คอลัมนิสต์

คดีข่มขืนกับกระบวนการยุติธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คดีข่มขืนกับกระบวนการยุติธรรม : คอลัมน์...  And justice for all   โดย...  ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ


 

          ฉาว! หมอข่มขืนคนไข้ระหว่างตรวจภายใน อ้างใช้ของปลอมสอดใส่


          การข่มขืนและการคุกคามทางเพศถือเป็นหนึ่งในอาชญากรรมที่มีความชั่วร้ายรูปแบบหนึ่ง ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการข่มขืนส่วนใหญ่เป็นสตรีที่ชีวิตของพวกเขาถูกทำลายโดยผู้อื่น ไม่เพียงแค่ผู้ที่ถูกข่มขืนเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว แต่สมาชิกในครอบครัว เพื่อนและคนรอบข้างก็ประสบกับภาวะเลวร้ายเช่นกัน การถูกข่มขืนเป็นประสบการณ์ที่น่าสะพรึงกลัวและน่าอับอายสำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ แต่จากสถิติการรายงานเหตุอาชญากรรมในต่างประเทศกลับระบุว่าคดีข่มขืนเป็นเหตุอาชญากรรมที่ไม่มีการรายงานเหตุสูงที่สุด

 

 

          สาเหตุที่ผู้ที่ถูกข่มขืนมักไม่รายงานอาชญากรรมต่อตำรวจเพราะเหตุผลหลายประการ เช่น ความอับอายในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ต้องการให้ผู้อื่นรับรู้ ความหวาดกลัวในการถูกถามซ้ำในขั้นตอนของการสอบสวนและขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม และสิ่งสำคัญที่สุดคือไม่มีพยานและหลักฐานเพียงพอในการร้องทุกข์ เนื่องจากคดีข่มขืนส่วนใหญ่นั้นเกิดขึ้นระหว่างบุคคลเพียงแค่สองคนคือ อาชญากร และ เหยื่อ เท่านั้น นอกจากนี้ผู้ข่มขืนมักจะมีความคุ้นเคยกับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ จึงเป็นเหตุผลที่อาชญากรรมประเภทนี้ยังคงเป็นปัญหาอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

 

          จากสาเหตุที่กล่าวมาข้างต้นส่งผลให้สถิติการรายงานเหตุต่อตำรวจสำหรับคดีข่มขืนและอาชญากรรมทางเพศทั่วโลก ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับการเกิดขึ้นจริงของอาชญากรรมดังกล่าว จากสถิติของการเกิดคดีข่มขืนในต่างประเทศพบว่า เหยื่อของการถูกข่มขืนส่วนใหญ่จะถูกข่มขืนโดยบุคคลใกล้ชิด มีเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของคดีข่มขืนเท่านั้น ที่ถูกกระทำโดยคนแปลกหน้า และกว่า 1 ใน 3 ของคดีที่ส่งฟ้องทั้งหมดกลับต้องยกฟ้องด้วยเหตุผลของการขาดพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิด

 

          จะเห็นได้ว่าแม้แต่ในต่างประเทศเองก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับคดีข่มขืนในกระบวนการยุติธรรม สำหรับประเทศไทยนั้น นอกจากยังไม่มีการเก็บข้อมูลสถิติเกี่ยวกับคดีข่มขืนอย่างละเอียดเพียงพอแล้ว ประเทศไทยยังมีข้อบกพร่องในด้านการเก็บสถิติอาชญากรรมประเภทนี้อย่างยิ่ง กล่าวคือการเก็บสถิติคดีอาญา ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำการบันทึกเฉพาะคดีข่มขืนกระทำชำเราเท่านั้น โดยไม่มีการเก็บบันทึกการกระทำอนาจารหรือการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศอื่น ส่งผลให้สถิติความผิดเกี่ยวกับเพศของประเทศไทยไม่มีความครบถ้วน ไม่สามารถนำไปสู่การวิเคราะห์ทางสถิติถึงภาพรวมของการเกิดอาชญากรรมประเภทนี้ได้อย่างชัดเจน



          นอกจากนี้ ในด้านการวิเคราะห์การเกิดขึ้นของคดีดังกล่าวแบบแยกเป็นรายคดี พบว่าการวิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประสบปัญหาไม่แตกต่างกันกับต่างประเทศ คดีข่มขืนเป็นหนึ่งในประเภทคดีที่ไร้ซึ่งพยานหลักฐาน หากไม่มีการบันทึกเสียงหรือภาพโดยประจักษ์ชัดแล้ว มีความเป็นไปได้สูงที่ผู้กระทำความผิดจะไม่ถูกดำเนินคดี


          อีกประเด็นหนึ่งที่เป็นหนึ่งในข้อถกเถียงเกี่ยวกับคดีข่มขืนที่สำคัญในสังคมไทยคือ การเพิ่มบทลงโทษในคดีข่มขืนให้เป็นการประหารชีวิตในทุกกรณี ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นมีทั้งผู้สนับสนุนและต่อต้าน


          ในด้านของผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวนี้ มีข้อเสนอบนพื้นฐานของหลักคิดแบบ การลงโทษแบบแก้แค้นทดแทน หรือ ตาต่อตา ฟันต่อฟัน และมีความเชื่อว่า การเพิ่มบทลงโทษดังกล่าวนั้นจะทำให้การก่ออาชญากรรมประเภทนี้ลดลงได้


          ในทางกลับกันผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มบทลงโทษในคดีข่มขืนให้เป็นการประหารชีวิตในทุกกรณี ให้เหตุผลว่า การเพิ่มโทษดังกล่าวจะทำให้เหยื่อทุกรายจะถูกฆ่าปิดปาก รวมถึงกระบวนการยุติธรรมจะเกิดความผิดพลาดหากมีการจับแพะหรือการใส่ร้ายเกิดขึ้น เป็นต้น

 

          กล่าวได้ว่าคดีข่มขืนกับกระบวนการยุติธรรมนั้น เป็นพฤติกรรมอาชญากรรมที่ยังคงเป็นปัญหาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในด้านสถิติการแจ้งเหตุอาชญากรรม การลงโทษผู้กระทำความผิด และบทกำหนดโทษ ดังนั้นนักวิชาการโดยเฉพาะนักอาชญาวิทยา และบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ควรให้ความสำคัญกับอาชญากรรมกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ