คอลัมนิสต์

สถาบันอุดมศึกษากับการทุจริต

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สถาบันอุดมศึกษากับการทุจริต : คอลัมน์...   And justice for all  โดย...  ผศ.ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ


 

          เปิดโปงมหากาพย์โกงพันล้าน เงินกองทุนเทคโนฯ ลาดกระบัง


          คุกอ่วม ‘สวัสดิ์ แสงบางปลา’ 200 ปี 600 เดือน คดีโกงสหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาฯ


          เปิดปมโต้แย้งยื่นทรัพย์สินสภามหาวิทยาลัย

 

 

 

          สถาบันอุดมศึกษากับการทุจริตเป็นประเด็นหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามจากสังคมไทยอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับเรื่องการโกงรูปแบบต่างๆ จนถึงขั้นจะต้องออกกฎเกณฑ์ให้มีการยื่นทรัพย์สินของผู้บริหารมหาวิทยาลัย หรือสภามหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการป้องกันการโกง

 

          แกรี่ เบคเกอร์ กล่าวถึงการคิดก่อนกระทำความผิดของบุคคลในบทความ อาชญากรรมและการลงโทษ ในทางเศรษฐศาสตร์ (Crime and punishment: An economic approach) ว่าบุคคลปกติ (Sane) จะเป็นผู้มีอิสระในการเลือกที่จะกระทำการหรืองดเว้นกระทำการใดอันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายได้ด้วยการตัดสินใจของตนเองอย่างมีเหตุมีผล (Rationality) และแนวทางในการที่จะเลือกที่จะมีพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายของบุคคลนั้นขึ้นอยู่กับความคุ้มค่าจากการกระทำนั้นของแต่ละบุคคล อันหมายถึงความพึงพอใจหรือประโยชน์อันสูงสุดจากการกระทำนั้น สมมุติฐานตามหลักทฤษฎีคิดก่อนกระทำความผิดของ แกรี่ เบคเกอร์ นั้นมีความคล้ายคลึงและสอดคล้องกับแนวคิดของนักอาชญาวิทยาในกลุ่มดั้งเดิม (Classical School of Criminology) ในเรื่อง เจตจำนงเสรี (Free Will) ที่มีความเชื่อว่าเจตจำนงเสรีเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ดังคำกล่าวที่ว่า


          “มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลในการมุ่งแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์สูงสุดทางด้านวัตถุหรือด้านจิตใจ และในการตัดสินใจเลือกกระทำการหรืองดเว้นการกระทำใดๆ มนุษย์จะพิจารณาทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมีเหตุผล”

 

 

          โดยปัจจัยที่ทำให้มนุษย์เกิดความพอใจได้แก่ ความร่ำรวย การได้รับการยกย่องนับถือ ส่วนปัจจัยที่ก่อให้เกิดความทุกข์ประกอบด้วย ความผิดหวัง การไร้อิสรภาพ ความสูญเสีย ความเจ็บปวด เป็นต้น โดยแนวคิดตามแนวทฤษฎีของสำนักอาชญาวิทยาดั้งเดิมนั้น จะวิเคราะห์ถึงการที่มนุษย์คนหนึ่งเลือกที่จะก่ออาชญากรรมหรือมีพฤติกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยของตัวบุคคลนั้นเอง โดยเชื่อว่ามนุษย์เป็นผู้มีเหตุมีผล สามารถเลือกที่จะกระทำการ หรือไม่กระทำการใดได้ด้วยตัวเอง ซึ่งจากแนวคิดดังกล่าวนั้นนำมาสู่การกำหนดกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเพื่อที่จะหยุดยั้งพฤติกรรมอาชญากรรมของมนุษย์ หลักการเหล่านี้มีความสอดคล้องกันกับแนวคิดของแกรี่ เบคเกอร์ ในภายหลัง หากแต่สิ่งที่เบคเกอร์ได้นำเสนอเพิ่มเติมนั้น นอกจากการตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์โดยทั่วไปแล้ว การตัดสินใจดังกล่าวจะต้องอยู่บนบรรทัดฐานของ ความเชี่ยวชาญ (Skill) หรือความรู้ (Knowledge) ของบุคคลนั้นกับข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่บุคคลนั้นมีด้วย



          ในด้านความเชื่อมโยงระหว่างกรณีปัญหาการทุจริตในสถาบันอุดมศึกษากับทฤษฎีคิดก่อนกระทำ ของแกรี่ เบคเกอร์นั้น สามารถอธิบายได้ว่า การตัดสินใจที่จะกระทำความผิดดังกล่าว บุคคลได้ไตร่ตรองว่าพฤติกรรมดังกล่าวสามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่บุคคลนั้น ซึ่งความพึงพอใจที่ว่านั่นคือจำนวนเงินอันมหาศาลหากเปรียบเทียบกับจำนวนเงินที่ได้ในปัจจุบัน เช่นกรณีผู้กระทำความผิดเป็นผู้รับราชการหรือการเป็นพนักงานที่ได้รับเงินเดือนตามปกติ หากตัดสินใจแล้วว่าเมื่อกระทำความผิดเงินที่ได้มานั้นคุ้มค่าเพราะสามารถได้เงินจำนวนมากในระยะเวลาอันสั้นและสามารถหลบหนีไปได้อย่างไร้ร่องรอย จำนวนเงินที่ได้จากการกระทำความผิดในเวลาไม่กี่ปีนั้นมีจำนวนเงินที่มากกว่าจำนวนเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่เขาจะได้ทั้งชีวิต บุคคลย่อมเลือกที่จะตัดสินใจทำจะกระทำการดังกล่าว ผ่านการคิดคำนวณอย่างเป็นเหตุเป็นผลของบุคคลนั้นเอง


          แต่อย่างไรก็ตามในส่วนของแนวคิด “การคิดก่อนกระทำอันมีความความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของมนุษย์” ได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่าการคิดก่อนกระทำอันมีผลต่อการตัดสินใจทุกอย่างของมนุษย์และนำไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยการตัดสินใจต่างๆ ของมนุษย์นั้นนอกจากการตัดสินใจโดยทั่วไปแล้ว การตัดสินใจดังกล่าวจะต้องอยู่บนบรรทัดฐานของความเชี่ยวชาญ (Skill) หรือความรู้ (Knowledge) ของบุคคลนั้นกับ ข้อมูลข่าวสาร (Information) ที่บุคคลนั้นมี ซึ่งหากบุคคลหนึ่งจะตัดสินใจกระทำการทุจริตในลักษณะดังกล่าวทุกคน นอกจากตัวเงิน รายได้ ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเข้าสู่การมีพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว ความเชี่ยวชาญในการทุจริต และข้อมูลข่าวสารด้วยการเป็นคนใน (Insider) ของบุคคลดังกล่าวย่อมมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจกระทำความผิดดังกล่าวเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อประกอบทุกอย่างเข้าด้วยกันอันได้แก่ ความโลภ ความเชี่ยวชาญในการกระทำความผิด โอกาสในการกระทำความผิด โอกาสที่จะสามารถหลบหนีการจับกุม และความคุ้มค่าในการกระทำความผิดนั้นเข้าด้วยกันแล้ว การกระทำความผิดในลักษณะของการประกอบอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมักจะเกิดขึ้นในลักษณะที่ใกล้เคียงกันในทุกกรณี ซึ่งในกรณีของสถาบันอุดมศึกษานี้ก็เช่นเดียวกัน


          การยื่นทรัพย์สินนับเป็นวิธีป้องกันและยับยั้งการตัดสินใจที่จะทุจริตวิธีการหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญไปกว่านั้นคือการสร้างความรู้สึกแห่งความเป็นเจ้าของหรือความเป็นหุ้นส่วนกับเงินรายได้ของสถาบัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าการทุจริตมักจะไม่เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งเจ้าของเงินเป็นเจ้าของทุน แต่ยังคงเกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยรัฐซึ่งมีรัฐเป็นผู้สนับสนุนทุนต่อไป หากยังไม่สามารถแก้ไขระบบดังกล่าวได้ การทุจริตก็จะยังคงมีอยู่แม้ว่าจะมีมาตรการป้องกันมากน้อยขนาดไหนก็ตาม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ