คอลัมนิสต์

เหตุเกิดจากรัฐราชการ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เหตุเกิดจากรัฐราชการ : คอลัมน์...  กระดานความคิด  โดย...   บางนาห้าสิบหก 


 

          ถึงจะไม่ชอบนิสัยใจคอ หรือเรียกรวมๆ ว่าพฤติกรรมของโชเฟอร์รถตู้บางคน ซึ่งทำให้งานบริการสังคมด้านนี้กลายเป็นสีเทาๆ ไปเสียได้ แต่ถึงอย่างไร มาตรการขั้นเฉียบขาดที่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจเช่น ขสมก.และ บขส. (เจ้าของรถเมล์บุโรทั่งนับพันๆ คัน) ที่ดำเนินการกับผู้ประกอบการรถตู้ ภายใต้การบริหารจัดการตามมาตรฐานความปลอดภัย ก็ยังพอเห็นอกเห็นใจกันได้บ้างพอประมาณ เพราะมาตรการเช่นนั้น หากมองอีกด้านก็คล้ายกับหลายข้อเปรียบเปรย อย่างเช่น หมาป่ากับลูกแกะ แม่ปูกับลูกปู หรืออีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประท้วงเรียกมันว่า สองมาตรฐาน

          คงไม่มีผู้โดยสารคนใดคัดค้านอย่างแน่นอนอยู่แล้ว กับคำสั่งบังคับให้ผู้ประกอบการรถตู้ปลดระวางรถเมื่อครบกำหนดใช้งาน 10 ปี ตราบเท่าที่หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าภาพจัดหารถโดยสารมาชดเชยให้เพียงพอ และทัดเทียม เพราะถึงอย่างไร นั่งรถใหม่ก็ต้องดีกว่า แอร์เย็นกว่า ราคาเท่าเดิม


          แต่เมื่อรัฐบาลจัดระเบียบกับรถตู้เรียบร้อยตามระเบียบระบบราชการไปแล้ว ก็พึงหันมาใส่ใจกับบริการจากหน่วยงานของรัฐเองด้วย ทั้งหน่วยราชการที่ดูแลเรื่องการขนส่ง ขสมก.และบขส.


          เพราะเป็นที่รู้กันทั้งบ้านทั้งเมืองว่า จุดกำเนิดเกิดขึ้นของรถตู้ ตั้งแต่สมัยเป็นรถตู้วิินผีคิวเถื่อน กลาดเกลื่อนทั่วทุกหย่อมย่านหัวมุมเมืองมานับสิบๆ ปี ก็เพราะบริการขนส่งมวลชนของรัฐนั่นเอง ที่เปิดช่องว่างให้รถตู้ขนของถูกดัดแปลงมาใช้ขนคนเข้ามาเติมเต็ม ตอบโจทย์ผู้โดยสารทั้งกลางมหานครและชานเมือง


          สำหรับบขส.ตลอดระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา ได้ให้สัมปทานเอกชนเดินรถโดยสารทั้งรถร้อนสีส้ม และรถแอร์สีฟ้า ในนามรถร่วมบขส. รวมทั้งดำเนินกิจการเองเช่นรถ 99 และ 999 แต่ทั้งคนให้และคนรับสัมปทานคงหลงลืมว่าต้องสร้างพัฒนาการในด้านความสะดวก รวดเร็ว ตอบสนองผู้โดยสารให้ทัดเทียมกับยุคสมัย

 

          แต่เปล่าเลย


          ทุกวันนี้รถบขส.สีส้มวิ่งระยะทาง 100-200 กิโลเมตรวัดจากสถานีขนส่งออกไปแทบไม่มีผู้โดยสาร ยิ่งคนน้อยก็ต้องยิ่งจอดแช่เป็นหวานเย็น และทำเวลาเอาในช่วงคับขัน ขับแข่งแย่งผู้โดยสาร อันตรายสุดๆ

 

 

          มันเป็นเช่นนี้มานานแสนนาน และในช่วงของกาลเวลาแห่งความร่วงโรยตกต่ำย่ำแย่นั่นเอง ที่รถตู้เข้ามารับบทบาทขนส่งมวลชนแทนรถบขส.


          เช่นเดียวกับรถเมล์ขสมก. ซึ่งวิ่งรับส่งผู้โดยสารปุเลงๆ อยู่ในขณะนี้ ที่ดูเหมือนจะพยายามพัฒนาให้ทันสมัย ตั้งแต่ยุคติดตั้งวิทยุบนรถเมล์หรือบัสซาวนด์ แต่สุดท้ายต้องเลิกไปเพราะคุณภาพเสียงที่ได้มันรบกวนโสตประสาทมากกว่าความผ่อนคลาย ยุครถสองชั้น ประตูอัตโนมัติ มาจนถึงยุคดิจิทัลที่มีคอมฯ และมอนิเตอร์เอาไว้ให้คนขับ กระเป๋ากระปี๋ และคนโดยสารดูเล่นเท่ๆ เพราะใช้การไม่ได้จริง (ไม่รู้ว่าสตง.ทวงถามกันบ้างหรือไม่) 


          ความเปลี่ยนแปลงเช่นว่าในระยะ 20-30 ปีนี้เกิดขึ้นบนรถเมล์สีครีมแดง รถปรับอากาศสีครีมน้ำเงิน อันขับเคลืิ่อนด้วยเครื่องยนต์บล็อกเดิมยี่ห้อมิตซูบิชิ ฮีโน่ อีซูซุ เบนซ์ ซึ่งควรจะขายทอดตลาดไปใช้สูบน้ำในไร่นาได้ตั้งนานแล้ว


          โฉมหน้ารถเมล์พวกนี้ เป็นข่าวฮือฮามาเมื่อไม่นานวัน ครั้งที่รัฐบาลและขสมก.บรรเจิดไอเดียปฏิรูปรถเมล์ ด้วยชื่อสายเป็นรหัสลับดาวินชี

 

          ทั้งบริการของบขส.และขสมก. ต้องอยู่ใต้การควบคุมมาตรฐานของกรมที่ดูแลด้านการขนส่ง ซึ่งสังคมมักจะคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับกิจกรรมเอาจริงเอาจังของหน่วยงานนี้ในช่วงปีใหม่ สงกรานต์ และวันหยุดยาว


          แต่ในภาวะปกติ เราก็จะได้เห็นการบูรณาการการทำงานในระบบราชการอย่างไม่น่าเชื่อ


          เช่น การตั้งด่านตรวจควันดำรถร่วมบริการขสมก. หรือรถเมล์ชานเมือง 


          เรียกตรวจ เรียกปรับมันทั้งๆ ที่รถเมล์คันนั้น มีผู้โดยสารอยู่เต็มคันรถ


          ผู้คนที่ต้องเสียเวลาไปกับการเดินเครื่องของระบบราชการแบบนี้ ก็ล้วนแล้วแต่หาเช้ากินค่ำ รถไฟฟ้าวิ่งในกรุงเทพฯ มานับสิบๆ ปีอยากจะลองขึ้นสักทีก็เป็นแค่ความฝัน เพราะค่าตั๋วไปกลับเลี้ยงปากท้องคนในครอบครัวได้ตั้งมื้อ


          พวกเขาเหล่านี้ หาได้มีปากมีเสียงอะไรจะต่อว่า ก็ทนๆ กันไปกับระบบราชการที่เหมือนจะมีอำนาจเหนือ นึกจะทำอะไรก็ทำ ประมาณนั้น


          ถ้าไม่มีเหตุการณ์ตัวอย่าง ที่พอจดจำกันได้เช่นนี้(จริงๆ มีอีกบานเกินสาธยาย) หรือในทางกลับกัน 3 หน่วยงาน 3 ประสาน ให้บริการประชาชนเป็นอย่างดีไม่มีข้อตำหนิบกพร่อง


          มีหรือรถตู้จะออกมาวิ่งหากินกันได้

logoline
แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวที่น่าสนใจ