คอลัมนิสต์

"มวยเด็ก"Gladiator ตัวน้อย?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ปัญหา "มวยเด็ก" ถกเถียงวนลูปมาเนิ่นนานในสังคมไทย แต่ยังไม่มีรูปธรรรมชัดเจนว่าจะลงเอยแบบไหน

          


          จนมาเกิดเรื่องสลดกับนักมวยเด็ก ‘เพชรมงคล ป.พีณภัทร’ หรือ ด.ช.อนุชา ทาสะโก วัย 13 ปี ที่เพิ่งเสียชีวิตจากอาการเลือดคั่งในสมอง หลังขึ้นชกมวยที่พระประแดง สมุทรปราการ

 

 

          เรื่องนี้จึงถูกไฮไลท์อีกครั้งโดยเฉพาะเรื่องที่่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ พยายามผลักดันกฎหมายห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชกมวย


          แต่ที่สุดก็ยังเต็มไปด้วยเสียงคัดค้านอย่างร้อนแรงจากคนในแวดวงมวยไทยจำนวนมากเหมือนเดิม!
+++

          วิถีคนยาก?
          ความขัดแย้งเรื่องมวยเด็กจะมีชุดเหตุผลต่างๆ ตามมาเสมอ ไล่ตั้งแต่พูดถึง “ความยากจน  รากฐานสังคม และความรักความชอบในกีฬานี้”


          อย่างที่รู้กันว่าเหตุผลที่นักมวยเลือกทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการขึ้นชกก็คือ “ความยากจน” การชกมวยไม่ต้องลงทุนอุปกรณ์อะไรเลยนอกจากร่างกาย


          มันจึงเกิดคำพูดเช่นว่า “ถ้ามีเงิน คงไม่มีใครอยากเจ็บตัว” หรือ “มีคนรวยที่ไหนส่งลูกไปเป็นนักมวย”


          บัวขาว บัญชาเมฆ ชกมวยไทยตอน 8 ขวบ วัยเด็กจูงควาย งีบบนคันนามาก่อน สมจิตร จงจอหอ ก็เริ่มตอน 8 ขวบ นี่ก็จนหมดรูปมาก่อน เช่นเดียวกับนักชกคนดังอีกมากมาย


          และจะเห็นว่าทุกคนก็เริ่มตั้งแต่วัยน้อยๆ เพราะไม้อ่อนดัดง่าย เริ่มเร็วสั่งสมพลังและทักษะได้มากกว่า แต่คำถามคือที่แท้มันคือการเร่งทำมาหากินตั้งแต่ที่เห็นว่าเด็กโตพอจะเริ่มทำงานได้แล้วหรือเปล่า!

 

          ส่วนเรื่องความยากจน หลายคนก็ถามว่านี่เป็นความรับผิดชอบของเด็กที่ต้องพิสูจน์ความกล้าหาญกตัญญูกับพ่อแม่ด้วยวิธีนี้?


          จบจากเรื่องนี้ก็มาเรื่องที่ว่ามวยไทยเป็น “ประเพณีวัฒนธรรม” เพราะมีมาช้านาน

 




          ถ้าไม่นับว่าแต่ก่อนไทยเรายามศึกสงครามจะมีการชกมวยขันแข่งเพื่อเฟ้นหาผู้กล้าแกร่ง ต่อมาภายหลังมวยไทยไปอยู่ตามงานวัดงานประเพณีในท้องถิ่น ที่ต้องมี “มวยวัด” จัดไว้เป็นไฮไลท์ท้ายๆ ชกประมาณ 3 ทุ่มขึ้นไป


          แล้วช่วงที่ทุกคนชอบคือการ “เปรียบมวย” คือดูรูปร่างสรีระก่อนการชก ซึ่งโดยมากคู่ชกจะเป็นเด็กวัยรุ่นในหมู่บ้าน หรือคนนอกถิ่น ที่อาจเป็นคู่อริที่ต้องการเคลียร์ปมต่อกัน


          แม้ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่ามวยวัดคือมวยเด็ก หรือมวยเด็กเริ่มมีครั้งแรกเมื่่อไหร่ แต่คนไทยรู้ว่ามีมานานแล้วจนมองว่านี่คือสีสันความงดงาม ศิลปะการต่อสู้แบบไทยๆ ที่ตกทอดมารุ่นสู่รุ่น


          และฝังรากในฐานคิดของสังคมไทยว่า “มวยไทย” คือเกมกีฬาที่มีคุณค่าแก่การอนุรักษ์และส่งเสริม


          แต่ถ้าจะเอาพจนานุกรมฉบับ “คึกฤทธิ์” ที่กล่าวว่า “ประเพณีคือการกระทำที่ทำโดยไม่รู้ความหมาย” อันนี้ก็น่าคิดว่าการ “สร้างความสุขให้คนดู” ด้วยการเอาปากแลกหมัด นั่นหรือคือ “ประเพณี”


          สุดท้ายมาถึงเรื่อง “ความรักชอบ” ที่หลายคนพยายามเน้น หรือแม้แต่ตัวเด็กเองที่ออกมายอมรับว่ารักอาชีพนักมวย


          เอาเข้าจริงเรื่องนี้ก็ยังคงหาตัวชี้วัดชัดเจนไม่ได้ว่าแท้จริงแล้ว เด็กชอบเพราะถูกปลูกฝัง ภาษาวัยรุ่นคือ “ถูกบิวท์” มาจากผู้ใหญ่ หรือชอบเองจริงๆ กันแน่


          หรือต่อให้เด็กรักชอบด้วยตนเอง หากมันนำมาซึ่งเหตุถึงตายก็ควรหันมาร่วมกันขบคิดให้แตก ให้จบ ให้ลงรอยว่าจุดสมดุล สมควร มันอยู่ตรงไหน

+++

          วิถีคนโกย?
          วงการมวยไทยแทบเป็นอีกโลก จะฉายภาพให้หมดคงไม่ไหว แต่ที่แน่ๆ ในเส้นทางกล้าหาญ-กตัญญู ยังมีกลุ่มคนเบื้องหลังที่จะเรียกว่าเป็นผู้กุมชะตานักมวยตัวจริงก็ว่าได้


          คนมวยจะรู้ว่าธุรกิจมวยไทยอาชีพมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มบุคคล 3 ฝ่าย ได้แก่ นายสนามมวย ผู้จัดรายการแข่งขัน (โปรโมเตอร์) และ หัวหน้าค่าย


          และแต่ละกลุ่มก็มีหน้าที่ มีองคาพยพของตนเองอย่างกว้างขวาง ผู้คนในความดูแลอีกจำนวนมาก!!


          แต่โปรโมเตอร์จะมีบทบาทมากที่สุด เพราะเป็นผู้วางแผนประกบคู่มวยในการจัดรายการแข่งขันนั้นๆ และความสนุกของรายการมวยจะมีหรือไม่ มีมากมีน้อย ก็ขึ้นอยู่กับนักมวยในรายการนั้น


          ส่วนหลังชกเสร็จ โปรโมเตอร์ก็จะเป็นผู้ประเมินผลการชก โดยดูจากยอดค่าบัตรผ่านประตูที่จำหน่ายได้และจากผลตอบรับของผู้ชมและสื่อว่ารายการมวยที่จัดออกไปนั้นเป็นอย่างไร


          และโปรโมเตอร์ยังเป็นผู้ที่จะประเมินดูว่านักมวยที่ขึ้นชกในรายการทำเต็มที่หรือไม่ ออกอาวุธหรือไม่ และฟิตซ้อมมามากน้อยแค่ไหน เพื่อเป็นการพิจารณา “ค่าตัว” นักมวยในการแข่งขันครั้งต่อไป


          ขณะที่ยอดขายตั๋วและเสียงตอบรับของคู่มวยที่จัด ยังส่งผลต่อ “โควตาสนามมวย” ที่จะชกในครั้งต่อไปด้วย พูดง่ายๆ ว่า ถ้างานดีก็มีโอกาสได้สนามชกมากขึ้น


          จะเห็นว่าทั้งหมดนี้มีผลต่อค่าแรงของคนขึ้นไป “เจ็บตัว” บนเวทีทั้งสิ้น ซึ่งแน่นอนว่าโลกธุรกิจ “กำไร” คือปลายทาง ดังนั้นจะเห็นว่าในบ้านเราโปรโมเตอร์มวยจึงมีแต่ระดับเศรษฐี!


          ถ้าใครจำ “นภา เกียรติวันชัย” ได้ช่วงปี 2558 เขาให้สัมภาษณ์สื่อไทยรัฐ ถึงวงการมวยไทยช่วงก่อนที่เขาจะหันไปชกมวยสากลว่า


          “จำไว้นะสำหรับนักมวยไทยไม่มีเงินเดือนหรอก ต้องถึงวันที่จะชกเท่านั้นแหละถึงเรียกว่าเงินเดือนออก หากนักมวยคนไหนไม่มีรายการชกก็ไม่มีเงิน ซ้อมไปอยู่นั่น ซ้อมไปจนบางทีนักมวยท้อไปเองก็มี"


          นอกจากนี้ช่วงหลังวงการมวยไทยบ้านเราค่อนข้างซบเซาจะด้วยเหตุผลที่คนไทยหันไปนิยมกีฬาฟุตบอลหรือไม่ก็ตาม


          แต่เราก็ได้เห็นว่าการจัดแข่งขันมวยไทยมีรูปแบบใหม่ๆ เพื่อความบันเทิงมากขึ้น เช่นการประกบคู่มวยให้มีนักชกไทยกับชาวต่างชาติ มีสตอรี่และคอนเซ็ปต์ของการชกมากขึ้นเพื่อดึงดูดผู้ชม


          ดังนั้นก็น่าคิดว่าการจัดชก “มวยเด็ก” ซึ่งแพร่หลายมากในพักหลังก็คือวิถีเพื่อความอยู่รอดของคนมวยด้วยเหมือนกัน?


          แถมถ้าพูดถึงสิ่งที่เกิดควบคู่กับมวยไทยมาตลอด อย่างเรื่องการพนันขันต่อ ซึ่งบ้านเราจัดอยู่ในการพนันประเภท ข ที่ขออนุญาตเปิดเล่นพนันในสถานที่ได้ เช่น ชกมวย ชนไก่ วัวชน ซึ่งไปๆ มาๆ คนที่นิยมดูมวยไทย แทบจะเป็นกลุ่มผู้เล่นการพนันเสียทั้งหมด


          จึงแทบไม่ต้องคิดเลยว่าหากวงการมวยไทยมีการขยับที่ทางจากวิถีที่เคยทำกันมาแม้เพียงองศาเดียว ก็น่าคิดว่ากลุ่มไหนจะได้รับผลกระทบบ้าง?

000

          กลับมาโฟกัสที่มวยเด็ก ซึ่งบริบทอื่นนอกจาก “อายุ” และ “ขนาดร่างกาย” ก็แทบไม่ต่างกันเลยจากนักมวยรุ่นคนโต


          หากปัจจุบันไทยมีนักมวยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากกว่าหนึ่งแสนคน เดินสายขึ้นชกไม่หยุดตามเวทีงานวัด งานเทศกาล โดยนักมวยเด็กอายุน้อยสุดที่พบคือ 4 ขวบ


          วันนี้สถานะของมวยเด็กถูกตั้งคำถามเรื่องความปลอดภัยจากฝ่ายหนึ่ง กับผลวิจัยยืนยันว่าเด็กที่ชกมวยจะมีการบาดเจ็บทางสมองจริงและหนักสุดคือตาย!


          แต่ฝ่าย “คนมวย” กล่าวโยงไปเรื่องทำมาหาเลี้ยงชีพ ประเพณี จิตวิญญาณ และการสร้างชื่อเสียงของชาติ ซึ่งก็ใช่ว่าจะไม่สำคัญ


          ดังนั้นแม้จะยังมีเสียงอีกมุมหนึ่งที่ขอให้ “ยกเลิกมวยเด็ก” จะไม่มีเสียงตอบรับ 


          แต่อย่างน้อยในเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 ที่สาระคือเพิ่มกฎเเละมาตรการป้องกันความปลอดภัยให้เป็นไปตามหลักสากล กำหนดให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ห้ามชกมวย เเต่ถ้าอายุระหว่าง 12-15 ปี สามารถขึ้นชกได้ ซึ่งก็จะต้องสวมเครื่องป้องกัน อาทิ เฮดการ์ด เป็นต้นนั้น


          ถามผู้ใหญ่...ถ้ารักเด็กจริง ก็ควรเปิดตาเปิดใจตรงนี้กันนิดหนึ่ง!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ