คอลัมนิสต์

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง : รายงาน  โดย...  ปาริชาติ บุญเอก [email protected]



          จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษปี 2560 พบว่ามีขยะมูลฝอยในจังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด มากถึง 11.47 ล้านตัน เป็นขยะพลาสติกประมาณ 340,000 ตัน โดยกว่า 10-15% มีโอกาสปนเปื้อนลงสู่ทะเลได้ ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่สูง เมื่อเทียบกับขนาดของประเทศและระดับของการพัฒนาประเทศ

 

 

          นอกจากนี้ประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนติดกับ 2 มหาสมุทร ได้แก่ มหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย ที่ผ่านมาพบว่าประเทศไทยมีปริมาณพลาสติก น้ำเสีย และขยะในรูปแบบอื่นๆ ที่ไหลลงสู่ทะเลมากเป็นอันดับ 6 ของประเทศ และมีส่วนก่อให้เกิดขยะพลาสติกในมหาสมุทรมากที่สุดของโลก

 

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

 


          “ยูเอ็น-เอกชน” ร่วมจัดการขยะ
          ไมเคิล บอทท์ ผู้แทนด้านการค้า การลงทุน และนวัตกรรม คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ (UN ESCAP) กล่าวในงานเสวนา หนทางอนุรักษ์ทะเลไทยให้พ้นวิกฤติ “ขยะ” เพื่อการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน Up-Cycling and Circular Economy ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณพลาสติกเพิ่มขึ้น เกิดจากคนไทยใช้ถุงพลาสติกเฉลี่ยกว่า 8 ใบต่อวันต่อคน ซึ่งพลาสติกเหล่านี้มีโอกาสที่จะไหลลงสู่ท้องทะเลได้

 

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

ไมเคิล บอทท์

 


          “ล่าสุด ยูเอ็นได้ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจดำน้ำของไทยกว่า 20 องค์กร เดินหน้าโครงการ Sustainable Ocean Ambassador ช่วยตรวจสอบย้อนกลับขยะในทะเล จัดทำบันทึกและเก็บกู้ โดยมีเป้าหมายในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และพัฒนาความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (SDG 8.9) รวมถึงการดำเนินงาน ภายใต้แนวทางเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 12) ผลิต และบริโภคอย่างยั่งยืน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDG 14) การใช้ทรัพยากรทะเลอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกร่วมกับอีก 193 ประเทศทั่วโลก” ไมเคิล กล่าว 



 

          20 ผู้ประกอบการดำน้ำร่วมอนุรักษ์
          นิวัช รุ่งเรืองกนกกุล ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Skin Dive Thailand และผู้บริหาร บริษัท ไดฟ์ ดี ดี จำกัด ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดำน้ำ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกว่า 20 องค์กรซึ่งร่วมเดินหน้าฟื้นฟูชายฝั่งไทย เปิดเผยว่า ปัญหาที่พบในฐานะผู้ประกอบการดำน้ำมากว่า 17 ปีว่า ที่ผ่านมาสัตว์ทะเลเริ่มเสียชีวิตจากการกินซากถุงพลาสติกมากขึ้นปีละกว่า 100 ตัว โดยเฉพาะลูกโลมา เต่าทะเล วาฬ และพะยูน รวมถึงมีสัตว์ทะเลที่อยู่ในกลุ่มอาหารของมนุษย์ก็มีโอกาสบริโภคขยะเหล่านี้เช่นกัน ส่งผลให้ปัญหาที่ตามมา คือ ไมโครพลาสติกที่แตกตัวลงสู่ทะเลและสัตว์ทะเล นำเข้ามาสู่ร่างกายมนุษย์ ผ่านการบริโภคสัตว์ทะเล

 

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

นิวัช รุ่งเรืองกนกกุล

 


          นำไปสู่การร่วมกลุ่มผู้ประกอบการโรงเรียนสอนดำน้ำและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกว่า 20 องค์กร เข้าร่วมในโครงการ Sustainable Ocean Ambassador เพื่อเป็นแนวทางและสื่อกลางให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติตระหนักในการมีส่วนร่วมและสร้างเครือข่ายอนุรักษ์มหาสมุทรไทย โดยผู้เข้าร่วมจะได้รับการอบรมการดำน้ำในระยะเวลา 8 ชั่วโมง แบ่งเป็นการอบรมในสระ 2 วัน และฝึกทักษะในทะเล 1 วัน และร่วมกิจกรรมอนุรักษ์ท้องทะเล อาทิ Trash to Treasure, Ocean Waste Mapping การสำรวจขยะที่พบในชายหาด กิจกรรมคัดแยก แปรรูป เพื่อสร้างมูลค่าและกิจกรรมสื่อสารการจัดการขยะ และมลพิษในทะเล เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนในช่องทางต่างๆ อาทิ โซเชียลมีเดีย ต่อไป

 

 

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

 


          “ทะเลก็เหมือนหน้าบ้านของเรา บางคนมองผ่านๆ ก็คงไม่ทราบว่ามีขยะ และบางคนอาจจะคิดว่าท้องทะเลกว้างใหญ่ สามารถรองรับขยะได้อีก แต่ถ้าเราไม่ช่วยกันในวันนี้ หน้าบ้านของเราก็จะเต็มไปด้วยขยะในวันหน้า และนักท่องเที่ยวก็จะไม่อยากมาเที่ยวอีก” นิวัช กล่าวเพิ่มเติม


          แนวทางร่วมอนุรักษ์ทะเล “เกาะทะลุ”
          ด้าน เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขานุการมูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม และในฐานะผู้ประกอบการเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในทุกๆ ปี จะมีช่วงที่ขยะลอยมาติดที่ชายหาดจำนวนมากจนแทบมองไม่เห็นชายหาด ส่วนใหญ่เป็นขยะประเภทพลาสติกและขวด จากการสังเกตพบว่าขยะบางชิ้นมีฉลากเป็นของต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สะท้อนให้เห็นว่าขยะไม่ได้มีแค่ที่ไทยเพียงแห่งเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ต้องเก็บและใช้เวลานานเป็นอาทิตย์

 

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

เผ่าพิพัธ เจริญพักตร์

 


          สำหรับการดำเนินธุรกิจบนเกาะทะลุเอง มีกระบวนการจัดการขยะ อาทิ การแยกขยะ นำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมักกับ EM เพื่อใช้ในแปลงผักที่เราปลูกเพื่อนำมาใช้ในกิจการ และนำเศษไม้ไปทำดิน นอกจากนี้ที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการอื่นๆ มักใช้อาหารมาล่อปลา เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชม ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ผิด ดังนั้นจึงพยายามให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นและยืนหยัดว่าจะไม่ทำเช่นนั้น

 

 

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

 


          ในส่วนของ มูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ซึ่งปัจจุบันได้เดินหน้าอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการฟื้นฟูแนวปะการังรวมไปถึงการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก เช่น เต่ากระ (Hawksbill sea turtle) ซึ่งพบว่ามาวางไข่ในปี 2552 บริเวณชายหาดทางตอนใต้ของเกาะทะลุ จากที่ไม่เคยพบเห็นมากว่า 20 ปีก่อนหน้านี้ นำมาซึ่งการเปิดศูนย์อนุรักษ์ฟื้นฟูเต่าทะเล ซึ่งจากการดำเนินงานมากว่า 8 ปี พบแม่เต่ามาวางไข่แล้ว 10 ตัว มีลูกเต่าผ่านการเพาะฟักเป็นเวลา 9 เดือนให้มีขนาด 20-25 เซนติเมตร ถูกปล่อยลงสู่ทะเลแล้วกว่า 5,000 ตัว

 

 

หยุดวิกฤติขยะทะเลไทยผนึกกำลังคืนชีวิตชายฝั่ง

 

 

          “ตอนนี้ยังไม่สายที่จะร่วมกันเริ่มต้นอนุรักษ์ และหนทางที่ดีที่สุดไม่ใช่ว่าไม่ใช้เลย แต่ควรใช้ให้เหมาะสม” เผ่าพิพัธ กล่าวทิ้งท้าย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ