คอลัมนิสต์

'ปักกลด-ระฆังทอง'กุศโลบายบ้านๆ แต่ได้ผลของ 'แม่ทัพตำรวจ ภ.1

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'ปักกลด-ระฆังทอง'..กุศโลบายบ้านๆ แต่ได้ผลของ 'แม่ทัพตำรวจ ภ.1' : รายงาน  โดย...  ทีมข่าวอาชญากรรม


 

          ในยุค “ไทยแลนด์ 4.0” หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างแสวงหาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาเกี่ยวโยงกับการปฏิบัติงานเพื่อความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดจากหน่วยงาน “ตำรวจ” ที่นำเทคโนโลยีที่เหมาะกับยุคสมัยมาให้บริการประชาชน โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่น “โปลิศ ไอ เลิร์ท ยู (Police i Lert U)" ที่ถือว่าใช้ได้ผลเป็นอย่างดีในห้วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ เพียงแค่ประชาชนมี “สมาร์ทโฟน” ก็สามารถดาวน์โหลดติดตัวไว้ใช้เมื่อมีภัย แจ้งเหตุด่วน บอกเหตุร้าย ขอความช่วยเหลือ หรือพบเบาะแสคนร้าย ก็ทำได้แค่นิ้วสัมผัส จากนั้นตำรวจจะถึงพิกัดแจ้งเหตุได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที 

 

 

          ทว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยจะใช้ได้ผลในทุกงาน เพราะความรับผิดชอบต่อหน้าที่บางอย่าง หรือการสร้างความไว้วางใจระหว่างมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี แต่ใช้ “ใจซื้อใจ” และการกระทำของตัวบุคคลเป็นสำคัญ ดังเช่นโครงการ “ปักกลด” กับ “ระฆังทอง” ของแม่ทัพป้ายแดง กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 (บช.ภ.1)

 

'ปักกลด-ระฆังทอง'กุศโลบายบ้านๆ แต่ได้ผลของ 'แม่ทัพตำรวจ ภ.1

 


          หลังการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ “นายพล” ที่ผ่านมาหมาดๆ และวันที่ 4 ตุลาคม ก็เป็นการเปิดตัวผู้นำตำรวจภาค 1 อย่างเป็นทางการของ “บิ๊กแซ็ก” พล.ต.ต.อำพล บัวรับพร ในฐานะรักษาราชการแทนผบช.ภ.1 (รรท.ผบช.ภ.1) ซึ่งผู้บัญชาการป้ายแดงผู้นี้ได้บอกในวันนั้นไว้ว่า “จะมุ่งความสำคัญไปที่ประชาชน โดยจะให้ตำรวจเป็นคนของประชาชน จะเน้นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุมากกว่าไปตามจับ หรือเมื่อเกิดเหตุก็ต้องจับได้ ส่วนเรื่องการแก้ไขภาพลักษณ์ของตำรวจ มีโครงการกำหนดไว้แล้ว หากมีใจก็ขอให้ใจทำงานเต็มที่ ตำรวจทุกนายที่อยู่ด้วยกันมาคงเข้าใจ นายไหนไม่ทำงานก็มีสายงานบังคับบัญชารายงานขึ้นไปให้ ตำรวจก็สีเดียวกัน กินข้าวหม้อเดียวกัน ต้องช่วยกันทำให้ตำรวจเป็นของประชาชน และฝากไปยังตำรวจทุกนายว่าขอให้ทำงานอย่างเต็มที่ และเปรียบเป็นญาติกับประชาชน หากเขาไม่เป็นสุข ก็อย่าให้ทุกข์กลับไป”

 

'ปักกลด-ระฆังทอง'กุศโลบายบ้านๆ แต่ได้ผลของ 'แม่ทัพตำรวจ ภ.1

 


          คล้อยหลังให้ไม่นานหลังจากนั้น พล.ต.ต.อำพล ก็ผุดโครงการ หรือจะเรียกว่าสานต่อแนวคิดของตัวเองที่เคยใช้ได้ผลเมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่อยู่ภาคใต้ หรือแม้แต่ตอนอยู่ที่ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 (บช.ภ.2) ซึ่งถือเป็นโครงการที่เทคโนโลยียังเข้ามาทำหน้าที่แทนตัวบุคคลไม่ได้ นั่นคือโครงการ “ปักกลด” หรือชื่อทางการ “ประชารัฐร่วมใจ ต้านภัยยาเสพติด” และโครงการ “ระฆังทอง” โดยนำร่องที่ จ.นนทบุรี เพื่อหาความร่วมมือจากประชาชนในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมและยาเสพติดในพื้นที่ รวมถึงการมีส่วนร่วมแจ้งข้อมูลข่าวสารและเบาะแส เป็นการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของยาเสพติดในชุมชนที่จะนำไปสู่ปัญหาอาชญากรรมอื่นๆ 

 

 

'ปักกลด-ระฆังทอง'กุศโลบายบ้านๆ แต่ได้ผลของ 'แม่ทัพตำรวจ ภ.1




          ในส่วนของโครงการ “ระฆังทอง” มีการสั่งให้โรงพักในภาค 1 จำนวน 134 แห่ง ติดตั้งระฆังไว้ที่ด้านหน้าสถานี โดยให้สิบเวรต้องตีระฆังทุกๆ 1 ชั่วโมง พร้อมจำกัดความดังของเสียงให้อยู่ภายในสถานี เพื่อเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งว่าตำรวจที่เข้าเวรต้องไม่หลับเวร..! ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา และมีตำรวจประจำสถานี ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่จะมาแจ้งความร้องทุกข์


          พล.ต.ต.อำพล อธิบายแนวคิดของโครงการนี้ว่า ระฆังเป็นเครื่องมือส่งเสียงให้ให้ทราบเวลา รวมถึงการแจ้งเตือน การรวมพล การร้องทุกข์ ซึ่งใช้กันมาตั้งแต่อดีตกาล และตอนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ภาคใต้ ถือเป็นพื้นที่สีแดง ตำรวจต้องมีความตื่นตัว มีความพร้อมตลอดเวลา การหลับเวร หรือหลับยามในเวลากลางคืนจึงมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน หรือมีประชาชนเดือดร้อนมาพึ่งเย็นกับตำรวจที่โรงพักก็จะได้รับการบริการอำนวยความสะดวกแบบทันท่วงที เมื่อมาเป็นผู้บังคับบัญชาที่ภาค 1 ซึ่งเป็นพื้นที่รอยต่อเมืองหลวง ผู้คนหรือประชาชนก็ไม่น่าจะต่างจากกรุงเทพมหานคร ความเดือดร้อนของคนก็จะมีตลอด 24 ชั่วโมง ฉะนั้นตำรวจที่อยู่โรงพักต้องพร้อมและตื่นตัวอยู่ตลอด 

 

 

'ปักกลด-ระฆังทอง'กุศโลบายบ้านๆ แต่ได้ผลของ 'แม่ทัพตำรวจ ภ.1

 

 

          “เป็นกุศโลบายให้ตำรวจที่อยู่ประจำโรงพักไม่หลับเวลาเข้าเวร เรื่องตีระฆังก็ตีตามเวลาทุกชั่วโมง ซึ่งตอนแรกมีแนวคิดว่าจะให้ตีเฉพาะตอนกลางคืน แต่ไหนๆ เป็นนโยบายให้ปฏิบัติแล้วก็สั่งให้ตีทุกๆ 1 ชั่วโมง หลังจากตีเสร็จก็ให้เดินตรวจรอบๆ สถานีด้วย เป็นการตรวจความเรียบร้อยและระวังเหตุไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี หรือทำร้ายตัวเอง ถ้าใช้เทคโนโลยีเป็นเสียงกริ่งตั้งเวลา ตำรวจก็ไม่ได้ขยับตัว ดังนั้นใช้ระฆังจะได้ผลที่สุด ขณะเดียวกันเมื่อประชาชนมาแจ้งความก็มีตำรวจอยู่สถานี ไม่ใช่มาแล้วไม่มีตำรวจอยู่ ถ้าไม่มีก็ให้ประชาชนตีระฆังเรียกได้เลย แล้วถ้าสถานีไหนประชาชนต้องตีระฆังเรียกตำรวจ ตนจะดำเนินการกับสถานีนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาภาพลักษณ์ของตำรวจไม่ดี มีการถ่ายคลิปสิบเวรหลับ ไม่มีใครอยู่โรงพัก ปิดไฟนอน พอประชาชนเดือดร้อนมาพึ่ง กลับไม่มีใครให้พึ่ง เรื่องแบบนี้เป็นที่น่าอับอาย” แม่ทัพตำรวจภาค 1 อธิบายเพิ่มเติม


          ส่วนโครงการ “ปักกลด” เป็นโครงการที่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงไปอาศัยอยู่ในชุมชนกับชาวบ้าน เพื่อศึกษาข้อมูลของแต่ละชุมชน วิเคราะห์ปัญหา ออกพบปะชาวบ้าน โดยให้ประชาชนในชุมชนเป็นผู้ให้ข้อมูลแหล่งยาเสพติด และปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งแจ้งข่าวสารให้ตำรวจ เพื่อนำมาวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด เป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนนั้น เป็นชุมชนสีขาวปลอดยาเสพติด เพราะตำรวจได้เข้าไปสัมผัสกับชาวบ้าน รู้ถึงปัญหาที่แท้จริงว่าในชุมชนนั้นๆ มีปัญหาด้านไหนบ้าง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องยาเสพติดต้องไม่ให้มีในพื้นที่ โดยให้หาข้อมูลรายละเอียดแหล่งจำหน่ายหรือต้นตอยาเสพติดมาซึ่งชาวบ้านรู้ดีที่สุด ส่วนลูกหลานใครติดยาก็นำมารักษา 

 

 

'ปักกลด-ระฆังทอง'กุศโลบายบ้านๆ แต่ได้ผลของ 'แม่ทัพตำรวจ ภ.1

 

 

          พล.ต.ต.อำพล บอกด้วยว่า วิธีนี้เป็นการป้องกันอาชญากรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย เพราะเมื่อมียาเสพติด ติดยา ไม่มีเงินก็นำไปสู่อาชญากรรมอื่นๆ ตามมา ดังนั้นตำรวจที่ลงไปอาศัยกับชาวบ้านต้องสร้างความไว้วางใจให้คนในชุมชน ปรึกษาปัญหาต่างๆ ได้และนำไปสู่แนวทางแก้ไขให้ดีขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เทคโนโลยีทำให้ไม่ได้ ถ้าปัญหาใหญ่มากเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้นำปัญหานั้นกลับมาวิเคราะห์กับผู้บังคับบัญชา แล้วส่งทีมสืบสวนและติดตามหาทางจัดการต่อไป นอกจากนี้ยังให้ประชาชนมีส่วนร่วมมาเป็นอาสาสมัคร โดยตำรวจที่ปักกลดจะหมุนเวียนไปหมู่บ้าน ชุมชนอื่นเรื่อยๆ ทุก 1 เดือน หมู่บ้านหรือชุมชนที่ตำรวจเคยไปปักกลดอยู่ก็ยังเป็นเครือข่ายประสานงานที่ดี มีอาสามัครที่ช่วยงานอย่างเข้มแข็ง 


          ทั้งการให้ตำรวจไป “ปักกลด” ให้เข้าถึง และเข้าใจชาวบ้าน และการลั่น “ระฆังทอง” ทุกโรงพักให้ตำรวจตื่นตัว จึงถือเป็นยุทธศาสตร์และกุศโลบายแบบบ้านๆ ง่ายๆ ซึ่งน่าจะได้ผลไม่ใช่น้อยเลยทีเดียว..!!

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ