลังพลที่ขาดไป เช่นเดียวกับ กองทัพสหรัฐอเมริกา แต่ผลที่จะตามมาคือ งบประมาณสูงขึ้นเท่าตัว

 

 

นำร่องกองทัพภาคละ1หน่วย หาคำตอบ เลิกเกณฑ์ทหาร??

 


          ส่วนกองทัพ ได้เพิ่มความเข้มงวด ไม่ให้เกิดการกระทำที่รุนแรงต่อพลทหาร ดูแลการฝึกให้เป็นไปตามแบบแผน การลงโทษต้องเป็นไปตามธรรมเนียมปฏิบัติ ตามนโยบาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ได้เปิดหน่วยทหาร ให้ผู้ปกครองได้เข้ามาดูสภาพความเป็นอยู่ของบุตรหลานที่เข้ามารับใช้ชาติ ได้เกิดความเชื่อมั่นและเต็มใจเข้ามาทำหน้าที่


          นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหม ยังมีแนวคิดยกระดับเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง และสวัสดิการต่างๆ ให้แก่ทหารเกณฑ์ เนื่องจากมองว่าเป็นบุคคลเสียสละ เพราะการปฏิบัติงานจริงในการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ อยู่ในเกณฑ์เสี่ยง ทำให้เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ได้ตลอดเวลา ตลอดจนถึงการเสียโอกาสในหน้าที่การงานของตัวเอง เพราะต้องมารับใช้ชาติ


          พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม อธิบายว่า ยกเลิกการเกณฑ์ทหารอย่างไรให้สร้างสรรค์ ไม่กระทบภารกิจหลักและความมั่นคงของประเทศ เพราะกองทัพที่อ่อนแอ ประชาชนจะได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งความปรารถนาของกองทัพ ต้องการเป็นกองทัพที่ทันสมัย ‘แมน เพาเวอร์’ ถือเป็นเรื่องสำคัญ เราอยากให้กองทัพมีขนาดที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพสูง เพราะฉะนั้นเมื่อคนน้อยลงไป เครื่องมือ อาวุธ ยุทโธปกรณ์จะต้องมีความทันสมัย และขีดความสามารถสูงขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้งบประมาณของประเทศพร้อมหรือไม่


          โฆษกกระทรวงกลาโหม ยังเปรียบเทียบให้เห็นภาพว่า ประเทศก็เปรียบเสมือนบ้าน ต้องมีรั้วที่แข็งแรง เพื่อให้เกิดความมั่นคงและปลอดภัยของคนภายในบ้าน ทุกประเทศที่เจริญแล้ว หรือประเทศที่กำลังพัฒนา จัดสรรงบประมาณในการดูแลรั้วบ้านของตัวเอง ส่วนรั้วบ้านของเราเป็นการหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนประชาชนเข้ามาทำหน้าที่ วันใดไม่มีรั้วบ้าน อยู่กันไม่ได้ ดังนั้นเราจะออกแบบรั้วบ้านอย่างไรให้แข็งแรง ถ้าบอกว่ารื้อรั้วบ้านที่เป็นปูนออก แล้วทำเป็นรั้วไม้ไผ่ ก็ต้องรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ได้

 

 

 

นำร่องกองทัพภาคละ1หน่วย หาคำตอบ เลิกเกณฑ์ทหาร??

 


          อย่างไรก็ตาม กองทัพบกไม่ได้นิ่งนอนใจในการให้ความกระจ่างต่อสังคม ว่ายกเลิกเกณฑ์ทหาร เปิดรับที่สมัครใจ ทำได้หรือไม่ จึงได้เสนอ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม นำข้อมูลการเกณฑ์ทหารย้อนหลัง 10 ปี ทำเป็นสถิติเปรียบเทียบให้ประชาชนได้เห็นว่า คนที่สมัครใจเป็นทหาร คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ ของคนที่เกณฑ์ทหารเข้ามา


          พร้อมทำระบบนำร่อง โดยให้ กองทัพภาคที่ 1 กองทัพภาคที่ 2 กองทัพภาคที่ 3 และกองทัพภาคที่ 4 จัดหน่วยทหารไว้ 1 หน่วย รับคนสมัครใจเข้าเป็นทหาร โดยยึดแบบพลอาสากองพันจู่โจม เงินเดือน 12,000-13,000 บาท จะเริ่มดำเนินการในปี 2563 นี้ เพื่อจะได้หาคำตอบได้ว่า ระหว่างเกณฑ์ทหาร กับ สมัครใจ มีข้อแตกต่างเรื่องค่าใช้จ่าย ความเป็นไปได้อย่างไรมากน้อยเพียงใด


          กองทัพไม่ได้หยุดนิ่ง มีการพัฒนามาตามลำดับ และอยู่ระหว่างการปฏิรูปกองทัพ ที่ต้องคำนึงถึงภารกิจ บทบาทของทหาร พร้อมจัดเป็นกลุ่มงาน เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับโครงสร้างกองทัพให้เหมาะสม ที่มีระบบบริหารจัดการ กำลังพล ขีดความสามารถอาวุธยุทโธปกรณ์ ควบคู่กันไป เพราะฉะนั้น ความพร้อมของประเทศจะตอบคำถามได้ว่า ประเทศไทยควรมีกองทัพขนาดเหมาะสมอย่างไร

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ