คอลัมนิสต์

เปิดค่าเหนื่อย "นายพล" เมืองไทยรายได้น้องๆ นายกฯ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดค่าเหนื่อย "นายพล" เมืองไทยรายได้น้องๆ นายกฯ : รายงาน  โดย... ปกรณ์ พึ่งเนตร

 

 

          ปลายสัปดาห์ที่แล้วมีข่าวเกือบใหญ่ข่าวหนึ่ง คือการเคลื่อนไหวของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย

 

          นายศรีสุวรรณอ้างว่ากำลังจะมีการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบข้าราชการทหาร ให้ยกเลิกอัตราเงินเดือนระดับ “จอมพล” เปลี่ยนเป็น “พลเอกพิเศษ” แทน แล้วแก้ไขให้นายทหารยศพลเอก พลเรือเอก และพลอากาศเอก ได้เงินเดือนอัตรา “พลเอกพิเศษ” คือระดับ น.9 เท่ากับเป็นการเพิ่มเงินเดือนให้นายทหารยศพลเอกในทุกเหล่าทัพ ซึ่งเดิมรับเงินเดือนในระดับ น.8

 

 

          ความเคลื่อนไหวของนายศรีสุวรรณ ทำให้ร้อนรุ่มไปทั้งกองทัพ กระทั่ง พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชน์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ต้องออกมาปฏิเสธข่าวแบบทันควัน ยืนยันว่าการแก้ไขพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร เป็นการแก้ไข “อัตราจอมพล” เป็น “อัตราพลเอกพิเศษ” ในทุกเหล่าทัพ จึงจำเป็นต้องยกเลิกอัตราเงินเดือนจอมพล แล้วปรับเป็นอัตราเงินเดือนนายพล ระดับ น.9 แทน ซึ่งอัตราเงินเดือนระดับ น.9 ก็มีอยู่แล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการปรับขึ้นเงินเดือน พร้อมทั้งตบท้ายว่าผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้มีความพยายามป้ายสีกองทัพทำให้เสียหาย


          และในวันเดียวกันนั้นเอง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีทหารนั่งอยู่กว่าครึ่ง หรือราวๆ 58% ก็ลงมติรับร่างพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการทหาร ที่เสนอแก้ไขใหม่ ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์


          สรุปก็คือไม่มีการปรับขึ้นเงินเดือนนายพล แต่ปรับเปลี่ยนชื่อเรียกอัตราจาก “จอมพล” เป็น “พลเอกพิเศษ” เท่านั้น เรื่องนี้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน


          แต่ประเด็นที่สังคมอยากรู้กันมากก็คือนายทหารระดับนายพลได้ค่าตอบแทนกันคนละเท่าไหร่ ทั้งเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และเงินพิเศษอื่นๆ

 

          จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าอัตราเงินเดือนระดับ น.9 ที่เรียกว่า “อัตราจอมพล” ของทุกเหล่าทัพ ซึ่งกำลังจะเปลี่ยนเป็น “พลเอกพิเศษ” ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นั้น แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีตำแหน่งจอมพลจริงๆ แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีนายทหารยศ “พลเอก” ของทุกเหล่าทัพที่ครองอัตราจอมพลอยู่ ก็คือได้อัตราเงินเดือนระดับ น.9 อยู่แล้ว เช่น ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ รวมไปถึงประธานคณะที่ปรึกษาของแต่ละเหล่าทัพด้วย

 

 

          อัตราเงินเดือนระดับ น.9 นี้ สูงสุดอยู่ที่ 78,030 บาท โดยนายพลที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการเหล่าทัพไม่ได้รับแค่เงินเดือน แต่จะได้เงินเพิ่มที่เรียกว่า “เงินบริหารระดับสูง” อีก 21,000 บาท “เงินค่าตอบแทนรายเดือน” 21,000 บาท และ “เงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง” กรณีที่ไม่มีรถประจำตำแหน่งอีก 41,000 บาท


          คิดสะระตะค่าตอบแทนรายเดือนที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพบ้านเราได้รับ ถ้าไม่รวมเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง เพราะระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพมีรถประจำตำแหน่งทุกคนอยู่แล้ว สรุปว่าค่าตอบแทนรายเดือนก็จะเท่ากับ 78,030 บาท + 21,000 บาท + 21,000 บาท = 120,030 บาท


          นี่ยังไม่นับเงินพสร. หรือ “เงินเพิ่มสู้รบ” และเบี้ยประชุมต่างๆ อีก เช่น ประชุมสภากลาโหม ครั้งละ 8,000 ถึง 10,000 บาท เป็นต้น
  

          เงินเดือนระดับนี้ต้องบอกว่าน้องๆ ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของประเทศ ในฐานะผู้นำสูงสุดของฝ่ายบริหารเลยทีเดียว เพราะ “นายกฯ ไทย” ได้เงินเดือน 75,590 บาท บวกกับเงินเพิ่มอีก 50,000 บาท รวมเป็น 125,590 บาทต่อเดือน


          แต่สำหรับ “นายกฯ ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เงินเดือน 2 เด้ง เพราะรับในตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีก อัตราเงินเดือนและเงินเพิ่มเท่ากับตำแหน่งนายกฯ คือ 125,590 บาทต่อเดือน รวมเป็น 251,180 บาท


          ส่วนนายทหารยศ “พลเอก” ในทุกเหล่าทัพที่ไม่ได้ครองอัตราจอมพล ได้เงินเดือนระดับ น.8 สูงสุดอยู่ที่ 76,800 บาท บางตำแหน่งที่เป็นผู้บริหารระดับสูง หรือเรียกว่าอยู่ใน “ตำแหน่งหลัก” จะได้เงินบริหารระดับสูงอีก 21,000 บาท ได้เงินค่าตอบแทนรายเดือน 21,000 บาท และเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งอีก 41,000 บาทเช่นกัน เบ็ดเสร็จต่อเดือนนายทหารยศพลเอกตำแหน่งหลักจะได้รับค่าตอบแทน 118,800 บาท ไม่รวมค่าตอบแทนเหมาจ่ายการจัดหารถประจำตำแหน่ง


          เงินตอบแทนพิเศษ ทั้งเงินบริหารระดับสูง เงินค่าตอบแทนรายเดือน และค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่งในอัตราเดียวกันนี้ ยังได้รับไปถึงนายทหารยศ “พลโท” ของทุกเหล่าทัพที่ดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูง หรือ “ตำแหน่งหลัก” ด้วย แต่นายทหารยศ “พลโท” จะได้เงินเดือนในระดับ น.7 สูงสุดอยู่ที่ 74,320 บาท รวมค่าตอบแทนที่นายทหารยศ “พลโทตำแหน่งหลัก” ได้รับอยู่ที่ 116,320 บาท ไม่รวมค่าตอบแทนเหมาจ่ายการจัดหารถประจำตำแหน่ง


          ส่วนนายทหารยศ “พลตรี” ของทุกเหล่าทัพที่อยู่ในตำแหน่งบริหารระดับสูง หรือ “ตำแหน่งหลัก” จะได้เงินบริหารระดับสูง 14,500 บาท เงินค่าตอบแทนรายเดือน 14,500 บาท และเงินค่าตอบแทนเหมาจ่ายแทนการจัดหารถประจำตำแหน่ง กรณีไม่มีรถประจำตำแหน่งอีก 31,800 บาท โดยนายทหารยศ “พลตรี” จะได้รับเงินเดือนในระดับ น.6 สูงสุดอยู่ที่ 69,040 บาท เบ็ดเสร็จพลตรีตำแหน่งหลักจะได้ค่าตอบแทนต่อเดือนอยู่ที่ 98,040 บาท ไม่รวมค่าตอบแทนเหมาจ่ายการจัดหารถประจำตำแหน่ง


          นี่คือเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นๆ ที่นายพลตำแหน่งหลักของบ้านเราได้รับในอัตราสูงสุดของแต่ละชั้นยศในแต่ละเดือน ส่วนนายพลที่ไม่ใช่ตำแหน่งหลัก เช่นพวก “ผู้ทรงฯ-ผู้ชำนาญฯ” ซึ่งหมายถึง “ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ” กับ “ผู้ชำนาญการพิเศษ” พวกนี้บางคนก็จะไม่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษ ได้เฉพาะเงินเดือน โดยเงินเดือนสูงสุดเต็มขั้นของแต่ละชั้นยศอยู่ที่ 69,000 บาทถึง 78,000 บาท ไม่รวมเงินเพิ่มอื่นๆ


          ในขณะที่นายพลเมืองไทยประมาณการกันว่ามีราวๆ 1,500 คน ซึ่งน่าจะมากที่สุดในโลก (รวมนายพลว่างงานด้วยจำนวนหนึ่ง) ลองคูณกันดูเองก็แล้วกันว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไหร่จ่ายเงินเดือนให้นายพลบ้านเรา


          แน่นอนว่าผลงานคือตัวชี้วัดความคุ้มค่า!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ