คอลัมนิสต์

เหตุผลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวของรัฐบาล

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหตุผลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวของรัฐบาล : บทความพิเศษ   โดย...  รองศาสตราจารย์ กรกฎ ทองขะโชค  คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ


 
          ประเทศไทยแม้จะมีมาตรการในการควบคุมการเลี้ยงสุนัข แมว ปรากฏอยู่ในกฎหมายทั้งพระราชบัญญัติ กฎหมายลำดับรอง และข้อบัญญัติท้องถิ่นหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ได้กำหนดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการต่างๆ ต่อสัตว์ทั้งที่มีเจ้าของและไม่มีเจ้าของ และพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ใช้บังคับมาเป็นระยะเวลานานพอสมควรทำให้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์และสภาพปัญหาสัตว์ที่ถูกทอดทิ้งในที่สาธารณะในปัจจุบัน ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงสุนัข หรือแมวกลับยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไปและได้ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของสุนัข แมว และสภาพเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการควบคุมการเลี้ยงสุนัขและแมวที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันนั้นอาจมีข้อบกพร่องบางประการ ประกอบกับจากสถิติแบบสำรวจสรุปจำนวนสุนัขและแมว ตามโครงการการรณรงค์ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ปี พ.ศ.2559 สำนักงานปศุสัตว์เขต 1-9 มีสุนัขเพศผู้ที่มีเจ้าของ จำนวน 3,625,733 ตัว สุนัขเพศเมียที่มีเจ้าของ จำนวน 2,996,631 ตัว สุนัขเพศผู้ไม่มีเจ้าของ จำนวน 350,170 ตัว สุนัขเพศเมียไม่มีเจ้าของ จำนวน 408,276 ตัว รวมสุนัขทั้งสิ้น 7,380,810 ตัว และจำนวนแมวเพศผู้มีเจ้าของ จำนวน 1,293,921 ตัว แมวเพศเมีย มีเจ้าของ จำนวน 1,247,088 ตัว แมวเพศผู้ไม่มีเจ้าของ 198,018 ตัว แมวเพศเมียไม่มีเจ้าของ 276,124 รวมจำนวนแมวทั้งสิ้น จำนวน 3,015,151 ตัว

 

เหตุผลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวของรัฐบาล

 

          ในส่วนการจัดระเบียบการปกครองส่วนท้องถิ่นภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(ประกอบด้วย องค์การบริการส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและกฎหมายว่าด้วยการกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ “การป้องกันและระงับโรคติดต่อ” และ “การควบคุมการเลี้ยงสัตว์” อย่างไรก็ตาม แม้มีอำนาจหน้าที่ดังกล่าว แต่ปัจจุบันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นยังมีอุปสรรคในการดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้แก่สุนัขตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ. 2535 และการดูแลสัตว์ที่ตกเป็นของราชการส่วนท้องถิ่นตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รวมถึงการทำหมันและการฉีดยาคุมกำเนิดอีกด้วย

 

เหตุผลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวของรัฐบาล

 


          โดยหลายท้องถิ่นมีกฎหมายที่ออกมาใช้บังคับเพื่อการควบคุมการเลี้ยงสุนัขและการควบคุมการเลี้ยงสัตว์ซึ่งหมายความรวมถึงสุนัขและแมวอยู่ในรูปแบบของข้อบัญญัติท้องถิ่น ซึ่งอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ที่ได้บัญญัติให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อกำหนดของท้องถิ่นกำหนดให้ส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดของพื้นที่เป็นเขตห้ามเลี้ยงสัตว์หรือปล่อยสัตว์บางชนิดหรือบางประเภทโดยเด็ดขาดหรือไม่เกินจำนวนที่กำหนด หรือเป็นเขตที่การเลี้ยงหรือปล่อยสัตว์บางชนิดหรือบางประเภทต้องอยู่ภายใต้มาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ในการรักษาสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชนในท้องถิ่นหรือเพื่อป้องกันอันตรายจากเชื้อโรคที่เกิดจากสัตว์

 


          ปัญหาในส่วนของความรับผิดค่าเสียหายเมื่อเกิดสัตว์เลี้ยงทำร้ายประชาชนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดให้เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรักษาสัตว์ไว้แทนเจ้าของมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลผู้ต้องเสียหายเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดจากสัตว์นั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนเองได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแก่การเลี้ยงการรักษาตามชนิดและวิสัยของสัตว์ หรือตามพฤติการณ์อย่างอื่น หรือพิสูจน์ได้ว่าความเสียหายนั้นย่อมจะต้องเกิดมีขึ้นทั้งที่ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรแล้ว ทั้งนี้เจ้าของสัตว์หรือบุคคลผู้รับเลี้ยงรักษาสัตว์ไทยแทนเจ้าของอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลที่เร้าหรือยั่วสัตว์นั้นโดยละเมิดหรือเอาแก่เจ้าของสัตว์อื่นอันมาเย้าหรือยั่วสัตว์นั้นได้

 

          การชดเชยความเสียหายที่เกิดจากสุนัข หรือแมวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความรับผิดแบบข้อสันนิษฐานความผิดทางกฎหมายซึ่งผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ถึงความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของเจ้าของสุนัขหรือบุคคลไม่ว่าจะโดยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือเพียงแต่ก่อให้เกิดความรำคาญหรือเป็นแหล่งเชื้อโรคของโรคติดต่อต่างๆ ก็ถือว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากสุนัขตามความในกฎหมายฉบับนี้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จะมีปัญหาประการหนึ่ง คือ เจ้าของสัตว์ตามความในกฎหมายฉบับนี้ หมายความถึงเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายเท่านั้น เมื่อเจ้าของสัตว์ได้แสดงเจตนาสละกรรมสิทธิ์หรือปฏิเสธกรรมสิทธิ์ในตัวสัตว์แล้ว สัตว์นั้นย่อยกลายเป็นสัตว์ไม่มีเจ้าของ เจ้าของสุนัขที่ทอดทิ้งสุนัขและผู้ที่ให้อาหารสุนัขเร่ร่อนโดยไม่ใช้ที่อยู่อาศัยจึงไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายฉบับนี้

 

เหตุผลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวของรัฐบาล

 


          หลังจากทบทวนปัญหาและกฎหมายที่มีอยู่ ไม่มีปรากฏบทบัญญัติต้องให้เจ้าของสัตว์นำสัตว์ไปขึ้นทะเบียน ยากต่อการควบคุม และก่อให้เกิดการปล่อยปละละเลย ทิ้งสัตว์เลี้ยงให้อดอาหาร ให้ถูกรถชน ทำให้เกิดปัญหาต่อประชาชนเป็นการจำนวนมาก ด้วยเหตุผลทั้งปวงจึงเป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่รัฐบาลประกาศออกมา


          ซึ่งในร่างกฎหมายฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ เพื่อประโยชน์ในการจัดสวัสดิภาพสัตว์และความรับผิดชอบของเจ้าของสัตว์ รวมถึงการป้องกันแก้ไขปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนดให้เจ้าของสัตว์มาแจ้งขอขึ้นทะเบียนสัตว์


          การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นเกี่ยวกับเรื่องการขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง ให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่และอำนาจกำหนดประเภท ชนิด เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ รวมถึงมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับการขึ้นทะเบียนสัตว์ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบการแจ้งรายการขอขึ้นทะเบียนให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำนึงถึงบริบทของแต่ละท้องถิ่น ในการขึ้นทะเบียนและการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ราชการส่วนท้องถิ่นจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเจ้าของสัตว์ด้วยก็ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

 

เหตุผลการขึ้นทะเบียนสุนัขและแมวของรัฐบาล

 


          อัตราค่าธรรมเนียม คำร้องขอขึ้นทะเบียน ฉบับละ 50 บาท สมุดประจำตัวสัตว์ ฉบับละ 100 บาท เครื่องหมายประจำตัวสัตว์ ตัวละ 300 บาท ปัจจุบันยังไม่มีประกาศใช้ แต่เป็นเพียงร่างกฎหมาย
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ