คอลัมนิสต์

เปิดจุดยืน !! จตุพร - ยงยุทธ - เพื่อชาติ - เพื่อทักษิณ ??

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เปิดจุดยืน !! จตุพร - ยงยุทธ - เพื่อชาติ - เพื่อทักษิณ ?? : รายงาน  โดย...  สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์

 
 

          กลายเป็นคู่ดูโอกันเรียบร้อยแล้วสำหรับ “ตู่” จตุพร พรหมพันธุ์ และ ยงยุทธ ติยะไพรัช ที่ตอนนี้เดินสาย “เชียร์” พรรคเพื่อชาติอย่างเปิดเผย

 

          วันนี้เขาจับมือกันมาเปิดใจกับ "คม ชัด ลึก" ถึงภารกิจในฐานะ “กองเชียร์ และภารโรง" ของพรรคเพื่อชาติ พร้อมทั้งเปิดจุดยืนที่ชัดเจนของตัวเองและพรรคเพื่อชาติว่าอยู่ตรงไหนกันแน่ ที่สำคัญ เป็นพรรคเพื่อทักษิณหรือไม่??

 

 

          “จตุพร - ยงยุทธ” ในวันที่ลงสมัคร ส.ส.ไม่ได้?
          ถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจไม่น้อย สำหรับบทบาทของจตุพร และ ยงยุทธ ขณะที่มีข่าวว่าในวันนี้ทั้งคู่ไม่สามารถสมัคร ส.ส. รวมถึงไม่สามารถเป็นสมาชิกพรรคได้ จากกรณีที่จตุพร เพิ่งพ้นโทษจำคุกจากคดีหมิ่นประมาทอภิสิทธิ์ ส่วนยงยุทธ จากกรณีที่เขาเคยถูกศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งตัดสินว่าเขาทุจริตเลือกตั้งเมื่อปี 2551


          สำหรับจตุพร นั้น เขายอมรับเรื่องการขาดคุณสมบัติดังกล่าวแต่สำหรับยงยุทธ นั้นทั้งคู่มองว่า“ยังมีคุณสมบัติครบถ้วน” โดยจตุพร พยายามช่วยอธิบายว่า คุณสมบัติของยงยุทธ ก็เหมือนกับกรณีของ “นักการเมืองบ้านเลขที่ 109” คือ อดีตกรรมการบริหารของ 3 พรรคการเมืองที่ถูกยุบเมื่อปี 2551 พรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคชาติไทย ที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี


          อย่างไรก็ตาม ยงยุทธ ย้ำว่า เป็นความตั้งใจเดิมทั้งของเขาและจตุพรอยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่ยังมีสิทธิ์ครบถ้วนทุกประการว่าจะไม่ลงสมัคร ส.ส. โดยเขาเคยพูดไว้ตั้งแต่เมื่อครั้งที่โดนคดีทำให้พ้นจากตำแหน่งประธานรัฐสภาเมื่อปี 2551 เพราะฉะนั้นขอให้เลิกพูดถึงเรื่องนี้ซะที


          "ผมไม่ได้ตั้งใจมาเล่นการเมือง ผมประกาศตั้งแต่ตอนบ้านเมืองวิกฤติ ตอนเป็นประธานรัฐสภาตอนโดนคดี ผมประกาศหน้าสภา ว่าผมขอเป็นเหยื่อคนสุดท้าย อยากให้บ้านเมืองสงบเป็นประชาธิปไตย นั่นคืออย่างแรก

 

 

          สอง สถานะผมวันนี้ ผมถูกกล่าวหาว่าทุจริตเลือกตั้ง แต่เมื่อไปสอบสวนทางคดีอาญาผมบริสุทธิ์ ถามว่าผมสนใจเรื่องนี้ไหม ผมไม่สนใจ วันนี้มีคนพยายามเรื่องจตุพร เรื่องผม ว่าไม่มีสิทธิ์ ต้องการบทบาท เราได้แต่หัวเราะ มองหน้ากัน เพราะสิ่งที่เราคิดเราไม่ได้คิดตรงนั้น วันนี้ขอให้เลิกสำหรับคนที่พยายามเอาข่าวมาว่าเราทะเยอทะยานทางการเมือง ส่วนคุณจตุพรก่อนจะถูกศาลพิพากษาจำคุกคดีหมิ่นประมาทอภิสิทธิ์ ยังมีสิทธิ์ลงทุกอย่างก็ประกาศไว้ชัดเจนว่าถ้ารัฐธรรมนูญปี 2560 ผ่านจะไม่ลงเลือกตั้งนะ


          ขอให้เลิกซะที ที่บอกว่าไม่มีสิทธิ์ ทำไมต้องการพื้นที่ อย่างงั้นอย่างงี้"


          ยงยุทธ บอกต่อว่า “ผมหายหน้าจากวงการมาเป็นสิบปี แต่หลังจากไปเยี่ยมจตุพรจึงเป็นแรงบันดาลใจ เมื่อจตุพรออกมา จึงปรึกษาหากิจกรรมอะไรที่ทำเพื่อส่วนรวม ให้คนรักกัน และนั่งคุยกันพอดีไปเจอคำว่าพรรคเพื่อชาติ ไม่ได้ไปสมอ้างอะไร แต่เห็นว่าชื่อพรรค ”For Nation“มันได้ใจไปนั่งคุยกับคณะกรรมการบริหารและก็เห็นว่ามีแนวทางเดียวกัน จตุพรจึงบอกงั้นเราขอเป็นกองเชียร์เพราะมีข้อจำกัดเรื่องกฎหมาย ผมบอกจตุพรเป็นกองเชียร์ ผมขอเป็นภารโรง แต่ไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวเรื่องนโยบายใดๆ แต่จะช่วยเชียร์ให้สุดทิ่ม อะไรที่จะทำให้พรรคเดินหน้าสะดวก และไม่ใช่นโยบายก็ใช้ผมมา ผมขอเป็นภารโรง”


          "ท่านยงยุทธมีสถานะที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งครบถ้วน เพียงแต่ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง แม้มีคุณสมบัติก็ไม่ลง เรื่องนี้เป็นเรื่องเล็ก กรณีของเราแม้ยังมีสิทธิอยู่ก็ไม่ลงแต่ประเด็นนี้ถูกจับโยง แล้วจะมาสนใจประเด็นมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ทำไม ก็มีสิทธิ์ก็ประกาศว่าไม่ลง การมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์จึงไม่มีความหมายใดๆเพราะมีสิทธิ์เราก็ไม่ลง” จตุพร กล่าวย้ำ


          ยงยุทธ ย้ำต่อว่า "เราไม่เคยคิดเรื่องคุณสมบัติ เราไม่สนใจ เราสนใจอย่างเดียวว่าทำยังไงจะไปหาพื้นที่ให้คนมายืนอยู่ร่วมกัน และเดินหน้าไปได้ ที่ถูกถามไม่มีสิทธิ์ มันติดกับดักรัฐธรรมนูญ ติดกับดักกฎหมาย แต่ความเป็นคนไทย ไม่ว่าจะอยู่ในคุก จองจำอย่างไร หัวใจที่เรารักชาติยังมี กราบวิงวอนเลิกพูดได้แล้วไม่มีสิทธิ์มาทำอย่างนี้ อันนั้นดูถูกน้ำใจเกินไป


          ผมพูดหลายครั้งกับพี่ตู่ว่าเวลาจะพิสูจน์เราเองว่าเป็นอย่างไร พี่ตู่เป็นแดงตัวพ่อ สุดโต่ง วันนี้เดินมาอยู่เกาะกลาง ยื่นมือให้ทุกคนจับ ก็มาสงสัย เราก็ต้องก้มหน้าและยื่นมือ เมื่อไหร่จะมาจับจะได้เดินไปด้วยกัน"


          ครอบงำพรรคเพื่อชาติ?
          เนื่องจากทั้งคู่ไม่ได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อชาติ จึงทำให้มีการตั้งข้อสังเกตว่าความเคลื่อนไหวของทั้งคู้จะเข้าข่าย “ครอบงำ” พรรคหรือไม่


          จตุพร ยืนยันว่า วันนี้เขาและยงยุทธดำเนินการทุกอย่างตามกรอบกฎหมาย


          "ผมยังมีสิทธิ์ที่จะไปเลือกตั้ง ฉะนั้นมีสิทธิ์ที่จะชอบใครไม่ชอบใคร มีสิทธิ์ที่จะแสดงออกถึงความชื่นชอบ ที่เราบอกว่าเราเป็นกองเชียร์่ เหมือยอยู่บนอัฒจรรย์ นักบอลเล่นกัน เราก็ใช้สิทธิ์ในการเชียร์ เพราะไม่สามารถจะทำอะไรได้ จะสั่งให้นักบอลไปซ้ายหันขวาหันไม่ได้ แต่มีความสุขที่ได้เชียร์ทีมนี้


          ประชาธิปไตยไม่ได้ให้ทุกคนคิดเหมือนกัน แต่คิดต่างกันแล้วอยู่ร่วมกันได้ เมื่อเห็นว่าพรรคเพื่อชาติเปิดพื้นที่เกาะกลางให้คนอยู่ด้วยกันได้โดยที่ไม่ต้องคิดเหมือนกัน แต่ไม่ต้องทะเลาะกัน เพื่อบ้านเมืองเดินไปข้างหน้า ถามว่าเชียร์แบบนี้บงการไหม ก็แนวทางของพรรคก็แบบนี้ เราก็สนับสนุน และเป็นวิญญูชน ถ้าครอบงำให้คนดีกัน ถือว่าครอบงำไหม บงการให้คนรักกัน


          เราเป็นจังหวะสองอยู่แล้ว คำว่ากองเชียร์คือไม่ได้ลงไปเล่นเอง ฉะนั้นเราก็เชียร์ตามที่เขาเล่น"


          ยงยุทธ กล่าวว่า "เรื่องที่ไม่ให้คนไปครอบงำพรรค ลองคิดดูว่า มีใครสักคนคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ที่ไม่ใช่คุณทักษิณ อาจจะเป็นคุณอะไรก็แล้วแต่ แล้วพรรคโดนใจไปทำตาม ถ้าไม่ใช่คุณทักษิณ จะมีผลกระทบเรื่องคะแนนเสียงไหม จะมีผลกระทบเรื่องข้อกฎหมายไหม จะถูกดำเนินการอะไรไหม แต่สิ่งที่สังคมประเทศชาติิเสียหายคือเราขาดคนที่คิดดีๆเก่งๆเพื่อบ้านเมือง เพราะไม่ได้อยู่ในพรรค


          ถ้าเราไปจำกัดการมีส่วนร่วม คนเสียหายไม่ใช่นักการเมืองทั้งหลาย แต่คนยากจน คนที่รอรับโอกาสเสียหาย และผมเชื่อว่ากฎหมายข้อนี้เมื่อสังคมการเมืองเปลี่ยนไป ก็ต้องถูกแก้ไข เพราะไม่มีที่ไหนในโลกยิ่งขีดวงรัดเท่าไหร่ คนที่เสียหายคือคนจน"


          จตุพร บอกว่า บทบาทของเขาและยงยุทธในตอนนี้คือ การเป็นวิทยากรรับเชิญของพรรคเพื่อไปบรรยายให้สถาบันพัฒนาการเมืองของพรรคเพื่อชาติเช่นเดียวกับโรงเรียนการเมืองของพรรคนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เชิญคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคมาบรรยายเหมือนกันเป็นวิทยากรบรรยาย ที่ไม่ใช่ปราศรัยหาเสียง แต่เป็นการแลกเปลี่ยนกับประชาชน


          "มันเป็นเส้นบางๆ เมื่อก่อนพรรคการเมืองที่ประสบความสำเร็จต้องฟังประชาชน แล้วเอาสิ่งที่ฟังมากำหนดนโยบายของพรรค แต่ถ้าว่าตามลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญประชาชนไม่มีสิทธิ์เสนอนโยบาย ถ้าไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค จะเข้าข่ายครอบงำ เป็นกรอบที่ไม่เป็นประโยชน์ ทำให้เสียโอกาส ที่จริงควรจะแฟร์ๆกัน อะไรที่เป็นปัญหาของชาติทุกคนมีสิทธิ์ที่จะนำเสนอ แม้ว่าจะไม่ได้สังกัดพรรคนั้น เช่นเรื่อง 30 บามรักษาทุกโรค ของหมอหงวน (นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์) ถ้าเป็นปัจจุบัน ไม่ได้นะ


          แต่วันนี้เมื่อกฎหมายเป็นอย่างไรเราก็ต้องปฏิบัติตามนั้น ฉะนั้นที่ทำได้คือเป็นวิทยากรให้เนื้อหากับประชาชน"


          ถามถึงความคืบหน้าในการสร้างความปรองดองจากการเข้าไปสนับสนุนพรรคเพื่อชาติ นับตั้งแต่วันแรก นับว่ามีความหวังขึ้นไหม ยงยุทธ กล่าวว่าพรรคนี้เป็นพรรคที่อัศจรรย์ที่สุด จากที่ไปนั่งสังเกตการณ์ ไม่เคยมีใครพูดสักคนว่าขอ 50 ล้าน ไม่มีใครสักคนพูดว่าจะให้ตังค์เท่าไหร่ ทุกคนมาเพราะชอบ (ต่างจากพรรคการเมืองทั่วๆไป) ถ้าไปอยู่กับอีกพรรคก็ 50 ล้าน จะตกใจมากถ้าเปิดตัวมามีชื่อเสียงทั้งนั้นแต่ตอนนี้ยังพูดไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของกรรมการบริหารพรรค


          จตุพร กล่าวเสริมว่า เป็นกองเชียร์ เหมือนเห็นนักฟุตบอลที่สโมสรได้มา รู้สึกนักฟุตบอลคนนี้มีสิทธิ์เลือกสโมสรใหญ่ แต่กลับมาร่วมสโมสรเล็กๆ แสดงว่าเขามีความหวังอยู่


          “เราเป็นกองเชียร์ตามกฎหมาย คือไม่ให้เกินกฎหมาย เคร่งครัดในข้อห้ามของรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ ฉะนั้น เมื่อเขามีแนวทางจะเป็นเกาะกลางเปิดกว้างให้กับทุกฝ่ายภายใต้หลักการประชาธิปไตย เราก็มีความสุข”
  

          พรรคเพื่อชาติพรรคเพื่อทักษิณ?
          “มีสิทธิ์คิดได้ แต่เมื่อถึงวันหนึ่งทุกคนก็จะเข้าใจ ฉะนั้นให้เวลาพวกเรา ถามว่าทำไมคนถึงไม่เชื่อ อันนี้เราไม่มีสิทธิ์จะไปตำหนิใคร แต่เวลาจะพิสูจน์ตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะฝากไว้ในสังคมไทย” ยงยุทธ กล่าว


          ส่วนที่มีการเปรียบเทียบว่าจตุพร และ ยงยุทธ อยู่ในสถานการณ์คล้ายกับสุเทพ นั้น ยงยุทธ กล่าวว่า "แค่แนวทางวิธีคิดก็ต่างกัน คุณสุเทพสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ พวกเราเห็นว่าเราควรสนับสนุนแนวทางประชาธิปไตย ต่างกันอย่างแรก แนวทางประชาธิปไตยกับเผด็จการ


          ข้อสอง สุเทพขอยืนอยู่ตรงหน้าและทำเลย ทั้งที่บอกว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในสภา แต่วันนี้แม้เราจะบอกว่ามีสิทธิ แต่เราก็ไม่ได้มายุ่ง สิ่งที่เราทำ ไม่ใช่เพื่อพรรคการเมือง เราทำเพื่อทุกสีเสื้อมาอยู่รวมกันจริงๆ ผมคุยกับจตุพรว่าน่าจะทำกิจกรรมอื่นๆที่ไม่ใช่การเมือง กิจกรรมสาธารณะที่จะทำให้คนมาทำร่วมกัน เช่น เล่นกีฬา กวาดถนน เผอิญช่วงนี้เป็นโหมดเลือกตั้ง มีพรรคเพื่อชาติโดนใจ ก็ชวนกันไปเป็นกองเชียร์ ไม่ได้คิดเลยเถิดว่าต้องไปอยู่เบื้องหลัง ต้องไปเป็นรัฐมนตรี"


          ยงยุทธ กล่าวว่า “วันนี้คิดว่าเผด็จการมีหลายอย่าง เผด็จการซ่อนรูปก็มี อย่างวันนี้สังคมไทยอยากให้มาอยู่เป็นคนข้างใน มามีชื่ออยู่ในบัญชีเพื่อหลบเลี่ยงว่าไม่ได้เป็นนายกฯที่มาจากคนนอก สิ่งเหล่านี้เชื่อว่าประชาชนรู้ดี ซึ่งคำตอบจะอยู่ในวันที่มีการเลือกตั้ง”
 

          เสนอพรรคการเมือง “ทำสัญญาประชาคม”ก่อนเลือกตั้ง
          จตุพร กล่าวว่า เคยเสนอแนวทางว่าก่อนการเลือกตั้ง พรรคการเมือง ผู้อำนาจภาคประชาชนจัดเวทีพูดคุยกัน เพราะถ้าไม่พูดคุยกัน หลังการเลือกตั้งจะมีเรื่องที่จะเกิดวิกฤตได้ตลอดระเวลา เพราะรัฐธรรมนูญถูกออกแบบ 250 เสียง(ส.ว.) มาโหวตเลือกนายกฯ แต่การอยู่ของนายกฯฝากไว้ที่สภาผู้แทนฯ ฉะนั้นถ้าไม่ตกลงกันจะมีปัญหา สิ่งที่ควรตกลง เช่น วุฒิสภาต้องทำตามเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนฯ ที่มาจากประชาชนเช่น พรรคการเมืองใดไปรวบรวมได้เกิน 250 วุฒิสภาต้องปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของสภาผู้แทนฯ เรื่องนี้ถ้าไม่พูดคุยกัน จะเกิดกรณีว่าอีกซีกหาแค่ 126 ไปบวกกับ 250 ก็เกินครึ่ง


          "ต้องคุยกัน ถ้าไม่คุยกันปัญหาจะเกิด ไม่ว่าจะเป็นนายกฯคนนอกคนในสิ่งสำคัญคุยกันภายใต้หลักการประชาธิปไตยแล้วตกลงกันเป็นสัญญาประชาคม ว่าผลลัพธ์การตัดสินใจของประชาชนออกมาอย่างไรเราก็จะปฏิบัติตามนั้น รวมทั้งผู้มีอำนาจในปัจจุบันด้วย มิฉะนั้นจะกลับมาจุดที่แย่กว่าปัจจุบัน


          อนาคตประชาชนจะเป็นให้คำตอบ ที่สำคัญ คือเมื่อประชาชนให้คำตอบ เราจะยอมรับการตัดสินใจของประชาชนอย่างไร ประเทศชาติจะเดินต่อไปอย่างไร นี่คือหนทางพรรคเพื่อชาติเสนอทางออกว่า่จะต้องอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็ตาม"

 

 

 


          "ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเรื่องกันก่อน ตายกันก่อนแล้วค่อยมาเจรจาที่ผมเรียกร้องคืออยากให้แก้ก่อนตายไม่ใช่ตายก่อนแก้ เพราะไม่อยากให้บ้านเมืองสู่สถานการณ์แบบ 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา หรือ พฤษภา 35 และเหตุการณ์อื่นๆ เวลานี้เรากำลังหาทางออกว่าเราไม่เดินไปถึงเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไร จึงชวนให้คุยกันเห็นต่างแต่อยู่ร่วมกันได้เอาชาติบ้านเมืองเป็นหลัก เอาตัวเองเป็นเรื่องรอง


          ต้องคุยก่อนเลือกตั้ง ระหว่างการหาเสียงต้องตะลุมบอล และถ้าหลังการเลือกตั้งแล้วอาจมีอารมณ์ค้างคากัน และถ้าเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับการตอบสนองก็ยิ่งน่าห่วง"


          ถามว่าใครจะเป็นเจ้าภาพ จตุพร กล่าวว่าคนที่มีอำนาจ หรือถ้าผู้มีอำนาจไม่ทำ พรรคการเมืองก็ควรจะทำ หรือถ้าพรรคการเมืองไม่ทำสังคมก็ต้องเรียกร้อง


          จตุพร ย้ำว่า บรรดา “ผู้เล่น” ควรเริ่มต้นด้วยตัวเองในการพูดคุยหารือกัน อย่างน้อยให้ประชาชนมีความผ่อนคลาย เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งที่แก้ปัญหา ไม่ใช่เลือกตั้งเพื่อสร้างปัญหาขึ้นมาใหม่


          “ถ้าไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าผลลัพทธ์ออกมาอย่างไรก็นำพาสู่วิกฤติชาติทั้งสิ้น”


          ขณะที่ยงยุทธ มองว่า หลังการเลือกตั้งเสถียรภาพรัฐบาลอ่อนแอไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นรัฐบาล ฝ่ายที่ไม่มีกำลังอยู่ข้างหลัง แม้เป็นเสียงข้างมากแต่ปกครองไม่ได้ ส่วนผู้อำนาจ มีอำนาจปกครองได้แต่ก็ง่อนแง่น เพราะทั้งเสียงในสภาและขาดศรัทธาของประชาชนเพราะไปเลือกแล้วได้เป็นเสียงข้างมาก แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาลก็จะมีความสั่นไหวประมาณ 9 ริกเตอร์้


          “ถ้าไม่รีบแก้ประวัติศาสตร์จะวกกลับมาย่ำรอยเดิม”
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ