คอลัมนิสต์

"พรรคทักษิณ" กับสมรภูมิที่ไม่เหมือนเดิม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"พรรคทักษิณ" กับสมรภูมิที่ไม่เหมือนเดิม : คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...  บางนา บางปะกง


 

          นับแต่รัฐประหาร 2549 จนถึงปี 2562 หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป 3 ครั้ง ในรอบหนึ่งทศวรรษ

 

          สองครั้งแรก พรรคการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น แต่ครั้งใหม่ ยังไม่มีใครฟันธงได้ว่า ทักษิณจะทำแฮตทริก

 

 

          การเลือกตั้งเมื่อวันอาทิตย์ที่ 23 ธันวาคม 2550 ใต้รัฐธรรมนูญ 2550 มี ส.ส.จำนวน 480 คน โดยแบ่งเป็น ส.ส. 400 คน และ ส.ส.แบบสัดส่วนจำนวน 80 คน


          ช่วงหาเสียง “ทักษิณ” ตั้งพรรคพลังประชาชน ส่ง ส.ส.ลงสนามเต็มทุกพื้นที่ มี “เนวิน ชิดชอบ” รับผิดชอบด้านกลยุทธ์เชิงลึก ในภาคอีสาน พร้อมด้วยกลุ่มพลังมวลชนคนรักทักษิณ เปิดแนวรบจรยุทธ์ขายภาพ “ทักษิณ อัศวินในดวงใจ” เช่นเดียวกับกลุ่ม “เจ๊แดง” ในภาคเหนือ 

 

          ส่วนสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรค ก็เดินสายปราศรัยตามสไตล์เก่าๆ ไม่มีผลต่อคะแนนเสียงเท่าไหร่ ผลการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชน ได้ ส.ส. 256 คน (สองระบบ)


          การเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม 2554 พรรคของทักษิณเปลี่ยนเป็นพรรคเพื่อไทย และส่งน้องสาว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สู่สนามเลือกตัั้งและเสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรี


          กลยุทธ์หาเสียงปี 2554 ถอดแบบมาจากสมัยพรรคไทยรักไทย เปิดยุทธการแอร์วอร์ ปูพรมด้วยภาพ “นารีขี่ม้าขาว” ผ่านทุกสื่อทุกช่อง และสนับสนุนด้วยกองกำลังภาคพื้นดินคือ “กองทัพคนเสื้อแดง”

 

 

"พรรคทักษิณ" กับสมรภูมิที่ไม่เหมือนเดิม

 

 

          ผลเลือกตั้ง พรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย 15,744,190 คะแนน รวมแล้วได้ ส.ส.จำนวน 265 คน เกินกึ่งหนึ่งของสภา


          สำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้นปีหน้า ใต้รัฐธรรมนูญ 2560 และระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม โดยให้ประชาชนเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 เขต และนำคะแนนผู้สมัคร ส.ส. ทั้งประเทศของพรรคนั้นๆ ไปคำนวณสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวม 150 คน

 

          “ทักษิณ” จึงแก้เกมแยกพรรคในเครือข่ายชินวัตร ออกเป็น 2 พรรคคือ พรรคเพื่อไทย กับพรรคไทยรักษาชาติ สมทบด้วยพรรคแนวร่วมที่ใกล้ชิด 2 พรรคอย่างพรรคเพื่อชาติ และพรรคประชาชาติ




          ส่วนพรรคอนาคตใหม่ พรรคเสรีรวมไทย และพรรคพลังปวงชนไทย เป็นแนวร่วมที่ห่างออกไป 


          คำว่า “สมรภูมิไม่เหมือนเดิม” ของทักษิณนั้น ประการแรก กติกาจัดสรรปันส่วน ทำให้ทักษิณต้อง “แยกพรรคแยกร่าง” ซึ่งยากที่กำหนดเกมได้เหมือนนั่งวางแผนสู้แบบพรรคเดียว และในสมรภูมิเลือกตั้ง ก็ต้องสู้กันสุดฤทธิ์ 


          ประการที่สอง การแยกพรรคแยกร่าง ด้านหนึ่งก็เหมือน “ตอกลิ่ม” ความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทย ที่มีหลายก๊กหลายก๊วนให้ร้าวลึกลงไปอีก เหตุที่ยังหลอมรวมกันได้ เพราะกระแสทักษิณยังครองใจชาวบ้าน เลยไม่มีอดีต ส.ส.คนใดคิดเสี่ยงออกจากพรรคเพื่อไทย


          อดีต ส.ส.เพื่อไทยกลุ่มหนึ่ง ที่แยกตัวออกไปอยู่พรรคพลังประชารัฐ และพรรคชาติไทยพัฒนา เป็นนักเลือกตั้งดาวฤกษ์ จึงไม่หวั่นจะพ่ายกระแสทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ และอีกเหตุผลหนึ่ง ก็มาจากความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทยนั่นแหละ


          ประการที่สาม กองกำลังภาคพื้นดิน ทั้งคนรักทักษิณ และคนเสื้อแดง มิอาจเคลื่อนไหวโดยเสรี ดังเช่นปี 2550 และ 2554 แถมมวลชนจำนวนไม่น้อย เทใจเชียร์พรรคเสรีรวมไทย และพรรคอนาคตใหม่ จึงเกิดปรากฏการณ์ “รบกันเอง” 

 

 

"พรรคทักษิณ" กับสมรภูมิที่ไม่เหมือนเดิม

 


          นี่คือภาพรวมของสมรภูมิเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป และอาจจะไม่เหมือนเดิมตลอดไป ? 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ