คอลัมนิสต์

ยึดพูดคุยสันติสุขฯ 4 ปี คุยผิดกลุ่ม?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ยึดพูดคุยสันติสุขฯ4 ปี คุยผิดกลุ่ม? : คอลัมน์...  ขันเชือกท็อปบู๊ท  โดย... สไนเปอร์

 

 

          การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในประเทศมาเลเซีย นับมีบทบาทสำคัญที่ทำให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถูกยกเครื่องใหม่ หลัง “มหาธีร์ โมฮัมหมัด” นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย แต่งตั้ง "ตัน สรี อับดุลราฮิม บิน โมห์ด นูร์” อดีตผู้บัญชาการตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลมาเลเซีย เข้ามาทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกพร้อมยกเลิกแนวทางการพูดคุยของเดิม ปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่หวังให้เกิดความสำเร็จภายใน 1 ปีเพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย

 

 

          ตัน สรี อับดุล ราฮิม บิน โมห์ด นูร์ ถูกมองว่าเป็นบุคคลที่เหมาะสมจะเข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าว เพราะเคยมีประสบการณ์ช่วยเหลือรัฐบาลไทยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย 


          ทันทีที่ชายคนนี้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกการพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ลงพื้นที่พบปะกับกลุ่มขบวนการทั้งหมดรวบรวมข้อมูลเสนอเป็นแนวทางให้รัฐบาลไทย โดยกลุ่มหลักที่หวังให้พูดคุยด้วยคือ “กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ“ หรือ ”บีอาร์เอ็น” 


          เนื่องจากบีอาร์เอ็นเป็น "ตัวจริง-เสียงจริง” เพราะมีความชัดเจนในองค์กรนำ มีแผนขับเคลื่อนงาน ไม่ว่าจะด้านต่างประเทศการเมือง หรือการศึกษา และกองกำลังทางทหาร ภายใต้การนำของ “ดูนเลาะ แวมะนอ” หัวหน้ากลุ่มองค์กรบีอาร์เอ็น ขณะที่ “มาราปาตานี” เป็นกลุ่มหมดอำนาจไปแล้ว ไม่มีศักยภาพในการควบคุม สั่งการอย่างแท้จริง


          การเดินทางมาเยือนไทยของ “มหาธีร์” ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนให้รัฐบาลไทยมั่นใจว่าขณะนี้มาเลเซียพร้อมแล้วในการทำหน้าที่ผู้อำนวยความสะดวกขับเคลื่อนการพูดคุยสันติสุขและจะทำให้เกิดความสำเร็จภายในปี 2562 นี้ 

 

          มหาธีร์มีเวลาอยู่ในตำแหน่งเพียง 2 ปี ในห้วงเวลาจำกัดนี้ผู้นำมาเลเซียหวังยกระดับประเทศให้เป็นผู้นำเศรษฐกิจ พร้อมปัดกวาด “รัฐกลันตันและตรังกานู” ซึ่งเป็นพื้นที่กลุ่มเห็นต่าง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยฝังตัวอยู่



          ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่งผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจเปลี่ยนหัวหน้าคณะพูดคุย จาก “พล.อ.อักษรา เกิดผล” ไปเป็น "พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และเป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คปต.)


          นอกจาก “พล.อ.อุดมชัย” จะเป็นคนในพื้นที่ที่มีความชำนาญและคุ้นเคยกับกลุ่มขบวนการต่างๆ แล้ว ยังสามารถทำงานเป็นทีมเดียวกับ “พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์” แม่ทัพภาคที่ 4 คนปัจจุบัน จะส่งผลให้ทิศทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น


          ภารกิจแรกของพล.อ.อุดมชัย คือสำรวจข้อมูลความต้องการของภาคประชาชนเพิ่มเติมจากฐานข้อมูลเก่า ซึ่งพบว่าประชาชนในพื้นที่ยังคงปฏิเสธความขัดแย้งและต้องการความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมาเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือด้านเศรษฐกิจการลงพื้นที่ครั้งนี้


          สิ่งสำคัญคือการไปหาคำตอบว่า “ห้วง 4 ปีที่ผ่านมา กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข ฉบับ พล.อ.อักษรากับกลุ่มมาราปาตานี” จนกลายเป็นที่มาการกำหนดพื้นที่เซฟตี้โซน (อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส) คุยกับตัวจริง หรือตัวปลอม?


          ด้านมหาธีร์ จะใช้ระบบของตัวเอง คือยึดการพูดคุยในทางลับ โดยการเลือกอดีตผู้บัญชาการตำรวจและผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล มาทำหน้าที่เพราะรู้ข้อมูลกลุ่มขบวนการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยพุ่งเป้าไปที่ขบวนการบีอาร์เอ็น


          หน่วยข่าวในพื้นที่ยังพบข้อมูลว่า มาราปาตานีเป็นกลุ่มคนที่หมดอำนาจไปแล้ว ไม่อยู่ในโครงสร้างของกลุ่มขบวนการอย่างที่เคยกล่าวอ้างในขณะที่พื้นที่เซฟตี้โซน (อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส) ก็ยังไม่มีผลใดๆ เนื่องจากเป็นการกำหนดพื้นที่ฝ่ายเดียวของไทย


          สภาพโดยรวมขณะนี้ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตัวเอง "พล.อ.อุดมชัย" กล่าวยอมรับว่า "อยู่ระหว่างการตรวจสอบ และประเมินว่ากลุ่มมาราปาตานี คือตัวจริง หรือตัวปลอม และมีศักยภาพในการควบคุมเหตุการณ์ในพื้นที่หรือไม่ตอนนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแล้วจะพิจารณาอีกครั้งในเร็ววันนี้


          พล.อ.อุดมชัย ยังไม่รีบร้อนเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติสุข นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้ร้องขอไปทางมาเลเซียช่วยสำรวจข้อมูลกลุ่มผู้เห็นต่างทั้งหมด เพราะดูจากข้อมูลเก่าเรามีเพียงกลุ่มมาราปาตานีแค่กลุ่มเดียวเท่านั้นซึ่งตนถือว่ายังไม่ครอบคลุมและหากได้ข้อมูลมาทั้งหมดแล้วจะพิจารณาดูให้ละเอียด


          แม้ว่ารัฐบาลมาเลเซียและกลุ่มขบวนการจะพร้อมแล้ว แต่สำหรับรัฐบาลไทยยังมีข้อกังวลว่า การเปิดโต๊ะเจรจาอีกครั้งกับบีอาร์เอ็นกลุ่มใหม่จะนำไปสู่การยกระดับ เนื่องจากเป้าหมายการแบ่งแยกดินแดนยังคงอยู่กับเงื่อนไขที่อาจมีเพิ่มมากขึ้น


          เหนืออื่นใดเสถียรภาพการเมืองในประเทศไทยที่กำลังอยู่ในห้วงการเลือกตั้งยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งหากเกิดการเปลี่ยนขั้วรัฐบาลเช่นเดียวกับมาเลเซีย กระบวนการต่างๆ อาจจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามผู้มีอำนาจของประเทศ ขณะที่รัฐบาลไทยเองต้องรักษาบทบาทไม่ให้ถูกกดดันในเวทีพูดคุย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ