คอลัมนิสต์

เริ่มแล้ว!! ระเบียบแรกศาลฎีกา "จัดการคคีเลือก ส.ว."

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เริ่มแล้ว!! ระเบียบแรกศาลฎีกา "จัดการคคีเลือก ส.ว." : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  เกศิณี แตงเขียว


 

          ตื่นตัวการเมืองประชาธิปไตยเมื่อ “ศาลฎีกา” ออกระเบียบวางแนววินิจฉัยคดี รับมือร้องเลือก ส.ว. จบเร็ว 3-9 วัน เพราะเมื่อการเมืองแบบประชาธิปไตย หลังรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ และกำลังเดินหน้า ด้วยบทเริ่มของกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. ในวาระแรกตามบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดจำนวนไว้ 250 คน จากสัดส่วน กกต. เลือกในระดับอำเภอ, จังหวัด, ประเทศ รวม 200 คน แล้วเสนอให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน และส่วนที่คณะกรรมการสรรหา ส.ว. ที่ คสช.แต่งตั้งขึ้นมา คัดเลือกจากบุคคลผู้มีความรู้ความสามารถที่เหมาะสม จำนวนไม่เกิน 400 คน แล้วเสนอให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 194 คน กับส่วนที่มาจากผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม, ผบ.ทหารสูงสุด, ผบ.ทบ., ผบ.ทร., ผบ.ทอ., ผบ.ตร. รวม 6 คน

 

 

          ซึ่งส่วนที่ กกต.ต้องจัดให้มีการเลือก ส.ว. จากระดับอำเภอ, จังหวัด และประเทศ รวม 200 คน ก็ได้เริ่มเปิดรับสมัครแล้ว 26-30 พฤศจิกายนนี้ ตามไทม์ไลน์ที่ กกต.วางไว้


          โดย “ศาลยุติธรรม” ที่มีหน้าที่ต้องวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง เกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือก ส.ว. ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ปี 2561 มาตรา 21-23, วินิจฉัยการดำเนินการเลือก ในมาตรา 44 และการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกหรือสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร ตาม มาตรา 20, 47, 60, 22 ได้ออก “ระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาว่าด้วยการพิจารณาและวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับสิทธิสมัครรับเลือก การดำเนินการเกี่ยวกับการเลือก และการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561” ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีผลบังคับใช้แล้ว (24 พ.ย.) เพื่อกำหนดกระบวนพิจารณา


          ขณะที่ “สำนักงานศาลยุติธรรม” ไม่รอช้าที่จะสร้างความเข้าใจถึงขั้นตอน วิธีการพิจารณา และอำนาจของศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีการเลือก ส.ว. ให้บรรดาสื่อมวลชนที่ต้องติดตามข่าวการเลือกตั้งสู่สาธารณชนด้วยการจัดสัมมนาความรู้ทางกฎหมายและระบบการพิจารณาพิพากษาคดี ซึ่งบรรยายองค์ความรู้โดยผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่แยกแยะหลักการสำคัญการพิจารณาคดี จำแนกลักษณะคดีที่เข้าสู่อำนาจวินิจฉัยของแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา




          น่าสนใจว่า การเลือก ส.ว. ตามกฎหมายใหม่ครั้งนี้ “แผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา” มีอำนาจหน้าที่พิจารณาและมีคำสั่ง 3 เรื่องคือ

 

          1.สิทธิสมัครรับเลือก (ที่เริ่มระดับอำเภอ) เช่น ผู้สมัครยื่นคำร้องว่า ผอ.การเลือกระดับอำเภอสั่งลบชื่อหรือไม่รับสมัครชอบหรือไม่ ก็สามารถขอให้ศาลวินิจฉัยเพื่อเพิ่มชื่อ 2.การดำเนินการเลือกระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศนั้นชอบหรือไม่ ซึ่งหากผู้สมัคร เห็นว่าคณะกรรมการการเลือกระดับต่างๆ หรือ ผอ.การเลือก จะดำเนินการไม่ชอบ ก็ยื่นร้องต่อศาล 3.การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร (การแจกใบแดง) ที่เป็นการวินิจฉัยว่าผู้สมัครขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม ผู้สมัครทำการเพื่อให้การเลือก ส.ว.เป็นไปโดยไม่สุจริต เที่ยงธรรม หรือทั้งก่อนประกาศผลและหลังประกาศผลหากมีหลักฐานอันควรเชื่อว่าผู้สมัครทำการทุจริต หรือมีการฮั้ว-เสนอทรัพย์สินให้ลาออกจากบัญชีสำรอง ก็ให้ กกต.ยื่นคำร้องต่อศาลวินิจฉัยสั่งเพิกถอนสิทธิได้


          โดยการพิจารณาคดีทั้ง 3 ประเภทนั้น ตามระเบียบที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาฯ กำหนดให้ “ศาลฎีกา” ใช้ระบบการไต่สวนเช่นเดียวกับที่ รัฐธรรมนูญกำหนดนำไว้ ซึ่งจะเหมือนคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, คดีค้ามนุษย์, คดีอาญาทุจริต ที่หลักการจะให้บทบาทศาลเป็นผู้ถามพยานได้เองจากพยานหลักฐานที่ 2 ฝ่ายนำมาเสนอ หรือศาลมีอำนาจเรียกพยานหลักฐานไต่สวนได้เองตามที่เห็นสมควร และคู่ความก็ยังใช้คำถามนำได้ด้วย อันเป็นการร่วมแสวงหาข้อเท็จจริงให้เกิดชัดเจน ประเด็นไม่ยืดเยื้อ ต่างจากระบบกล่าวหาในคดีอาญาทั่วไปที่บทบาทศาลจะเสมือนเป็นเพียงกรรมการชั่งน้ำหนักพยานจากที่ฝ่ายผู้ร้องและฝ่ายผู้คัดค้านนำมาโต้แย้งหักล้างต่อกันเท่านั้น

 

          ทั้งนี้ “ระบบไต่สวน” จะทำให้เกิดความรวดเร็วในการวินิจฉัย โดยคดีเกี่ยวกับลบชื่อ-เพิ่มชื่อผู้สมัคร และคดีดำเนินการเลือกช่วงลงคะแนนนั้นตามแผนงานของ กกต.ในการเลือก ส.ว.ชุดแรกนี้ ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ตั้งแต่วันที่ ผอ.การเลือก ประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัครหรือสั่งลบชื่อ ระดับอำเภอ, จังหวัด และประเทศ ซึ่งต้องยื่นคำร้องต่อศาลภายใน 3 วัน และศาลต้องวินิจฉัยทำคดีให้เสร็จก่อนถึงกำหนดวันเลือก ส.ว.ทั้งสามระดับไม่น้อยกว่า 1 วัน จะเลื่อนการไต่สวนได้ก็ไม่เกิน 2 วัน โดยไทม์ไลน์เลือก ส.ว.ระดับอำเภอ คือ 16 ธันวาคม, เลือกระดับจังหวัด 22 ธันวาคม และระดับประเทศเลือก 27 ธันวาคม เฉลี่ยระยะเวลาที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยคดีสิทธิสมัครระดับอำเภอจะอยู่ที่ 6-9 วัน ส่วนระดับจังหวัดและประเทศอยู่ที่ 3 วัน ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่สั้นกว่าการวินิจฉัยคดีเลือกตั้งตามกฎหมายเดิม ที่ศาลฎีกาจะมีเวลาวินิจฉัยได้ราว 29 วัน

 

          ส่วนอัตรากำลังผู้พิพากษาศาลฎีกาในแผนกคดีเลือกตั้งที่จะทำหน้าที่วินิจฉัยคดีเลือกตั้งปัจจุบัน มีประมาณ 23 คน หากสุดท้ายเกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันว่ามีคดีเข้าสู่การพิจารณามากหรือมีความยุ่งยากซับซ้อน ศาลอาจเสริมกำลังจากส่วนของผู้พิพากษาศาลฎีกาที่มีอยู่เกือบ 120 คนก็ได้ ดังนั้นที่จะห่วงว่าศาลฎีกาจะวินิจฉัยทันหรือไม่ แล้วจะเป็นไปตามที่มาตรา 22 วรรคสอง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ฯ บัญญัติหรือไม่ ว่า “การพิจารณาและมีคำวินิจฉัยของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการเสร็จก่อนวันเลือกไม่น้อยกว่า 1 วัน เมื่อถึงวันเลือกถ้าศาลฎีกายังไม่ได้วินิจฉัย ให้ดำเนินการเลือกต่อไปโดยให้ถือว่ามีผู้สมัครเพียงเท่าที่ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้สมัครที่ ผอ.การเลือกระดับอำเภอประกาศ ในกรณีเช่นนี้คำวินิจฉัยของศาลไม่มีผลกระทบต่อการเลือกที่ดำเนินการไปแล้ว” ก็คงไม่สะดุดถึงขั้นนั้น เพราะประสบการณ์ตัดสินคดีเลือกตั้งที่ผ่านมาในอดีต “ศาลฎีกา” ก็สามารถทำคดีให้เสร็จได้ตามเกณฑ์


          แต่ที่สำคัญสุด ในการยื่นคำร้องและไต่สวน “ระเบียบที่ประชุมใหญ่ฯ” กำหนดให้คดีที่ผู้สมัคร ร้องเรื่องสิทธิสมัคร กับการดำเนินการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ ยื่นคำร้องที่ศาลชั้นต้นในเขตนั้น สำหรับจังหวัดให้ยื่นที่ศาลจังหวัดที่ตั้งอยู่ที่อำเภอเมือง แล้วส่งเอกสารคำร้อง-บัญชีพยาน ถึงศาลฎีกาทางแฟกซ์, สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (การแนบไฟล์เอกสารระบบคอมพิวเตอร์), สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น เพราะการเลือกระดับอำเภอมีหน่วยเลือกถึง 878 แห่ง หากต้องมายื่นคำร้อง “ศาลฎีกา” ที่มีตั้งอยู่แห่งเดียวใน กทม. ก็จะสร้างภาระให้แก่ผู้สมัครที่มีหลากหลายอาชีพ ซึ่งอาจมีผู้มีรายได้น้อยและอยู่ในอำเภอไกลๆ เกินสมควร กับข้อจำกัดเวลาเดินทาง-การวินิจฉัยที่จะล่าช้าไป


          โดยการไต่สวนส่วนนี้ “ศาลฎีกา” อาจมอบหมายให้ศาลชั้นต้นที่มีอยู่ทั่วประเทศ ทำการไต่สวนพยานหลักฐานแทน แล้วส่งรายงานกลับมาให้ศาลฎีกาที่มีอำนาจวินิจฉัยเพียงแห่งเดียวเป็นผู้มีคำสั่งตัดสิน หรือศาลฎีกาจะไต่สวนเองผ่านระบบการประชุมจอภาพ (วิดีโอคอนเฟอเรนซ์) ก็ได้


          สำหรับการเลือก ส.ว.ระดับประเทศ กับคดีเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ให้ไต่สวนที่ศาลฎีกาเพราะต้องมายื่นคำร้องที่ศาลฎีกาเท่านั้น แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นเช่น มีพยานป่วยหนักอยู่ที่โรงพยาบาล ศาลฎีกาอาจมอบหมายให้ศาลชั้นต้นไต่สวนแทนได้ หรือศาลฎีกาจะไต่สวนเองผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ก็ได้


          และยังน่าติดตามอีกว่า สำหรับผู้สมัคร ส.ว.หรือ ส.ว.ที่ถูกศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสิทธิเลือกตั้งแล้ว พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ยังให้อำนาจศาลไต่สวนสั่งผู้นั้นรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งจนต้องให้เกิดการเลือกใหม่ด้วยแม้ว่า กกต.จะยื่นคำร้องส่วนนี้หรือไม่ด้วย โดยพิจารณาจากหลักฐานการใช้จ่ายที่ กกต.เสนอต่อศาลเป็นหลัก ซึ่งเรื่องนี้กฎหมายเก่าระบุไว้ให้แยกดำเนินการไม่ใช่การพิจารณาไปได้ในคราวเดียวกันนี้ และค่าใช้จ่ายก็ให้พิจารณาจากการเลือกตั้งครั้งใหม่


          สุดท้าย กระบวนการเลือก ส.ว.ของ กกต. จะจบด้วยเป็นการคดีเลือกตั้งเข้าสู่ศาลฎีกาหรือไม่ ?? ต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ 5 ธันวาคมนี้ ยกแรกของการประกาศบัญชีรายชื่อผู้สมัคร ส.ว.ระดับอำเภอ ซึ่งนับเป็นวันแรกที่ผู้สมัครมีสิทธิตรวจสอบและยื่นคำร้องต่อศาลหากมีหลักฐานว่าไม่ได้รับความเที่ยงธรรม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ