คอลัมนิสต์

จาก"เสือดำ"ถึง"หมีขอ" ทำไมต้อง"สงวน-คุ้มครอง"สัตว์ป่า?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

จาก"เสือดำ"ถึง"หมีขอ" ทำไมต้อง"สงวน-คุ้มครอง"สัตว์ป่า? : รายงาน

 

          ใครรู้บ้างว่า สัตว์ป่าสงวน ในประเทศไทยมีกี่ชนิดและมีอะไรบ้าง ?


          จั่วหัวแบบนี้เหมือนหยั่งภูมิกันมากไปหรือเปล่า ? 


          แต่เชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยตอบคำถามนี้ได้ไม่ครบ หรือบางคนอาจไม่รู้เลยด้วยซ้ำ ซึ่งก็ไม่ได้แปลกอะไร เพราะความจริงแล้วเรื่องราวแห่งพงไพรและชีวิตสัตว์ป่านั้น อาจเป็นเรื่องไกลตัวและอยู่ห่างจากวิถีชีวิตคนเมืองในยุคปัจจุบันมาก

 

 

          ในต่างประเทศก็เช่นกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่คงไม่รู้เรื่องราวของ "ป่า" และ “สัตว์ป่า” มากไปกว่าเราเท่าใดนัก 


          หากแต่ความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์และปกป้องป่าในคนของเราอาจยังอยู่ในระดับที่ต้องแลกด้วยความสูญเสียก่อนจึงเกิดพลังตามมา ซึ่งคงไม่เป็นผลดีต่ออนาคตของสัตว์ป่าที่ถูกคุกคามจากการล่าการบุกรุกถิ่นอาศัยมาเนิ่นนาน และนับวันจะยิ่งเห็น “สัญญาณอันตราย” มากขึ้นเรื่อยๆ


          อย่างกรณี “เสือดำ” แห่งป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่กว่าจะได้เห็นปรากฏการณ์คนไทยตื่นตัวกับกระแสอนุรักษ์พร้อมกันทั้งประเทศ มันก็ต้องสังเวยชีวิตให้แก่ความโหดร้ายของมนุษย์ไปอย่างน่าสงสาร


          การสูญเสียเจ้าเสือน้อยไปในครั้งนั้นยังความโกรธแค้นจนเกิดกระแส “เสือดำต้องไม่ตายฟรี” พร้อมกับเรียกร้องต่อหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องว่าการสูญเสียครั้งนี้ต้องเป็นครั้งสุดท้ายจากการทำลายล้างโดยน้ำมือมนุษย์


          ทว่า วันนี้วิญญาณเสือดำยังไม่สงบ ชีวิตของมันไม่สามารถปกป้องเพื่อนร่วมป่าได้ เมื่อล่าสุด “เจ้าหมีขอน้อย” แห่งอุทยานไทรโยค จ.กาญจนบุรี ก็ต้องมาสังเวยชีวิตให้แก่มนุษย์อำมหิตอีกจนได้


          จะโทษว่าการอนุรักษ์ในบ้านเราล้มเหลวก็คงไม่ถูกต้องเสียทีเดียว แต่อาจเป็นเพราะเราทำกันไม่ต่อเนื่อง เมื่อเรื่องเสือดำเงียบลงหรือเพียงแค่ซาไป จึงเป็นเวลาของ “นักล่า” ที่จะเริ่มกลับสู่ป่ากันอีกครั้ง โดยไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย
 

 
          เช่นนั้นแล้ว เพื่อไม่ให้เจ้าหมีขอน้อยต้อง “ตายฟรี” เรามาจุดประกายสร้างพลังปกป้องป่าและชีวิตสัตว์กันอีกครั้ง ด้วยการย้อนทบทวนความจำกันใหม่ดีกว่าว่า สัตว์ป่าที่เรารู้จักมีสัตว์ชนิดใดบ้างที่เป็น สัตว์ป่าสงวน และ สัตว์ป่าคุ้มครอง


          ปัจจุบันสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทยมีทั้งหมด 19 ชนิด ลองตอบกันในใจก็ได้ว่ามีอะไรบ้าง ตอบถูกตอบผิดไม่เป็นไร ขอเพียงคิดไว้เสมอว่า สัตว์ป่าไม่ว่าชนิดใด ทุกตัวล้วนมีชีวิตและมันรักชีวิตของมันเหมือนกับเรา
 


          ถึงตรงนี้แล้ว หวังเป็นอย่างยิ่งว่าช่วงระหว่างที่ตอบคำถามชนิดสัตว์ป่าสงวน พวกเราจะนึกถึงภาพการดำรงชีวิตของพวกมันในผืนป่าอันสงบเงียบไปพร้อมกัน อันจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเริ่มต้นมีส่วนร่วมอนุรักษ์ป่าและปกป้องชีวิตสัตว์มากยิ่งขึ้น


          แต่ก่อนจะไปถึงคำเฉลยว่าสัตว์ป่าสงวนมีอะไรบ้าง เรามาทำความเข้าใจไปพร้อมกันว่า ระหว่างสัตว์ป่าสงวนกับสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น มีความแตกต่างกันอย่างไร ?


          คำว่า สัตว์ป่าสงวน นั้น แน่นอนว่าต้องเป็นสัตว์ป่าหายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปแล้วก็ได้ ซึ่งในสมัยก่อนบ้านเรามีสัตว์ป่าที่ตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวแล้ว 9 ชนิด รัฐบาลจึงต้องออกกฎหมายเพื่อปกป้องสัตว์ป่าเหล่านี้ไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ โดยการตราเป็น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 บัญญัติชนิดสัตว์ป่าสงวนไว้ในบัญชีแนบท้ายจำนวน 9 ชนิด เป็นสัตว์ป่าเลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด ได้แก่ แรด กระซู่ กูปรี ควายป่าหรือมหิงสา ละอง หรือ ละมั่ง สมัน เนื้อทราย เลียงผา และกวางผา


          สัตว์ป่าทั้ง 9 ชนิดนี้จัดว่าเป็นสัตว์หายาก ใกล้สูญพันธุ์ หรือบางชนิดอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว ต่อมาเมื่อประเทศเรามีการพัฒนา สภาพเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ของสัตว์ป่าก็เปลี่ยนแปลงตาม 


          สัตว์ป่าหลายชนิดมีแนวโน้มถูกคุกคามเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์มากยิ่งขึ้น ประกอบกับเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมดูแลการค้าหรือการลักลอบค้าสัตว์ป่าในรูปแบบต่างๆ ตาม อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศว่าด้วยชนิดสัตว์ป่าและพืชป่า หรือ ไซเตส(CITES) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามรับรองอนุสัญญาในปี 2518 และได้ให้สัตยาบัน เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2526 นับเป็นสมาชิกลำดับที่ 80 จึงได้มีการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติฉบับเดิมและตรา พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2535


          ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีการเพิ่มเติมชนิดสัตว์ป่าที่มีสภาพล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่งอีก 7 ชนิด และตัดสัตว์ป่าที่ไม่อยู่ในสถานะใกล้จะสูญพันธุ์เนื่องจากการที่สามารถเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ได้มากออกไป 1  ชนิด คือ เนื้อทราย ดังนั้นเมื่อรวมกับสัตว์ป่าสงวนเดิม 8 ชนิด จึงรวมเป็น 15 ชนิดได้แก่ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร แรด กระซู่ กูปรี ควายป่า ละองหรือละมั่ง สมัน เลียงผา กวางผา นกแต้วแล้วท้องดำ นกกระเรียน แมวลายหินอ่อน สมเสร็จ เก้งหม้อ และพะยูนหรือ หมูน้ำ


          ขณะที่ต่อมาในปี 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอให้เพิ่มสัตว์ทะเลหายากจำนวน 4 ชนิดเป็นสัตว์ป่าสงวน คือ ฉลามวาฬ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ และเต่ามะเฟือง ทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีสัตว์ป่าสงวนรวมทั้งสิ้น 19 ชนิด


          สถานภาพของสัตว์ทะเลทั้ง 4 ชนิด ถูกจัดให้อยู่ในระดับ ใกล้สูญพันธุ์จนถึงใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง ซึ่งทั้งหมดมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเล อยู่ด้านบนของห่วงโซ่อาหาร ช่วยรักษาความสมดุล และเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทั้งยังมีความสำคัญในระดับนานาชาติ เนื่องจากมีการอพยพไปมาระหว่างประเทศอยู่ตลอดเวลา


          ส่วน สัตว์ป่าคุ้มครอง หมายถึง สัตว์ป่าที่กฎหมายกระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเพื่อเป็นการป้องกันมิให้สัตว์ป่าบางชนิดต้องสูญพันธุ์ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 201 ชนิด นก 952 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 91 ชนิด สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก 12 ชนิด ปลา 14 ชนิด แมลง 20 ชนิด และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 12 ชนิด


          ทั้งนี้ พระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติบทลงโทษไว้ในระดับที่แตกต่างกันออกไปดังนี้  
          1.สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เป็นสัตว์ป่าที่ห้ามล่า พยายามล่า ห้ามค้า ห้ามนำเข้าหรือส่งออก เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          2.ห้ามครอบครองสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในกรณีที่สัตว์ที่ครอบครองเป็นสัตว์ที่มาจากการเพาะพันธุ์ที่ไม่ถูกต้อง จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          3.ห้ามเพาะพันธุ์สัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่จะได้รับอนุญาต ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


          4.ในกรณีที่การล่าเป็นการล่าเพื่อปกป้องตนเองหรือผู้อื่นหรือทรัพย์สิน หรือเหตุอื่นที่เห็นว่าเป็นการกระทำที่ควรแก่เหตุ ไม่ต้องรับโทษ


          5.การห้ามการครอบครองและห้ามค้า มีผลไปถึงไข่และซากของสัตว์เหล่านั้นด้วยห้ามเก็บหรือทำอันตรายรังของสัตว์ ยกเว้นรังนกอีแอ่น (นกแอ่นกินรัง) ซึ่งต้องได้รับอนุญาตเช่นกัน
 

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ