คอลัมนิสต์

ลงเขต "เพื่อไทย" ต้องเหนื่อย "เพื่อใคร" 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ลงเขต "เพื่อไทย" ต้องเหนื่อย "เพื่อใคร"  : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...  หมึกพิษ

 

 

          หลังจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการของพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ซึ่งบรรดาเซียนการเมือง ก็ตีความอักษรย่อ ทษช. ย่อมาจาก ทักษิณ ชินวัตร 

 

 

          เพราะเมื่อดูจากรายชื่อของกรรมการบริหารพรรคแล้ว ล้วนแล้วแต่ในครอบครัวชินวัตรและคนที่ใกล้ชิดแทบทั้งนั้น ไมว่าจะตัวนายทักษิณ ชินวัตรเอง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายพายัพ ชินวัตร หรือแม้กระทั่งคนใกล้ชิดของ ลูกโอ๊ค เอม อิ๊ง


          แม้คนในพรรคทษช.ตั้งแต่หัวหน้าพรรคหรือหลายในพรรคออกมาปฏิเสธว่า เป็นพรรคของคนรุ่นใหม่ เลือดใหม่ ที่อยากเข้ามาทำงานเพื่อชาติ ไม่ใช่พรรคสาขาของพรรคเพื่อไทย แต่ดูจากองค์ประกอบทุกอย่างแล้ว ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นแบบนั้นจริงๆ


          และภาพต่างๆ ยิ่งชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในขณะนี้มีแกนนำและผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทยหลายคนได้ลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย และทยอยเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกของพรรคทษช. ยังไม่รวมอดีต ส.ส.หลายคนก็เริ่มทยอยเข้ามาสมัครและคงจะมีการเปิดตัวเรื่อยๆ


          หากดูความเป็นมาเป็นไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พรรคทษช.จะเกิดขึ้น หลังจากมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ ของพรรคตระกูลเพื่อ เกิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็น เพื่อธรรม เพื่อชาติ ซึ่งถูกมองว่าจะมาเป็นพรรคสาขาหรือพรรคเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย แต่สุดท้ายคำตอบก็มาจบที่ทษช.

 

          ทษช.เกิดขึ้นมาเพื่อจะมาเป็นพรรคที่หวังเก้าอี้ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นหลัก เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขียนให้ต้องมีพรรคเล็ก พรรคน้อย มากอบโกยคะแนนหรือแบ่งคะแนน ทำให้มีบทบาท และเมื่อเขียนรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้พรรคเพื่อไทย ก็ต้องมีการขยับขยายรับมือ

 




          ต้องไม่ลืมว่าเพื่อไทยได้ ส.ส.เขตจำนวนมากอยู่แล้ว ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ไม่เอื้ออำนวย หากได้ ส.ส.เขตจำนวนมากก็แทบจะไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย เพราะหากคิดเป็นตัวเลขเดิมที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อประมาณ 60-70 คน เมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้แบบนี้ ส.ส.บัญชีรายชื่อส่วนนี้ก็จะหายไป จึงต้องมีที่สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นบรรดาแกนนำ ผู้ใหญ่ คนใกล้ชิดทั้งนั้น แต่เมื่อพรรคทษช.ลงตัวแล้ว แต่สิ่งที่ยาก คือจะถ่ายคนอย่างไร ไปสู่พรรคทษช. เพราะในขณะนี้ สิ่งที่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมขึ้นภายในพรรคเพื่อไทยคือ ความไม่ลงตัวของการกระจายตัว เพราะมีอดีตส.ส.หรือว่าที่ผู้สมัครจำนวนมาก ที่พอใจและไม่อยากย้ายไปอยู่พรรคทษช.


          ซึ่งมีการคิดเอาไว้ว่า เดิมจะมีการให้ผู้สมัครหรืออดีตผู้สมัครในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ ที่แพ้แน่ๆ หรือคิดว่าแพ้แน่นอนย้ายไปอยู่พรรคทษช.เพื่อไปช่วยดึงคะแนนส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้มากที่สุด


          แต่ว่าที่ผู้สมัครหลายคน ไม่อยากไปไหน ถึงแม้รู้ตัวเองว่าแพ้ก็อยากจะแพ้ในนามของพรรคเพื่อไทยมากกว่าทษช. ไม่อยากไปไหน โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่ง ที่มีหลายจังหวัดชัดเจนแล้วว่าต้องย้ายไปอยู่ทษช. หากเป็นอย่างนั้น พรรคเพื่อไทยก็จะเลือกส่งเฉพาะส.ส.เขตที่ชนะแน่นอน เน้นแต่ส.ส.เขต และทษช.ก็ลงเฉพาะเขตที่แพ้ แต่หากทำแบบนั้น คงเป็นไปได้ยาก เพราะอาจจะเข้าข่ายฮั้วกัน จึงต้องมีการคิดกันใหม่


          จึงมีอีกหนึ่งสูตรโดยจะให้อดีตส.ส.เขตบางส่วน ที่อยู่ในพื้นที่ที่ชนะแน่นอน ย้ายไปทษช.ด้วย เพื่อจะได้มีส.ส.เขตด้วยและพรรคเพื่อไทยเองก็จะพอได้เปิดพื้นที่ส.ส.บัญชีรายชื่อบ้าง แต่ทั้ง 2 พรรคก็จะไม่ส่งส.ส.ครบทุกเขต


          ขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าตกลงจะเอาอย่างไรและด้วยปัญหานี้เองทำให้มีอดีต.ส.ส.หลายคนเริ่มถูกดูดออกไป เพราะต้องไม่ลืมว่าบางเขตมีคะแนนแพ้จำนวนไม่มาก ประมาณที่ 1-2 พันคะแนน ตัวผู้สมัครเดิม ก็คิดว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะชนะอย่างแน่นอน ด้วยกระแสพรรคเพื่อไทยและกระแสลบของทหาร แต่เมื่อพรรคจะให้ย้ายไปอยู่ทษช.และไม่มีความชัดเจนในเรื่องตัวผู้สมัครเสียที จึงตัดสินใจย้ายพรรคดีกว่า


          และยังมีเสียงสะท้อนของว่าที่ผู้สมัครหลายคนที่มองว่า ในเมื่อเราลงสมัครในนามส.ส.เขต คนที่ลงพื้นที่ก็คือเรา คนลงทุนก็คือตัวเรา ทำไมต้องย้ายไป เพื่อให้ได้คะแนนบัญชีรายชื่อกับคนอื่นด้วย


          ต้องไม่ลืมว่าผู้สมัครบัญชีรายชื่อหลายคน เวลาต่อสู้ก็ไม่ได้ลงมาร่วมต่อสู้ด้วย แต่พอมีตำแหน่งจะมาเอาตำแหน่ง แล้วทำไมต้องมาลงทุนเพื่อคนอื่นมาเหนื่อยเพื่อคนอื่นด้วย คนลงเขตไม่มีค่าเลยหรอ คนที่ลงไปสัมผัสชาวบ้านจริงๆ กลับไม่มีค่าอะไรเลย


          มีคำพูดจากผู้ใหญ่ ชี้แจงเรื่องผู้สมัครที่จะให้ย้ายพรรคว่า “เขตไหนที่รู้ เรารู้ว่าแพ้ จะได้มีแรงสู้ เพราะทุกคะแนนที่ประชาชนให้เรามีคุณค่า แต่คนที่สู้มาตรงนี้ ขนาดรู้ว่าเป็นรอง แต่พร้อมจะสู้ เวลานี้มันไม่เหมือนเดิม สุดท้ายแล้วก็ต้องมองในมุมนักการเมือง ชนะขาดเท่านั้น”


          ทั้งหมดทั้งมวลก็ต้องมาดูกันต่อไป ว่าสุดท้ายแล้วยุทธศาสตร์ รวมกันแพ้ แยกกันชนะ จะได้ผลแค่ไหน แต่ต้องไม่ลืมว่า หากจะออกรบ ขวัญกำลังใจ เป็นเรื่องสำคัญ หากสนใจแต่แม่ทัพนายกอง ไม่สนใจนักรบที่อยู่แนวหน้า ใครจะอยากไปรบ...


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ