คอลัมนิสต์

"รูรั่ว แหกหัก หลบหนี" ท้าทายกระบวนการยุติธรรม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"รูรั่ว แหกหัก หลบหนี" ท้าทายกระบวนการยุติธรรม : คอลัมน์...  ขยายปมร้อน   โดย...  บายไลน์ / ปิยะนุช ทำนุเกษตรไชย



          หนี 22 ราย ติดตามจับกุมได้ 21 ราย อีก 1 ราย ใช้ช่องทางธรรมชาติหลบหนีข้ามแดนออกนอกประเทศ เป็นตัวเลขการแหกหักหลบหนีของผู้ต้องขังภายในรอบปีงบประมาณ 2561 (12560 30 2561)แม้จะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนัก เมื่อเทียบเคียงกับสัดส่วนนักโทษในเรือนจำและทัณฑสถานทั่วประเทศ 360,000 คน แต่การแหกหักหลบหนีเป็นสิ่งที่เรือนจำยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ กฎเหล็กที่ผู้บัญชาการเรือนจำต่างรู้ดีและจำขึ้นใจคือ ในทุกครั้งที่เกิดเหตุนักโทษหลบหนี นาฬิกาเก้าอี้ ผบ.เรือนจำจะเริ่มนับถอยหลัง ครบ 48 ชั่วโมง ถ้ายังติดตามจับกุมตัวกลับมาไม่ได้ ต้องถูกย้ายเข้ามาประจำกรม ตัวชี้วัดตกวูบทันที
 
 

 

 

          ที่ผ่านมา น้อยครั้งนักที่จะเกิดเหตุนักโทษแหกหักหลบหนีจากเรือนจำ เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะมาตรการขั้นเด็ดขาด ตลอดแนวกำแพงคุก เมื่อตรวจพบความพยายามจะแหกหักหลบหนี ไม่ว่าจะเป็นวิธีปีนกำแพง สะเดาะกุญแจ ตัดลูกกรงเหล็ก พัศดีจะสั่งห้าม แจ้งเตือนให้หยุดพฤติการณ์ หากผู้ต้องขังไม่เชื่อฟัง ดึงดันจะก่อเหตุหลบหนี เจ้าหน้าที่สามารถใช้อาวุธเข้าระงับเหตุ หรือวิสามัญฆาตกรรมได้ทันที ซึ่งนักโทษเองก็ตระหนักดีถึงกฎเหล็กจนต้องสะกดกั้นความคิดอยากหนี อยากออก เพราะพวกเขาไม่กล้าท้าทายมาตรการขั้นสูงสุด อันจะเป็นผลให้ถูกจับตายในที่สุด


          ทว่า ช่องโหว่ที่เป็นจุดอ่อนสำคัญ ในการวางแผนหลบหนีของนักโทษ มักเกิดขึ้นนอกเรือนจำ แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ ระหว่างนำตัวนักโทษออกไปรักษาอาการเจ็บป่วยยังโรงพยาบาลภายนอกเรือนจำซึ่งมีโอกาสเกิดสูง กับช่วงที่เบิกตัวนักโทษออกจากแดนคุมขังเดินทางไปขึ้นศาลและกลับจากศาลเข้าเรือนจำ 


          รูโหว่แรก ซึ่งเอื้อต่อการหลบหนีมากที่สุด เกิดขึ้นในช่วงการส่งตัวนักโทษป่วยออกไปตรวจรักษาภายนอก ซึ่งเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ที่กำหนดให้นักโทษมีสิทธิเข้าถึงการรักษาพยาบาลในมาตรฐานเดียวกับบุคคลภายนอก กรณีนักโทษเจ็บป่วยมีโรคประจำตัวร้ายแรงเกินขีดความสามารถในการรักษาของแดนพยาบาล เจ้าหน้าที่ต้องนำตัวออกไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาล ซึ่งสอดรับกับนโยบายของ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งกำชับไปยังผู้บัญชาการเรือนจำว่า ในโลกยุคปัจจุบันไม่ควรมีคนตายในคุก อย่างน้อยต้องจัดส่งออกไปให้ถึงมือหมอ




          แต่...อิสรภาพเป็นสิ่งที่นักโทษโหยหามาตลอด ยิ่งอึดอัด คับข้องใจ หรือสบโอกาส พวกเขาพร้อมจะเสี่ยง แทบไม่น่าเชื่อว่า นักโทษบางรายที่ส่งตัวออกไปทำคีโมฉายรังสี หรือฟอกไต ควรจะมีอาการอ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง ก็ยังก่อเหตุหลบหนีหลายครั้ง แม้กระทั่งรายล่าสุด นักโทษชาวลาวที่ป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ระยะร้ายแรง เรือนจำจังหวัดเลยได้ส่งตัวออกไปรักษาในโรงพยาบาล ก็ยังฉวยนาทีเผลอ ดอดหนีออกจากโรงพยาบาล และเป็นนักโทษหลบหนีรายเดียวของปี ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังตามจับกุมตัวไม่ได้ โดยข้อมูลทางการข่าวบ่งชี้ว่า นักโทษคนดังกล่าวน่าจะข้ามพรมแดนหนีกลับประเทศบ้านเกิดไปแล้ว


          เพื่ออุดรอยรั่ว กรมราชทัณฑ์ จึงกำหนดระเบียบให้กรณีนำนักโทษออกไปรักษาอาการเจ็บป่วย ต้องมีผู้คุม 2 คน ต่อนักโทษ 1 ราย คุมเข้มผลัดละ 12 ชั่วโมง กรณีพักค้างในโรงพยาบาลต้องมีผู้คุมเวรกลางคืนอีก 2 คน มารับช่วงต่ออีก 12 ชั่วโมง หากปล่อยปละจนเป็นเหตุให้นักโทษหลบหนี ผู้คุมโดนโทษวินัยร้ายแรง 


          สำหรับอีกหนึ่งจุดอ่อนที่เกิดการแหกหัก อยู่ในช่วงนำตัวผู้ต้องขังไปขึ้นศาล แม้จะมีจำนวนไม่มากเท่ากับการหลบหนีระหว่างส่งตัวไปโรงพยาบาล แต่การแหกหักรูปแบบนี้ เป็นการท้าทายกระบวนการยุติธรรม มีสิทธิ์ถูกจับตาย ซึ่งการขนนักโทษไปศาลเป็นข้อตกลงร่วมระหว่างราชทัณฑ์กับตำรวจ เฉพาะเรือนจำในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่เรือนจำจะรับผิดชอบงานขนส่งนักโทษไป-กลับศาลเอง โดยภายในรถขนนักโทษ จะติดอาวุธปืนยาว 2 กระบอกให้แก่พัศดี มีอุปกรณ์ป้องกันการหลบหนีค่อนข้างแน่นหนา และเสริมความมั่นคงด้วยรถปิดหัว-ปิดท้ายขบวน ตลอดเส้นทาง


          แต่สำหรับเรือนจำในต่างจังหวัด ภารกิจขนส่งนักโทษไปศาล ตกเป็นงานของตำรวจในแต่ละท้องที่ โดยผู้คุมของเรือนจำจะจำกัดความรับผิดชอบเฉพาะภายในรั้วเรือนจำเท่านั้น เริ่มต้นจากการนำหมายศาลเบิกตัวนักโทษออกจากแดน ตีตรวนก่อนจะนำขึ้นรถควบคุมตัวของเรือนจำ รอกำลังตำรวจในแต่ละท้องที่มารับตัวนักโทษ เมื่อรถเรือนจำเดินทางมาถึงศาล กุญแจรถยนต์ซึ่งใช้ทั้งติดเครื่องและไขเปิดประตูห้องควบคุมท้ายรถจะถูกส่งมอบให้ตำรวจศาล เพื่อนำนักโทษออกจากรถ เดินเข้าสู่ห้องควบคุมใต้ถุนศาล ถือเป็นการมอบอำนาจการควบคุมตัวนักโทษให้แก่ตำรวจประจำศาล จากนั้นรถขนนักโทษจะแล่นกลับเรือนจำ และจะกลับมายังศาลอีกครั้ง เพื่อรอรับตัวนักโทษกลับเรือนจำ

 

          เหตุการณ์แหกหัก-ปล้นรถเรือนจำที่เกิดขึ้นในศาลจังหวัดหลังสวน ชุมพร ภาพจากกล้องวงจรปิดอาจทำให้แปลกใจว่าเหตุใด ตำรวจจึงไม่ใช้อาวุธสกัดการหลบหนี ภาพและเสียงที่ปรากฏมีเพียงการเป่านกหวีดปรี๊ดๆๆ กับความพยายามขัดขวาง และวิ่งไล่จับนักโทษกันชุลมุน นั่นเพราะตำรวจไม่พกปืน (ภายในบริเวณศาลห้ามพกพาอาวุธปืน ในรถขนนักโทษก็ไม่มีปืน เจ้าหน้าที่เรือนจำที่ขับรถรับ-ส่งนักโทษ ไม่ใช่ผู้คุม แต่เป็นเพียงพนักงานจ้างเหมา จึงไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาอาวุธเช่นกัน)


          ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุอุกอาจซ้ำรอย กระบวนการยุติธรรมจึงต้องร่วมมือกันแก้ปัญหา ในส่วนของเรือนจำ งานการข่าวต้องไวและมีประสิทธิภาพ เพื่อวางแผนป้องกันและระงับเหตุ เช่นเดียวกับที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วในจังหวัดสระบุรี ซึ่งสายข่าวแจ้งเตือนถึงแผนการชิงตัวนักโทษระหว่างไป-กลับศาล ทำให้เรือนจำประสานตำรวจเข้าวางกำลังจนคนร้ายไม่สามารถลงมือก่อเหตุ ในส่วนของตำรวจซึ่งทราบดีว่างานในพื้นที่ล้นมือ แต่ยังคงต้องให้ความสำคัญ ไม่ละเลยงานรักษาความปลอดภัยให้แก่การขนส่งนักโทษ โดยเฉพาะเรือนจำที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากศาล


          สุดท้าย ตำรวจประจำศาล ซึ่งถูกมองว่าเป็นกำลังพลถดถอย... กำลังพลเสื่อม จริงเท็จอย่างไร ตอบได้ไม่แน่ชัด แต่จุดอ่อนเล็กๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นประเด็นที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม ต้องช่วยกันอุดให้แน่น 
 
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ