คอลัมนิสต์

ศาลพัฒนาไอทีระบบติดตามผลคดี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ" ต้นแบบ E-Court ศาลสูง พัฒนาไอที สร้างระบบติดตามผลคดี-ยกร่างคำพิพากษาผ่านอิเล็กทรอนิกส์


 

          “ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ” ต้นแบบ E-Court ศาลสูง พัฒนาไอที สร้างระบบติดตามผลคดี-ยกร่างคำพิพากษาผ่านอิเล็กทรอนิกส์ “คู่ความ” หายห่วงรู้จุดคดีอยู่ขั้นตอนไหน คำพิพากษาเข้ารหัสไม่มีหลุด สร้างมาตรฐาน 3 เดือนคดีเสร็จ-ประกันวันเดียวรู้ผล ส่งอ่านได้ทันที

 

 

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ “เมทินี ชโลธร” ที่เพิ่งไปดำรงตำแหน่งประธานแผนกคดีผู้บริโภคในศาลฎีกาเมื่อต้นเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา “อดีตประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษคนแรก” ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่นำ “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” เข้าสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการคดีอย่างเป็นรูปธรรม ได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า เมื่อ “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” เริ่มเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559 ลักษณะงานก็เป็นศาลชั้นอุทธรณ์ จะพิจารณาคดีการอุทธรณ์คำพิพากษาที่มาจากศาลชำนัญพิเศษ ประกอบด้วย 1.ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ 2.ศาลภาษีอากร 3.ศาลแรงงาน 4.ศาลล้มละลาย 5.ศาลเยาวชนและครอบครัวทั่วประเทศ ซึ่ง 5 ประเภทคดีนี้เวลาจะยื่นอุทธรณ์ ต้องยื่นมายัง “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” แห่งเดียว จากเดิมที่การยื่นอุทธรณ์คดีกลุ่มดังกล่าวจะเป็นงานของศาลฎีกาที่มีแผนกคดีต่างๆ เหล่านี้อยู่ในศาลฎีกา ระบบเดิมกำหนดให้คดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ, ภาษีอากร, แรงงาน, ล้มละลาย ถ้าจะอุทธรณ์ก็ให้ไปยังศาลฎีกาเลยไม่เข้าศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีเยาวชนและครอบครัวให้อุทธรณ์ได้ทั้งศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา แต่เมื่อปี 2558 ได้เปลี่ยนแปลงระบบการอุทธรณ์-ฎีกา เป็นว่าคดีทางแพ่งการเรียกค่าเสียหาย-การชดใช้-การเพิกถอนต่างๆ ของ 5 กลุ่มดังกล่าวให้ถึงที่สุดในชั้นศาลอุทธรณ์ จะฎีกาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ส่วนคดีที่มีโทษทางอาญาก็ยังสามารถยื่นฎีกาได้เหมือนคดีทั่วไป

 

 

          ทั้งนี้ เห็นได้ว่าคดี 5 กลุ่มนั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นส่วนใหญ่ คดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศก็จะสร้างความเชื่อมั่นในนักลงทุนว่า เขาจะมาลงทุนหรือไม่ เขาจะเชื่อมั่นระบบศาลเราได้อย่างไร คดีภาษีอากรก็เกี่ยวข้องกับรัฐในการเรียกเก็บภาษี คดีแรงงานก็มีมากมายรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสังคมทั้งสิ้น คดีล้มละลายการฟื้นฟูกิจการก็ยิ่งเกี่ยวข้อง ส่วนคดีเยาวชนฯ ก็ด้านสังคมที่ค่อนข้างมีความสำคัญ ดังนั้นเมื่อเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจการลงทุน-สังคม ก็คิดว่าการบริหารคดีต้องทำงานให้เร็วขึ้น ขณะที่ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอุทธรณ์ชำนัญคดีพิเศษ พ.ศ.2558 ก็ระบุไว้เลยว่า ผู้พิพากษาที่มาทำงานในศาลนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ ใน 5 กลุ่มคดีดังกล่าว โดยเรามีผู้พิพากษาจบระดับปริญญาตรี 105 คน, จบปริญญาโทในประเทศ 41 คน, จบปริญญาโทต่างประเทศ 24 คน, จบปริญญาโททั้งในประเทศและต่างประเทศอีก 9 คน รวมทั้งระดับปริญญาเอกที่จบในประเทศ 1 คน ปริญญาในต่างประเทศอีก 2 คน “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” จึงมีคำขวัญสร้างเป้าหมายในการทำงานว่า “เชี่ยวชาญ เป็นธรรม นำสมัย ใส่ใจเศรษฐกิจและสังคม” 
 

          ซึ่งเราพยายามทำคดีให้เสร็จโดยรวดเร็ว ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีอีกทางหนึ่งมาช่วยพัฒนางานของศาล ส่วนหนึ่งก็ได้แนวคิดมาจากงานในเรือนจำโครงการกำลังใจของพระองค์ภาฯ ด้วย หลังจากการพูดคุยกับผู้ต้องขังต่างๆ เขาบอกสิ่งที่ต้องการคือเขาอยากรู้จากศาลว่าคดีเขาถึงชั้นไหนแล้ว เพราะปกติการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ตัวจำเลยไม่ต้องมาศาลเหมือนเวลาสืบพยานในศาลชั้นต้น แต่มาศาลอีกทีเมื่อนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เลย 


          ดังนั้นเรามีแนวคิดว่าทำระบบให้ผู้ที่มีคดีทราบได้ว่าคดีตนอยู่ในขั้นตอนไหนแล้ว จึงสร้าง “ระบบติดตามผลความคืบหน้าของคดี” ที่ได้พัฒนาเว็บไซต์ “ศาลอุทธรณ์ชำนัญพิเศษ” ให้สามารถตรวจสอบขั้นตอนคดีได้เลย โดยไม่ต้องมีการลงทะเบียนใดๆ และไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งข้อมูลที่ลงในเว็บไซต์นั้นจะแจ้งว่ารับคดีมาเมื่อใด, แจ้งวันที่ส่งคำพิพากษาให้ศาลชั้นต้น และแจ้งวันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษา รวมทั้งข้อมูลคำร้องขอปล่อยชั่วคราวที่จะพิจารณาให้เสร็จในวันเดียวพร้อมส่งคำสั่งกลับไปให้ศาลชั้นต้นอ่าน ผ่านกล่องข้อความที่เป็นความลับ เป็นระบบติดต่อกันระหว่างศาล ลักษณะคล้ายจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ e-mail ด้วยเหมือนที่ศาลฎีกาใช้ ทั้งหมดก็ทำให้เห็นถึงความโปร่งใสและเป็นการรีเช็กด้วยว่าคดีคืบหน้าถึงไหน ถูกส่งมาเมื่อใด และเมื่อเห็นว่าคดีเสร็จแล้วหากยังไม่ได้รับแจ้งนัดจากศาลชั้นต้นอาจจะเหตุผลทางธุรการ คู่ความก็สามารถที่จะติดต่อศาลเองเพื่อให้อ่านคำพิพากษาได้ทันที


          ขณะเดียวกัน เราก็วางมาตรฐานการใช้เวลาทำงานคดีของศาลไว้ด้วย ซึ่งภารกิจหลักมี 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.การพิพากษาคดี 2.การวินิจฉัยว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมทั่วไปหรือศาลชำนัญพิเศษ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอำนาจการวินิจฉัยของ “ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” โดยเฉพาะและถือเป็นที่สุด 3.เรื่องของคำร้องทั่วไป รวมทั้งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวด้วย ดังนั้นเราก็ตั้งมาตรฐานระยะเวลาไว้ว่า จะพิจารณาคำอุทธรณ์ให้เสร็จภายใน 3 เดือน, คำวินิจฉัยให้เสร็จส่งคืนศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน ส่วนคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาลก็กำหนดไว้ 3 วันทำการเพราะเรื่องเขตอำนาจศาลถือว่าสำคัญ หากฟ้องคดีผิดศาลแต่แรกก็ส่งผลให้การเริ่มสืบพยานทำได้ช้าด้วย, คำร้องขอปล่อยชั่วคราว ก็ให้เสร็จภายใน 1 วัน คือคำร้องประกันส่งมาเมื่อใดเราก็พิจารณาทันที ทำให้ได้แบบ 100% ส่วนคำร้องทั่วไป เช่น การขอขยายเวลาต่างๆ ก็กำหนดไว้ 15 วัน แต่บางคดีที่มีความสลับซับซ้อนไม่เหมือนกันก็อาจจะใช้เวลาเกินกรอบอยู่บ้างเล็กน้อย และกรณีที่เมื่อมีการอ่านให้คู่ความฟังเสร็จเรียบร้อยแล้ว ศาลก็จะเผยแพร่ลงในเว็บไซต์เพื่อให้นักศึกษา, ทนายความ, ประชาชนได้มาศึกษาข้อกฎหมายจากคำพิพากษานั้นด้วย รวมทั้งผู้พิพากษาศาลชั้นต้นก็สามารถศึกษาได้เช่นกัน คล้ายกับการเผยแพร่แนวคำพิพากษาศาลฎีกา เพราะคดี 5 กลุ่มดังกล่าวหากจะยื่นฎีกาก็ต้องขออนุญาต ดังนั้นคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเสมือนว่าถึงที่สุดแล้ว


          นอกจากการพัฒนาระบบสืบค้นข้อมูลคดีเว็บไซต์แล้ว “ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ” ก็ยังพัฒนางานด้านไอที สำหรับงานยกร่างคำพิพากษาสร้างเป็น “ระบบการยกร่างและตรวจร่างคำสั่งคำร้อง คำวินิจฉัย และคำพิพากษาทางอิเล็กทรอนิกส์” หรือ Electronic Document ที่เป็นระบบการทำงานภายในศาล โดยปกติขั้นตอนการยกร่างมีกลุ่มผู้ช่วยผู้พิพากษาที่เรียกว่า “กองผู้ช่วย” จะต้องตรวจความถูกต้องข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมายในสำนวน ส่ง “กองผู้ช่วยใหญ่” ตรวจก่อนจะเสนอรองประธานศาลอุทธรณ์ 5 คนที่ดูแลแต่ละแผนกเพื่อให้พิจารณาออกเป็นคำพิพากษาได้ ซึ่งเดิมแต่ละขั้นตอนต้องพิมพ์เป็นกระดาษจำนวนมาก 2-3 ก๊อบปี้ ทั้งชุดที่เรียกว่าชุดตรวจ, ชุดตรวจแก้, สำเนา และใช้เวลาตรวจแก้เยอะ เราจึงสร้าง Electronic Document ที่เป็นระบบการทำงานภายในศาล ซึ่งสามารถแก้ไขได้ทันทีและระบบจะโชว์ทั้งร่างเดิมและส่วนที่แก้ไขให้เห็น รวมทั้งบันทึกผู้ตรวจแก้ไว้ด้วย แต่ตรงนี้คนอื่นจะดูไม่ได้เป็นความลับ ความปลอดภัยสูงมีการเข้ารหัสเฉพาะคนที่มีการเปลี่ยนรหัสตลอดในทุกขั้นตอน คนที่ไม่เกี่ยวข้องในสำนวนจะเข้าดูไม่ได้เลย โดยศาลจัดทำ USB แฟลชไดร์ฟ (อุปกรณ์เก็บข้อมูล) ประจำตัวให้แก่ผู้พิพากษาที่มีรหัสตัวเองด้วย ไม่ต้องกลัวว่าเอกสารนั้นจะผ่านมือใครไปที่ไหน อย่างไร ซึ่งระบบนี้ยังจะช่วยลดการใช้กระดาษจำนวนมากและลดขั้นตอนการพิมพ์ด้วย แถมยังลดงานธุรการของเจ้าหน้าที่ได้ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว


          “ระบบการยกร่างและตรวจร่างคำสั่งคำร้อง คำวินิจฉัย และคำพิพากษาทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำได้ 1 ปีแล้ว ตอนนี้ทั้ง 5 แผนกคดีในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ทำได้แล้วทั้ง 100% ซึ่งน่าจะเป็นศาลแรกและเป็นศาลเดียวที่ทำระบบนี้ ผู้ช่วยผู้พิพากษาก็จะตรวจง่ายผ่านหน้าจอภาพ เอกสารจะแทรกก็แนบไฟล์ได้เลย ระบบนี้จะสัมพันธ์กับมาตรฐานเวลาการพิจารณาที่วางไว้ ทำให้งานเร็วขึ้นโดยมีคุณภาพจากผู้เชี่ยวชาญที่ส่งออกมาในรูปแบบเหตุผลคำพิพากษา ซึ่งคดีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษาแล้วพบว่าคู่ความขออนุญาตยื่นฎีกาน้อยมากก็แสดงให้เห็นว่ายอมรับในคำพิพากษา ขณะที่ระบบนี้ก็ทำให้ระยะเวลาทำคำพิพากษาลดลงได้แบบครึ่งต่อครึ่ง ส่วนประเภทคำวินิจฉัยที่เคยทำผ่านระบบนี้เคยทำออกไปได้เร็วที่สุด 3 ชั่วโมงส่งคืนให้อ่านได้เลย ท่านประธานศาลอุทธรณ์ภาค 1 และภาค 4 ก็เคยมาดูงานว่าจะนำไปปรับใช้กับที่ศาลอื่นอย่างไรบ้าง ซึ่งหลายศาลก็เริ่มมาดูงาน และพยายามขายไอเดียตรงนี้ไป”


          สุดท้ายที่นำไอทีมาใช้อีก ก็คือ “Case meeting – การประชุมคดีองค์คณะโดยใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์” ซึ่งลักษณะของ E-Court นี้ ก็จะใช้การสแกนไฟล์เอกสารที่มีจำนวนมาก ส่งให้กล่องข้อความภายในกับผู้พิพากษาองค์คณะ 3 คนอ่านล่วงหน้า จากนั้นก็มาปรึกษาคดีผ่านจอภาพในครั้งเดียวเพื่อให้ได้ข้อยุติ ก่อนยกร่างเป็นคำพิพากษาซึ่งระบบนี้ก็ยังคงส่งเสริมความเข้มแข็งในรูปแบบขององค์คณะอยู่ด้วยก็จะทำให้ผลคำพิพากษาถูกต้อง แม่นยำ และระยะเวลาเร็วขึ้นด้วย สนองกับนโยบายประธานศาลฎีกาและมาตรฐานเวลาการทำคดีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวางไว้ด้วย โดยตอนนี้ทำอยู่ใน 3 แผนกคดี คือคดีภาษีอากร, คดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ, คดีล้มละลาย ซึ่งเริ่มได้มา 6 เดือน

 

          “การพัฒนาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้บริหารคิดเองทั้งหมดไม่ได้ แต่มีผู้พิพากษาในศาลมาร่วมกันแชร์ไอเดีย ร่วมกันคิดว่าจะทำไอย่างไร ซึ่งศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษต้องการให้มีความชัดเจนว่า มีมาตรฐานเวลาพิจารณาพิพากษาคดีที่ทำได้จริง และตรวจสอบได้จากข้อมูลที่ทำลงเว็บไซต์ ซึ่งจะนับว่าศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเป็นศาลสูงแห่งแรกที่ได้ใช้เทคโนโลยีแสดงผลการติดตามคดีและยกร่างคำพิพากษา รวมทั้งการประชุมองค์คณะ แบบ E-Court โดยส่วนของการพิจารณาคดีก็มั่นใจได้ว่ามีผู้พิพากษาเชี่ยวชาญความรู้เฉพาะด้าน ระดับปริญญาเอก 2 ใบก็มี ซึ่งจะพิจารณาในองค์ความรู้ทางที่เป็นสากล โดยการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายของผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ก็ให้คัดเลือกผู้พิพากษาที่มีความเชี่ยวชาญ คำนึงถึงความรู้ความสามารถเฉพาะด้าน ยิ่งไปกว่าความอาวุโสได้ เพราะหากรันตามระบบอาวุโส บางทีอาวุโสแรกอาจจะไม่เคยทำคดีชำนัญพิเศษเลยก็ไม่เกิดความชำนาญเฉพาะด้าน”


          นี่คืออีกผลงานของการบริหารจัดคดีในศาลสูง เมื่อโลกกำลังก้าวสู่เปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี “กระบวนการยุติธรรม” ส่วนสำคัญหนึ่งของสังคม ในการสร้างความมั่นคงประเทศและความเที่ยงธรรม ปลอดภัยสงบสุขให้ประชาชน ก็ต้องพัฒนาเชิงรุกเพื่อการอำนวยความยุติธรรมได้สะดวก รวดเร็ว ดังภาษิตกฎหมายที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า ก็คือความไม่ยุติธรรม”


          สถิติการวินิจฉัยคดีรับใหม่และคดีเสร็จ
          สถิติการวินิจฉัยคดีรับใหม่และเสร็จไปแต่ละประเภทนับตั้งแต่วันเปิดทำการศาล วันที่ 1 ตุลาคม 2559 จนถึง 20 กันยายน 2561
ทั้งนี้ 5 แผนกคดีทั้งแพ่ง-อาญา จำนวนคดีรับใหม่ 7,227 คดี ทำเสร็จไป 6,509 คดี คงค้าง 718 คดี


          สำหรับคดีรับใหม่ คดีทรัพย์สินทางปัญญาฯ 128 คดีเสร็จไปทั้งหมด, คดีภาษีอากร รับใหม่ 9 คดีเสร็จไปทั้งหมด, คดีแรงงาน รับใหม่ 302 คดี เสร็จไป 297 คดี คงค้าง 5 คดี, คดีล้มละลาย รับใหม่ 28 คดีเสร็จทั้งหมด, คดีเยาวชนฯ รับใหม่ 216 คดี เสร็จไป 214 คดี คงค้าง 2 คดี
โดยในปี 2561 สามารถพิจาณาคดีเสร็จใน 1 เดือน คิดเป็น 13.62% เสร็จไม่เกิน 3 เดือน 77.54%

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ