คอลัมนิสต์

จับชีพจรคนลงเลือกตั้งกับกระแส"ความวุ่น"บนกระดานการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จับชีพจรคนลงเลือกตั้งกับกระแส"ความวุ่น"บนกระดานการเมือง : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน  โดย...   เร้นกาย ไร้เงา


 

          เอาเข้าแล้ว ! สำหรับการวางแผนเลือกตั้งของพรรคใหญ่ที่วันนี้น่าจะส่งผล กระทบกับคนในพรรคเต็มๆ หัวใจ เพราะไม่รู้ว่าจะหาทางออกอย่างไรกับการเดินสายขอแต้มประชาชนทั่วพารา

 

 

          กฎหมายหลักของประเทศที่ประกาศใช้นั้น แน่นอนว่ายามนี้บทที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.นั้นคือ "บทที่สับสนอลหม่านกันมากสุด”

 

          เพราะกติกาที่วางไว้อย่างแยบยลและซับซ้อนชนิดที่ใครต่อใครยากจะเข้าถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบุคคลที่ได้รับฉายา "พญาอินทรีกฎหมายและการเมืองไทย” ที่สามารถร่างกติกาได้ตามที่ผู้ใหญ่บางคนในบ้านเมืองถวิลหา


          แต่เกมนี้มันแปลกใหม่และแสลงใจยิ่งสำหรับคนการเมืองกับการกระทำของ "พญาอินทรีกฎหมายและการเมืองไทย”


          งานนี้และงานต่อไป รับประกันว่าเสียงตะโกนร้องต้านของคนการเมืองจากทั่วทุกพรรคจะออกมาในทำนองเดียวกัน รวมทั้งยังเป็นไปได้สูงว่าหากมีผู้แทนฯ เมื่อใด บทแรกๆ ที่คนการเมืองรื้อแน่นอนคือ การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว.


          ได้ฟังเสียงผู้สมัคร ส.ส.คนหนึ่งที่มีประสบการณ์การเลือกตั้งมาหลายคราวสะท้อนว่า “กติกาที่ออกมามันวุ่น ปฏิบัติยาก รับรองว่าเลือกตั้งครั้งนี้ร้องเรียนกันมากกว่าที่ผ่านมา ดีไม่ดีกว่าจะรับรองผลครบทุกเขตจะใช้เวลาล่าช้าไปหลายเดือน การฟอร์มรัฐบาลล่าช้า นานาชาติไม่เชื่อมั่นแน่นอน”


          ขณะที่ "พรรคเพื่อไทย” คือพรรคที่หลายฝ่ายมองว่า กติกาใหม่ที่ออกมานั้นน่าจะบังคับใช้เป็นการเฉพาะเจาะจงกับพรรคนี้ ฉะนั้นการเล่นตามกฎและเลี่ยงบาลีเท่าที่คีย์แมนพรรคเพื่อไทยจะหาวิธีได้นั้น คนในรัฐบาลและ คสช. น่าจะปวดใจกับวิธีที่เพื่อไทยนำมาใช้




          แต่ใช่ว่าฝ่ายตรงข้ามเพื่อไทยจะปวดหัวเพียงฝ่ายเดียว เพราะคนในเพื่อไทยก็สะท้อนมาแล้วว่า การที่พรรคแบ่งเซลล์ย่อยแยกเป็นพรรคต่างๆ แล้วจะให้ผู้สมัคร ส.ส.กระจายกำลังไปอยู่พรรคนี้พรรคนั้นตามที่ผู้ใหญ่ในพรรควางแผนไว้ คำถามที่อดีต ส.ส.หลายคนมองในมุมเดียวกันคือ


          - หัวคะแนนในเขตและหน่วยเลือกตั้งนั้นๆ จะให้เดินสายหาเสียงอย่างไรเพราะนอมินีและเครือข่ายที่เพื่อไทยกระจายกำลังออกเป็นพรรคต่างๆ นั้น เวลาจะไปขอแต้มจากชาวบ้าน หัวคะแนนจะบอกอย่างไรว่า หมู่บ้านนี้ต้องเลือกเบอร์นี้ของเพื่อไทย อีกเขตเลือกตั้งหนึ่งนั้น ชาวบ้านต้องกาแต้มให้พรรคเครือข่าย ส่วนอำเภอโน้นต้องไปเทคะแนนให้พรรคนอมินี


          - ผู้สมัคร ส.ส.จะยอมแชร์และแบ่งแต้มกันเองได้หรือ...ตรงนี้คีย์แมนพรรคอาจคิดได้ลงตัวในห้องประชุม แม้ความจริงที่ยังอยู่ในมุมลับที่บางฝ่ายรับรู้แล้วว่า บางครั้งต้องยอมฮั้วกันเพื่อเข้าสู่เส้นชัยในบั้นปลาย แต่เอาเข้าจริง เวลาลงสนามนั้น นักการเมืองทุกพรรคสะกดคำว่า "เสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้” กันแทบทั้งนั้น คิดง่ายๆ ตามที่บรรยายไว้ก็ปวดหัวล่วงหน้าแล้ว


          ของแบบนี้ไม่ใช่แค่เพื่อไทยและเครือข่ายจะเผชิญความลำบาก แม้แต่พรรคคู่แข่งก็เจอปัญหานี้ เช่น "รวมพลังประชาชาติไทย” ที่หลายคนรับรู้ว่าแบ่งตัวมาจากพรรคสีฟ้า และเดินหน้าหนุน คสช.เต็มที่ ถามว่าฐานเสียงที่ลุงกำนันเดินขอแต้มทั่วประเทศยามนี้ มันใช่ฐานคะแนนเดียวกับที่ประชาธิปัตย์ถือไว้หรือไม่ ?


          และในความจริงนั้นใครที่ย้ายออกจากปชป.ไปซบพรรคอื่น "นายหัวชวน หลีกภัย” มักจะขึ้นเวทีที่อดีตผู้แทนฯ คนนั้นย้ายตัว เสมือนว่านายหัวชวนมาย้ำหัวหมุดตรึงแต้มไว้ให้ ปชป.เท่านั้น (และความจริงที่บังเกิดส่วนใหญ่ เขตที่นายหัวชวนลงไปขอคะแนน มักจะอยู่ในกระแสที่นายหัวชวนวอนขอโอกาสจากชาวบ้านเสมอๆ)


          ส่วน "ประชาธิปัตย์” ใช่ว่าจะลอยตัว เพราะการแข่งขันชิงเก้าอี้ประมุขพรรคนั้น ประวัติศาสตร์ของพรรคนี้บ่งชี้เสมอว่า หลังการแข่งขันกัน ความเป็นหนึ่งเดียวของคนในพรรคนี้ยามที่ต้องไปช่วยกันระดมแต้มนั้น “มักจะแยกขั้วกันแบบชัดแจ้ง” ใครเคยทำอะไรกับอีกมุมหนึ่งไว้ ผลจะออกมาแบบทันท่วงที


          แบบนี้ก็เหนื่อยแทนประมุข ปชป.คนที่ต้องนำทัพในอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า...


          ขณะที่พรรคอื่นๆ เช่น ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนา ภูมิใจไทย ก็ต้องสู้กับกระแสและคำถามของประชาชนว่า เลือกตั้งครั้งนี้อยู่ข้างทหารหรือไม่ ? ส่วนพรรคที่ไม่เอา คสช. เช่น เสรีรวมไทย อนาคตใหม่ ประชาชาติ ก็อาจเจอปัญหาแปลกๆ บางอย่าง และพลังประชารัฐที่บัดนี้กลายเป็นพรรคอย่างเป็นทางการแล้ว ผู้สมัคร ส.ส.พรรคนี้จะบอกชาวบ้านด้วยวิธีใดเพื่อเทแต้มให้เป็นว่าที่พรรครัฐบาล


          ส่วนพรรคอื่นๆ นั้น บางคราวเดินสาย "อาจจะมีเสียง แต่ไม่มีคะแนนในหีบบัตร”


          เอากันแค่นี้ก่อน ไว้คราวหน้าจะมาประเมินสถานการณ์การเมืองด้านอื่นๆ ให้พอเห็นภาพกันต่อไป
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ